วิชาการพูด 36

การเริ่มต้นการพูดอย่างมีประสิทธิภาพและเร้าความสนใจ
คิดและรู้สึกตรงกับดิฉันไหมคะว่า ในการพูดที่เรียกว่า “การพูดในที่ชุมนุมชน” ของเรานั้น สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ การเปิดฉากพูด ที่ถ้าเปรียบกับการเขียนเรียงความก็คือการเขียนคำนำนั่นเอง วันนี้ดิฉันมีข้อแนะนำบางประการสำหรับเพื่อน ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเริ่มต้นการพูดอย่างมีประสิทธิภาพและเร้าความสนใจผู้ฟังค่ะ
วิธีเปิดฉากหรือคำนำสำหรับการพูดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรคำนึงถึงก็คือ จะต้อง “ตรึงผู้ฟังตั้งแต่เปิดฉาก” นั่นคือใช้คำพูดบางอย่างยึดความสนใจของผู้ฟังไว้ทันที และควรจะเป็นเพียงหนึ่งหรือสองประโยคเพื่อไปถึงใจความของเรื่องโดยใช้ถ้อยคำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้หรือไม่ เราก็อาจจะละคำนำไว้โดยเริ่มต้นกล่าวถึงเนื้อหาของเรื่องเลยก็ไม่ใช่สิ่งผิด ดีกว่านำผู้ฟังเดินอ้อมมช.เสียหลายรอบ ทั้ง ๆ ที่ใจจริงต้องการให้ชมความงามของอ่างแก้วเพียงเท่านั้น
เราอาจจะตรึงความสนใจของผู้ฟังได้ด้วยกลวิธีหลายอย่าง การเร้าความอยากรู้ด้วยถ้อยคำประโยคแรกของเราก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังสนใจเราตลอดการพูดเหมือนกับที่ลูกศิษย์ของเดล คาร์เนกีได้ใช้วิธีการเปิดฉากด้วยคำถามว่า “ท่านรู้ไหมว่าการมีทาสยังคงกระทำกันในปัจจุบันโดยชาติต่าง ๆ ในโลกรวมหมดถึงสิบเจ็ดชาติ?” ซึ่งนอกจากจะเร้าความอยากรู้ ยังทำให้ผู้ฟังถึงกับงงงันได้ “ทาสเหรือ? เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่อีกเหรอ? ตั้งสิบเจ็ดประเทศเชียว ไม่น่าเชื่อ ชาติอะไรบ้างนะ แล้วอยู่ที่ไหนกันบ้าง” เห็นไหมคะ เพียงการพูดไม่กี่คำก็สามารถนำมาใช้ตกเบ็ดให้ผู้ฟังสนใจได้ทันที
การเปิดฉากด้วยเทคนิคการเริ่มต้นแบบงานวรรณกรรมกก็เป็นวิธีที่สามารถเร้าความอยากรู้ของผู้ฟังให้อยากติดตามต่อ ให้อยากรู้เรื่องราวให้มากขึ้น เพราะมันเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเรื่องเป็นราว เช่น “เรื่องบางเรื่องที่แสนกระจิ๊ดริดแต่ไม่กระจ้อยร่อยเสียเลยทีเดียวต่อผลที่มีเค้าว่าจะตามมาได้เกิดขึ้นที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระหว่างสัปดาห์แรกหลังการสอบกลางภาค ส่งผลให้คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการสโมสรนักศึกษาอย่างเร่งด่วน” เป็นอย่างไรบ้างคะ อยากรู้ต่อไหมคะว่า เกิดอะไรขึ้นที่คณะศึกษาศาสตร์ของเรา
การยกตัวอย่างแปลก ๆ ประกอบคำบรรยายก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังติดตามสนใจมากกว่าการเริ่มต้นด้วยการบรรยายเฉย ๆ เช่น เปิดเทอมฤดูร้อนที่ผ่านมา ดิฉันได้รู้จักกับเพื่อนของพี่ชายดิฉันคนหนึ่ง เขาเป็นผู้ชายหน้าตาดี รูปร่างสูงโปร่ง พูดจาสุภาพ เขาชอบเขียนสีน้ำโดยภาพเขียนของเขาแต่ละภาพจะมีโทนสีที่ดูอ่อนหวานและอบอุ่น แต่สีหน้าของเขามักเศร้าสร้อยและพูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งอย่างแปลก ๆ เสมอ ครั้งหนึ่งดิฉันซ้อนมอเตอร์ไซค์เขาออกไปซื้อของที่ตลาด เขาบอกดิฉันก่อนสตาร์ทรถว่า “ขยับไปอีกนิดสิ ตรงนั้นพิณเขานั่งอยู่” ทั้งๆ ที่ถัดจากแผ่นหลังของเขาเลยก็คือดิฉัน หากจะถูกกั้นให้ห่างกันบ้างก็โดยอากาศ อยากฟังต่อใช่ไหมล่ะคะว่าผู้ชายคนนี้เป็นใคร เขาเป็นอะไร และผู้หญิงชื่อ “พิณ” เป็นใคร?
บางทีหนทางง่ายที่สุดในโลกที่จะใช้ดึงความสนใจได้ก็คือ ถืออะไรบางอย่างให้ผู้ฟังดู เรียกว่า การใช้วัตถุเป็นเป้าสายตา เช่น เราอาจจะเปิดฉากการพูดของเราด้วยการถือกรอบรูปที่สต๊าฟผีเสื้อปีกสวยเอาไว้ แล้วยกขึ้นสูงเหนือไหล่ แน่นอนค่ะว่า ทุกคนต้องเพ่งตามอง แล้วเราก็เริ่มตั้งคำถามว่า “มีใครเคยเห็นผีเสื้อชนิดนี้มีชีวิตและบินไปบินมาตามธรรมชาติบ้างไหมคะ? ผีเสื้อชนิดนี้เรียกว่า สมิงเชียงดาว เป็นผีเสื้อเฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ที่ดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ด้วยเพราะปีกที่สวยวิจิตรของมัน มันจึงถูกตั้งค่าตัวจากนักสะสมผีเสื้อเป็นราคาสูงถึงห้าหมื่นบาท ชาวเชียงดาวจึงมีอาชีพจับผีเสื้อกันเป็นล่ำเป็นสัน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ผีเสื้อสมิงเชียงดาวได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย” แล้วเราถึงเริ่มกล่าวต่อไปถึงผลกระทบของการสะสมผีเสื้อที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การเปิดฉากด้วยการตั้งคำถามจะทำให้ผู้ฟังใช้ความคิดไปพร้อม ๆ กับเรา และมีความรู้สึกร่วมไปกับการพูดของเรา การใช้คำถามเป็นกุญแจอย่างนี้นับได้ว่าเป็นหนทางที่ง่ายที่สุดและแน่นอนที่สุดในการไขหัวใจของผู้ฟังและตัวของเราเองให้เข้าไปสู่เนื้อหา เช่น “รู้สึกบ้างไหมคะว่าแก๊งค์มาเฟียข้ามชาติเริ่มกลายเป็นภัยอันตรายอย่างหนึ่งซึ่งแทรกซึมอยู่ในสังคมไทย?” ผู้ฟังก็จะเริ่มคิดถึงเหตุอาชญากรรมต่าง ๆ ในข่าวหนังสือพิมพืหรือโทรทัศน์ที่เกิดจากการกระทำของแก๊งค์มาเฟียข้ามชาติ ซึ่งเป็นการง่ายต่อเราที่จะเล่าถึงที่มาของแก๊งค์มาเฟีย ภัยอันตรายที่เกิดจากแก๊งค์นี้และวิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากแก๊งค์มาเฟีย
คำพูดของบุคคลสำคัญย่อมมีอำนาจดึงบความสนใจได้เสมอ การอ้างวาทะของบุคคลสำคัญจึงเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการเปิดฉากพูด เช่น “โลกให้รางวันอันยิ่งใหญ่ทั้งในด้านเกียรติยศและเงินแก่คุณสมบัติประการเดียวเท่านั้น“ เอ็ลเบอร์ต ฮับเบอร์ดกล่าว “นั่นคือ ความคิดริเริ่ม” ความคิดริเริ่มคืออะไร? ดิฉันขออธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังดังนี้ ความคิดริเริ่มคือการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่มีใครบอกให้ทำ” เห็นไหมคะว่า เพียงประโยคแรกของวาทะนี้ก็เร้าให้เกิดความอยากรู้ ทำให้ผู้ฟังอยากติดตามต่อไปเพราะต้องการรู้มากกว่านั้น ยิ่งเราหยุดพูดสักนิดตรงคำว่า “เอ็ลเบอร์ต ฮับเบอร์ด” เพื่อเน้นถึงบุคคลสำคัญท่านนี้ก็จะยิ่งเร้าให้ผู้ฟังสนใจ ประโยคแรก “โลกให้รางวัลอันยิ่งใหญ่ทั้งในด้านเกียรติยศและเงินแก่คุณสมบัติเพียงประการเดียวเท่านั้น” จะกระตุ้นให้ผู้ฟังอยากรู้และติดตามต่อว่าคุณสมบัติประการนั้นคืออะไร ประโยคที่สอง “นั่นคือความคิดริเริ่ม” พุ่งเข้าสู่หัวใจของเรื่อง และประโยคที่สาม “ความคิดริเริ่มคืออะไร?” เป็นการตั้งคำถามให้ผู้ฟังใช้ความคิด ส่วนประโยคที่สี่ “ความคิดริเริ่มก็คือการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่มีใครบอกให้ทำ” เป็นการนิยามความหมายของคำว่า ความคิดริเริ่ม
ถ้าการสร้างประโยคในการเริ่มต้นของเราได้กระทำเป็นอย่างดี มันจะสร้างความพึงพอใจและประทับใจให้แก่ผู้ฟังอย่างแน่นอน
การนำเรื่องที่จะพูดเกี่ยวโยงกับความสนใจใหญ่หลวงของผู้ฟัง คือ การเริ่มต้นด้วยข้อความบางอย่างที่พุ่งสู่ผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ฟังโดยตรง ซึ่งรับรองว่าจะต้องได้รับความสนใจจากผู้ฟัง เพราะว่าเรื่องที่จะพูดนั้นมันเกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง เช่น หากเราจะพูดถึงโครงการมิยาซาว่ามีผลกระทบต่อชีวิตนักศึกษา เราอาจจะเริ่มว่า “เรื่องที่ดิฉันกำลังจะพูดต่อไปนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของเพื่อน ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม มันจะส่งผลต่อค่าอาหารและค่าใช้จ่ายทั้งรายเดือนและรายวันของเรา เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ในการใช้ชีวิตนักศึกษาของเราทุกคน” เห็นไหมคะแค่เพียงยกตัวอย่าง แต่เพื่อนๆ ก็อยากรู้กันจริงๆ เลยใช่ไหมล่ะคะว่าโครงการมิยาซาว่า มีผลกระทบต่อนักศึกษาอย่างเรา ๆ ยังไงบ้าง
มีผู้กล่าวไว้ว่า “ข้อเขียนที่ดีของนิตยสารก็คือทำให้ตกตะลึงต่อเนื่องกัน” การเปิดฉากการพูดก็เช่นเดียวกันค่ะ การนำข้อเท็จจริงที่ทำให้ตกตะลึงจะสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟังได้เป็นอย่างมาก เช่น “การบุกทลายสถานทำแท้งแห่งหนึ่งที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเมื่อสามวันก่อนได้สร้างความสะเทือนใจต่อผู้ที่ได้ทราบข่าวเป็นอย่างมาก เพราะผู้หญิงที่นอนเรียงรายเพื่อรอหมอทำแท้งนั้นมีจำนวนเกือบห้าสิบคน ครึ่งหนึ่งนอนรออยู่บนเตียง อีกครึ่งหนึ่งนั่งรอ ขณะบุกเข้าไป หมอกำลังทำแท้งให้เด็กสาวคนหนึ่งซึ่งตั้งครรภ์ได้ ๗ เดือน ซึ่งโชคดีที่ทั้งแม่และลูกถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย และจากการสำรวจพบว่า ในปีหนึ่ง ๆ มีหญิงไทยไปใช้บริการสถานทำแท้งราว ๆ หนึ่งแสนคน” การเริ่มต้นแบบนี้ นอกจากจะสร้างความตกตะลึงแก่ผู้ฟังแล้ว ยังสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ฟัง ซึ่งจะเป็นการง่ายต่อผู้พูดที่จะนำผู้ฟังเข้าสู่เนื้อหาต่อไป
การเริ่มต้นการพูดหรือวิธีการนำเข้าสู่เนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ของศิลปะการพูดในที่ชุมนุมชน เพราะมันจะสะท้อนถึงความสามารถของเราและความบกพร่องของเรา เหมือนกับคำพังเพยเก่าแก่เกี่ยวกับนักแสดงละครที่ว่า “โดยการออกหน้าเวทีเป็นครั้งแรกและเวลาเข้าโรง ท่านจะรู้ดีว่าเขาแสดงเป็นอย่างไร”
แต่การเริ่มต้นสำคัญต่างจากการจบตรงที่ว่า หากการเริ่มต้นของเราดี นอกจากมันจะถึงความสนใจและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังแล้ว มันยังสร้างกำลังใจในการพูดให้กับเราอีกด้วย     ดังนั้นอย่าลืมหรือละเลยที่จะให้ความสำคัญกับวิธีการเริ่มต้นการพูด เพราะมันมีอิทธิพลอย่างมากมายต่อการก้าวลงเวทีอย่างสง่างามและภาคภูมิใจเหมือนกับสุภาษิตที่เราพูดกันอยู่เสมอว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ยังไงล่ะคะ.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘