3การพูดแบบจูงใจ

การพูดแบบจูงใจ
การพูด  “เป็น” ไม่ใช่การพูดมากหรือพูดเก่ง แต่อยู่ที่ว่าพูดแล้วทำให้คนฟังคล้อยตามได้ไหม สามารถทำให้คนฟังกระทำในหนทางที่คุณมุ่งประสงค์ได้มากน้อยอย่างไร
แล้วทำไมเราจะต้องพูดเพื่อจูงใจด้วยหล่ะ?  คำตอบคือ เพราะธรรมชาติของคนเรานั้นมีลักษณะต่อต้านผู้อื่นอยู่ในตัวเองเสมอ! ไม่ต้องการให้ใครมาคอยบังคับบงการ คนเราอยากทำในสิ่งที่เลือกเอง แต่ถ้ามีใครมาพยายามโน้มน้าวจิตใจในเหตุผลที่ดี มีคารมคมคายที่น่าสนใจ มีเหตุผล คำพูดแบบนี้ก็จะได้การยอมรับฟังในระดับหนึ่ง
การพูดแบบโน้มน้าวจิตใจถ้าจะให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องใช้จิตวิทยาอันละเอียดอ่อน แต่สิ่งที่นักพูดแบบจูงใจพึงจะมีเป็นหลักๆคือ
1.    ต้องเป็นนักฟังที่ดี
2.    มีบุคลิกผึ่งผาย
3.    แต่งกายเหมาะสม
4.    ดูอารมณ์ผู้ฟัง
5.    เสียงดังฟังชัด
6.    หัดสังเกตคนฟัง
7.    ระวังอย่าจงใจ
เมื่อมี 7 สิ่งนี้อยู่ในสายเลือดแล้วก็เท่ากับว่าเราสามารถที่จะจูงใจได้สำเร็จแล้วถึง 70%
-    เป็นนักฟังที่ดีคือ ก่อนที่จะเริ่มใช้คารมคมคายโน้มน้าวจูงใจใครอื่น เราจะต้องหัดเป็นนักฟังที่ดีก่อน การนั่งฟังอย่างสนใจนั้นเป็นภาษากายที่จูงใจคนได้อีกวิธีหนึ่ง และจะทำให้คนประทับใจได้ในเบื้องต้นแล้ว การพูดของคุณก็จะได้รับผลดีเพราะผู้อื่นจะไม่มีความรู้สึกจะต่อต้านคัดค้านในสิ่งที่คุณพูด
-    มีบุคลิกผึ่งผาย สมมุติว่าคุณเป็นผู้จัดการและทางบริษัทก็ต้องการรับสมัครผู้จัดการ มีคนมาสมัคร 2 คน คนแรกมีทีท่าองอาจผ่าเผย จะนั่งหรือเดินก็ดูสง่าไปหมด วางตัวน่ายำเกรง ไม่พูดพรำเพรื่อ พูดจาเสียงดังฉะฉาน มีเหตุผล มีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ดวงตาแฝงไปด้วยความมุ่งมั่น ส่วนอีกคนหนึ่ง หน้าตาเหมือนโจร 18 มงกุฎ ทรงผมยุ่งเหยิง สายตาหลอกแหลก ท่าทีไม่นิ่ง นั่งล้วงแคะแกะเกาตลอดเวลา แนะนอนที่สุดคุณก็ต้องเลือกคนแรก เพราะคนที่มีบุคลิกภาพไม่ดี ย่อมถูกสงสัยในความสามารถ ต่อให้เก่งจริงก็ไม่น่าสนใจ ทำให้ผู้อื่นไม่มีความเชื่อถือหรือไว้ใจได้นั่นเอง
-    แต่งกายเหมาะสม รองจากการมีบุคลิกภาพที่ดีแล้ว การแต่งกายคือเรื่องที่เราต้องให้ความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว แม้การแต่งกายจะไม่ใช่เครื่องตัดสินมนุษย์ก็ตาม แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงในข้อที่ว่าสังคมจะยอมรับเชื่อถือในคนที่แต่งกายให้เหมาะสมเท่านั้น เช่นถ้าหากเราพบใครที่พูดจาดีน่าคล้อยตามเป็นที่สุด แต่ถ้าเขาคนนั้นแต่งกายสกปรก ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เราก็คงไม่อยากจะคล้อยตามในคำพูดของคนคนนั้น
-    ดูอารมณ์ผู้ฟัง การดูอารมณ์ของผู้ฟังคือด่านแรกและเป็นด่านที่สำคัญของการพูด แม้ว่าอารมณ์ของผู้ฟังบางกรณีอาจสังเกตได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องพยายามสังเกตและจับอารมณ์ของเขาให้ได้ หากใครคนนั้นดูอารมณ์ดีไม่มีปัญหาแต่ถ้าดวงตาของเขาหม่อลอยเหมือนมีเรื่องอื่นอยู่ในใจ เราก็ไม่ควรพูดต่อไปเพราะอารมณ์ของผู้ฟังยังไม่อยู่ในภาวะที่พร้อมจะรับฟังใคร แต่การยุติการพูดนั้นหมายถึงให้ยุติการพูดเพื่อจูงใจแต่ยังคงพูดจากับคนผู้นั้น ถ้าเราจับอารมณ์ของผู้ฟังได้ก็เท่ากับว่าเราสามารถจับใจเขาได้ครึ่งหนึ่งแล้ว
-    เสียงดังฟังชัด ระดับของน้ำเสียงในการพูดนั้นเป็นหลักสำคัญของการพูดโดยทั่วไปแล้ว หากจะพูดเพื่อจูงใจก็ยังต้องการเสียงที่ดังและชัดเจนเป็นสำคัญ เพราะการพูดด้วยเสียงเบาๆหรือพูดจาไม่ชัดถ้อยชัดคำนั้นยากที่จะดึงดูดให้ใครตั้งใจฟังคุณ แต่ระดับเสียงที่ว่าดังนั้นควรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย นอกจากนี้ต้องพูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำด้วย ระดับน้ำเสียงที่มีขึ้นลงก็เป็นเทคนิคสำคัญที่จะดึงดูดให้คนสนใจฟัง
-    หัดสังเกตคนฟัง การพูดเพื่อจูงใจจะได้รับผลดีถ้ารู้จักสไตล์ของคนฟังหรือเป้าหมายของเรา ซึ่งสไตล์ในที่นี้เป็นสไตล์การสนทนา จะว่าไปแล้วการจับสไตล์ของผู้ฟังนั้นก็คือการเข้าใจผู้ฟังนั่นเอง คือจะต้องรู้ว่าคนผู้นั้นชอบการสนทนาแบบมีอารมณ์ขันหรือจริงจัง ถ้าเขาเป็นคนจริงจังแต่เราใช้เทคนิคการพูดแบบมีอารมณ์ขันฟุ่มเฟือยมากเกินไป เขาก็คงไม่ประทับใจเราแน่นอน
-    ระวังอย่าจงใจ ก็หมายความว่าอย่าพูดจูงใจแบบจงใจ เพราะบางครั้งการพูดจูงใจหรือโน้มน้าวจิตใจคนนั้น หากทำไปโดยการจงใจหรือตั้งใจที่จะพูดเพื่อที่จะให้คนอื่นคล้อยตามเราอาจมิได้ให้ผลสำเร็จด้วยดี เพราะบางครั้งสถานการณ์ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นผู้ฟังหรือเป้าหมายของเรานั้น จะมีความระแวดระวังตัวและอาจตั้งกำแพงเป็นเกราะขวางกั้นเตรียมจะโต้แย้งหรือคัดค้านเราเอาไว้ก่อนอยู่แล้ว เช่นถ้าเราคิดจะจูงใจเพื่อนเราทำงานให้เราแล้วเราพูดว่า “แหมแตง วันนี้เธอดูน่ารักจังเลย เธอช่วยเอางานไปส่งอาจารย์กับฉันได้ไหมจ๊ะ” มันจะดูเป็นการจงใจที่จะใช้เพื่อนให้ทำงานให้เรา แต่ถ้าหากเราพูดว่า “แตงจ๊ะ ฉันแตงพอจะว่างหรือเปล่า คือฉันอยากจะรบกวนแตงให้ไปส่งงานเป็นเพื่อนฉันหน่อยนะเพราะว่าฉันไม่รู้จักห้องพักอาจารย์ เราขอรบกวนแตงหน่อยนะจ๊ะ”  เมื่อพูดแบบนี้แตงคงไม่ปฏิเสธอย่างแน่นอน
การจูงใจเป็นกระบวนการของการพยายามให้ผู้อื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่เราก็ต้องจำเป็นต้องเข้าใจตนเองด้วยว่าเราต้องการอะไรจึงจะสามารถสื่อสารออกไปได้อย่างชัดเจนและได้ผลตามเป้าประสงค์ ถึงแม้ว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ถ้าหากว่าสามารถทำได้ครบทั้ง 7 ข้อ ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
       
“พูดเก่งหรือพูดน้อยนั้นไม่สำคัญ
        เท่ากับว่าเมื่อพูดออกไปแล้ว
        เราสามารถโน้มน้าวจูงใจคนฟัง
        ให้คล้อยตามหรือเชื่อฟังเราได้หรือไม่”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘