วิชาการพูด 20

สมบัติของนักพูด โดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

    นักพูดที่ดิฉันสนใจนั้น ไม่ได้มีพรสวรรค์มาแต่กำเนิด แต่ท่านสนใจที่จะค้นคว้าและสนใจที่จะเป็นนักพูดที่ดี นักพูดที่ดิฉันพูดถึงและอยู่ในความสนใจของดิฉัน ท่านก็คือผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ " พูดเก่ง พูดเพราะ " และยังมีการรับประกันจากทางการ ด้วยราชทินนามว่า " วิจิตรวาทการ "
    นักพูดที่ดิฉันพูดถึง คือ " พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ " เมื่อในอดีตท่านเป็นเด็กที่มีปัญหาทางด้านการพูด นั้นก็คือ ท่านพูดติดอ่าง ในวัยเด็กนั้น บิดา มารดาของท่านพยายามที่จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่หายจนกระทั่งท่านโตขึ้นมาและรู้ว่า การพูดติดอ่างเป็นเรื่องของระบบประสาท เมื่อไรที่ท่านรู้สึกประหม่า ตื่นเต้นขึ้นมา ท่านไม่สามารถที่จะควบคุมตนเองได้ท่านก็จะเริ่มพูดติดอ่าง แต่ท่านก็มีวิธีแก้การพูดติดอ่างที่ง่ายๆ อยู่ 2 ประการคือ
•    ท       พยายามทำให้คำพูดหนักแน่นเป็นจังหวะ สม่ำเสมอ และ
•    ท       พยายามเป็นนายของตัวเอง และมีดวงจิตเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่เสมอ ไม่ว่าในเวลาพูดกับใคร
และจากหลัก 2 ประการที่กล่าวมาก็ทำให้เด็กคนหนึ่งที่มีปัญหาด้านการพูดกลับมาเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการพูดจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ที่พูดเก่งและพูดเพราะ นั้นก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเรามีความพยายามไม่มีอะไรที่ไกลเกินเอื้อมอย่างที่สุภาษิตว่า"ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จก็อยู่ที่นั้น "
    หลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวถึงวิชานักพูดเอาไว้ว่า เป็นศิลปะอันสำคัญอันหนึ่ง และผู้ที่เป็นนักพูดต้องเป็นผู้มีศิลปะอันประเสริฐ นักพูดเป็นบุคคลจำพวกหนึ่งซึ่งทำให้โลกนี้เป็นที่รื่นรมย์ นักพูดที่ดีย่อมสามารถจะดับความทุกข์และให้ความสุขแก่คนทั้งหลายได้เพราะได้ใช้คำพูดของนักพูดที่ดีนั้นเป็นยาอันประเสริฐสำหรับชโลมหัวใจของผู้ที่กำลังขุ่นมัวหรือท้อถอยหมดมานะอยู่ให้หมดความเศร้าโศกทุกข์ร้อนและขุ่นมัวไปและนำความสุขสบายเข้ามาแทน แต่ทุกวิชาก็คืออาวุธเมื่อมีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษด้วยเช่นกันและวิชาการพูดซึ่งอาศัยปากหรือลิ้นของเราในการจูงใจคนฟังนั้นเราสามารถที่จะทำให้คนที่ฟังเราโกรธกัน รักกัน หรือว่าจะก่อเกิดสงครามก็ย่อมที่จะทำได้
ดังนั้นลิ้นหรือปากของคนเราก็คือสิ่งที่ดีที่สุดและสิ่งที่เลวที่สุด แต่ก็ขึ้นกับว่าเจ้าของปากหรือลิ้นนั้นจะใช้มันไปในลักษณะไหน ผู้ใดที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ศีลธรรมจรรยาอันดีถ้าหากเป็นนักพูดก็จะเป็นนักพูดที่ดี ไม่ใช้อาวุธอันสำคัญไปในทางที่ไม่ดีแน่นอน การที่จะเป็นนักพูดที่ดีนั้นก็ควรจะมี " สมบัติของนักพูด " แต่สมบัติของนักพูดนั้นจะเป็นไปอย่างดี ก็ต้องรู้จักที่จะฝึกฝน หลวงวิจิตรวาทการได้ให้หลักในการฝึกฝนตัวเองเพื่อที่จะเป็นนักพูดที่ดีอยู่ 4 ประการใหญ่ๆดังนี้


 1.       ทำตัวของเราให้รู้ทันเหตุการณ์และทันสมัยอยู่เสมอ การที่จะทำให้ทราบเหตุการณ์ทัน
สมัยอยู่เสมอนั้น เราจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ดี ๆอย่างน้อยวันละฉบับ ให้ทราบเหตุการณ์ ต่างๆไว้อย่าให้เหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองหรือของโลกผ่านพ้นเราไปโดยที่เราไม่รู้ ข้อนี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้เราเป็นคนทันสมัยอยู่เสมอ
2.       เราควรพยายามท่องจำสุภาษิตหรือคำพังเพยไว้ให้มาก เพราะสุภาษิตนั้นกว่าจะเป็น
สุภาษิตขึ้นมาได้ ผู้ตั้งต้องคิดแล้วคิดอีกและพยายามเอาข้อความที่กว้างที่สุดมารวมไว้เป้นประโยคที่มีถ้อยคำที่น้อยที่สุด ฉะนั้นสุภาษิตต่างๆจึงมีถ้อยคำไพเราะสละสลวยอยู่เสมอ ผู้ที่จำสุภาษิตได้มากย่อมจะมีคำพูดที่สละสลวยดี และมีหลักความคิดอยู่ในใจมากพอที่จะยกเอามาใช้ช่วยคำพูดได้เสมอ
3.       เวลาอ่านหนังสือต่างๆที่แต่งดีๆนั้น ถ้าพบถ้อยคำที่คมคายเข้าในที่ใดควรจดจำไว้หรือ
จดในสมุดหรือขีดเข้าไว้ในเล่มหนังสือที่อ่านนั้นเองถ้าหนังสือนั้นเป็นหนังสือที่แต่งดีจริงๆแล้วย่อมมีถ้อยคำที่คมคายอยู่มากมายและถ้าเราจำได้มากๆก็จะเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่ใช่ว่าเราจะเอาคำพูดเหล่านั้นมาพูดตามอย่างเขาไปที่จริงการจำคำพูดคมคายไว้ได้ย่อมทำให้เราเกิดมีความคิด หาคำพูดที่คมคายของเราใหม่
4.       สำคัญที่สุดคือ " สมาธิ " คือความคิดแน่วแน่อยู่ในถ้อยคำที่เราพูด และให้เรารู้สึกว่าเป็นนายตัวเองอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้มีอะไรมารบกวนใจได้ เมื่อใดที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ฟังอย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อรู้สึกท้อใจรู้สึกเก้อ ให้รวบรวมกำลังใจให้ดี กำหนดดวงจิตให้แน่วแน่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งของนักพูด
    และนอกเหนือจากหลัก 4 ประการแล้วเรายังต้องพยายามให้น้ำหนักคำพูดของเรามีอยู่เสมอ การพูดให้มีน้ำหนักนั้นคือจะต้องพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ และรู้จักเน้นคำตรงที่ควรจะเน้น เสียงไม่เป็นของสำคัญเพราะคนที่มีเสียงไม่ดีเลยแต่เป็นนักพูดอย่างดีก็มีถมไปข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่าจะต้องพูดให้กระจ่างแจ้งทุกบทพยัญชนะอยู่เสมอและควรพูดช้าๆให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอกันไป มีอยู่บ้างบางแห่งที่ควรจะเร็วกว่าธรรมดาหรือควรจะช้ากว่าธรรมดา ข้อความที่ควรจะพูดให้เร็วกว่าธรรมดานั้น ได้แก่ ข้อความที่เป็นประโยคยาวและต้องพูดจนจบประโยคผู้ฟังจึงจะเข้าใจถูกต้อง ประโยคเช่นนี้เราควรพูดให้เร็วกว่าธรรมดาได้ เพราะถ้าพูดช้าไว้ ผู้ฟังอาจเข้าใจผิดหรืออีกอย่างหนึ่ง ข้อความที่เราต้องการให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นนั้นควรพูดให้เร็วเพราะถ้าพูดช้าความตื่นเต้นก็จะไม่บังเกิด ส่วนคำพูดที่ควรพูดให้ช้ากว่าธรรมดานั้นคือตอนที่เป็นคำสั้น ๆ แต่เกิดความลึกซึ้ง เช่น สุภาษิต หรือถ้อยคำที่คมคายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราจะต้องกล่าวให้ผู้ฟังของเราเอาใจใส่จริงๆ
และอีกประการที่สำคัญไม่แพ้กันนั้นก็คือ การมีท่าทาง มีคนโดยมากเข้าใจผิดไปว่า การออกท่าทางประกอบการพูดให้มากๆนั้นเป็นการดี แท้จริงการออกท่าทางมาก ๆ นั้น กลับจะทำให้คำพูดเสียไป จากประสบการณ์ของหลวงวิจิตรวาทการบอกไว้ว่า คนที่พูดเก่งที่สุดจะออกท่าทางน้อยที่สุด เขาจะระวังตัวไม่โยกโคลงจะมีการเคลื่อนไหวบ้างก็แต่น้อย และการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ก็มีอาการหนักแน่นอยู่ในตัวเสมอ
ด้วยหลักการเป็นนักพูดที่ดีของหลวงวิจิตรวาทการน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่คิดจะเป็นนักพูดที่ดีเป็นนักพูดที่มี การพูดที่เพราะและเก่งอย่างท่าน ขอเพียงแต่เพื่อนๆมีความพยายามที่จะฝึกฝนหรือกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อนๆ ก็สามารถที่จะกระทำมันให้สำเร็จได้ทุกเรื่อง ความสำเร็จไม่มีวันไกลเกินเอื้อม หากเราตั้งใจแล้วพยายามที่จะเอื้อมให้ถึงมัน.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘