วิชาการพูด 34

วาทศิลป์
การพูดเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การพูดที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้หางเครื่อง ไม่ต้องใช้แด๊นเซอร์ หรือไม่จำเป็นต้องมีแบ๊คกราวด์ นอกจากคนพูดที่สามารถพูดได้ถึงใจ มีความมั่นใจ มีคนเข้าใจเพียงคนเดียวก็มีคุณค่าพอแล้ว แต่มันก็มีองค์ประกอบอยู่ เพราะว่าผู้พูดจะขึ้นไปพูดให้เกิดแง่คิดหรือแง่ขำได้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่วันดีคืนดีก็มีผีเข้าฝันทำให้พูดดีได้ การพูดที่ดีต้องมีมุมมองที่คนอื่นไม่มอง แต่จะทำอย่างไรล่ะ
นักพูดต้องเป็นคนทันต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการพูด รองศาสตราจารย์นงลักษณ์ สุทธิวัฒนธพันธ์ เคยกล่าวไว้ว่า “สมองเราเปรียบเสมือนโรงปั่นด้าย” สมองจึงจำต้องมีวัตถุดิบที่ซึมซับไปด้วยการอ่าน คิด เขียน และสนทนาอยู่เสมอ เหมือนกับเครื่องปั่นด้ายที่ต้องมีใยอยู่เสมอ จึงจะปั่นด้ายออกมาได้ “ถ้าสมองกลวงว่างเปล่า สิ่งที่ออกมาก็คือความว่างเปล่า เหลือไว้แต่สมองที่ฝ่อ”
การพูดของเราต้องอาศัยเวลา คอยเก็บประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ เพราะเราคงไม่สามารถเดินไปตลาดและขอซื้อการเป็นนักพูดสำเร็จรูปได้ แต่การพูดต้องผ่านกาลเวลา ผ่านความผิดพลาด และผ่านความสำเร็จมามากมายหลายครั้ง จึงจะสามารถรู้ได้ว่าตัวนักพูดเองมีข้อดี-ข้อเสีย-และข้อเสริมอย่างไร ดังนั้นถ้าคิดจะเป็นนักพูดก็ต้องทุ่มเวลาให้กับการฝึกฝนการพูด เช่น เมื่อสบโอกาสเมื่อไหร่ เพื่อนฝูงมาชุมนุมกัน จงพูดโดยที่ให้เพื่อนเป็นได้แต่ฟัง เมื่อไหร่เพื่อนรำคาญแปลว่าไม่ประสบผลสำเร็จ นักพูดต้องใช้เวลาอยู่กับไมโครโฟนให้มาก ไม่ใช่แค่ขึ้นไป “ฮัลโหล เทสต์ ๑-๒-๓” แล้วก็ลงจากเวที อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าใช้เวลากับไมค์ เพราะอย่างนี้อีก ๒๐ ปีก็พูดไม่ดี
คนที่ให้เวลากับการพูดมากก็ย่อมมีประสบการณ์มากและสามารถนำประสบการณ์มาแก้ไขสถานการณ์เวลาพูดได้ ถึงอย่างนั้นการที่เราจะได้อะไรมาสักอย่าง บางครั้งเราต้องกล้าที่จะสูญเสียอะไรบางอย่างไปด้วย เช่น อาจเสียเวลา เสียเงิน หรือเสียแรง เพราะทางไปสู่ประสบการณ์นั้นไม่มี แต่ประสบการณ์นั้นอยู่ระหว่างทาง
นักพูดถึงจะมีการพูดดี มีประสบการณ์ มีลีลาเทคนิคดี แต่ถ้าขาดอีกสิ่งหนึ่งแล้ว สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดก็เหมือนไม่มีความหมาย นั่นคือ คนฟัง ผู้พูดจำเป็นต้องคำนึงถึงคนฟังมาเป็นอันดับต้น ๆ ปฏิกิริยาของคนฟังอาจเสริมความมั่นใจของผู้พูดได้หรือทำให้อับเฉาก็ได้ เพราะเราไม่สามารถไปบังคับจิตใจของผู้ฟังได้ว่า พูดครังนี้ต้องทำให้ดูสนุก ทั้ง ๆ ที่อยากจะให้มันจบเร็ว ๆ เราจะได้รู้ว่า การพูดครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้สามารถดูได้จากปฏิกิริยาของผู้ฟัง เช่น ถ้าพูดแล้วเขาไม่ฟัง นี่ก็แย่หน่อย ถ้าพูดให้ขำแล้วเขาไม่ขำ นี่ก็ยิ่งแย่ใหญ่ เหมือนกับตกม้าตาย การพูดต้องดูสถานที่และสถานการณ์ด้วย และควรเลือกเรื่องที่ใกล้ตัวคนฟังมากที่สุดด้วย แต่พูดเท่าไหร่ก็ไม่มีคนฟัง ก็จงรีบสรุปจบดีกว่าโดนไล่ลงเพราะ “คำพูดใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ฟัง”
การแซว การพูดเสียดสีเพียงเล็กน้อยให้พอเป็นศิลปะก็เป็นการเพิ่มสีสันให้กับการพูดได้ เพราะตามธรรมชาติและสัญชาตญาณของมนุษย์ก็ชอบอยู่แล้ว เช่น ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุย่อมมีคนมุงดูมากมาย พอสักพักคนที่เข้าไปอาจเดินออกมาด้วยใบหน้าเศร้าสร้อยและผิดหวัง “โธ่ อุตส่าห์มาดู ทำไมไม่ตายวะ” การพูดเสียดสีไม่ควรมีให้มากนักจนลืมหัวเรื่องที่จะพูด ไม่งั้นคนฟังก็คงคิดว่าวันนี้มาฟังคนด่ากันแค่นั้น หรือทุกครั้งที่พูดก็แซวเรื่องเดิม ๆ ก็อาจทำให้คนฟังเบื่อได้ การพูดแซวตอกย้ำข้อดี-ข้อเสียทั้งเนื้อหาและตัวบุคคลมาก ต้องคิดเสมอว่า การทำเช่นนี้ให้อะไรแก่คนฟังบ้าง
ถ้าเราพูดถึงลักษณะความยากง่ายของการพูดแล้ว การพูดอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑. พูดแล้วน่าเชื่อ ๒. พูดแล้วน่าฟัง และ ๓. พูดแล้วน่าคิด
อย่างแรก คือ พูดแล้วน่าคิด ก็เหมือนการบรรยายให้ความรู้ทั่วไป ใคร ๆ ก็น่าจะพูดได้ขอให้เป็นผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ เวลาพูดก็ขอให้มีเนื้อหาสาระก็พอ
อย่างที่สอง การพูดให้น่าฟัง คนพูดต้องอาศัยทักษะในการพูดล้อเล่น พูดตลก มีจุดที่จะให้เส้นหัวเราะของผู้ฟังกระตุก การจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างมาก
และอย่างที่สาม เป็นการพูดที่ยากที่สุดคือ การพูดแล้วน่าเชื่อ ต้องสามารถโน้มน้าวใจ ทำให้ผู้ฟังเชื่อถือ เมื่อเราทำได้แสดงว่าเราประสบความสำเร็จทีเดียว เพราะหากเมื่อเราพูดจบ ไม่มีใครเชื่อเราเลย หรือไม่มีคนฟังเราเลย การพูดครั้งนี้ก็ถือว่าล้มเหลว
การพูดทุกครั้งจะดีหรือจะชั่ว ทุกสิ่งออกมาจากทางปาก ไม่ใช่ว่าที่ตัวผู้พูดเองหรือที่ตัวผู้ฟัง หากเราพูดไม่ดี ผู้ฟังก็คงเล่ากันปากต่อปากว่าคนนี้พูดไม่ดี ไม่น่าฟัง น่าง่วงนอนบ้าง แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้ผู้พูดพูดได้ดี สิ่งที่พูดต้องการก็คือ บรรยากาศ หากตัวผู้พูดควบคุมบรรยากาศได้ก็ถือว่าการพูดนั้นเริ่มต้นได้สวยทีเดียว เช่น การพูดให้ตลก เราต้องสามารถทำให้คนฟังตลกไปกับเราด้วย หรือถ้าเราพูดให้คนฟังเชื่อ เราต้องทำตัวเราให้เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เท่านี้เราก็สามารถสร้างบรรยากาศได้
ต่อมาคือการถ่ายทอดจากผู้พูดสู่ผู้ฟัง อันนี้เราต้องอาศัยประสบการณ์มากทีเดียว เรื่องเดียวกัน บางคนพูด ฮาขำกลิ้ง แต่บางคนพูดแล้วหลับกันหมด สุดท้าย หัวข้อที่จะมาพูดต้องเป็นเรื่องทันสมัย คนสนใจ เพราะจะเป็นเรื่องง่ายที่เราจะพูดจี้ประสาทเขาให้มีอารมณ์คล้อยตามเรา ถ้าเราพูดได้ตามนี้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง
วาทศิลป์ไม่ใช่เป็นเพียงการพูดเท่านั้น แต่เราต้องอาศัยหลายอย่าง การแสดงออก บุคลิก การฝึกท่าทาง หรือลีลาในการพูด เราจำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก ๆ และประสบการณ์จะไม่มาหาเรา มีแต่เราต้องเก็บเกี่ยวเอาเองตาทางที่เราเดินไปในแต่ละก้าว เพราะฉะนั้น เราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องฝึกฝน ต้องให้เวลากับมันให้มาก อย่าคิดว่าผู้ฟังเป็นเพียงหุ่นที่นั่งฟังเรา จงคิดว่าทุกคนมีจิตใจ มีความคิด เราจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ฟังให้มาก ทำให้เต็มที่ ให้เขามาและได้ประโยชน์จากเราในการพูดครั้งนี้ แล้วเสียงปรบมือที่เราได้เมื่อพูดจบ นั่นคือ ความสำเร็จของเรา
ใช่ว่า คนมีปากจะพูดได้อย่างใจคิด
ใช่ว่า คนพูดได้อย่างใจคิดจะพูดความจริงทั้งหมด
ใช่ว่า คนพูดความจริงทั้งหมดจะลงมือทำ
ใช่ว่า คนลงมือทำจะมีความรับผิดชอบ
พูดได้ ทำด้วย ช่วยรับผิดชอบ คือ สปิริตของนักพูด.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘