วิชาการพูด 24

บทพูดเรื่อง “ พูดอย่างไรไม่ให้ประหม่า ”
    ดิฉันเชื่อว่าหลายๆคนในห้องนี้คงจะเคยกลายเป็นเหยื่อแห่งความสะใจในสายตาและความรู้สึกในหมู่ผู้ฟัง  ด้วยเหตุที่เกิดมาจากความประหม่าของตัวเอง  ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในขณะที่พูดไปเลย  และประโยคหรือคำพูดที่เรามักคุ้นหูกันเวลาที่เรากำลังฟังคนที่มีอาการประหม่าขึ้นพูดก็คือ  “ คล้ายๆกับว่า…เอ้อ…”  “ แบบว่า…” “ อะไรทำนองนี้”  “  คือยังไงดีหล่ะ”  คุ้นหูกันจริงๆเลยใช่ไหมคะ  มันเป็นคำพูดที่แสดงถึงความไม่มั่นใจในการออกความเห็น  หรือการอธิบายความเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ความน่าเชื่อถือในคำพูดเหล่านี้จะน้อยลง  เพราะเป็นการแสดงว่าคนพูดอาจไม่รู้จริง  หรือพูดแบบครึ่งๆกลางๆไม่กล้าฟันธงอย่างตรงไปตรงมา
    แต่แล้วเรื่องราวก็ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้นะซิคะ  เพราะด้วยอิทธิพลของความประหม่านี่เองที่คอยผลักดันให้เราใช้คำพูดที่คนฟังคาดไม่ถึงหรือเกิดมีบุคลิกท่าทางที่ชวนสงสารหรือน่าสังเวชขึ้นมา  แต่เชื่อเถอะค่ะว่า  น้อยคนนักในหมู่ผู้ฟังที่จะเห็นใจคนพูดที่มีอาการประหม่า  ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการ  “ ได้ทีขี่แพะไล่ ”  มากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นการแอบอมยิ้มเล็กๆ  ระเบิดเสียงหัวเราะอย่างขำขันในคำพูดที่ผิดพลาดของผู้พูด  บ้างก็แสดงสีหน้าผะอืดผะอม  หงุดหงิดอึดอัด  และภาวนาในใจว่า  “ เมื่อไหร่มันจะหยุดพูดและลงจากเวทีสักทีว้า…รำคาญเต็มทนแล้ว ” คนพูดก็เลยกลายเป็นตัวตลกไปโดยไม่รู้ตัว
    ดิฉันมีตัวอย่างของคนพูดที่มีอาการประหม่าขึ้นมาในขณะที่ทำการพูดอยู่มาเล่าให้ฟังค่ะ  เรื่องมีอยู่ว่า “ ในการเปิดงานครั้งหนึ่ง  ผู้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีได้พกเอาความประหม่างกๆ  เงิ่นๆ  ขึ้นไปด้วย  ผลที่สุดก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้  แทนที่ผุ้กล่าวรายงานจะกล่าวเชิญประธานในพิธีว่า  “บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว  กระผมขอกราบเรียนเชิญท่านประธานในพิธี  ชักธงขึ้นสู่ยอดเสา”  แต่แล้วผู้กล่าวรายงานคนนั้นกลับพูดว่า  “บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว  กระผมใคร่ขอ
กราบเรียนเชิญท่านประธานในพิธีขึ้นสู่ยอดเสา”  ประธานในพิธีถึงกับสะดุ้งเฮือก  แขกผู้มีเกียรติงงเป็นไก่ตาแตก  ผู้กล่าวรายงานเหงื่อแตกพลั่กหน้าซีดเลยทีเดียวหล่ะค่ะ  และอีกหลายอาการที่มักจะเกิดกับผู้พูดที่ได้พกพาเอาความประหม่ามาเต็มกระเป๋านั่นก็คือ  มีอาการสั่นสะท้าน  หน้าซีดเซียว  ยืนล้วงกระเป๋า  แกะกระดุม  แคะจมูก  ฯลฯ  ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นกันอย่างสม่ำเสมอ  แม้แต่ยืนรูดซิบเล่นต่อหน้าผู้ฟังก็ยังมีเลยนะคะ  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เสียหายและน่าขายหน้าทั้งสิ้น
    ถึงตรงนี้คงจะเกิดคำถามขึ้นในใจกันบ้างแล้วใช่ไหมคะว่า  อะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น  และจะมีวิธีกรใดบ้างที่จะแก้ไขไม่ให้เราเกิดอาการประหม่าเมื่อถึงคราวที่ต้องออกไปพูดในหมู่ชุมชน
    เริ่มแรกเรามารับรู้สาเหตุสำคัญๆที่ทำให้คนพูดเกิดความประหม่า  มีความวิตกกังวลก่อความวุ่นวายใจในขณะที่พูดที่พอจะสรุปได้ดังนี้  คือ  ตื่นเวที  หนีผู้ฟัง  ระวังตัวแจ  วอแววุ่นวาย  เนื้อหาเตรียมน้อย
    ข้อแรก  ตื่นเวที  เป็นความกลัวที่ต้องยืนพูดต่อหน้าคนอื่น  ตัวเองต้องเป็นเป้านิ่งให้คนฟังมองและปะทะกับความรู้สึกที่ผู้ฟังสาดส่งขึ้นมา  หรือแม้แต่ความไม่คุ้นเคยกับการพูดที่ต้องใช้ไมโครโฟนก็ทำให้เกิดอาการตื่นเวทีได้
    ข้อสอง  หนีผู้ฟัง    เป็นอาการเกรงกลัวผู้ฟัง  คิดว่าผู้ฟังมีความรู้เหนือกว่า  ผู้พูดกลัวผู้ฟังจะไม่ประทับใจ  เกิดความรู้สึก  “ ถอยหนีไม่กล้าสู้ ” 
    ข้อสาม  ระวังตัวแจ  เป็นอาการเกร็งไม่กล้าใช้ท่าทาง  กลัวจะไม่เหมาะไม่ควร  ผลที่สุดความเป็นธรรมชาติในการพูดก็ลดลง  ผู้ฟังรู้สึกอึดอัด  ดังนั้น  ผู้พูดที่มีอาการเซ็ง  หน้าซีด  มือไม้สั่น  ก็เพราะสาเหตุข้อนี้
    ข้อสี่  วอแว  วุ่นวาย  เป็นสภาพบรรยากาศของการพูดการฟังที่ไม่สงบเรียบร้อย  เช่น  สถานที่พูดร้อนอบอ้าวเกินไป  เสียงอึกทึกครึกโครม  ผู้ฟังคุยกันจ็อกแจ็กจอแจ  หยอกล้อ  อ่านหนังสือพิมพ์  นั่งกันระเกะระกะ  ล้วนแล้วแต่ให้ผู้พูดลดความเชื่อมั่น  เพิ่มความประหม่าทั้งสิ้น
    ข้อสุดท้าย  เนื้อหาเตรียมน้อย  เป็นลักษณะของผู้พูดที่เตรียมตัวไม่พร้อมและเกิดความวิตกกังวลตั้งแต่ก่อนขึ้นเวทีแล้ว  เพราะฉะนั้น  เมื่อพบกับสถานการณ์บนเวที  ก็ยิ่งทำให้เกิดความประหม่ามากยิ่งขึ้น
    พอเรารู้แล้วว่าสาเหตุของความประหม่าเกิดมาจากอะไร  ต่อไปเรามารู้ถึงเคล็ดลับจากนักพูดคนหนึ่งที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก  แต่ข้อคิดดีๆที่จะได้จากนักพูดคนนี้มีประโยชน์มากเลยทีเดียวนะคะ  เขาคนนั้นคือ  “ การุณ  กูใหญ่ ”  ซึ่งได้แนะนำวิธีการพิชิตความประหม่าได้เป็นอย่างดี  โดยมียุทธวิธี  4ก  ก็คือ  ป้องกัน  - แก้ไข  - กล้าสู้  - กระตือรือร้น  โดยมีแนวทางง่ายๆ ดังนี้
    เริ่มจาก  1.  เตรียมตัวดี  นับแต่การแต่งกายที่สมบุคลิก  เหมาะกับผู้ฟังและโอกาส  มีรูปร่างหน้าตาสะอาดสะอ้าน  ไม่ขัดกับความรู้สึกของผู้ฟังที่ได้พบเห็น  ตั้งแต่วินาทีแรกๆ  ซึ่งเป็นการทำลายความสนใจของผู้ฟังอย่างน่าเสียดาย
2.    2.      มี “เสบียงกรัง ”  โดยการเตรียมเนื้อหาการพูดให้พร้อมตั้งแต่ข้อมูลที่ถูกต้องถ้อย
ภาษาที่กระชับ  ตัวอย่างที่กลมกลืนและขั้นตอนการพูดที่ชัดเจน
    3.  วิเคราะห์ผู้ฟัง    โดยผู้พูดควรจะต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟังได้ดีที่สุดก่อนขึ้นเวที  ทั้งในด้านอายุ  เพศ  ระดับการศึกษา  จำนวน  ความสนใจ  ความเชื่อ  และความชอบไม่ชอบของผู้ฟัง  รวมทั้งความรู้สึก  ความศรัทธาที่ผู้ฟังมีต่อผู้พูดด้วยจะดีมาก  เพราะจะทำให้ผู้พูดสามารถเตรียมแนวการพูดและบุคลิกท่าทีของตนให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ฟัง
    นอกจากนั้น  ในขณะที่พูด  ก็จะต้องวิเคราะห์บรรยากาศการฟังด้วยว่า  ผู้ฟังมีระดับความสนใจขนาดไหน  ผู้ฟังเบื่อหน่ายหรือไม่  หากผู้ฟังหมดความสนใจ  มีอาการ “เซ็ง”  เกิดขึ้น  จะได้ใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้ปัญหาทันที
4.    4.                   สร้างความเบิกบานในหัวใจ  คือ สร้างความรู้สึกกล้าหาญ  ความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้นในใจตั้งแต่ก่อนขึ้นเวที  โดยพยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบตัวให้โน้มน้าวนำใจตนเองในทางที่ดี  เช่น  คบเพื่อนที่เข้มแข็ง  กล้าหาญ  อ่านหนังสือที่ให้กำลังใจ  กล้าต่อสู้  รู้จักร้องเพลงที่ให้ความสุขในจิตใจ  จัดบ้านช่องห้องนอนให้สะอาดสวยงาม  เป็นต้น  บรรยากาศรอบตัวเช่นนี้  จะชักจูงใจให้เกิดความกล้าหาญเบิกบาน  มีบุคลิกที่สดชื่น  กระปรี้กระเปร่าเป็นที่สนใจของผู้ฟัง
    5.    “ ไม่เป็นไร ”  เสียบ้าง  ขณะที่พูดหากพบผู้ฟังหลับบ้าง  นั่งคุยกันบ้าง  หรือมีทีท่าไม่สนใจอยู่บ้าง  “จงอย่าให้สภาพของผู้ฟังเช่นนั้นมีอิทธิพลต่อจิตใจของท่าน  จงบอกกับตัวเองว่า   -ไม่เป็นไร-  แล้วจงเบนความสนใจไปสู้ผู้ฟังที่ดี”  ทำได้เช่นนี้ความวิตกกังวล  ความประหม่าจะไม่เกิดขึ้น  แต่จะคงความเชื่อมั่นและความกระตือรือร้นต่อไป
    เป็นอย่างไรกันบ้างคะ  สำหรับเคล็ดลับดีๆในการพิชิตความประหม่า  ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกน่าเชื่อถือ  พอใจในบุคลิกท่าที  และมีความประทับใจในการพูดอย่างแน่นอน  ซึ่งก็ไม่ได้เป็นวิธีที่ยากเย็นแสนเข็นเลยใช่ไหมคะ  และดิฉันเชื่อว่า  ถ้าใครที่สามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 5 ข้อ  ที่กล่าวมาข้างต้นนี้  คนนั้นก็จะไม่เป็นผู้ที่มีความประหม่าในขณะที่พูดและสามารถก้าวขึ้นไปสู่การเป็นนักพูดที่ดีได้สมกับความตั้งใจที่ได้คิดไว้อย่างแน่นอน  อย่าลืมนำเคล็ดลับต่างๆเหล่านี้ไปฝึกปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอนะคะ  อย่าเพียงแค่ศึกษาแต่วิธีการ แล้วไม่ลองปฏิบัติ  เพราะ “ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ”
“ พูดทั้งที     ต้องให้มี     ความเชื่อมั่น
อย่ามัวสั่น     หวั่นผวา     น่าสงสาร
จงเตรียมกาย     เตรียมใจ     ให้เบิกบาน
ความกล้าหาญ     บันดาลให้     พูดได้ดี ”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘