วิชาการพูด 18

การพูดระบบธรีซาวด์
       
ในวงการนักพูด คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก บุรุษผู้นี้ ผู้ที่มีความสุขุม สง่างาม น่าเคารพ น่าเกรงขาม มีเอกลักษณ์เพาะตัว แต่แฝงไปด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยน เมื่อเวลาท่านพูดและยิ้มแย้ม เป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ ท่านเป็นนักพูดนักบรรยายที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ ท่านคือ ร้อยเอก ดร. จิตรจำนงค์ สุภาพ ส่วนหนังสือเล่มที่นำมานี้ เป็นการเขียนถึงการพูดระบบธรีซาวด์ ซึ่งดิฉันติดใจและสะดุดตากับรูปแบบปกหนังสือที่ดูแปลกตาและสวยแบบไทย ๆ ที่แรกนึกว่าเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะแต่พอเปิดอ่านดูด้านในก็เห็นรูปคนเหมือนเทวดาหรือผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ในสมัยก่อน เนื้อหาด้านในน่าสนใจมาก ซี่งตรงกับที่อาจารย์ได้สั่งงานไว้ ดิฉันจึงไม่ลังเลที่จะหยิบหนังสือเพื่อยืมไปอ่านจากบรรณารักษ์สาวแสนสวย
    หนังสือเล่มนี้ดูจากชื่อเรื่องแล้ว “การพูดระบบธรีซาวด์” ก็คงพอจะเดาออกว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการพูด ซึ่งเป็นประสบการณ์ของ ร้อยเอก ดร. จิตรจำนงค์ ที่ได้เปิดอบรมการพูดมามากกว่า 14 ปี มีบุคคลที่สำเร็จจากการอบรมไปแล้วหลายหมื่นคน ท่านยังคลุกคลีอยู่ในวงการพูดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
    การศึกษาวิชาการพูด ส่วนมากจะมุ่งเน้นไปที่การพูดต่อชุมชนเท่านั้น ส่วนการพูดในระบบธรีซาวด์ เป็นการให้ความรู้ทั้งการพูดต่อชุมชนและการพูดแบบการทูตซึ่งการพูดแบบทูตเป็นการพูดที่เหมาะสมสำหรับใช้พูดติดต่อ เจรจา ประสานงาน และการปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อเราเรียนจบ เราก็ต้องออกไปพบเจอกับคนในหลาย ๆ หน่วยงานที่ต่างกัน จึงต้องมีการเรียนรู้วิธีการพูด
    การพูดในระบบธรีซาวด์ เป็นหนังสือการพูดที่แปลกแหวกแนวเล่มหนึ่งในยุทธจักรการพูด เป็นหนังสือเพื่อการเรียนรู้ ระบบใหม่และทันสมัย ระบบธรีซาวด์ เป็นระบบแห่งสันติวิธี มีมิตรภาพ นุ่มนวลแนบเนียน เหมือนที่ว่า บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น อีกทั้งยังใช้ทฤษฎี จิตแจ่มใส กายงามสง่า วาจาดี ที่ไม่ซ้ำหรือลอกเลียนแบบใคร และหลักในการพูด   ระบบธรีซาวด์มีอยู่ 3 ประการ หลักใหญ่ ๆ คือ
1)    1)      ฟังสบายหู
การใช้ถ้อยคำในการพูด เงื่อนไขที่เป็นสิ่งสำคัญและขาดไม่ได้คือ การพูดด้วยถ้อยคำที่สุจริต ออกเสียงอักขระให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์ทางวิชาการมาพูด ใช้คำให้ถูกกาลเทศะ ไม่น่าเบื่อหน่าย หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้คำภาษาต่างประเทศ ถ้าขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็ถือว่า ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
การใช้เสียง ควรเสียงดังฟังชัด เพราะเสียงเป็นวิญญาณที่ทำให้ถ้อยคำมีชีวิตชีวา ดิ้นได้ กระโดดได้ การใช้เสียงอย่างเหมาะสมกับถ้อยคำจะทำให้ถ้อยคำมีชีวิตจิตใจ สามารถสอดแทรกเข้าไปถึงหัวใจคนฟังได้
จังหวะการพูด ไม่ควรเร็วหรือช้าเกินไป ไม่ควรรัวคำหรือลัดคำ ต้องดูว่าเหมาะสมกับผู้ฟัง ที่สำคัญไม่ควรหยุดคำคร่อมจังหวะ อย่าทอดเสียงจนยาวเกินไป อีกทั้งไม่ควรหยุดเพื่อเน้นคำหรือย้ำความจะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป
2)    2)      ดูสบายตา
บุคลิกภาพของผู้พุด ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การยืน ท่าทาง การขยับตัวหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ลักษณะสีหน้าและดวงตา เพื่อให้เกิดภาพที่น่าดู ไม่เกะกะเก้งก้าง ขัดขวางลูกตา จนดูหน้าเบื่อ การแต่งกายก็ต้องดูดี มีความเหมาะสมกับกาละเทศะและฐานะของผู้พูด
ศิลปะการแสดงการพูด หมายรวมถึงท่าทางที่ยืนหรือนั่ง การออกท่าทางควรให้เหมาะสมกับการพูดแต่ละครั้ง ไม่ควรยืนแบบ “คนขี้ยา ชิงหาหลัก ไม้ปักรั้ว ชะมดติดจั่น กังหันต้องลม ชมท้องฟ้า ท้าชกมวย ช่วยรถติดหล่ม ก้ม ๆ เงย ๆ” ทั้งหมดนี้ไม่ควรทำในขณะที่พุด การนั่งควรนั่งตัวตรง ไม่โยกเก้าอี้ ยิ้มแย้มแจ่มใส สบตาผู้ฟังอย่างเป็นกันเอง เพราะตาเป็นหน้าต่างที่จะสื่อไปยังผู้ฟังได้ ที่สำคัญอย่า ล้วง แคะ แกะ เกา จะทำให้เสียบุคลิกได้
3)    3)      พาสบายใจ   
การเลือกเรื่อง ต้องเป็นเรื่องที่เรามีความรู้ มีความเข้าใจ อีกทั้งต้องเป็นเรื่องที่เราอยากพูด เพราะหากผู้พูดไม่รู้จริง ไม่มีความเข้าใจแล้ว ก็เท่ากับว่าการพูด
ครั้งนั้นเป็นการฆ่าตัวเอง โดยสิ้นเชิง อีกทั้งการเลือกเรื่องก็ควรเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจและน่าติดตาม
    การเตรียมเรื่อง ควรเตรียมวัตถุดิบหรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่พูด  ซึ่งหาสิ่งเหล่านี้ได้จากการอ่าน การฟัง และการสังเกต แล้วนำมาจัดระเบียบความคิด เลือกคำที่กะทัดรัด เข้าใจง่าย
             การสร้างโครงเรื่อง ประกอบด้วย คำนำหรือคำขึ้นต้น เป็นบทบาทสำคัญในการพูด ต้องมีการเตรียมอย่างพิถีพิถัน โดยยึดหลัก  “พาดหัวข่าว กล่าวคำถาม ความสงสัย ให้รื่นเริง เชิงกวี มีตัวอย่าง ช่างบังเอิญ”  ส่วนตัวเรื่องหรือสาระของเรื่องเป็นส่วนของการสร้างความเข้าใจ ต้องเรียงลำดับ จับประเด็น เน้นตอนสำคัญ บีบคั้นอารมณ์ เหมาะสมเวลา และส่วนสุดท้ายหรือท้ายสุดคือการสรุปจบหรือคำลงท้าย ควรสรุปเอาสาระที่สำคัญ ๆ อย่างสั้น ๆ หรืออาจจบแบบมีการฝากสุภาษิตคำคม หรือมีการตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ให้กลับไปคิดเป็นการบ้าน โดยจำหลักนี้ไว้ “ตามคมปาก ฝากให้คิด สะกิดชักชวน สำนวนขบยัน” ไม่ควรจบด้วยถ้อยคำธรรมดา ๆ หรือกล่าวคำกลอนและคำพูดของคนอื่นผิดไปจากเดิม
           การพูดทั้ง 3 หลักที่กล่าวมาแล้ว เป็นวิธีที่ ร้อยเอก ดร. จิตรจำนงค์ นำมาปฏิบัติและสอนลูกศิษย์ของท่านให้พูดเป็น และที่ดิฉันชื่นชอบอีกอย่างคือ สูตร 3 ช. อันประกอบด้วย
 “พูดให้คน เชื่อ”            “พูดให้คน ชอบ”          “พูดให้คน ช่วย”
ซึ่งการที่เราจะทำได้ดังนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ถ้าเรามีความพยายาม เราต้องทำได้ ดังเห็นจากตัวอย่างของ ร้อยเอก ดร. จิตรจำนงค์ ท่านมีความฉลาดและมีชั้นเชิงในการนำเสนอการพูด กว่าท่านจะมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงการพูด ท่านก็ต้องเพียรพยายาม หมั่นฝึกฝน ค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ศึกษาและค้นคว้าวิธีกานพูดอยู่เสมอ อีกทั้งภาษาที่ใช้ก็เป็นคำง่าย ๆ เข้าใจง่าย มีการยกตัวอย่างทำให้น่าติดตาม บางครั้งมีการสอดแทรกมุขตลก มีการเลียนแบบหรือล้อบุคคลสำคัญ
           เมื่ออ่านหนังสือของ ร้อยเอก ดร. จิตรจำนงค์ แล้วทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการพูดเยอะมาก การที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น เราต้องนำวิธีของท่านมาลองปฏิบัติ ปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เรายังทำได้ไม่ดีพอ ถ้าทำได้ดังนี้แล้วคำพูดของเราก็จะมีพลัง แล้วนักพูดที่ดีก็อยู่ไม่ไกลเกินที่จะคว้ามาได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘