4นักพูดที่ข้าพเจ้าประทับใจ

นักพูดที่ข้าพเจ้าประทับใจ
ชายโสด ร่างใหญ่ วัยกลางคน ฝีปากเก่งกล้า นักพูดระดับต้นๆ ของประเทศไทย เมื่อเอ่ยนามถึง อาจารย์จตุพล ชมพูนิช คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักใช่ไหมครับ เขาคือนักพูดที่ผม ประทับใจมากที่สุดและอาจเป็นนักพูดในดวงใจของใครอีกหลายคนจากรั้วพ่อขุนรามฯ นิติศาสตร์บัณฑิต ด้วยประสบการณ์ของการโต้วาทีที่ชนะเลิศในหลายเวที จึงไม่ยากเลยที่จะทำให้อาจารย์จตุพล เป็นนักพูดที่มีชื่อเสียงในขณะนี้เมื่อได้อ่านผลงานการเขียนหนังสือเรื่อง ปอกเปลือกวงการปากภาค 1 แล้ว ทำให้ผมได้ทั้งสาระและความบันเทิงเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถนำมาเป็นเคล็ดลับในการฝึกฝนให้เป็นนักพูดที่เก่งและดี มีความสามารถได้ มีหลักการมากมายที่อาจารย์ได้นำเสนอ ด้วยความคิดและประสบการณ์ของอาจารย์ จึงได้เรียงร้อยคำเพื่อให้คนรุ่นหลังต่อไปอย่างผมได้มาศึกษาและนำไปใช้วาทศิลป์ คือคำที่อาจารย์คิดว่ามีความสำคัญสำหรับการพูดและเป็นมรดกอันเลิศล้ำที่ประเมินค่ามิได้ของเหล่ามวลมนุษยชาติที่สังคมสั่งสมสืบสานกันมาตั้งแต่กาลอดีตมุมมององค์ประกอบของนักพูดที่อาจารย์ได้นำเสนอโดยสังเขปสำหรับผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่เวทีฝีปากได้ มีดังต่อไปนี้
1. มุมมองต้องแยบคาย คือ พึงมองในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น และต้องเห็นในมุมที่คนไม่มอง เช่น มุขตลกของอาจารย์เกี่ยวกับภาพยนตร์จีนเรื่อง “ จูโด้ เธอผิดหรือไม่ผิด “ อาจารย์เสนอมุมมองว่า ฟังชื่อเรื่องแล้ว บางคนบอกน่าไปดู จะได้รู้ว่าเธอผิดหรือไม่ผิด แต่ถ้าคิดดูอีกที ขนาดคนสร้างคนตั้งชื่อเอง ยังไม่รู้เลยว่าเธอผิดหรือไม่ผิด แล้วเราคนไปดูทีหลังจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเธอผิดหรือไม่ ใช่ไหมครับ
2. ส่องหา คือ ควรคิดค้นเสาะแสวงหาความใหม่ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา นักพูดจะต้องรีไทร์ตัวเองออกจากเรื่องเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อความทันการณ์และทันกาลโดยได้มาจากหลายวิธี ไม่ว่าจะอ่าน เขียน ค้น ฟัง สนทนาวิสาสะกับคนทั่วๆ ไป เช่น คุยกับนักพูด นักการตลาด เป็นต้นจะทำให้ได้แง่คิดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น
สำหรับหลักการพูดที่ดีนั้น อาจารย์ได้นำเสนอในหลายแง่มุม ทั้งสำหรับนักพูดและวิธีการพูด ซึ่งพอที่จะสรุปได้จากหนังสือที่อ่าน ดังต่อไปนี้
ประการแรก การพูดที่ดีต้องมีการฝึกซ้อม ก็เฉกเช่นเดียวกับการเล่นกีฬา และการที่จะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้น ก็จำเป็นอยู่ที่ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างโชกโชนและช่ำชอง ยิ่งเตรียมการพูดพร้อมเท่าไหร่ การพูดครั้งนั้นก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญก็คือ ต้องเตรียมบทพูดหรือสริปต์ในการพูดด้วยทุกครั้ง
ประการที่ 2 ประสบการณ์ในการพูด เมื่อนักพูดที่มีประสบการณ์แล้ว เมื่อพูดๆ ไปแล้วเกิดลืมเรื่องที่จะพูด ก็อาจจะใช้ประสบการณ์มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ เช่นการใช้อารมณ์ขัน หรือมุขตลก เมื่อผู้ฟังเริ่มมีอาการเบื่อหน่าย เป็นต้น ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่ไปเดินหาซื้อไม่ได้เนื่องด้วยการพูดเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษจึงจะสามารถพูดออกมาได้ดังใจนึก
ประการที่ 3 นักพูดต้องมีความรับผิดชอบต่อคำพูดที่พูดออกไป เพราะการพูดในแต่ละครั้งก็เหมือนการฝากประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา ดังนั้น นักพูดควรจะคำนึงถึงคำพูดทุกครั้งที่จะพูดเพราะคำพูดของมนุษย์นั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงลมปากที่พ่นออกไปก็จริงอยู่ แม้ฟังแล้วไม่เจ็บตัว แต่มันก็เจ็บกระดองใจ ดังคำกลอนที่ว่า
อันแผลกายง่ายนักเมื่อรักษา
หมั่นทายาเช้าเย็นก็เห็นผล
แต่แผลซึ่งอยู่ลึกซึ้งจนสุดทน
ในกมลนั้นเกินแก้ คือแผลใจ
เมื่อเอ่ยถึงบุคลิกภาพของนักพูด นั่นก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักพูดควรจะคำนึง และถ้าหากจะเอ่ยถึงนักพูดแล้ว หลายคนคงคิดว่านักพูดต้องเป็นคนที่พูดมาก ปากจัด กัดไม่ปล่อย แต่บุคลิกของอาจารย์จตุพล ชมพูนิช กลับตรงกันข้าม อาจารย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งไว้ว่า อาจารย์ได้รับเชิญให้ไปสัมภาษณ์ทางวิทยุในรายการ MIDNIGHT SPECIAL ผู้สัมภาษณ์มีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เรียกว่าลับปากรอ เพราะตื่นเต้นนักหนาที่ต้องสัมภาษณ์นักพูด แต่เมื่อรายการดังกล่าวดำเนินไปจนกระทั่งเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ทางผู้สัมภาษณ์ได้บอกความในใจกับอาจารย์ว่า รู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะคิดว่าเชิญนักพูดมาออกรายการแล้ว คงจะต้องถูกกัดถูกฟัดจนเปื่อยยุ่ยพรุนไปทั้งตัวเพราะคะเนดูจากรายการทางโทรทัศน์แล้ว เธอคิดว่าคงจะไม่รอดแน่ แต่กลับเป็นว่า อาจารย์มามาดขรึม ฟอร์มติ๋มๆ ไม่ได้โต้กลับสับแหลกเหมือนที่เคยคิดเลย อาจารย์บอกว่านักพูดมิจำเป็นต้องเป็นคนพูดมากหรือปากจัด และให้เหตุผลสั้นๆ ว่าที่ไม่พูดมิใช่เป็นเพราะไม่ได้สตางค์หรือไม่มีไมโครโฟน แต่เป็นเพราะว่าไม่อยากพูดก็เท่านั้นเอง
ผู้ที่เป็นนักพูดอยู่แล้วหรือกำลังคิดที่จะเป็นนักพูดพึงใช้ความสามารถในการพูดนั้นด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะการใช้คำพูดตอบโต้ โชว์ความสามารถในทุกเรื่องทุกกรณีทุกกาลเวลานั้น อาจจะยังความเสียหายมาสู่เจ้าของปากที่ผลิตคำพูดนั้นออกไปได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นอาจารย์จึงเลือกที่จะเงียบมากกว่าพูดก็เพราะว่าการพูดมากก็เหมือนกับโอ่งรั่วน้ำ มีอะไรก็ไหลออกหมด ยิ่งไม่มีอะไรจะไหลอยู่ด้วย ขืนพูดมากเดี๋ยวไม่มีปากจะพูด ยิ่งมีปากเดียวอยู่ เก็บปากไว้พูดเมื่อถึงเวลาที่จะพูดดีกว่า เพราะคำพูดทุกคำจะทรงคุณค่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องพูด
ความประทับใจในตัวอาจารย์อีกอย่างก็คือ ความเป็นนักกลอน ซึ่งเมื่ออ่านหนังสือที่อาจารย์แต่งขึ้นมานั้นจะมีคำกลอนคำคมที่ดี ที่แฝงความคิดและคติ ประกอบการเขียนและการพูดอยู่เสมอ ผมคิดว่าอาจารย์มีฝีมือในการแต่งกลอนที่เก่งมาก เพราะสามารถแต่งได้ทุกประเภทไม่ว่าจะให้ความรู้และตลกขบขัน ซึ่งสามารถทำให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ไม่น่าเบื่อ ทั้งยังทำให้ประทับใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมได้รวบรวมผลงานการแต่งกลอนและคำคม หรือบทความสั้นบางส่วนไว้เป็นตัวอย่างดังนี้คือคำกลอนที่ให้ความรู้ โดยใช้วิธีการเขียนที่ง่ายต่อความเข้าใจ เช่นเลิกคิดว่า พูดได้ก็พูดไป กันเสียทีหันมาพูดได้พูดดี กันดีกว่า.........และ
ใช่ว่า คนมีปาก จะพูดได้อย่างใจคิด
ใช่ว่า คนพูดได้อย่างใจคิด จะพูดความจริงทั้งหมด
ใช่ว่า คนพูดความจริงทั้งหมด จะลงมือกระทำ
ใช่ว่า คนลงมือกระทำ จะมีความรับผิดชอบ
พูดได้ ทำด้วย ช่วยรับผิดชอบ คือ สปิริตของนักพูด
จากการอ่านบทกลอนนี้ผมรู้สึกว่าประทับใจเป็นอย่างมากเพราะเป็นกลอนที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ต้องใช้ศัพท์ที่ยากเลยก็สามารถทำให้กลอนที่ออกมาไพเราะได้ ส่วนตัวอย่างของคำคมที่อาจารย์เขียนไว้ก็มีตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ “ แด่นักพูดผู้กล้าก้าว จงเดินไปข้างหน้าแล้วฝากผลงานวาทศิลป์ไว้เบื้องหลัง เพื่อเป็นตำนานที่ร่ำเรียนไม่มีวันจบสิ้น เป็นทรัพย์สินของอนุชนและจงเป็นคนของประชา “
จะเห็นได้ว่าอาจารย์มีความสามารถในด้านนี้เป็นอย่างมาก จึงทำให้ผมคิดได้ว่า การเขียนคำกลอนและคำคมง่ายๆ แบบนี้พวกเราน่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับบทพูดและการพูดในแต่ละครั้งของเราได้เพื่อที่จะเพิ่มคุณค่าและความประทับใจมากยิ่งขึ้นผลงานของนักพูดที่ผมประทับใจท่านนี้มิได้มีเพียงแค่การเป็นนักพูดและนักเขียนที่ประสบความสำเร็จเพียงเท่านี้ อาจารย์ยังมีผลงานอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ในหลายๆ รายการ และยังเป็นวิทยากรของบริษัทฝึกอบรมสัมมนาอีกด้วย
ความสำเร็จของอาจารย์เกิดจากฝีมือ ความพยายาม ความมุ่งมั่นและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานานจากวงการนักพูด จึงทำให้อาจารย์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเป็นนักพูดมืออาชีพ ที่มีคนรู้จักและนับถือมากที่สุดในประเทศไทยคนหนึ่งก็ว่าได้จากความประทับใจทั้งหลายในผลงานและตัวนักพูดเอง เมื่อเราเห็นตัวอย่างในทางที่ดีแล้ว ควรหรือไม่ที่เราจะนำสิ่งดีๆ มาใช้ในชีวิตของเรา ถ้าหากว่าอยากเป็นนักพูดที่ดีก็ควรที่จะหมั่นฝึกฝน เพราะเราไม่มีความเป็นนักพูดสำเร็จรูปขายในท้องตลาด เริ่มตั้งแต่วันนี้เถอะครับเพราะโอกาสมีไว้สำหรับทุกคนเสมอ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘