วิชาการพูด 39

โธมัส อัลวา เอดิสัน
เพื่อน ๆ คะ นอกจากพระอาทิตย์ที่ส่องแสงเวลากลางวันและแสงจันทร์ที่ส่องแสงเวลากลางคืนแล้ว ยังมีอะไรที่สามารถให้ความสว่างกับเราได้อีกคะ ถ้านึกไม่ออกล่ะก็ ลองแหงนหน้ามองบนเพดานดูสิคะ ไอ้เจ้าสิ่งนี้เนี่ย คนน่านเขาเรียกว่า “หลามแจ้ง” ถ้าเป็นทางการหน่อยก็เรียกวว่า “หลอดฟลูออเรสเซนท์” เป็นหลอดไฟที่พัฒนามาจากหลอดไส้ แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่าหลอดไส้เนี่ยใครเป็นผู้คิดค้นขึ้น และเป็นเวลากี่ปีมาแล้ว ใช่แล้วค่ะ เขาคนนั้นก็คือ นายโธมัส อัลวา เอดิสัน นั่นเอง เอดิสันคิดค้นหลอดไฟสำเร็จเมื่อปี ๑๘๗๙ หรือเมื่อ ๑๒๐ ปีผ่านมานี่เองค่ะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะที่สามารถคิดแล้วประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง เพราะนอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องมีความอดทนและความพยายามเป็นที่สุดด้วย
เพื่อนอยากทราบไหมคะว่ากว่าจะมาเป็นเอดิสัน ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้จุดโคมไฟให้ความสว่างอย่างทุกวันนี้เนี่ย เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง และที่สำคัญเหตุใดเอดิสันจึงเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะความเป็น “ช่าง” ไงคะ แต่จะช่างอย่างไรเนี่ย เราจะมาดูกันค่ะ คงไม่ใช่ ช่างมัน แน่นอน
ช่างทำ ตั้งแต่เล็ก ๆ มาแล้ว เอดิสันเป็นคนที่ทำอะไรทำจริง เช่น เวลาที่จดจ่อกับของอะไร ก็มักจะหาทางเอามาเล่นให้ได้ นอกจากนี้ก็ชอบทำหน้าผากย่นเหมือนกำลังคิดอะไรอยู่ บางทีก็ทำหน้ามุ่ย ปากห่อ และพยายามมุ่งที่จะทำอะไรอย่างที่คิดกะเอาไว้ทุกครั้ง พอเริ่มหัดเดิน เจ้าหนูเอดิสันก็แสดงความตั้งใจจริงโดยออกเดินมุ่งหน้าไปยังสิ่งที่อยากจะได้นั้นทีเดียวเลยละค่ะ
ช่างถาม พอเอดิสันเริ่มจำความได้ก็ดูเหมือนว่าเอดิสันจะอยากรู้อยากเห็นเรื่องจ่าง ๆ อย่างแรงกล้าไปเสียหมด คล้ายกับว่าอยากหัดพูดเพื่อจะได้ถามอะไรต่ออะไรเท่านั้นเอง และพอรู้จักถามเป็นเท่านั้น ก็ถามเสียทุกเรื่อง ถามเรื่อยมาจนตลอดชีวิต บางคำถามก็น่างงงวยจนตอบไม่ถูก แต่บางสิ่งก็ลึกซึ้งและตอบยาก บางคำถามก็ฟังดูเหลวไหล แต่เอดิสันก็ไม่ยอมลดละ จนทำให้ครอบครัวเอือมระอาไปตาม ๆ กัน เว้นแต่แม่ของเอดิสันเท่านั้น เพราะเธอมีความอดทนมากเป็นพิเศษค่ะ ครั้งหนึ่งเอดิสันเคยถามพ่อว่า “ทำไมลมถึงพัดล่ะครับ?” แซม เอดิสันตอบว่า “พ่อไม่รู้หรอก อัล” เอดิสันก็เลยถามต่อไปว่า “ก็ทำไมพ่อไม่รู้ล่ะครับ” เห็นไหมคะ ช่างถามช่างซักจริง ๆ
ช่างอ่าน ครอบครัวเอดิสันต้องย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับเอดิสันไม่สบายเป็นไข้ดำแดง เอดิสันก็เลยไม่ได้เข้าโรงเรียนจนอายุได้ ๘ ปี จึงได้เข้าโรงเรียนชนบทแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เอดิสันอยากจะถามไถ่สิ่งต่างๆ ที่เขาสังสัยเพื่อหาคำตอบมากกว่าจะไปจำสิ่งต่าง ๆ ที่ครูสอน ด้วยเหตุนี้เอดิสันจึงไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าไหร่ และผลการเรียนยังอยู่อันดับท้าย ๆ ของห้องอีกด้วย พอเรียนได้สามเดือน วันหนึ่งเอดิสันได้ยินครูของเขาคุยกันว่า “เจ้าหนูเอดิสันหัวทึบมาก เรียนอะไรก็ไม่จำ” เอดิสันเป็นเด็กเงียบ ๆ และอารมณ์ดี แต่พอได้ยินครูพูดเช่นนั้น (ความช่างเม้าธ์ของครู) ทำให้เอดิสันเลือดเดือด จึงตัดสินใจกลับบ้านแล้วหันหลังให้โรงเรียนตั้งแต่นั้นมาค่ะ ตลอดชั่วชีวิตเอดิสันเข้าโรงเรียนเพียงสามเดือนเท่านั้นเองค่ะ หลังจากนั้นแม่ก็เป็นผู้ให้การศึกษาแก่เอดิสันตลอดมา เอดิสันเรียนหนังสือกับแม่ทุกวันตามกำหนด แล้วมิใช่จะเรียนเฉพาะหน้าหนาวนะคะ หน้าร้อนก็เรียนด้วย ทั้งๆ ที่เด็กอื่น ๆ ได้ไปพักผ่อนเที่ยวเตร่กัน เอดิสันไม่ได้รังเกียจในข้อนี้เพราะว่าแม่ของเขาไม่ได้ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว หากยังปลูกฝังให้เอดิสันรักการอ่านอีกด้วย แม่ของเอดิสันเชื่อว่า “การเรียนโดยใช้เหตุผลนั้นสำคัญกว่าเรียนโดยวิธีท่องจำ”
วิธีการสอนของนางแนนซี่ เอดิสันก็คือ หาหนังสือที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้มาอ่านดัง ๆ ให้เอดิสันฟัง เช่น บทละครของเชคสเปียร์ นวนิยายของดิ๊กเก้นท์ และหนังสือประวัติศาสตร์อีกหลายเล่ม เมื่ออายุได้แปดขวบ เอดิสันก็รู้จักรักการอ่านหนังสือดี ๆ แล้ว พออายุได้เก้าขวบก็สามารถอ่านตำราเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับการทดลองบางอย่างที่สามารถทำได้เองที่บ้านแล้ว ก่อนอายุสิบขวบ เอดิสันสามารถอ่าน “ประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษของฮิวม์” “ความเสื่อมและความพินาศของอาณาจักรโรมัน” ของกิบบอน และ “ประวัติศาสตร์โลก” ของเซียส์ จบไปแล้ว และในตอนนั้นก็กำลังอ่าน “ยุคแห่งเหตุผล” ของโธมัส เพน
ช่างทดลอง ความที่เอดิสันเป็นนักอ่านและได้เริ่มสัมผัสการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาบ้างแล้ว การทดลองจึงเป็นเหมือนโลกใบใหม่ของเขา เอดิสันลองทำหมดทุกอย่างตามหนังสือวิทยาศาสตร์ ต่อมาแม่จึงได้ซื้อ พจนานุกรมวิทยาศาสตร์มาให้ จากนั้นเอดิสันก็เอาเงินค่าขนมของตัวเองทั้งหมดไปซื้ออุปกรณ์ทดลอง ไม่ว่าจะเป็นเด็กขายลูกกวาด ขายหนังสือพิมพ์ตามสถานีรถไฟ เขาก็ทำมาหมดแล้ว ครั้งหนึ่งเด็กชายเอดิสันเคยคิดเครื่องส่งโทรเลขขึ้นได้เองเป็นเครื่องแรกตามที่ได้อ่านในหนังสือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จค่ะ เพราะเอดิสันใช้แมวผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่าเขาทำอย่างไร เขาใช้วิธีจับแมวมาสองตัว เอาลวดล่ามขามันไว้ทั้งคู่ แล้วถูหลังแมวทั้งสองตัวเพื่อให้เกิดการเสียดสี ดูท่าจะไปได้ดีนะคะ แต่การทดลองนี้ล้มเหลวค่ะเพราะแมวไม่ยอมร่วมเท้า เอ๊ย ! ร่วมมือด้วย กลับดิ้นและข่วนแล้ววิ่งกระเจิงไป
ช่างประดิษฐ์ ในเดือนมกราคม ปี ๑๘๖๙ เอดิสันได้กลายเป็นนักประดิษฐ์ที่แท้จริงค่ะ เขาตั้งบริษัทในมลรัฐนิวเจอร์ซี่ และเริ่มงานประดิษฐ์ของเขาไปเรื่อย ๆ เอดิสันสามารถผลิตเครื่องรับส่งโทรเลข (จริง ๆ) แบบสองทางได้สำเร็จ นอกจากนี้นะคะ ยังสามารถประดิษฐ์เครื่องบันทึกคะแนนเสียงในสภาจนได้รับสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกด้วย แต่เมื่อนำเอาไปเสนอที่สภานิติบัญญัติกลับไม่ได้รับการตอบรับเพราะเหตุผลทางการเมือง ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เอดิสันหันมาเป็นนักประดิษฐ์สิ่งที่มีผู้ต้องการนำไปใช้เท่านั้น เอดิสันเริ่มจะได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์โดยแท้จริงในบอสตัน
ช่างปกครอง เอดิสันมีความคิดแปลก ๆ เกี่ยวกับการทำงาน ในบริษัทของเขาเองไม่มีการกำหนดเวลาทำงานเอาไว้เลย ลูกจ้างทุกคนขยันขันแข็งทำงานก็เพราะเห็นความกระตือรือร้นของเอดิสันจนไม่รู้ว่าควรจะเลิกงานเวลาไหน ซึ่งเอดิสันก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่มีลูกจ้างคนใดทำงานให้เอดิสัน มีแต่ทำงานกับเขา ทุกคนทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขา และไม่มีงานใดที่เอดิสันจะไม่ยอมทำหรือไม่ได้จับทำ ลูกจ้างทุกคนเป็นเหมือนพี่น้องของเขา ความสนิทสนมและความเป็นผู้นำของเอดิสันทำให้ทุกคนคิดว่าตนมีส่วนในความคิดอันปราดเปรื่องของเขาด้วย เอดิสันคุมลูกจ้างทำนองเดียวกับคุมตัวเองให้ทำงาน เขาไม่เคยขอให้คนทำงานอะไรที่เขาไม่เคยทำหรือทำไม่ได้ ผลก็คือลูกจ้างทุกคนพากันรักเขา แหม! ถ้าผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเราทำได้อย่างนี้ก็คงจะดีนะคะ จะได้ไม่เกิดปัญหาอย่างทุกวันนี้
พ่อมดผู้ไม่เคยย่นย่อ เอดิสันได้รับความสำเร็จมากมายจากการที่มีอัจฉริยภาพมาแต่กำเนิดจากการตรากตรำทำงานหนักและจากการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเรารู้จักเอดิสันเป็นอย่างดีในฐานะผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ แต่ความเป็นจริง นอกจากหลอดไฟแล้ว เอดิสันยังได้ประดิษฐ์สิ่งมีประโยชน์อีกนับพันอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนับคะแนนเสียง โทรศัพท์ รถยนต์ ภาพยนตร์ ฯลฯ อีกด้วย แต่ละสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ล้วนแต่มีความพยายาม มานะ บากบั่น ประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น เขาผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน และทำผิดอยู่บ่อย ๆ แถมยังดื้เสียอีกด้วย เอดิสันไม่เคยย่อท้อต่อความล้มเหลว เมื่อใดที่เขาพยายามแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จหรือเมื่อตระหนักได้ว่าเขาได้ทำผิดไป เอดิสันจะไม่มัวมานั่งเศร้าโศกเสียใจหรือขมขื่นกับใครเลย แต่เขาจะเริ่มต้นทำงานใหม่ทันที
นักฝันที่ไม่ลืมโลก โธมัส อัลวา เอดิสัน มัได้รับสมญานามว่าเป็นอัจฉริยบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น แต่เขาก็ไม่เคยเย่อหยิ่งและภูมิใจกับถ้อยคำเหล่านี้มากไปกว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาสามารถให้ประโยชน์กับคนทุกคนได้อย่างสูงสุด ตรงกันข้ามเขาคิดว่า “คนอัจริยะนั้นไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกกันว่าอัจฉริยะนั้น แท้จริงก็คือการทำงานหนักเท่านั้นเอง คือเป็นแรงดลใจเสียร้อยละหนึ่ง และอีกร้อยละเก้าสิบเก้าคือหยาดเหงื่อ”
ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เอดิสันรู้สึกสนใจในความลี้ลับของธรรมชาติเป็นอย่างมาก เขาชอบคิดและพยายามทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เอดิสันเป็นคนชอบคิดโน่นคิดนี่อยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่เชื่อว่าการที่เขามีแนวคิดแปลก ๆนั้นเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ใครก็สามารถคิดอะไรขึ้นมาได้ทั้งนั้น ถ้าหากสังเกตดูโลกและธรรมชาติเสียแต่วัยเยาว์ และหัดสรุปสาระจากสิ่งที่ตนได้เห็นนั้น “การคิดนั้นเป็นนิสัยอย่างหนึ่ง หากคุณไม่หัดคิดเสียแต่ยังเด็ก คุณอาจจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้เมื่อโตขึ้น”
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเกร็ดชีวิตของเอดิสัน เราจะเห็นลักษณะเด่นของเราก็คือ ช่างคิด ช่างทำ ช่างถาม ช่าง…ไปซะทุกอย่าง แต่ยกเว้นช่างเม้าธ์นะคะ เอดิสันเป็นบุคคลตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอุดมคิตของอเมริกา โดยผ่านการมุ่งมั่นที่จะนำความลี้ลับแห่งธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในทุกแห่งหน เอดิสันเข้าใจดีว่าเครื่องวัดคุณค่าของชีวิตมิได้อยู่ที่ของที่เราได้มา หากอยู่ที่ว่าเราได้ให้อะไรแก่คนทั่วไปบ้าง ไม่ว่าสายใยเส้นจิ๋วในหลอดไฟจะสว่างเรืองรองอยู่ ณ ที่ใด ณ ที่นั้นงานของโธมัส อัลวา เอดิสัน ย่อมยืนยงคงอยู่ตลอดกาล แม้ว่าชีวิตของเขาจะล่วงลับไปแล้ว…ก็ตาม.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘