วิชาการพูด 35

สูตรสำเร็จการพูด
ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาบ้างแล้ว อย่างเช่น เวลาพูดเกิดความประหม่าจนไม่สามารถพูดให้ดีได้ดั่งใจ หรือไม่ก็ไม่สามารถใช้ความคิดให้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ขาดความเชื่อมั่นในตนเองขณะพูด
เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกถ้าหากเพื่อน ๆ นำสูตรสำเร็จที่ผมกำลังจะบอกให้ต่อไปนี้ลองไปปฏิบัติดู และผมก็มีความเชื่อมั่นอย่างแน่นอนว่าถ้าใครได้ทำตามที่ผมแนะนำแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ยากเลยที่จะก้าวสู่การเป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่ ใช้คำพูดควบคุมความคิดของคนอื่นได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องการไม่ใช่หรือครับ
สำหรับสูตรสำเร็จการพูดที่ผมจะบอกแก่เพื่อน ๆ นั้น เป็นเคล็ดลับของนักพูดชื่อดัง “เดล คาร์เนกี” ที่มีความสามารถในการพูดได้อย่างยอดเยี่ยม วิธีการที่เขาแนะนำนั้นพอจะสรุปได้เป็น ๑๑ ข้อใหญ่ ๆ คือ
๑. เตรียมให้พร้อม ๒. ซักซ้อมให้ดี ๓. ท่าทีให้สง่า
๔. กล่าววาจาทักทาย ๕. เริ่มบรรยายให้เข้าที ๖. เรื่องดีน่าสนใจ
๗. ความหมายชัดเจน ๘. เสียงเน้นฟังพอดี ๙. อย่าให้ให้มีเอ้ออ้า
๑๐. ดูเวลาให้ครบ ๑๑. สรุปจบจับใจ
ข้อแรก เตรียมให้พร้อม หลักในการเตรียมตัวให้พร้อมนั้นมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างคือ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่ การเตรียมเรื่องราวที่จะพูด เริ่มต้นจากหาข้อมูล รวบรวมความรู้ที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการพูดให้ได้มากที่สุด และจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา เขียนเป็นบทพูดโดยใช้ภาาาของตัวเราเอง ส่วนปัจจัยภายในคือ การนำความคิดของเรามาจัดให้เข้ารูป หลังจากนั้นก็จำเกี่ยวกับบทพูด โดยจำเฉพาะจุดสำคัญของเรื่องที่จะพูดเท่านั้น ไม่ต้องจำรายละเอียดทั้งหมด แต่ให้สามารถลำดับเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่อง
ข้อสอง ซักซ้อมให้ดี เป็นการซ้อมพูดหลังจากได้บทพูดแล้ว เพราะถือว่าการซ้อมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองขณะพูด อาจทำได้โดยใช้เทปอัดเสียงแล้วเปิดฟัง หรือจะฝึกหัดกับเพื่อนแล้วให้ เพื่อนช่วยวิจารณ์ พยายามปรับปรุงแก้ไขให้พูดเป็นธรรมชาติที่สุด ข้อสำคัญคือ ต้องฝึกซ้อมบ่อย ๆ จนชำนาญ
ข้อสาม ท่าทีให้สง่า เป็นการสร้างบุคลิกและท่าทางระหว่างที่พูด เนื่องจากบุคลิกและท่าทางของผู้พูดเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อถือให้เกิดกับผู้ฟัง ดังนั้น ผู้พูดควรแต่งกายให้ดูภูมิฐาน สะอาด เรียบร้อย ก่อนขึ้นพูดไม่ควรกินอาหารหนัก ถ้าหากรู้สึกเหน็ดเหนื่อยควรพักผ่อนเสียบ้าง ระหว่างการพูดไม่ควรยืนอยู่หลังโต๊ะ วางตัวให้เป็นธรรมชาติ ใช่ท่าทางประกอบการพูดให้พอดีสอดคล้องกับเรื่องที่พูด ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องยิ้มแย้มแจ่มใสระหว่างการพูดด้วย
ข้อสี่ กล่าววาจาทักทาย ขั้นแรกเมื่อเดินขึ้นไปอยู่บนเวทีแล้ว ผู้พูดควรทักทายผู้ฟังเพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองให้เกิดขึ้นระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ขั้นต่อมาก็สร้างความเชื่อมั่นและความกระตือรือร้นที่จะพูด ตามองผู้ฟัง การทำเช่นนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจในตัวเราและเรื่องที่จะพูด
ข้อห้า เริ่มบรรยายให้เข้าที การเปิดเรื่องควรใช้ข้อความสั้น ๆ เข้าสู่ใจความของเรื่องให้เร็วที่สุด ข้อที่ควรระวังในการเปิดเรื่องมีดังนี้คือ “อย่ามัวอ้อมค้อม อย่ายอมถ่อมตน อย่าสาละวันขออภัย อย่าทำให้ตลก” เพราะเพราะถ้าทำอย่างนี้แล้ว ความสนใจของผู้ฟังจะลดลง ควรเปิดเรื่องแบบ “พาดหัวข่าว เร้าสนใจ ใส่คำถาม ความสงสัย ใช้วาที ชี้คุณค่า น่าตะลึง”“พาดหัวข่าว” เป็นการเปิดเรื่องด้วยการเล่าเรื่องที่คนทั่วไปกำลังสนใจกันอยู่ “เร้าอยากรู้” คือการเร้าความอยากรู้ให้เกิดกับผู้ฟัง “สู่คำถาม” เป็นการเริ่มต้นด้วยการถามคำถามผู้ฟัง “ความสงสัย” เป็นการเริ่มต้นด้วยตัวอย่างแปลก ๆ “ใช้วาที” คือการอ้างคำพูดของบุคคลสำคัญ “ชี้คุณค่า” เป็นการขึ้นต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับ และ “น่าตะลึง” เป็นการเริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงที่ทำให้คนตะลึง
ข้อหก เรื่องดีน่าสนใจ เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น สุขภาพ ร่างกาย และอีกอย่างหนึ่งคือการนำเรื่องที่ธรรมดามานำเสนอให้เป็นเรื่องที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งสามารถทำให้ผู้ฟังสนใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ถ้ามีการใช้อุปกรณ์ประกอบการพูดแล้วจะเป็นผลดีมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ฟังจดจำสิ่งที่เราพูดได้นาน
ข้อเจ็ด ความหมายชัดเจน ในการพูดแต่ละครั้งควรทำให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เราพูด อาจใช้การเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนรู้จักอยู่แล้ว หรือว่าจะใช้ของสะดุดตามาประกอบคำพูด ใช้คำจำกัดความหมาย รวมไปถึงอ้างตัวอย่างหรือบุคคลที่มีตัวตน ข้อสำคัญคืออย่าบรรยายลักษณะสำคัญหลายจุด และการกล่าวซ้ำความคิดเพื่อให้ผู้ฟังเชื่อเรามากยิ่งขึ้นนั้น ควรใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันไป
ข้อแปด เสียงเน้นฟังพอดี เสียงที่ใช้ในการพูดนั้นควรดังให้ได้ยินกันทั่ว มีการใช้เสียงหนักเบาให้แตกต่างกันไปเพื่อเพิ่มรสชาติในการพูด ใช้เสียงหนักในคำที่มีความสำคัญ ลดเสียงในคำที่ไม่มีความสำคัญ ใช้ระดับเสียงสูงต่ำสลับกันไปเพื่อผู้ฟังไม่เบื่อ การใช้จังหวะพูดก็มีส่วนช่วยโดยถ้าถ้อยคำไม่สำคัญอาจพูดอย่างรวดเร็ว แต่จะพูดช้าลงในคำพูดที่ต้องการเน้น สำหรับความคิดสำคัญให้หยุดนิดหนึ่งก่อนและหลังพูดเล็กน้อย
ข้อเก้า อย่าให้มีเอ้ออ้า ในการพูดนั้นผู้พูดควรทำให้การพูดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช้คำพูดที่ซ้ำกันอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ฟังจะเกิดความรำคาญ ทำให้เสียสมาธิในการฟังได้
ข้อสิบ ดูเวลาให้ครบ เรื่องเวลานั้นเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการพูด ผู้พูดควรพูดให้เหมาะสมกับเวลาโดยดูเนื้อหาประกอบ ไม่ควรที่จะพูดนานเกินไปเพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่สนใจฟังได้
ข้อสิบเอ็ด สรุปจบจับใจ วิธีปิดฉากการพูดนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังประทับใจและจดจำเรื่องที่พูดไปอีกนาน สิ่งที่ไม่ควรทำในการปิดเรื่องมี ๓ อย่าง คือ “ไม่มากก็น้อย คอยขอโทษ หมดแค่นี้” อย่างแรกคือการกล่าวถึงเรื่องที่พูดมาทั้งหมดว่าคงให้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย อย่างที่สองคือมัวแต่ขอโทษผู้ฟังที่รบกวนเวลาให้ฟัง และอย่างที่สามคือบอกว่าเรื่องที่พูดลงจบลงเพียงแค่นี้
แต่สิ่งที่ควรทำในการปิดเรื่องมีดังต่อไปนี้ “สรุปสุนทร คำสอนศาสนา วาจายกย่อง วรรคทองจับใจ ทำให้หัวเราะ เฉพาะบทกวี มีการวิงวอน” “สรุปสุนทร” คือการสรุปใจความให้รวบรัด “คำสอนศาสนา” คือการอ้างคำสอนทางศาสนา “วาจายกย่อง” เป็นการยกย่องผู้ฟังที่นั่งฟังด้วยความตั้งใจ “วรรคทองจับใจ” คือใช้คำคมหรือข้อคิดเตือนใจ “ทำให้หัวเราะ” เป็นการปิดเรื่องโดยทำให้ผู้ฟังเกิดความบันเทิงใจ “เฉพาะบทกวี” เป็นการนำกวีนิพนธ์มาปิดเรื่อง และ “มีการวิงวอน” เป็นการวิงวอนให้ผู้ฟังปฏิบัติตามที่สิ่งที่เสนอไป
เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับสูตรสำเร็จการพูด เพื่อน ๆ จะเห็นว่ามันไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ผมเชื่อแน่ว่าถ้าใครปฏิบัติได้ครบทั้ง ๑๑ ข้อที่พูดมา คนนั้นจะต้องเป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่สมกับตั้งใจไว้อย่างแน่นอนครับ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อน ๆ อย่าลืมนะครับว่า การที่จะประสบความสำเร็จในการพูดได้นั้น ไม่ใช่เฉพาะรู้หลักปฏิบัติเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยจึงจะเกิดผลสูงสุดต่อตัวเราเอง
“อยากจะเป็นนักพูดดีต้องมีหลัก               ต้องรู้จักกลวิธีมีแบบแผน
คือเตรียมการอย่างมั่นใจไว้เป็นแกน   ไม่คลอนแคลนจากขั้นตอนก็นอนใจ
ชั้นที่หนึ่งพึ่งเตรียมตัวไม่มัวช้า          ชั้นต่อมาเตรียมเรื่องราวเข้าเงื่อนไข
ชั้นที่สามหาความพร้อมย้อมฤทัย          พูดเมื่อไรก็เยี่ยมยอดตลอดกาล.”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘