วิชาการพูด 25

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรมืออาชีพชื่อนี้รับประกันคุณภาพ
                หากจะต้องยกนิ้วขึ้นมาเพื่อลำดับพิธีกรที่ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้า ก็คงจะได้ตัวเลขที่มากพอสมควร แต่ถ้าจะจัดให้เป็นมือหนึ่งของไทยจริง ๆ นั้น ก็คงจะมีไม่มากนัก ..คน ๆหนึ่งที่เหมาะสมจะได้รับตำแหน่งนี้จนไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่กลับต้องยอมรับในความสามารถและฝีไม้ลายมือของเขาแทน .. เพราะ ไตรภพ ลิมปพัทธ์  ชื่อนี้การันตีถึงคุณภาพระดับคับแก้วของเขาได้เป็นอย่างดี
                   ผู้ชายผู้ร่ำรวยความสามารถคนนี้ ได้กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ ของหนังสือ 10 วิธีสู่ความสำเร็จ ในตอนต้นว่า…
                   " ความจริงชีวิตของผมไม่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับใครได้เลยนะ เพราะเป็นชีวิตที่แทบจะเรียกได้ว่า มีราชรถมาเกยตลอด พอเรียนจบจากนิติศาสตร์ รามคำแหง ก็มีงานมารอเรียกตัวเลย  ทำงานอยู่ดี ๆก็มีคนมาชวนไปเล่นเกม เล่นเกมเสร็จเขาก็ชวนผมไปเป็นพิธีกรอีก  พอเป็นพิธีกรได้ซักพัก ก็มีคนมาชวนตั้งบริษัท ทำงานก็มีคนมาเสนอเวลาให้ตลอด "
                   จากคำบอกเล่าของเขา  หากฟังอย่างผิวเผิน หลาย ๆคนคงจะคิดว่านั่นเป็นโชค แต่หากลองคิดให้ลึกสักนิด ก็จะทราบว่า ความสำเร็จที่เขาได้มาเป็นเจ้าของทั้งหมดนั้น เป็นเพราะเขามีอาวุธที่เรียกว่า   " ความสามารถ "    นั่นเอง สำหรับความสามารถในด้านการเป็นพิธีกรนั้น  เขาจะมีเคล็ดลับส่วนตัวกี่ข้อและแตกต่างจากคนอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ในการที่จะนำตนเองไปสู่ความสำเร็จ..ดิฉันว่าเราลองมาฟังอย่างตั้งใจกันดีกว่านะคะ
                    สิ่งที่จำเป็นต้องมี สำหรับ วิธีที่ 1  ก็คือ  " ภาพลักษณ์ภายนอกที่ต้องดูดี  "
                       ภาพลักษณ์นี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่จะเป็นพิธีกรได้ ต้องหล่อ -สวย เท่านั้น หากแต่ภาพลักษณ์ของพิธีกรที่ดีในความรู้สึกของเขาคือ ผู้ที่มีบุคลิกภาพดี  ฉลาดคล่องแคล่ว รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง  มีความรู้กว้างขวางรอบตัว  เพราะอาชีพพิธีกรเป็นอาชีพที่ต้องพบกับผู้คนมากมายหลายสาขา  ซึ่งล้วนแต่มีความแตกต่างกันไป และพิธีกรที่ดีจะต้องพูดคุยกับผู้ร่วมรายการได้อย่างเป็นธรรมชาติ
                 เรื่องปกติที่พิธีกรต้องมี วิธีที่ 2  คือ   "  การออกเสียงให้ชัด  "
                        การออกเสียงที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่พิธีกรทุกคนต้องมีอยู่ในตัวแล้ว แต่การออกเสียงที่คนส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาก็คือ การออกเสียง   " ร " หรือ "ล " สำหรับตัวเขาถือเป็นเรื่องโชคดี เพราะการออกเสียงพูดที่ชัดเจนเป็นลักษณะนิสัยของเขาอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องฝึกฝนอะไรมาก
                    วิธีที่ 3 คือ  "  ต้องเลือกดึงลิ้นชักที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้   "
                        ในแต่ละรายการ จะมีพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการทีมีบุคลิกภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น ทไวไลท์โชว์ หรือรายการวาไรตี้ พิธีกรต้องมีความคล่องตัว และหลากหลาย แต่หากเป็นอย่างรายการ เฉียด พิธีกรอาจจะต้องตื่นเต้น หรือเครียดในบางครั้ง ดังนั้นในแต่ละรายการจึงมีความต้องการ ตัวพิธีกรทีมีบุคลิดแตกต่างกันไป  ซึ่งคุณไตรภพ เชื่อว่า .. มนุษย์ทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือ มีบุคลิกที่หลากหลาย   ทุกคนก้าวร้าวได้ เข้มแข็งได้ อ่อนนุ่มได้ พูดเก่งได้ พูดไม่เก่งได้ เพียงแต่ว่าคนไหนใช้อะไรบ่อย ๆก็จะกลายเป็นบุคลิก  เช่น คนที่ไม่ค่อยพูดก็เป็นเพราะเขาใช้ความที่ไม่ค่อยพูดบ่อยไป แต่ถามว่าเขาพูดได้ไหม  ต้องตอบว่าได้ แต่..เขาไม่ค่อยใช้  เปรียบเอาว่าในสมองของเราหรือในจิตใจของเรา  มีลิ้นชักอยู่เป็นล้าน ๆลิ้นชัก ซึ่งเก็บแฟ้มต่าง ๆไว้ ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มพูดเก่ง พูดไม่เก่ง ขี้แง กล้าหาญ ทุกคนมีเท่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครใช้ลิ้นชักไหนมากกว่ากัน  เช่นเหมือนกับ ในเวลาที่คุณไตรภพทำงานพิธีกร เขาก็จะเปิดลิ้นชักต่าง ๆออกมาใช้  และเขายังคิดว่าใครก็สามารถทำงานพิธีกรได้ ไม่ว่าจะเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยว  ช่างแต่งหน้า ขอเพียงแต่เปิดลิ้นชักออกมาใช้เท่านั้นเอง
                  สิ่งที่ช่วยในการทำงานได้มาก วิธีที่ 4   คือ   "   ธรรมะ  "
                        คุณไตรภพ เปรียบจิตมนุษย์เหมือนโลกที่หมุน เคลื่อนไหวสับสนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างกับจิตของพระอริยะอันสงบแล้ว ธรรมะจึงถูกนำมาใช้ในทุก ๆ ส่วนของชีวิต แม้แต่ในงานพิธีกร ธรรมะก็จะมีส่วนช่วยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสมาธิ ความเมตตา และความไม่โกรธในเวลาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ทำให้เราเปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นได้โดยไม่โกรธ
                  สิ่งสำคัญที่พิธีกรที่ดีต้องมี  วิธีที่ 5  นั่นก็คือ "  จิตใจที่ดี  "
                         เพราะจิตใจที่ดีจะทำให้เรามีความเป็นกลางสูง เวลาที่อีกฝ่ายพูดอะไรมาก็ไม่อิจฉาตาร้อน ไม่พูดขัดหูหรือหมันไส้เขา แต่จะรู้สึกส่งเสริมยินดีไปกับเขา ซึ่งนั่นจะทำให้..ทำงานง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรจะวางใจไว้ให้ดี ทำจิตใจให้เรียบ และคิดถึงคนแต่ในแง่ดี อย่าทำให้ผู้ที่มาร่วมในรายการรู้สึกว่าตนเองถูกเชิญมาฆ่า
                  สิ่งที่จะช่วยให้ผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ วิธีที่ 6  คือ " ความตั้งใจ "
                        คุณไตรภพ เชื่อว่า ในการทำงานไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาบอกว่าดีหรือไม่  เพราะตนเองต้องรู้อยู่กับใจว่า งานที่ทำออกมานั้น ตนเองตั้งใจที่จะทำให้ออกมาดีแค่ไหน ดังนั้น รางวัลต่าง ๆ จึงไม่มีความสำคัญสำหรับเขามากเท่ากับ ..การที่ผลงานออกมาดีแล้วจนตนเองเกิดความรู้สึกพอใจ     
                  วิธีที่ 7   "  รวมความหมายของทุกหน้าที่ไว้กับคำว่า พิธีกร  "
                         ในงานพิธีกรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นนักแสดงอยู่ในตัวด้วย และต้องมีมากกว่าความเป็นนักแสดงเสียด้วยซ้ำ คือนอกจากเป็นนักแสดงแล้ว  ยังต้องเป็นผู้กำกับ ผู้เขียนบท ตากล้อง คนตัดต่อ คนลงเสียง  ซึ่งต้องเป็นหลายต่อหลายอย่างในคำว่าพิธีกร  ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ทำการสัมภาษณ์ผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งลูกของเขาตาย ..เมื่อต้องถามว่าลูกของคุณเป็นอะไรตาย  ช่วงนี้พิธีกรต้องรู้บทบาทของตัวเองว่าจะต้องทอดเสียงอย่างไร จะต้องมองอีกฝ่ายด้วยแววตาอย่างไร และเมื่ออีกฝ่ายตอบก็ต้องทราบอีกว่า ควรจะเว้นระยะห่างในการถามแค่ไหน เพื่อที่จะสามารถให้เหลือช่วงเวลา ที่จะต้องใส่เพลงประกอบเพื่อให้เกิดอารมณ์  ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่ามุมกล้องเป็นอย่างไร  และต้องมองกล้องไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเทคนิคเฉพาะตัวจริง ๆ   
                  วิธีที่ 8  " ต้องมีอารมณ์ร่วมในเหตุการณ์ที่ได้รับรู้จากผู้ร่วมรายการ "   
                        ในการซักถาม หากว่าพิธีกรเอาแต่มุ่งถามให้ได้คำตอบอย่างที่ต้องการนั่น ย่อมไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะในการซักถามนั้น มิได้เอาอารมณ์ออกมาร่วมด้วย พิธีกรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปหาผู้ร่วมรายการ  และที่สำคัญก็คือ ต้องเข้าไปให้ถึงใจของเขาให้ได้  ซึ่งนั่นจะช่วยทำให้ผู้ชมได้รับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกที่แท้จริง ของผู้มาร่วมรายการ เพราะพิธีกรที่ดี ต้องสามารถสื่อทุกอย่างออกมาได้  ซึ่งหากทำไม่ได้ก็เท่ากับว่างานนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย
                            

                  วิธีที่ 9  " ต้องรู้จักการับและการให้  "
                        ในการเชิญผู้ร่วมรายการมาออกรายการ สิ่งที่เราต้องการจากเขาคือ เรื่องราวของเขา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องตั้งหน้าตั้งตาถามให้เขาตอบเราให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน พิธีกรก็ต้องรู้จักที่จะเป็นผู้ให้ด้วย  เช่น ในขณะที่ผู้เข้าร่วมรายการตอบคำถามเรา บางคำถามเขาอาจจะรู้สึกสะเทือนใจ  พิธีกรต้องรับรู้ได้ถึงความรู้สึกตรงนั้น และเราสามารถช่วยเขาได้ อาจจะด้วยการตบหัวเข่าเบา ๆ พร้อมกับพูดปลอบใจเขาว่า สิ่งนั้นมันผ่านไปแล้ว และจะไม่มีวันกลับมาอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก ๆน้อย ๆที่เราพิธีกรสามารถทำได้
                  วิธีที่ 10  " มีหัวใจที่รักในการทำงาน "
                        เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าจะทำงานสิ่งใด ๆ ผู้กระทำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง มีความรักในการทำงานนั้น เพราะหากว่าการทำงานเป็นไปอย่างแห้งแล้ง ปราศจากหัวใจซึ่งรักที่จะทำ งานที่ทำออกมาก็จะดูเหมือนกับว่าไม่มีคุณค่าอะไรเลย ดังนั้นควรถามตัวเองให้ดีว่า อยากทำอาชีพพิธีกรเพราะรักหรือไม่ ถ้าใช่ก็หมายถึงงานที่ดี ที่จะมีตามมา แต่ถ้าไม่ใช่ ก็อย่าเป็นซะเลยดีกว่า..เสียเวลาเปล่า ๆ
                        หลักการทั้ง 10ข้อที่กล่าวไปแล้วนี้ ถือได้ว่าเป็นทัศนคติที่น่าสนใจของผู้ชายที่ชื่อ ไตรภพ ลิมปพัทธ์
จริง ๆ เพราะท่ามกลางการเคลื่อนไหวบนจอทีวี  ทุกอารมณ์ที่เขาสื่อออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความรักของเขา  ด้วยความตั้งใจในการทำงานเพื่อให้ออกมาดีจนเป็นที่น่าพอใจ ก็เป็นการสมควรแล้วมิใช่หรือ ที่เขาจะได้รับคำว่า
" ความสำเร็จ " เป็นของขวัญให้กับตนเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘