วิชาการพูด 28

วาทะชนะใจ
“การพูดนั้นแตกต่างจากการคิด” เพื่อน ๆ เห็นด้วยไหมคะ และเคยประหลาดใจบ้างหรือเปล่าว่า ความคิดที่แสนเฉียบคมของเรา เมื่อต้องผ่านการพูดสู่สาธารณชนแล้ว เหตุใดพลังของมันจึงอ่อนด้วยลงจนเกิดคำว่า “พูดไม่ได้ดั่งใจ” ขึ้นในอกจริง ๆ มันมีช่องว่างระหว่างการคิดกับการพูดอยู่ค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นต้องการสะพานสำคัญสำหรับทอดข้าม สะพานอันนั้นก็ได้แก่ “ตัวเรา” และ “วิธีการพูด” ของเรานั่นเอง  การพูดไม่ใช่เพียงเอ่ยปากให้ได้อย่างที่คิดเท่านั้น เรายังต้องคำนึงถึงผู้ฟัง ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการพูด้วย แต่จะทำอย่างไรล่ะคะ ให้ “วาทะ” ของเรา “ชนะใจ” ผู้ฟังและประสบความสำเร็จได้  ดิฉันมีหนังสือดีอยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งอยากให้เพื่อน ๆ ได้ลองอ่านดูค่ะ และขอรับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้ว และทำตามข้อปฏิบัติเหล่านั้นได้ เพื่อน ๆ อาจเป็นถึง “นักพูดตัวฉกาจ” เลยทีเดียวนะคะ และผู้ฟังก็จะเกิดความประทับใจอย่างมิรู้ลืมด้วย  หนังสือเล่มนี้ชื่อ “ยุทธวิธีการพูด” ของ อาร์ช ลัสเบิร์ก ค่ะ ซึ่ง คุณอักษรา วิทยานุรักษ์เป็นผู้แปล และแปลได้น่าอ่าน สำนวนดีทีเดียว เขาบอกว่าหลักการชนะใจผู้ฟังนั้นมีอยู่แค่ ๓ ข้อ (ใหญ่ ๆ) เท่านั้นเองค่ะ และคิดว่ามันไม่ยากเลยสำหรับเพื่อน ๆ คนเก่งที่จะทำได้ (หากมีความตั้งใจจริง)  หลักการที่ว่านี้ก็คือ ชนะอย่างมีสไตล์ ชนะด้วยทักษะ และชนะด้วยความมั่นใจ
เป็นอย่างไรบ้างคะ ฟังดูแล้วสองข้อหลังอาจพอเข้าใจกันได้บ้าง แต่ข้อแรกนี่สิ ที่ว่าชนะอย่างมีสไตล์นั้นคืออะไร ดิฉันมีคำตอบให้เพื่อน ๆ ค่ะ
สไตล์เฉพาะตัวเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เหมือนใคร ผู้พูดที่ดีที่สุดต้องมีท่วงทำนองเป็นของตนเอง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ผู้พูดที่ไม่มีสไตล์เป็นของตนเองก็อาจเปรียบเหมือน “ของโหล” ทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อได้ง่าย ๆ จริงไหมคะ ท่วงทำนองของคนอื่นจะไม่มีผลต่อเรา และแน่นอนเราไม่ต้องการเป็นคนอื่น ผู้ฟังของเราก็ย่อมไม่อยากให้เราพยายามเป็นคนอื่นเหมือนกัน
ความเป็นตัวของตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เราอาจคิดว่าแค่นั้นคงไม่พอ เพราะโดยธรรมชาติเราอาจเป็นคนขี้อาย ไม่ชอบแสดงออก ไม่สามารถคิดได้อย่างรวดเร็วฉับไว แต่เราสามารถเรียนรู้ทักษะและเทคนิค ซึ่งสามารถสร้าง “ความประทับใจให้กับผู้ฟัง” ได้โดยการเรียนรู้ที่จะพูดสิ่งที่ต้องการพูดในวิถีทางที่เราซื่อสัตย์ต่อตนเอง ขณะให้ “สาร” แก่ผู้ฟัง เป็นสไตล์ของเราเอง เป็น “เครื่องหมายการค้า” ของเรา เราจะสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือที่มีพลังที่สุดในการก้าวไปสู่จุดหมายงานอาชีพและในการพัฒนาความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ กับผู้อื่น
นอกจากการพูดจะต้องมี “สไตล์” เป็นของตัวเองแล้ว “ทักษะ” ก็เป็นเรื่องสำคัญมากประการหนึ่ง และการสื่อสารที่มีชัยไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการปรับปรุงทักษะพื้นฐาน แต่ยังขึ้นอยู่กับการใช้ทักษะเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทักษะพื้นฐานที่ว่านี้ก็คือ การใช้สีหน้า กิริยาท่าทาง และที่สำคัญ… “ความคิด” ค่ะ
การแสดงออกทางสีหน้านั้นมีหลายระดับ ซึ่งอาจจะ “ย้ำ” หรือ “แย้ง” กับสิ่งที่เราพูด แต่สิ่งที่เด่นที่สุดก็คือ “การยิ้ม” แต่โปรดระวังการยิ้มของเราจะต้องมาจากความจริงใจและเหมาะสม ไม่เช่นั้นจะไม่มีประสิทธิผล ไม่มีใครเชื่อถือและอาจขัดแย้งกับตัวเราด้วยนะคะ
สิ่งที่สำคัญกว่าการยิ้มยังมีอีกคือ สีหน้าที่เปิดเผย เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่าเขาทำกันอย่างไร ผู้เขียนบอกไว้อย่างนี้ค่ะว่า “สีหน้าที่เปิดเผย เป็นการแสดงออกทางใบหน้าที่มีเส้นในแนวนอนบนหน้าผาก โดยการเลิกคิ้วเป็นระยะสั้น ๆ เราจะมีสีหน้าเปิดเผยมาก ขณะที่เราอยู่ในการสนทนาที่มีชีวิตชีวา หรือขณะที่เราพูดกับเด็กเล็ก ๆ หรือเล่นกับลูกแมวลูกสุนัขตัวเล็ก ๆ เราจะมีสีหน้าเปิดเผย เมื่อเล่าเรื่องที่โปรดปราน แต่ในการพูดที่เป็นการเป็นงาน ความเครียดและลักษณะนิสัยที่ไม่ดี เช่น การพยายามทำให้ดูท่าทางเอาจริงเอาจัง มักจะกีดกั้นเราจากการมีสีหน้าที่เปิดเผย”
การมีสีหน้าที่เปิดเผยจะทำให้ผู้ฟังประทับใจและเราจะได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากผู้ฟัง และดูเหมือนว่า เราควบคุมตัวเองและสถานการณ์ได้ เราจะสามารถนำ “ชีวิตชีวาสำเร็จรูป” ใส่ไปในการสื่อสารของเราและเราจะเป็นผู้ชนะค่ะ
“กิริยาท่าทาง” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ฟังจะเห็นความเป็น “เรา” ได้ชัดที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเราเกิดความเครียด ไม่เพียงแต่จะทำให้หน้าเราเฉยชา หากยังทำให้เราซ่อนมือของเราอีกด้วยโดยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้นว่า กุมเป้า ล้วงกระเป๋ากางเกง กอดอก หรือเอามือไพร่หลัง สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่ไม่น่าดูเลยค่ะ เสียบุคลิกภาพ กิริยาท่าท่างที่ดีจึงต้องดูเป็นธรรมชาติ มีความจริงใจ เหมาะสมกับสิ่งที่พูด และเวลาด้วย
ทักษะสำคัญอีกประการหน่งก็คือ “ทักษะการใช้ความคิด” ค่ะ เพราะความคิดของเรานั้นสำคัญพอ ๆ กับสีหน้า ร่างกาย และเสียงเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อเราจะพูดทุกครั้ง จึงต้องมีการเตรียมความคิดอยู่เสมอ หรืออาจสรุปได้เป็นวลีที่คุ้นเคยว่า “คิดก่อนพูด” นั่นเองค่ะ การใช้ความคิดที่ดี จะต้องมีการเตรียมบทพูด โดยพูดให้กระชับ ชัดเจน และไม่เยิ่นเย้อ ที่สำคัญ เราต้องมีการฝึกซ้อมเป็นประจำ
การเตรียมบทพูด ควรเขียนลายมือให้ใหญ่ ชัดเจน อ่านง่าย หรือจะทำเป็นบัตรคำเล็ก ๆ หรือโน้ตย่อก็ได้ มีวิธีการเริ่มและจบที่เร้าใจ ประทับใจผู้ฟัง พูดให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เพราะผู้ฟังอยากฟังความคิดที่จัดระบบมาอย่างดีจากเรา และต้องชัดเจน นำเสนอได้ดี ไม่เยิ่นเย้อ เพราะถ้าเราใช้ภาษาพูดซึ่งเป็นทางการหรือยืดยาวนัก จะทำให้ผู้ฟังสนใจสำนวนภาษามากกว่าเนื้อหาหรือความคิดที่เราต้องการสื่อ และอาจกังวลว่าเราจะพูดเป็นน้ำท่วมทุ่ง จนน่าเบื่อในที่สุด
เป็นอย่างไรบ้างคะ มาถึงตรงนี้ เมื่อเรามีสไตล์เป็นของตัวเอง และสามารถใช้ทักษะต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ประการสำคัญ ซึ่งผู้พูดทุกคนควรจะมีก็คือ “ความมั่นใจ” ค่ะ เคยได้ยินไหมคะกับคำกล่าวที่ว่า “พกความมั่นใจ มีชัยไปกว่าครึ่ง”
การหายใจที่ถูกต้องก่อนและระหว่างการพูดจะช่วยให้เราผ่อนคลายความตึงเครียดและเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการ “สื่อ” สารด้วยความมั่นใจ และเมื่อเรามีความมั่นใจ ผู้ฟังก็จะมั่นใจในตัวเราด้วย ถ้าเรามีความมั่นใจจะทำให้เราเป็นคนน่าเชื่อถือ
การสบสายตากับผู้ฟังจึงเป็นกิริยาที่พึงปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งเพราะหากเรามองวัตถุแทนที่จะมองคน ผู้ฟังจะไม่สนใจ หรอืไม่ก็เบื่อไปเลย เมื่อเรามองดูเพดานก็คล้ายกับวิงวอนให้พระเจ้าช่วยบอกที เมื่อเรามองพื้นก็เหมือนเราจะขอความช่วยเหลือจากรองเท้า “สายตาล่อกแล่ก” จะทำให้เราดูไม่น่าเชื่อถือ “มองวกไปวนมา” ทำให้รู้สึกน่ากลัว ไม่แน่ใจ หรือหวาดระแวง ดั้งนั้น จงสบสายตากับผู้ฟังอย่างมั่นคงเถอะค่ะ เพราะมันจะบ่งบอกถึง “ความมั่นใจ” ของเราได้อย่างดี
ไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม อาจจะยากลำบาก ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม ขาดความมั่นใจในตัวเอง ดังนั้นหากเรามีทักษะพื้น ๆ ๒-๓ ประการ และความมีเอกลักษณ์ส่วนตัวที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้ว เราก็จะเป็นผู้ชนะได้เมื่อถึงคราวที่ต้องพูด ควรจำไว้ว่า “แม้กระทั่งบันทึกหรือรายงานที่ดีที่สุดก็มีน้ำหนักน้อยกว่าความสามารถในการพูดชักจูงใจของเรา” และ “ถ้อยคำนั้นเปรียบเหมือนการเอาข้อมูลไปเพาะปลูกใหม่ การขยับปากขึ้นลงไร้ประโยชน์ค่ะ หากผู้ฟังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามที่ผู้พูดตั้งใจ”
เราอาจมี “สาร” ที่ดีที่สุดในโลก แต่ถ้าไม่สามารถนำเสนอได้อย่างดีเยี่ยม เราก็จะพ่ายแพ้ คนทั่วไปสนุกสนานกับการฟังผู้พูดที่กระตือรือร้นและมีทักษะสูง ผู้พูดเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอที่เป็นมิตร เมื่อผู้ฟังดูสดใสและจากไปโดยได้รับ สาร ที่พร้อมมูล เราก็จะเป็น ผู้ชนะ ในที่สุด
มาเริ่มฝึกฝนการเป็น “นักพูดที่ดี” กันเถอะค่ะ แม้จะเป็น “วันนี้” ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะหากไม่มีจุดเริ่มต้นแล้วจะถึงเส้นชัยแห่งความสำเร็จได้หรือคะ
ท้ายนี้ดิฉันมีบทกลอนบทหนึ่งของนักเขียนท่านหนึ่งคือคุณเฉลิมศักดิ์ รงคผลิน ให้เพื่อนๆ ไว้เป็นของแถมก่อนจากกันด้วยค่ะ
“การฟัง การคิด และการพูด
นี้คือ บทพิสูจน์ อย่ามองผ่าน
เป็นกลไก ประจำวันอันยืนนาน
ผู้ใช้การ ได้ดี ย่อมมีชัย”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘