วิชาการพูด 23

ครบเครื่องเรื่องการพูด

เป็นมนุษย์สุดจะดีที่ฝีปาก    ถ้าพูดมากแต่ไร้ค่าพาเสียศรี
แม้พูดน้อยด้อยราคาค่าไม่มี    พูดไม่ดีเสียค่าราคาคน
อันพูดดีใช่จะดีเพราะมีปาก      คำพูดดีหายากสุดขัดสน
คำพูดชั่วมีมั่วทุกตัวคน      คนพูดดีจึงค้นไม่พบพาน
พูดอย่างไรพูดดีขอชี้เหตุ    พอสังเกตกำหนดบทบรรหาร
คือพูดถูกสาระที่ต้องการ    พูดอ่อนหวานผู้ฟังสิ้นกังวล

    การพูดใคร ๆ ก็พูดได้ บางคนพูดเป็นต่อยหอย พูดน้ำไหลไฟดับ  คนพูดเก่งๆก็มีอยู่มากมายแต่จะพูดอย่างไรให้ดีนั้นทำได้ยาก      คนพูดดีอาจจะพูดไม่เก่งคนพูดเก่งอาจจะพูดไม่ดี การเป็นนักพูดที่ดีต้องมีความเข้าใจหลักพื้นฐานของการพูดซึ่งจะช่วยให้เราพูดอย่างมีหลัก เสริมบุคลิกภาพและความสามารถของแต่ละคนให้เด่นชัดขึ้นในแบบของตนเองที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หลักการพูดมีอยู่มากมายเพื่อให้เลือกใช้"เสริมสวย"การพูดให้งามตามความเหมาะสมแก่บุคลิกภาพ
     ในการพูดแต่ละครั้งแน่นอนว่าทุกคำพูดที่ออกจากปากของเรานอกจากจะคิดดีแล้วต้องพูดดีอีกด้วยสำหรับในวันนี้ ดิฉันก็มีเคล็ดลับในการพูดที่ดีมาฝากค่ะ
ขั้นแรกคือการตระเตรียมเนื้อหา   ต้องมีการรวบรวมวัตถุดิบเพื่อใช้เป็นข้อมูลเพราะเราต้องมีความ
รู้จริงในเรื่องที่จะพูดการมีข้อมูลที่เพียบพร้อมจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเราโดยเราจะต้อง   ช่างสังเกต  ฟังดี อ่านดี  มีประสบการณ์
      ความเป็นคนช่างสังเกต 
นักพูดที่ดีต้องเป็นคนช่างจดช่างจำ ฝึกวิเคราะห์แยกแยะสิ่งต่างๆ คอยสังเกตสิ่งรอบๆตัวต้อง"เปิดหูเปิดตา"ให้มากและมีมุมมองที่แปลกใหม่คือมองเหตุการณ์ธรรมดาๆให้กลายเป็นไม่ธรรมดาไปได้ จะเป็นนักพูดที่ดีต้อง "พึงมองในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นและเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่มอง"
    เป็นนักอ่านและนักฟังที่ดี 
    นักพูดที่ดีต้องเป็นคนทันสมัย ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ต้องแสวงหาข้อมูลใหม่ ๆ  เพราะจะทำให้เรามีข้อมูลที่หลากหลายซึ่งแหล่งข้อมูลที่ดีก็หาได้จากหนังสือต่าง ๆ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น นิตยสารหรือหนังสือการ์ตูนที่เราชอบอ่าน  หนังสือพิมพ์หรือถุงกล้วยแขกก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ต้องเป็นคน
ทันการณ์และทันกาล ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เสมอ การอ่านมากจะทำให้เราได้รับความรู้ ข้อคิด คำสอน ที่มีคุณค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เป็นนักพูดต้องรู้จักฟัง เช่น ฟังรายการที่มีประโยชน์หรือเมื่อมีกิจกรรมการพูด การอภิปรายในที่สาธารณะ ก็ควรหาโอกาสไปฟังเพื่อสะสมความรู้และยังสามารถนำมาปรับปรุงใช้ในการพูดของเราครั้งต่อไปได้อีกด้วย ยิ่งฟังแล้วมีการคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันก็เป็นการฝึกลับคมความคิดของเราอีกวิธีหนึ่ง
    การสั่งสมประสบการณ์
ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการพูดของเราให้มีรสชาติมากยิ่งขึ้น  เป็นการสั่งสมความรู้ ที่ได้จากการฟัง การอ่าน และการสังเกต การสั่งสมประสบการณ์ต้องใช้เวลาและการฝึกฝน เราต้องฝึกฝนอยู่เสมอเพื่อการเตรียมตัวที่ดี ดูอย่าง เดมอธเธนีส นักพูดที่มีชื่อเสียงของกรีกยุคโบราณ  แม้ว่าจะพิการเกี่ยวกับอวัยวะในการพูด คือมักจะพูดติดอ่างอยู่เสมอ แต่หลังจากที่เค้าได้พยายาม ศึกษาวิชาการพูดและหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ เค้าก็กลายเป็นนักพูดเอกของโลกได้ ฉะนั้นทุกคนมีความสามารถที่จะเป็นนักพูดได้ ถ้าเรียนรู้หลักเกณฑ์ต่างๆ ของการพูดและฝึกพูดอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ ถือว่ายิ่งพูดได้บ่อยครั้งมากเท่าไหร่ก็เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้กับตัวเราเอง ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบโดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาในการพูด คนที่มีประสบการณ์มากกว่าย่อมสามารถนำประสบการณ์มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
หลังจากรวบรวมเนื้อหาแล้วก็ต้องมีการ จัดลำดับความสำคัญ มีประเด็นความคิดที่ชัดเจนเพราะจะช่วยให้เราพูดได้อย่างต่อเนื่องและมีความสม่ำเสมอ การพูดต้องมีจุดเริ่มต้น และมีจุดหมายปลายทางเพราะจะช่วยให้เราจดจำสาระสำคัญทั้งหมดได้ดีขึ้นไม่สับสนและเข้าใจง่าย
ขั้นตอนที่สองคือ การวิเคราะห์คนฟัง
ผู้ฟังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพูดแต่ละครั้ง เป็นกระจกสะท้อนให้ผู้ พูดเห็นภาพตัวเองได้เป็นอย่างดีเป็นคนที่คอยวิพากษ์วิจารณ์การพูดของเราแต่ละครั้งเพื่อให้เรานำมาปรับปรุงแก้ไขการพูดของเราครั้งต่อไป การวิเคราะคนฟังเพื่อจะได้มีการตระเตรียมเนื้อหาที่เหมาะกับกลุ่มของคนฟังจะได้ปรับเนื้อหา ความคิด การใช้ภาษา และวิธีในการพูดให้เหมาะกับคนฟัง การพูดจะได้รับความสำเร็จมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ผู้พูดว่าสามารถเลือกเรื่องที่จะพูด เนื้อหา การผสมจิตวิทยาลงในการพูดรวมทั้งวิธีการที่จะแสดงออกมาให้เหมาะสมกับผู้ฟังดูอย่างพระพุทธเจ้าที่ ทรงเป็นนักเทศน์หรือนักสอนที่เลิศของโลกได้ แม้ว่าหลักธรรมของพระองค์จะมีความลึกซึ้งและซับซ้อนเพียงใด พระองค์ยังสามารถประกาศพระธรรมให้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วได้อย่างน่าพิศวง นอกจากจะแสดงให้เราเห็นถึงว่าทรงเป็นสัพพัญญูในด้านต่างๆแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิเคราะห์ผู้ฟังอีกด้วย 
    ตัวผู้พูด      ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การพูดประสบความสำเร็จหรือไม่ เราต้องรู้จักใช้เทคนิคในการถ่ายทอดบางคนมีความรู้มากแต่ไม่สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ ทำอย่างไรจะให้คนฟังเข้าใจ  ติดใจ  และสนใจคำพูดของเรานั่นคือเราต้องมีความจริงใจ เป็นมิตร และมีความเชื่อมั่น ซึ่งแสดงออกในการใช้สายตา น้ำเสียง และท่าทางซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พูดจะต้องหมั่นฝึกฝนจนเป็นนิสัย โดยยึดหลักดังนี้
สบตาผู้ฟัง ท่าทางสง่า  ลีลามั่นใจ เสียงดังฟังชัด ฟังเพราะเสนาะหู   ควบกล้ำชัดเจน
สบตาผู้ฟัง  สายตาเป็นเครื่องสื่อความจริงใจและความเป็นมิตรได้ดีที่สุดควรมองผู้พูดอย่างทั่วถึงให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความเป็นมิตร หากผู้พูดมัวแต่ก้มหน้ามองพื้นหรือมองหาหยากไย่บนเพดาน คนฟังก็นึกว่าผู้พูดไม่ได้พูดกับตนหรือกำลังท่องอาขยานอยู่ก็จะขาดความสนใจ ควรสบตากับผู้ฟังเป็นระยะๆให้ทั่วถึงทั้งหมด ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้พูดพูดกับคนฟังแต่ละคนอยู่ตลอดเวลา  และจะช่วยให้ทราบว่าผู้ฟังมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสิ่งที่เรากำลังพูดจะได้ ปรับเนื้อหาและวิธีพูดให้ทันท่วงที
ท่าทางสง่า ยืนด้วยท่าทางที่สบายปล่อยน้ำหนักให้ตกลงบนขาทั้งสองข้างเท่าๆกันให้กดลงที่กลางเท้า วางปลายเท้าเหลื่อมกันเล็กน้อย ปล่อยแขนตามสบาย การยืนท่านี้นอกจากจะช่วยให้ดูสง่าผ่าเผยและสำรวมแล้ว ยังช่วยให้เราอยู่ในท่าพร้อมที่จะเคลื่อนไหวแสดงท่าทางอย่างอื่น เพื่อสื่อความหมายแก่ผู้ฟังได้ตลอดเวลา หรือหากเกิดความประหม่ารู้สึกว่ามือไม้เกะกะจนวางที่ไหนไม่ถูก ให้เอามือไพล่หลังบีบไว้ให้แน่นก็จะช่วยคลายความประหม่าลงได้
ลีลามั่นใจ ควรมีลีลาท่าทางประกอบคำพูด เพื่อให้ได้รสชาติของความสนุกสนาน เป็นการเน้นให้คนฟังประทับใจและจำได้ แต่ควรแสดงให้สอดคล้องกับคำพูดและแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ การทำท่าทางประกอบจะช่วยลดความประหม่าของผู้พูดได้อีกทางหนึ่งด้วยและควรให้มีความกลมกลืนทั้งท่าทางและคำพูด แต่ไม่ควรแสดงออกมากเกินไปเพราะคนฟังอาจจะตกใจหนีไปเสียก่อน ต้องแสดงออกจากความรู้สึกจริงๆไม่ใช่แข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์
เสียงดังฟังชัด เสียงต้องไม่ดังหรือค่อยจนเกินไปจะช่วยให้การสื่อความหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีการเน้นเสียงหนักเบาให้เห็นความสำคัญของข้อความที่พูด ไม่ใช่พูดระดับเสียงเดียวกันตลอดเพราะคนฟังอาจจะเบื่อหรือรำคาญเสียก่อน ไม่พูดช้าหรือเร็วจนเกินไปมีการเว้นวรรค และเน้นย้ำตรงข้อความสำคัญ มีควบกล้ำ ร ล ชัดเจน น้ำเสียงควรเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวาไม่ใช่พูดไปก็ทำท่าซังกะตายคนฟังก็จะพลอยซังกะตายไปด้วย ต้องท่องไว้เสมอว่า "จงตื่น จงตื่น" น้ำเสียงหนักแน่น มีพลังเสียงดังฟังชัด
นอกจากหลักการพูดนี้แล้ว การพูดจะสมบูรณ์ไปไม่ได้ถ้าขาดความจริงใจเราต้อง พูดออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริงพูดจากวิญญาณความรู้สึก สร้างวิญญาณให้การพูดมีพลังเต็มไปด้วยชีวิตชีวาการพูดเป็นศิลปะที่ต้องใช้ทักษะและเวลาในการฝึกฝนประกอบในอัตราส่วนที่ลงตัวการพูดแต่ละครั้งไม่ใช่แค่เพียงแต่การสรรหาถ้อยคำที่ไพเราะเพราะพริ้งลงบนแผ่นกระดาษหรือลมปากเท่านั้นแต่จะต้องออกมาจากหัวใจของคนพูด อารมณ์และวิญญาณชีวิตจิตใจอย่างที่  เดล คาร์เนกี้ กล่าวไว้ว่า  “ ทุกครั้งที่ท่านจะต้องพูด จงสลัดความเฉื่อยเนือยของท่านทิ้งเสีย จงทุ่มเทหัวใจของท่านลงในงานนี้ ขุดมันขึ้นมา ค้นหาขุมกำลังที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ ซึ่งฝังอยู่ในตัวท่าน สืบเสาะข้อเท็จจริง จนมันกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญแก่ท่าน”  นั่นคือ “จงพูดจากใจ พูดขึ้นใจ พูดด้วยความตั้งใจ และพูดจดสุดใจ โดยการคิด คิด คิด และคิด”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘