วิชาการพูด 21

พูดอย่างไรให้ประทับใจคนฟังJ

     "ฝีปากเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้" นี่คือสิ่งที่ผู้แสวงหาความสำเร็จทางการพูดทุกคนควรตระหนัก เพราะคงไม่มีใครจะสามารถไต่ ไปสู่จุดสูงสุดได้จากพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว โดยขาดการหาความรู้ ฝึกซ้อม เพิ่มพูนศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้วให้มากขึ้น และมากขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด นี่คือพลังแห่งการแสวงหาหรือที่เราเรียกว่า "พรแสวง"
    นักพูดที่ฉันประทับใจเขาใช้นามปากกาว่า"ดอกเตอร์ไต้" นักเขียนอิสระชาวไต้หวัน จากหนังสือชุด พูดลิงหลับ ซึ่งเรียบเรียงโดย ใบไผ่เขียว ชื่อของเขาที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักเลยก็ได้สำหรับพี่ๆและเพื่อนๆหลายๆท่าน ฟังจากชื่อหนังสืออาจจะคิดว่าดอกเตอร์ท่านนี้คงจะมีบุคลิกคล้ายตลกคาเฟ่ หรือไม่ก็ Talk show ชวนหัว เวทีใดเวทีหนึ่งเป็นแน่ แต่เปล่าเลยค่ะ นักพูดท่านนี้ท่านเคยเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแม้ว่าสิ่งที่เขาต้องการจะสอดแทรกทุกครั้งในการพูดของเขาคือความขำขันแต่นั่นมิใช่ไร้สาระ สิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจในตัวของเขาก็คือ การพูดที่ไม่ได้เน้นเพื่อความเป็นเลิศเหนือใคร แต่การพูดคือความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและประทับใจผู้ฟังต่างหาก
    พี่ๆและเพื่อนๆเคยพบเหตุการณ์ที่เวลาไปฟังนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ดอกเตอร์หรือท่านคุณหมอ พูดแล้วผู้ฟังอย่างเราๆ เกิดอาการ งง ไม่รู้เรื่อง บ้างไหมคะ ผู้ฟังเขาไม่มีทางหรอกค่ะที่จะโทษตัวเองว่า โง่จังเลย เรียนมาน้อยกว่าเขาก็นี้แหละ แต่เราจะ บ่นๆๆและบ่น ว่า แปลกใจจริงหนอคนเรายิ่งเรียนมากยิ่งพูดไม่รู้เรื่อง ในทางกลับกัน หากว่าท่านเป็นผู้พูดท่านจะรู้สึกอย่างไร โอ้..บทพูดที่เต็มเปี่ยมไปด้วย เนื้อหา ความรู้ คำคม ขำขัน ข้อคิด ศัพท์ ภาษา หรูเลิศอลังการบานตะไท แต่ขาดการสื่อที่ตรงใจและใช้คลื่นเดียวกันกับผู้ฟัง การพูดนั้นก็เป็นอันพังวินาศสันตะโร
    ดังนั้นสิ่งที่นักพูดทุกคนควรตระหนักอีกประการหนึ่งคือ "คุณพูดให้คนฟัง" มิใช่พูดกับ โต๊ะ เก้าอี้ แก้ว แหวน นาฬิกา แล้วอย่างนี้เราจะมีวิธีการพูดอย่างไรให้ประทับใจคนฟัง ดอกเตอร์ไต้มีวิธีมาเสนอค่ะ
ขั้นแรก ขั้นเตรียมการพูด
1.    1.      แสวงหาฐานข้อมูล& คือการจดบันทึก ความรู้ ข้อคิด คำคม ขำขัน ฯลฯ ที่เราได้ยินได้อ่าน ได้พบ จากที่ไหนก็ตามเอาไว้ในสมุดเล่มกระทัดรัดสักเล่มหนึ่ง เมื่อมีเวลาว่างก็นำมาจัดคัดแยกเป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการใช้ อ้อ..อย่าลืมจดที่มาของข้อมูลด้วยนะคะ
2.    2.      ขจัดอุปสรรคการสื่อสาร ใครท่านใดที่ออกเสียงไม่ชัด สำเนียงเพี้ยน ฟังแปร่งหู ก็หัดอ่าน หัดท่อง ฝึกลม ฝึกปอด เสียให้ชำนาญ เพราะการออกเสียงไม่ชัดนอกจากจะทำให้การพูดของท่านไม่น่าฟังแล้วยังอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
3.    3.      กล้าก้าวขึ้นเวที ท่านทราบไหมคะว่านักพูดที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง อาจจะมาจากเด็กขี้อายคนหนึ่งหรือคนที่ต้องเรียนในวิทยาลัยเพราะเอ็นทรานซ์ไม่ติด แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปี ในการเรียน ทุกเวทีอภิปราย โต้วาที เขาสมัครเข้าแข่งขัน อาจไม่มีสักครั้งที่จะได้รับรางวัลและเพื่อนๆก็ระอาในตัวเขา แต่เขาก็ยังพยายามอย่างไม่ลดละแล้วเวลา 3 ปีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาทำได้ เขาสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการพูดมาได้ ที่สำคัญในวันจบการศึกษาเพื่อนชมเขาว่า 3ปีนี้เขาเปลี่ยนไปมาก และเด็กขี้อายคนนี้ก็ได้รับเลือกเป็นตัวแทนนักศึกษากล่าวคำอำลาวิทยาลัย นี่ต่างหากกระมังคะที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่ารางวัลใดๆ
4.    4.      ฝึกซ้อมและฝึกซ้อม[ นักพูดที่ดีไม่มีหรอกค่ะที่จะพูดไปโดยขาดการซักซ้อม เพราะการฝึกพูดมิใช่เป็นเพียงแค่การฝึกฝีปาก แต่ยังเป็นการฝึกใจ ทดสอบพลังใจในการขจัดความประหม่า ความกลัวและความเขลาของคุณด้วย การพูดต่อหน้าชุมชนเพียง5-10นาทีอาจจะต้องใช้เวลาซ้อมหลายชั่วโมง ใช้เวลาเขียนบทพูดหลายวัน ดังนั้น ไม่ต้องอายหากคุณจะก้าวขึ้นเวทีการพูด เพราะโอกาสที่คุณจะฝึกฝนต่อเหตุการณ์ สถานที่จริงมีไม่มากนักอย่ากลัวที่จะไม่ได้รับรางวัล เหมือนอย่างที่ดอกเตอร์ไต้ท่านกล่าวว่า "คุณไปตกปลาไม่แน่เสมอไปว่าจะตกปลาได้ แต่ถ้าคุณไม่ไปตกปลา จะไม่มีวันตกปลาได้"
ขั้นการพูด
1.    1.      อารัมภบท ที่แฝงอารมณ์ขันจะขจัดบรรยากาศ"แปลกหน้า" ไม่คุ้นเคยระหว่างคุณกับผู้ฟังได้ ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งดีไม่ใช่หรือที่จะดึงดูดความสนใจกับการพูดของคุณ
2.    2.      พูดออกมาจากใจY พูดให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนคุณกำลังฉายภาพยนต์เหตการณ์นั้นๆให้เขาดูอยู่การพูดในที่สาธารณะหากใช้สำนวนโวหารมากเกินไปก็เป็นเพียงแค่สร้างนามธรรมที่ว่างเปล่าแก่ผู้ฟังเท่านั้น พูดออกมาจากใจ ใส่ความรู้สึกจริงใจ ไม่ต้องใช้คำหรูหราก็กระชากใจผู้ฟังได้
3.    3.      ยกอ้างคำคม อุปมาอุปมัยผู้พูดอย่างเราก็เป็นเพียงปุถุชนธรรมดา หากว่าต้องการให้การพูดดูน่าเชื่อถือก็ต้องรู้จักการใช้ อมตะวาจา ของผู้มีชื่อเสียง ประกอบการพูดเพิ่มความน่าเชื่อถือ อีกทั้งการใช้อุปมาอุปมัย ก็เป็นการทำนามธรรมให้ออกมาสู่รูปธรรมเพื่อความชัดเจนและง่ายต่อการจดจำของผู้ฟังอีกด้วย
4.    4.      อาศัยเครื่องมือ จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ความสนใจทางด้านจักษุมีมากกว่าความสนใจของโสตประสาท ถึง25เท่า ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่นักพูดไม่ควรมองข้ามที่จะหา เครื่องมือมาเสริมในการพูดของตน ไม่ว่าจะเป็น ปากกา รูปภาพ แผนผัง แผนที่ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สร้างบรรยากาศที่แปลกใหม่และน่าสนใจได้ทั้งสิ้น
5.    5.      จำชื่อนามสกุล ในการสื่อสารระหว่างบุคคลการจำชื่อนามสกุลถือเป็นบันไดขั้นแรก แต่ในการพูดต่อสาธารณะชน มักจะไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงมากนัก ทั้งๆที่เป็นธรรมดาของบุคคลที่จะรู้สึกภาคภูมิใจในชื่อของตนเอง โดยเฉพาะพิธีกร หรือการยกอ้างคำพูดของบุคคลอื่นหากกล่าวชื่อเขาผิด ตกๆหล่นๆ ก็คิดดูแล้วกันว่าจะทำให้คะแนนนิยมต่อนักพูดท่านนั้นตกต่ำขนาดไหน
6.    6.      ใช้สถิติอย่างเหมาะสมเพิ่มความน่าเชื่อถือ เชื่อไหมคะว่าสถิติที่ถูกต้องและชัดเจนมีพลัง ในการสร้างความตกตลึงแก่ผู้ฟัง เมื่อคุณใช้สถิติ จะทำให้การพูดของคุณดูน่าเชื่อถือ เหมือนอย่างที่นักวิชาการมักจะกล่าวถึงสถิตินั่นเพราะเขามีข้อมูลที่แม่นยำ มิใช่พูดสุ่มสี่สุ่มห้า สถิติยังสามารถสร้างความตระหนก ความตระหนัก ความรู้สึกอกสั่นขวัญแขวน และโน้มน้าวใจผู้ฟังได้อีกด้วย
7.    7.      สร้างแนวร่วม คือการสร้างความรู้สึกเป็น"หัวอกเดียวกัน"กับผู้ฟัง อย่าพยายามทำตนเองให้แปลกแยกไปจากผู้ฟังโดยเฉพาะด้านที่สูงกว่า เพราะนั่นจะนำมาซึ่งความห่างเหิน และไม่ไว้วางใจ นี่คือหลักมนุษย์สัมพันธ์ในเชิงจิตวิทยา
ขั้นหยุดพูด
    สิ่งที่นักพูดควรระวังอย่างมากก็คือ จงหยุดพูดก่อนที่ผู้ฟังจะอยากให้คุณหยุดพูด ดอกเตอร์ไต้กล่าวว่า “สิ่งที่ยากยิ่งกว่าการจะพูดอะไรก็คือ อะไรที่คุณไม่ควรพูดและเมื่อใดที่คุณควรหยุดพูด”
    บทสรุปที่สามารถทำให้ติดหูตรึงใจผู้ฟังนั้นไม่จำเป็นเลยค่ะว่าต้องเป็นคำอธิบายยืดยาว หรือคำพูดที่สวยหรู เพราะเพียงคำคมสั้นๆแต่ได้ความหมายครอบคลุมเรื่องที่พูดมาทั้งหมด สามารถทำให้ผู้ฟังจำได้ง่าย ความกระชับของการสรุปจะสร้างความรู้สึกประทับใจได้มากกว่า อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ผู้พูดสามารถจะจับจุดสำคัญของเรื่องที่ต้องการนำเสนอได้ แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด คำพูดสั้นๆในตอนสรุปของท่านอาจจะติดหูติดตาตรึงใจผู้ฟังไปอีกนาน
    เป็นอย่างไรบ้างคะวิธีการพูดอย่างไรให้ประทับใจผู้ฟังที่ฉันนำเสนอมานี้คงไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นและพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อการเป็นนักพูดที่ดี แต่สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือ หากอ่านเพียงทฤษฎีต่อให้ท่องได้จนขึ้นใจทุกตัวอักษรไม่ผิดเพี้ยน แต่ขาดการฝึกฝนก็ไร้ประโยชน์ และการพูดให้ประทับใจผู้ฟังมิใช่อยู่แต่เพียงบนเวทีเท่านั้น แต่คือทุกย่างก้าวของการดำเนินชีวิต คนที่พูดเก่งไม่แน่เสมอไปว่าเขาจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน อย่างเช่นคำที่นักพูดของฉันคนนี้ท่านกล่าวว่า “ต่อให้สามารถพูดจนอีกฝ่าย “เป็นใบ้รับประทาน”เถียงไม่ออกสักคำก็ถือว่าเป็น “ชัยชนะลวง” เพราะว่าคุณจะไม่มีวันพิชิตความรู้สึกที่ดีของอีกฝ่าย ทั้งยังสูญเสียมิตรภาพที่มีอยู่ไป” ดังนั้นเมื่อเวลาที่คุณพูด อย่าให้ใครมาว่าคุณได้นะคะว่า เมื่อคนคนหนึ่งชอบใช้ ปาก วิพากย์วิจารณ์ต่อล้อต่อเถียง คงจะไม่ชอบใช้ หู และน้อยครั้งจะใช้ ใจ ใช้ สมอง ขบคิดใคร่ครวญ
    ใช่แล้วล่ะคะเส้นทางสู่การเป็นนักพูด ต้องผ่านการเป็นนักฟัง นักอ่าน และเมื่อสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วก็อย่าลืมที่จะฟังและอ่านอยู่เสมอ ที่สำคัญหากไม่มีอะไรในสมองคิดไตร่ตรองออกมาเป็นคำพูดที่ดีได้ ก็อย่าพูดเลยเสียดีกว่า
    รักและหวังให้ผู้มีพรแสวงทุกคน เดินตามความฝัน เพื่อไปถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จทางการพูด อย่างสง่างามค่ะ
------------------------JJJJJ---------------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘