วิชาการพูด 26

เทคนิคการพูดจากอาจารย์จตุพล  ชมภูนิช
   
นักพูดที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งที่ใครหลายๆคนชื่นชอบ  และชื่อของนักพูดท่านนี้คงครองใจของใครหลายคนเหมือนกัน  หนังสือที่ดิฉันอ่านเป็นของนักพูดท่านนี้เช่นกัน  ท่านอาจารย์จตุพล ชมภูนิช   หนังสือที่ท่านเขียนเล่มนี้เป็นการพูดถึงบุคลิกภาพที่ดีของคนรุ่นใหม่  ซึ่งดิฉันติดใจและสะดุดตาตั้งแต่เห็นชื่อเรื่อง " บุคลิกภาพคนรุ่นใหม่ "  ตอนแรกก็ไม่ทราบว่าเป็นของใคร แต่พอเหลือบดูภาพบนหน้าปกก็ถึงบางอ้อทันทีและไม่คิดลังเลที่จะหยิบไปให้บรรณารักษ์บันทึกลงคอมพิวเตอร์ว่าดิฉันตัดสินใจเลือกยืมหนังสือเล่มนี้
เราจะมาตะลุยดูเลยว่าเวลาที่อาจารย์เขียนหนังสือนั้นจะเหมือนกับตอนที่พูดมากน้อยแค่ไหน จะใช้เทคนิคเดียวกันหรือไม่  อาจารย์จะใช้เทคนิคการพูดอย่างไรที่ทำให้สามารถครองใจคนทุกวัยได้  หนังสือเรื่องนี้ดูจากชื่อเรื่องก็รู้ได้เลยว่าอาจารย์จตุพลต้องพูดถึงเรื่องบุคลิกภาพอย่างแน่นอน   ด้วยความที่ดิฉันเองก็อยากเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบุคลิกภาพที่ดีทั้งทางด้านความคิดและบุคลิกภายนอก จะได้ช่วยส่งเสริมให้ตัวเราเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง
ก่อนอื่นเราจะมาดูก่อนว่าเนื้อหาสำคัญที่อาจารย์จตุพลได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้มีอะไรบ้าง   ในโลกธุกิจการสร้างภาพลักษณ์หรือบุคลิกภาพให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือนับเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยิ่งต้องใส่ใจและให้ความสำคัญมากขึ้น  การมีบุคลิกภาพที่ดีถือเป็นบันไดก้าวแรกที่เราจะไต่ไปสู่ความสำเร็จในอนาคต  ด้วยเหตุนี้บุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือจึงเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธในความจริงข้อนี้  ทุกคนยิอมปรารถนาที่จะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี มีบุคลิกภาพเป็นที่ยอมรับของสังคมและคนรอบข้าง
หนังสือบุคลิกภาพของคนรุ่นใหม่ ของอาจารย์จตุพลนี้ได้แดงให้เห็นถึงทุกองค์ประกอบ ทุกมุมมองและทุกขั้นตอนปฏิบัติของการนำไปสู่บุคลิกภาพตามแบบมาตรฐานสากลของคนรุ่นใหม่   เนื้อหาที่อาจารย์จตุพลเสนอได้แบ่งออกเป็นตอนๆ เป็นเรื่องๆไป พูดจบเรื่องนี้ให้ชัดเจนและเข้าใจแล้วก็พูดหัวข้อต่อไปอีกโดยมีลักษณะเป็นเอกภาพตรงที่จะมีวิธีการจัดการกับตัวเองอย่างไรบ้างให้ได้เป็นคนมีบุคลิกภาพที่ดี
ที่อาจารย์จตุพลพูดไว้ในหนังสือเล่มนี้ มีหลายตอนที่ดิฉันชอบและได้บันทึกไว้ในสมุดเพื่อไว้อ่านเป็นอาหารสมองให้กับตัวเอง  อาจจะเก็บไว้สอนลูกสอนหลาน แนะนำเพื่อนที่เขายังไม่รู้ต่อไป คิดว่าต้องเป็นประโยชน์แน่ บันทึกไว้ไม่เสียหายอะไร 
หนึ่งในตอนที่ดิฉันบันทึกไว้ก็คือตอน It's your style : ยังไงก็เป็นคุณ  อาจารย์จตุพลกล่าวว่า  เราอาจจะประทับใจใครก็ได้  เราอาจจะเรียนรู้จากใครก็ได้ เราอยากเก่งเหมือนใครก็ได้ เราจะเอาใครเป็นแบบอย่างเราก็ได้ แต่สุดท้าย เราต้องเป็นตัวของเราเอง  บุคลิกภาพที่ดีที่สุดนั้นได้แก่บุคลิกภาพที่แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด  คนที่ประสบความสำเร็จ  คนที่เป็นผู้นำ  คนที่มีความเชื่อมั่น คนเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง   ซึ่งการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก   การสร้างสไตล์เฉพาะตัวนั้นสร้างได้หลายทาง   เริ่มจากการแต่งกาย  การไว้ทรงผม   อาหารการกิน  รสนิยมการใช้ชีวิตในการพักผ่อน  อุปกรณ์ของใช้    การทำงาน  การมีรูปแบบการใช้ชีวิตและบุคลิกภาพเฉพาะคนเป็นสิ่งที่ต้องค้นหา   เราจึงจะทราบว่าเราเป็นคนแบบไหน มีเอกลักษณ์อะไรที่เหมาะสมกับตัวเอง  เราต้องพยายามค้นหาและพิจารณาให้ได้แล้วเราจะเป็นคนหนึ่งที่ที่ใครเห็นก็ทึ่ง  ชวนสะดุดตาพาสะดุดใจ เพราะเราไม่ใช่มนุษย์โหลที่หาได้ทั่วไปตามศูนย์การค้า  เราต้องไม่ตามกระแส (แฟชั่น) เสียจนไร้ความภูมิใจและในขณะเดียวกันเราก็ไม่ทวนกระแสเสียจนใครไม่กล้าคบหาสมาคม
ในเรื่องการแต่งกายต้องระลึกไว้เสมอด้วยว่า  เราแต่งให้ผู้อื่นดูด้วยไม่ใช่แต่งแล้วดูคนเดียว  การแต่งกายที่ดี ต้องให้เหมาะสมกับกาลเทศะ  มิใช่พยายามนุ่งกระโปรงยาวแต่ในชีวิตประจำวันการเดินทางต้องขึ้นรถลงเรือ ซ้อนมอเตอร์ไซค์หลายต่อ จะขึ้นลงทีต้องคอยถลกกระโปรง ดีไม่ดีอาจเกิดอุบัติเหตุได้  แบบนี้ต้องปรับตัวเองด้วย
การเสริมเติมแต่ง  ทำให้คนเราดูดีขึ้นก็จริงแต่ต้องขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ มิเช่นนั้น การแต่งที่จะทำให้เกิดความสวยความงามเห็นแล้วคงจะคิดตามนั้นไม่ออก  อาจารย์จตุพลได้แนะนำหลักการง่ายๆ ที่ใช้ในการแต่งตัวว่า  ไม่ควรแต่งกายหรือเสริมความงามในที่สาธารณะชน  เพราะการให้คนอื่นรู้เห็นในวิธีทำให้ตัวเองงดงามนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าดูน่าชม
อาจารย์จตุพลได้แนะนำทุกเรื่องราวตั้งแต่หัวจรดเท้า  ทั้งเรื่องของหญิงและชาย   มีตั้งแต่รูปร่างแบบไหนนิสัยอย่างนั้น  การแต่งตัว  การใส่สูท ทรงผม  เครื่องสำอาง  รองเท้า  นาฬิกา   องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้เป็นส่วนที่ช่วยส่งเสริมหรือถดถอยบุคลิกภาพของเราได้ทั้งสิ้น  เราจึงไม่ควรละเลย  จะใส่อะไรจะทำอะไรก็ให้คำนึงถึงกาลเทศะ ความเหมาะสม  ดูให้เหมาะสมกับรูปร่าง  เหมาะสมกับโอกาสและที่สำคัญให้เหมาะกับฐานะ
อาจารย์จตุพลยังบอกอีกว่า บุคลิกของทั้งบุรุษและสตรีวัยทำงาน  เสื้อผ้าที่ใส่แล้วต้องไม่ล้ำสมัย  เก๋ไก๋  สไตล์ล้ำอย่างเดียวแต่ควรจะให้ดูดี  มีศรัทธา  น่าเชื่อถือ  สินค้าที่ดีก็ต้องมีหีบห่อที่ดีฉันใด  คนที่ดีก็ต้องมี  PACKAGE  ที่ดีไปด้วยฉันนั้น  สินค้าดีเพียงใดแต่ไม่ใส่ใจในหีบห่อ  ก็ไม่มีใครสนใจซื้อ คนทำงานที่ดี   ก็ต้องมีที่หุ้มห่อให้ดีจะได้มีคนซื้อ  เราควรใส่ใจกับเรื่องการแต่งกายสักนิด  แล้วเราจะสามารถพิชิตความสำเร็จในโลกของมนุษยสัมพันธ์และการทำงานได้อย่างไม่ยากเย็น 
ดิฉันเห็นด้วยกับที่อาจารย์จตุพลพูด  และเป็นที่น่าสังเกตว่า  สิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดออกมานั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตของอาจารย์และอาจารย์ได้บันทึกลงโปรแกรมประสบการณ์ไว้อย่างดี   เมื่ออาจารย์พบเห็นสิ่งใดมาก็จะมีมุมมองแนวคิดที่บางทีใครก็มองข้าม พอนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง ก็เป็นที่น่าสนใจ และจะเห็นด้วยว่าทำไมที่ผ่านมาเราถึงได้ไม่มองอย่างนั้นบ้าง  และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพูดที่ดี  ต้องรู้จักสังเกตและมีมุมมองที่ไม่เหมือนใคร
เมื่อดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงนอกจากจะได้ความรู้เคล็ดลับของการมีบุคลิกภาพที่ดีแล้ว ก็ขอมองถึงวิธีการและเทคนิคการพูดของอาจารย์จตุพลดูบ้าง ว่าอาจารย์ท่านมีเทคนิคการพูดอย่างไรให้ติดอกติดใจผู้ฟังได้ขนาดนี้โดยดูจากตัวอย่างของหนังสือเล่มนี้  ซึ่งเท่าที่ดูก็ขอสรุปไว้ดังนี้
1.    1.       การพูดของอาจารย์มีลักษณะเป็นเอกภาพ  เวลาอาจารย์จะพูดหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง  ท่านก็จะตั้งหัวข้อไว้ แล้วพาผู้ฟังไปสู่เป้าหมายของการพูดโดยการยกตัวอย่างไปเรื่อยๆ  ตัวอย่างที่ยกมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นองค์ประกอบของเรื่องที่พูด  ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจและมองเห็นภาพที่อาจารย์สื่อชัดยิ่งขึ้น 
2.    2.       เรื่องที่พูดใกล้ตัว  สังเกตดูแล้วดิฉันพบว่าแต่ละเรื่องที่อาจารย์จตุพลพูดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัว  บางทีเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา เป็นเรื่องที่ใครๆละเลย มองไม่เห็น แต่อาจารย์มองเห็น  แสดงให้เห็นได้ชัดเลยว่าการที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้น ต้องเป็นคนช่างสังเกต มีมุมมองที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร หรือถึงแม้ซ้ำก็มีความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรื่องที่ซ้ำนั้นดูน่าสนใจและแปลกใหม่ขึ้นมา  คนที่มีอะไรแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ย่อมเป็นที่น่าสนใจเสมอ
3.    3.       คนที่จะเป็นนักพูดที่ดีต้องมีประสบการณ์มาก  ประสบการณ์ในที่นี้คือมีเรื่องราวผ่านเข้ามาในชีวิตมากๆ  ยิ่งมีประสบการณ์มาก ยิ่งทำให้คนพูดมีข้อมูลมากตามไปด้วย อาจจะนำข้อมูลอันเก่านั้นมาพลิกแพลงให้เข้ากับยุคสมัยให้ทันปัจจุบันมากขึ้น เพราะคนฟังก็ย่อมมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปตามวิถีสังคม  อย่างอาจารย์จตุพลท่านก็เป็นผู้มีประสบการณ์มาก  อายุปูนนี้แล้วยังไม่แต่งงาน  แล้วทำไมท่านถึงรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตคู่  หรือทำไมท่านถึงเข้าใจผู้หญิง เข้าใจทุกเพศทุกวัยได้ดีเสียเหลือเกิน  ตรงนี้ให้สังเกตนิดนึงค่ะว่า ที่ท่านมีประสบการณ์เหล่านี้อาจจะไม่ใช่เพราะท่านได้รับประสบการณ์มาโดยตรง  ท่านอาจจะได้รับประสบการณ์เหล่านี้จากคนรอบข้าง  จากหนังสือ  ซึ่งถ้าอยากเป็นนักพูดที่ดี เราก็ควรทำให้ได้อย่างนี้ด้วย
4.    4.       นักพูดที่ดีต้องทันยุค  ทันสมัย ทันใจ รู้ใจคนฟัง รู้ว่าในขณะนั้นผู้ฟังคิดอะไร อย่างไร  มีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร  ให้ทันตามทุกกลุ่มอายุคน  อย่างอาจารย์จตุพล ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมท่านถึงเป็นขวัญใจของคนทุกวัยได้  ท่านเหมือนรู้ใจคนทุกกลุ่ม  รู้ว่าคนกลุ่มไหนกำลังคิดอะไรยังไง  มีกระแสอะไรที่กระทบหรือส่งผลต่อคนเหล่านั้น  ท่านสังเกต  และมอง   ท่านทำเหมือนกับท่านเป็นคนเหล่านั้นเสียเอง  ตรงนี้แหละค่ะที่ดิฉันคิดว่าผู้ฟังชอบ
5.    5.       คนที่จะเป็นนักพูดที่ดี  ต้องไม่ลืมอารมณ์ขัน  อาจารย์จตุพลนี่พูดเมื่อไหร่ พูดเรื่องอะไรก็ขำได้ แม้แต่เรื่องเครียดๆก็ทำให้ผู้ฟังไม่เครียด ทำให้คนหัวเราะได้ นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเป็นนักพูดที่ดี  เพราะทุกครั้งที่อาจารย์พูดเหมือนกับอาจารย์เป็นเทวดาที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ฟังได้ตลอด คนฟังก็มีความสุข  หนังสือที่อาจารย์จตุพลเขียนนี้แม้จะเป็นเรื่องหลักการแต่อ่านแล้วเราไม่เครียดเลย  มีทั้งมุขตลก  ล้อเลียน  สร้างอารมณ์ขันได้ตลอด
6.    6.       นักพูดที่ดีต้องเป็นนักยกตัวอย่างที่ดี  เมื่อมีประสบการณ์เยอะ  มีข้อมูลเยอะ ก็ทำให้สามารถยกตัวอย่างได้ดีทันใจ  หยิบยกโยงใยเรื่องโน้นมาเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม   คนฟังจะได้ไม่ถูกจำกัดกรอบเพียงเรื่องเดียว  มาฟังเรื่องหนึ่งก็อาจจะได้ความรู้จากอีกเรื่องหนึ่งแถมไปด้วย  เหมือนเป็นการแถมของขวัญให้กับผู้ฟัง
7.    7.       จะเป็นนักพูดที่ดี ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ต้องมีบุคลิกที่ดีด้วย เหมือนชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้เลย  ตรงนี้เราก็เห็นได้อีกแล้วว่า  อาจารย์จตุพลเนี่ยเป็นคนที่มีบุคลิกดี  เราไม่ขอพูดถึงเรื่องหน้าตา  เพราะเรื่องบุคลิกภาพที่ดีเป็นสิ่งที่สร้างได้  อาจารย์จะดูโก้และเหมือนเป็นเทพบุตรเสมอเวลาพูด  ดูตั้งแต่แต่งตัวดี  เนี๊ยบแบบน่าเชื่อถือ  สะอาด  ยิ่งพูดน่าสนใจคนก็จะยิ่งไม่ละสายตาจากคนพูดเลย
8.    8.       อาจารย์จตุพลมักใช้วิธีการเปรียบเทียบ   เห็นนักพูดนักเขียนหลายท่านชอบใช้อยู่แล้ว  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี  เพราะว่าการรู้จักเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งนั้นนอกจากจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ฟังแล้วยังทำให้การพูดเป็นไปอย่างมีลีลา  แสดงให้เห็นว่าผู้พูดมีความสามารถ  ผู้ฟังก็จะได้มีจินตนาการร่วมไปด้วย

       เทคนิคและวิธีการพูดที่ดิฉันได้จากท่านอาจารย์จตุพลนี้  เป็นประโยชน์อย่างมากต่อพวกเรา  เพราะในเมื่อเราชอบและชื่นชมในตัวท่านอาจารย์  อาจารย์เป็นนักพูดที่มีชื่อเสียง  ใครอยากเป็นนักพูดที่ดีเหมือนอาจารย์ก็สามารถเรียนรู้เทคนิควิธีการพูดเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง  จำได้ไหมในหนังสือเล่มนี้ที่อาจารย์บอกไว้ว่า  เราจะประทับใจใครก็ได้   เราอยากเก่งเหมือนใครก็ได้  เราจะเอาใครเป็นแบบอย่างเราก็ได้   เราอยากเก่งเหมือนใครก็ได้  แต่เราต้องเป็นตัวของเราเอง   เมื่อเรียนรู้วิธีการพูดเหล่านี้จากอาจารย์จตุพลไปแล้ว ก็ควรเอาไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเอง   สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างที่อาจารย์จตุพลทำสำเร็จอยู่ในขณะนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘