วิชาการพูด 37

ผงชูรสการพูด
เพื่อน ๆ คะ ถ้ากล่าวว่ามนุษย์เรามีอาหารที่ะรับประทานได้หลายทาง เพื่อน ๆ ว่าจริงไหมคะ อาหารที่เรารับประทานเข้าไปเพื่อยังชีพ เราก็เรียกว่าอาหารปาก เพราะมันเข้าทางปาก แต่ถ้าเราได้ดูสิ่งสวย ๆ งาม ๆ เห็นแล้วรู้สึกระทึกใจ เร้าใจ ภาพที่เห็นนั้นก็เรียกว่าอาหารตา และสิ่งที่เรารับฟังได้ทางหูก็เป็นอาหารหู นั่นคือ “การพูด” อาหารหูของเพื่อน ๆ มีรสอร่อยหรือยังคะ ถ้ายัง หรืออาจดีอยู่แล้ว แต่อยากให้รสชาติกลมกล่อมขึ้นไปอีกละก็ เชิญฟังทางนี้ค่ะ วันนี้ดิฉันมีสิ่งพิเศษที่จะสามารถทำให้อาหารหูของเพื่อน ๆ เอร็ดอร่อยกลมกล่อมอย่างที่ใคร ๆ ได้รับประทานเข้าไปแล้วก็ต้องติดใจอยากประทานอีก มาฝากค่ะ
ของสิ่งนี้เป็นเกร็ดเล็ก ๆ ใส ๆ เหลี่ยม ๆ หรือที่พ่อครัวแม่ครัวชั้นเยี่ยมเขาเรียกกันว่า ผงชูรส แต่เป็นผงชูรสการพูดที่จะนำไปใช้ปรุงอาหารหูของเพื่อน ๆ ให้มีรสชาติที่พิเศษขึ้นค่ะ ซึ่งดิฉันได้เกร็ดเล็ก ๆ ใส ๆ เหลี่ยม ๆ นี้มาจากหนังสือ “ผงชูรสการพูด” ของอาจารย์ถาวร โชตชื่น และอาจารย์เสน่ห์ ศรีสุวรรณค่ะ “ผงชูรสการพูด” ซึ่งเป็นกลเม็ดเกร็ดการพูดสูตรพิเศษเพื่อรสชาติของการฟังนี้ อาจารย์ทั้งสองก็ได้แนะนำว่า สามารถที่จะไปใช้ได้ทุกเมื่อตามความเหมาะสมเลยทีเดียวค่ะ เรามาดูส่วนผสมของผงชูรสเนี้กันก่อนนะคะ ซึ่งได้แก่
ส่วนประกอบอันที่ ๑ การอุปมาอุปไมย หรือการพูดเชิงเปรียบเทียบ การพูดหากมีการอุปมาอุปไมยด้วยแล้วล่ะก็ จะช่วยทำให้ผู้ฟังฟังแล้วเข้าใจเรื่องที่พูดง่ายขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนนะคะว่าเรื่องที่ยกมาเป็นอุปมาอุปไมยนั้นมันเข้ากับเรื่องที่เราจะพูดหรือเปล่า
ส่วนประกอบอันที่ ๒ การใช้ภาษาแปลก ๆ เรื่องที่ธรรมดา ๆ นี่นะคะ หากเรารู้จักภาษาที่เข้าท่าเข้าทางแล้วล่ะก็ จะชวนให้น่าติตามทีเดียวแหละค่ะ ลองมาดูตัวอย่างกันนะคะ หากดิฉันจะมาแนะนำยาแช่ผักผลไม้แก่เพื่อน ๆ โดยพูดว่า “ถ้าเพื่อน ๆ แช่ผักด้วยสิ่งนี้แล้ว ผักของเพื่อน ๆ จะดูสด ไม่เหี่ยวไปหลายวัน” กับพูดว่า “ดิฉันรับรองว่าถ้าเพื่อน ๆ แช่ผักด้วยสิ่งนี้แล้ว ผักของเพื่อน ๆ จะสดชูช่อกระเด๊ะอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าเหี่ยวหัวตกเป็นอันขาด” เป็นไงคะกับถ้อยคำแปลก ๆ พิสดารเช่นนี้ ช่วยให้เห็นภาพพจน์ดีขึ้นไหมคะ
ส่วนประกอบอันที่ ๓ แทรกตัวอย่างเข้าไปเสริม การพูดของเราจะไม่เป็นแบบราบเรียบธรรมดา ถ้าเรามีตัวอย่างสอดแทรกตามสมควร และนักพูดที่ดีควรจะต้องมีตัวอย่างสะสมไว้มาก ๆ
ส่วนประกอบอันที่ ๔ แสดงความเฉิ่มความเชย ความเฉิ่มเชยของผู้พูดบางครั้งก็มีประโยชน์ สามารถเรียกเสียงฮาจากผู้ฟังได้ดีเหมือนกัน การแสดงความเชยนั้นก็แสดงได้สองแบบ คือ แบบที่พลาดพลั้งไปจริง ๆ กับแบบที่ตั้งใจหรือเตรียมเอาไว้ก่อนแล้วก็ได้
ส่วนประกอบอันที่ ๕ การเปิดเผยทีเด็ด โดยการปิดซ่อนบางสิ่งบางอย่างไว้เป็นทีเด็ด ชวนให้คนฟังติดตาม เช่น เพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่าทำไมแม่ชีถึงไม่อยากไปจุฬาฯ… ก็เพราะว่า…แม่ชีกลัวพระเกี้ยว
ส่วนประกอบอันที่ ๖ อ้างเกร็ดบทกวี การเป็นนักพูดเจ้าบทเจ้ากลอนก็สามารถเรียกความสนใจจากผู้ฟังได้ดีทีเดียว เช่น ตามตำราของการดื่มเหล้านั้น ผู้ดื่มจะมีอาการแปลก ๆ ที่แตกต่างกันไปตามปริมาณของเหล้าที่ผ่านเข้าไปในลำคอ ซึ่งพอจะเรียงเป็นคำคล้องจองได้ดังนี้แก้วที่หนึ่งนงนุช    แก้วที่สองพุทธวาจา
แก้วที่สามแกล้วกล้าพูดจาฉลาด    แก้วที่สี่องอาจผ้าขาดไม่รู้ตัว
แก้วที่ห้าเมามัวพูดไม่กลัวผิด  แก้วที่หกมิ่งมิตรพูดผิดทุกคำ
แก้วที่เจ็ดปิดหน้าตาดำมือคลำหนทาง   แก้วที่แปดนวลนางเห็นช้างเท่าหมู
แก้วที่เก้าโฉมตรู เห็นประตูเป็นบันได   แก้วที่สิบไปไม่ไหว ลงนอน
ส่วนประกอบอันที่ ๗ ยอวาทีกระแนะกระแหน ซึ่งก็คือวิธีการพูดชมเชิงกระแนะกระแหนเหน็บแนม เช่น ม.ช.ของเรานี่นะคะดี๊ดี มีวิธีในการแก้ไขปัญหาการจราจรหลายวิธี วิธีหนึ่งก็คือห้ามนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และ ๒ ที่อยู่หอพักมีมอเตอร์ไซค์ขี่ แล้วให้นั่งรถแดง รถแดงก็ดี๊ดี สามัคคีกันดีค่ะ เวลามาทีก็มาพร้อม ๆ กัน เวลาไม่มาก็ไม่มาพร้อมกันอีก ทำให้นักศึกษาเข้าเรียนกันทันไม่ถึงครึ่งห้อง
ส่วนประกอบอันที่ ๘ แหย่เล่นกับผู้ฟัง เช่น เพื่อน ๆ คะ รู้จักกาลิเลโอไหมคะ… อ๋อ รู้จักกันหรือคะ ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ยังเจอกันอยู่หรือเปล่าคะ
ส่วนประกอบอันที่ ๙ กระทบกระทั่งตัวเอง ถ้าเข้าใจเลือกจังหวะให้พอเหมาะแล้ว วิธีนี้จะเป็นวิธีการที่ค่อนข้างได้ผลพอสมควร เพราะทางจิตวิทยาคนเรามักพอใจที่อยู่ ๆ ก็มีคนเสียดสีตัวเองให้ฟัง
ส่วนประกอบอันที่ ๑๐ บรรเลงตั้งแต่เปิดฉาก อาหารจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่คำแรก ถ้ารสชาติถูกปากก็พูดได้ว่าอาหารจานนี้อร่อย การพูดก็เหมือนกัน การเปิดฉากที่มันและสนุกสนานย่อมส่งผลดีไปตลอดการพูดครั้งนั้นด้วย
นี่คือส่วนผสมของผงชูรสที่อาจารย์ถาวรได้มอบให้ นอกจากนี้อาจารย์เสน่ห์ก็ยังมีส่วนประกอบหรือคำพูดต้องห้าม ที่หากเผลอหยิบใส่เข้าไปแล้วอาจทำให้รสชาติของอาหารที่แม้จะปรุงผงชูรสไปแล้วก็ตาม เสียรสชาติหรือรสชาติที่ผิดไปได้ มีอยู่ ๗ ประเภทด้วยกันคือ
ประเภทที่ ๑ คำหยาบคาย เป็นคำพูดที่พึงหลีกเลี่ยง พูดไปมีแต่ความเสียหาย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มีเรื่องเล่าของอาจารย์เสน่ห์เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ด็อกเตอร์สองคนเป็นเพื่อนสนิทกันมาก ไปเจอกันที่สนามบิน คนหนึ่งกำลังจะไปเมืองนอก อีกคนหนึ่งกลับมาจากเมืองนอก พอเจอกันเข้าก็เลยทักทายกันอย่างสนิทสนมตามแบบฉบับทันทีว่า
“อ้าว ไอ้เห้… มึงจะไปไหนวะ”
“อ้าวไอ้เห้… กูจะไปญี่ปุ่นว่ะ”
“แหมไอ้เห้… มึงไม่เคยโทรมาคุยกับกูเลยนะ”
“อ้าวไอ้เห้… มึงไม่ค่อยอยู่เลยนี่หว่า”
ด็อกเตอร์สองคนนี้รักษาภาษาของพ่อขุนรามฯไว้ได้ดีมาก ก่อนจะจากกัน ด็อกเตอร์ที่เพิ่งกลับมาก็หันไปบอกลูกชายที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ว่า “เอ้าลูก ลาลุงเขาซีลูก” ลูกชายซึ่งยืนฟังด้วยความงงงวยอยู่นานจึงยกมือไหว้ลาเพื่อนพ่อไปอย่างงง ๆ ว่า “ผมลาก่อนนะครับ คุณลุงเห้…”
เป็นไงละคะ ระวังนะคะ ใช้คำพูดแบบนี้ก็อาจจะกลับเข้าตัวอย่างนี้ก็ได้นะคะ
ประเภทที่ ๒ คำสองแง่สองง่าม ซึ่งมีความหมายไปในทางสัปดน ชวนให้คนฟังคิดไปในทางกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เช่น ในการโต้วาทีในงานส่งเสริมการรักษาสุขภาพฟัน มีญัตติว่า “ฟันผู้หญิงดีกว่าฟันผู้ชาย” ฟังญัตติแล้วถ้าไม่คิดอะไรก็พอจะแปลความหมายในทางที่ว่าสุขภาพฟันของผู้หญิงมีสุขภาพที่ดีกว่าของผู้ชาย แต่ถ้าใครไม่รู้ถึงที่มาที่ไปของงาน หรือบางคนก็ชอบคิดลึกหน่อย ก็อาจจะแปลคำว่า ฟัน เป็นการกระทำอย่างหนึ่งไป
ประเภทที่ ๓ คำที่สวนความรู้สึก บางคนชอบใช้คำพูดที่สวนความรู้สึกของคนฟัง ทำให้คนฟังแปลจากความปรารถนาดีเป็นปรารถนาร้ายไปเลยก็ได้ เช่น ประโยคลาของพนักงานที่บริการลูกค้ามักจะกล่าวว่า “กลับแล้วหรือคะ เอาไว้เจอกันใหม่นะคะ” คำว่า “เจอกัน” ความหมายออกจะเป็นประเภทท้าตีท้าต่อยมากกว่า ซึ่งถ้าเป็นผู้ชายด้วยแล้ว “เอาไว้เจอกันใหม่นะครับ” ยิ่งจะดูน่ากลัวไปใหญ่ แต่ถ้าเข้าใจปรับปรุงคำพูดให้สละสลวยขึ้นอีกนิดเป็นว่า “ขอบคุณมากครับ โอกาสหน้าเชิญใหม่นะครับ” ก็จะทำให้คนฟังรู้สึกดีขึ้น
ประเภทที่ ๔ ใช้คำผิดหรือผิดความหมาย เรื่องการใช้คำผิดความหมายนี่มีเยอะแยะไปหมด แม้แต่ทางราชการ เช่น ด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะติดป้ายไว้ว่า “หยุดตรวจ” ซึ่งความหมายน่าจะแปลได้ว่าตอนนี้ไม่ได้ทำการตรวจ ให้ผ่านไปได้ ความจริงเพิ่มคำเข้าไปอีกนิดว่า “หยุดเพื่อตรวจ” ความหมายก็จะดูชัดเจนขึ้น แถวห้างสรรพสินค้าก็เหมือนกัน เขียนเอาไว้ว่า “หยุดรับบัตร” อ่านแล้วก็เหมือนจะแปลว่า ไม่ต้องรับเข้าไปจอดได้เลย น่ากลัวเหมือนกันว่าขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังก้ม ๆ เงย ๆ เขียนอยู่นั้น หากเงยขึ้นมาอีกที อ้าวไปซะแล้ว ถ้าเพิ่มอีกนิดว่า “หยุดเพื่อรับบัตร” ก็จะดีกว่าเยอะเลย
นักพูดที่ดีต้องไม่ใช้คำที่ผิดความหมาย เพราะผู้ฟังอาจเข้าใจผิดจนเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้พูดได้ เช่น ตัวอย่างนี้ค่ะ เถ้าแก่คนหนึ่งพยายามไปทวงหนี้จากลูกหนี้อยู่หลายครั้ง แต่ลูกหนี้ก็ไม่ยอมจ่ายซักที เถ้าแก่ก็เลยชักหมดความพยายาม จึงบอกกับลูกหนี้ไปด้วยเสียงค่อนข้างจะเฮี้ยบว่า “อั๋วคงไม่มีเวลามาเก็บเฮียแล้ว อีกสองวันอั๊วะจะใช้ลูกน้องมาเก็บเฮียให้ได้” ลูกหนี้ได้ฟังดังนั้นก็เลยพูดว่า “ก่อนลื้อจะให้ลูกน้องลื้อมาเก็บอั๊วะ อั๊วะเก็บลื้อซะก่อนดีไหม” เถ้าแก่คนนั้นก็เลยต้องเรียบร้อยโรงเรียนจีนไป เพื่อน ๆ ได้ฟังตัวอย่างนี้แล้วก็ระวังหน่อยนะคะ การใช้คำผิดความหมายอาจเป็นอันตรายที่ร้ายแรงได้
ประเภทที่ ๕ คำพูดเปลืองตัว คือประเภทที่พูดไปแล้วไม่ระวังอาจเข้าตัวได้ โดยเฉพาะคุณ ๆ ผู้หญิงทั้งหลาย เช่น สตรีท่านหนึ่งเป็นวิทยากรสาธิตใบหูเสือใช้รักษาคนเป็นหูน้ำหนวกว่าต้องทำอย่างไร และจะได้ผลอย่างไร ตอนสรุปจบเธอก็ได้บอกกับผู้ฟังว่า “ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็มาเอากับดิฉันได้” ฟังดูไม่ใช่ชวนไปเอาต้นหูเสือซะแล้ว ผู้ฟังที่เป็นผู้ชายก็คงตาลุกวาวกับคำพูดที่ว่า “มาเอากับดิฉันได้” มากกว่าจะสนใจเอาใบหูเสือเป็นแน่
ประเภทที่ ๖ คำซ้ำความหมาย ซึ่งจะทำให้การพูดฟังดูน่าเบื่อ ไม่กระชับ เช่นว่า… “เพื่อน ๆ คะ ดิฉันยังเป็นโสดนะคะ คือยังไม่มีแฟนน่ะค่ะ หรือคือยังไม่แต่งงาน คือยังไม่มีคู่ครอง หรือยังไม่มีสามีน่ะค่ะ” เรื่องเพียงนิดเดียวแต่ใช้คำซ้ำความหมายอย่างนี้แล้ว ทำให้น่าเบื่อไปเลยใช่ไหมคะ เอ้อ…ที่พูดมาเมื่อกี้ เรื่องจริงนะคะ
ประเภทที่ ๗ ภาษาต่างประเทศ ถ้าหากว่ามีภาษาไทยใช้อยู่แล้ว ก็จงเลี่ยงการใช้ภาษาต่างประเทศจะเป็นการดี ดิฉันจะขอยกตัวอย่างที่อาจารย์ใช้ประกอบการอธิบายเรื่องนี้คือ การชกมวยสากล นักมวยไทยเวลาจะขึ้นชกก็ต้องมีการประกาศชื่อเป็นภาษาอังกฤษออกทางหน้าจอโทรทัศน์ อย่างที่เมื่อหลายปีก่อน ก้องธรณีชกกับนักชกชาวโรมัน พอเริ่มประกาศชื่อที่หน้าจอโทรทัศน์ก็ทำให้รู้เลยว่าต้องแพ้แน่ ๆ ก็ก้องธรณีเวลาเขียนสะกดเป็นภาษาอังกฤษนั้นเขียนว่า kong thoranee อ่านว่า กอง-ทอ-ระ-นี อย่างนี้แล้วจะชนะได้อย่างไร ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ จะดีกว่านะคะ
นี่ก็คือคำพูดต้องห้ามทั้ง ๗ ประเภท คือ คำหยาบคาย คำสองแง่สองง่าม คำที่สวนความรู้สึก การใช้คำผิดความหมาย ใช้คำที่ซ้ำความหมายเดิม และการใช้คำภาษาต่างประเทศ อย่าลืมนะคะ ก่อนพูดทุกครั้งต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนพูด คำพูดต้องห้ามเหล่านี้ควรจะต้องระมัดระวังทุกครั้งที่มีการพูด อย่าคิดว่าเราเป็นคนตรง ชอบพูดตรง ๆ ไม่สนใจว่าจะเป็นสถานการณ์อะไร เพราะว่าอาจจะโดนสวนหมัดตรง ๆ กลับมาก็เป็นได้
และก็อย่าลืมนะคะ สูตรสำเร็จทั้ง ๑๐ ประการที่เป็นส่วนประกอบของผงชูรสการพูด อันได้แก่ การอุปมาอุปไมย การใช้ภาษาแปลก ๆ การแทรกตัวอย่างเข้าไปเสริม การแสดงความเฉิ่มเชย การอ้างเกร็ดบทกวี ยอวาทีกระแนะกระแหน แหย่เล่นกับผู้ฟัง บรรเลงตั้งแต่เปิดฉาก เหล่านี้เป็นสูตรสำเร็จที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าใครรู้สูตรแล้วนำไปเก็บไว้เฉย ๆ ไม่เคยใช้เลย ผงชูรสก็อาจจะโดนน้ำ โดนความชื้นละลายไปหมดโดยเปล่าประโยชน์ และอย่าลืมว่า ยิ่งหัดใช้ ยิ่งหัดปรุงการพูดก็จะยิ่งมีรสชาติที่สะเด็ดสะเด่ามากขึ้น ข้อสำคัญ ขอให้ใช้ผงชูรสแท้ ๆ นี้เท่านั้น อย่าไปใช้ผงขาว หรือคำพูดต้องห้ามไปใส่แทนผงชูรสเป็นอันขาดนะคะ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘