วิชาการพูด 17

One Stand Up Comedian
             สวัสดีครับอาจารย์ และเพื่อนๆทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับ กับโอกาสดีๆที่เราจะได้แบ่งปันความรู้ ความคิด และประสบการณ์ดีๆแก่กัน ก่อนอื่นผมก็ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์สมพงษ์ก่อนนะครับ ที่ได้ให้โอกาสแก่ผมได้มาพูดถึงความประทับใจที่มีต่อนักพูดผู้เป็นนักพูดในดวงใจ
            บุคคลที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นผู้ที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วเป็นการยากที่ใครจะไม่รู้จัก เขาโด่งดังมานานแล้วก่อนที่จะมาเป็นนักพูด เขาคนนี้เคยเป็นดาวดวงหนึ่งที่ประดับวงการบันเทิง เคยมียศบรรดาศักดิ์เป็นถึงเสนา เขาคนนั้นคือคุณ “อุดม แต้พานิช” หรือ อดีตเสนาโน้ต แห่งยุธการขยับเหงือก นั่นเอง
            คุณ อุดม แต้พานิช หรือโน้ต หรือพี่โน้ต นี้ เป็นผู้ที่เขย่าวงการนักพูดเมืองไทยมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาได้แจ้งเกิดในวงการนักพูด โดยการนำเอาลักษณะของโชว์ตลกฝรั่งในรูปแบบของ ONE STAND UP COMEDY เข้ามานำเสนอแก่แฟนๆ ในเมืองไทย ซึ่งการตัดสินใจของเขานับเป็นการปลุกกระแสให้คนสนใจฟังนักพูดมากขึ้น และเขาก็ได้ประสบความสำเร็จมากมายตั้งแต่ครั้งที่เขามาเดี่ยวไมโครโฟนครั้งแรก จนถึงครั้งล่าสุดคือเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 4 และคาดว่าอีกไม่นานเราก็น่าจะได้พบกับเขาอีก(ผมคิดเอาเองนะครับ)
            หลายคนชอบ หลายคนชื่นชม และหลายๆคนก็อยากเป็นให้ได้อย่างเขา แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้อย่างมากมายขนาดนี้ และอะไรคือวิธีการที่ทำให้เขาสามารถนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ในการพูดแต่ละครั้งโดยในแต่ละครั้ง เขาจะพูดคนเดียวติดต่อกันไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมงแต่ผู้ฟังก็ยังไม่แสดงความรู้สึกเบื่อหน่าย แต่กลับออกไปด้วยรอยยิ้มและความสุขที่คุ้มค่ากับเงินประมาณ 300 บาทที่เสียไปในแต่ละรอบ
            จากที่ผมได้ติดตามผลงานการพูด การเขียนของคุณอุดม แต้พานิช มาโดยตลอด ตั้งแต่ที่เขาเดี่ยวไม่โครโฟนครั้งแรก จนถึงครั้งล่าสุด และจากการอ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวเขาในนิตยสารต่างๆ จึงพอจะสรุปประเด็นที่ทำให้เขามาถึงจุดๆ นี้ได้อยู่หลายประการ
            ประการแรก ได้แก่การเก็บข้อมูล ในการเดี่ยวแต่ละครั้งนั้นคงจะเป็นการยากที่เขาจะออกมาพูดสดๆ เป็นเวลา 2 ชั่วโมงโดยไม่มีการเตรียมตัว คุณอุดมจะมีสมุดบันทึกเล่มหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวต่างๆที่เขาได้ประสบมาซึ่งเขาจะพกไปในทุกๆ ที่ที่เขาไป สมุดบันทึกเล่มนี้จะมีทั้งความคิด ความรู้สึก รูปภาพ และสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ที่สามารถสอด แทรก แปะติด ในสมุดเล่มนี้ได้ จากที่เพื่อนๆ หลายๆคนอาจเคยอ่านสมุดบันทึกของเขา ในหนังสือ Note Book ของเขามาบ้างแล้ว
            ในการพูดในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการพูดกับคนเฉพาะกลุ่ม หรือออกแสดง ทอล์กโชว์ในต่างจังหวัด เขาก็ต้องเข้าไปทำความรู้จัก คลุกคลีกับคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อจะได้รู้ว่าเขากำลังสนใจอะไรกัน และมีสถานที่หรืออะไรก็ตามที่คนในท้องถิ่นนั้นๆรู้จัก ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเขามาเดี่ยวไมค์ฯ ที่เชียงใหม่ เขาก็จะมีการยกตัวอย่างร้านค้าต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในหมู่นักศึกษา เช่น ร้านโบ๊ต เย็นตาโฟศรีพิงค์ ร้านก๋วยเตี๋ยวลุงว้าก ฯลฯ ซึ่งเป็นมุขท้องถิ่นที่หากนำไปใช้ในการเดี่ยวที่กรุงเทพก็คงจะไม่ขำเท่า
            ประการที่สอง คือฝึกการ ในการเดี่ยวแต่ละครั้ง คุณอุดมจะต้องเตรียมตัวเป็นเดือนๆ คิดบทพูด เขียน นำไปเล่าให้เพื่อนๆและคนรอบข้างฟัง ถ้ามุขไหนไม่ขำ ก็ตัดทิ้งไม่ดันทุรังเล่น กว่าจะมาเป็นบทที่สมบูรณ์ได้นั้นเขาจะต้อง เปิดแสดงทอล์กโชว์ย่อยตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อให้คนดูเหล่านั้น เป็นผู้ช่วยในการกลั่นกรอง และแสดความคิดเห็นผ่านปฏิกิริยาต่างๆ ที่แสดงออกมาหลังจากที่ได้รับฟัง
            การที่เขาออกแสดงโชว์ย่อยเหล่านี้บ่อยๆ ก็ทำให้มีกำลังใจ และความมั่นแถมยังเป็นการฝึกซ้อมไปด้วยในตัว ซึ่งวิธีการนี้เพื่อนๆบางคนอาจได้นำไปใช้แล้ว คือก่อนที่จะมาพูดหน้าห้องในชั่วโมงเรียน เราก็อาจซ้อมพูดกับตัวเองหน้ากระจก เล่าให้เพื่อนคนอื่นฟัง เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องที่พูดน่าสนใจหรือไม่ ควรจะแก้ไขปรับปรุงตรงไหน และยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจอีกด้วย
            เมื่อพูดถึงเรื่องของความมั่นใจแล้วถือได้ว่าความมั่นใจก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักพูดต้องมี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมั่นใจเสียจนไม่มีความตื่นเต้นเอาเสียเลย ในการเอาชนะเต้นที่เกิดขึ้นกับเรานั้น ผมเชื่อว่านักพูดแต่ละคนก็มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคุณอุดมนั้นมีวิธีที่ออกจะแปลกอยู่หน่อยหนึ่งนั่นก็คือ ก่อนที่เขาจะเดี่ยวไมค์แต่ละรอบ เขาจะต้องหาเสื้อยืดคอกลมสีขาว(แบบเสื้อตราห่านนั่นแหละครับ) กับกางเกงในสีขาวใหม่เอี่ยมแกะห่อเลยทีเดียว คุณโน้ตแกให้สัมภาษณ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง(ไม่แน่ใจว่าเล่มไหนแต่คิดว่าเป็นนิตยสารแพรว)ว่าถ้าไม่ได้ใส่เสื้อใหม่กางเกงใหม่มันพูดไม่ออก เล่นไม่ได้อึดอัดต้องรีบหามาให้ได้ แล้วเขาก็ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกรอบที่ขึ้นพูดด้วย อย่างล่าสุดเดี่ยวฯ 4 แสดงในกรุงเทพ 12 รอบ คุณโน้ตก็ได้เสื้อยืดสีขาวและกางเกงในใหม่เอี่ยม 1 โหลกลับบ้านทำให้ไม่ต้องซื้อกางเกงในใหม่ไปอีกนาน
            อีกประการหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณโน้ตนั่นก็คือการที่มองเรื่องที่ธรรมดาๆ คนมองข้ามไปหรือบางครั้งก็ไม่ได้คิดอะไรมาก มานำเสนอให้น่าสนใจและโดนใจ!ผู้ฟัง แต่โดยความคิดเห็นของผมแล้ววิธีคิดและมองแบบนี้ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้ เพียงแต่ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักมองให้ต่างมุม คิดหลายๆมุม คิดในทุกๆสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วนำมาเสนอในแบบของตัวเองมันก็น่าสนใจทั้งนั้นแหละครับ
            อ้อ แล้วที่จะลืมเสียมิได้เกี่ยวกับการพูดของเขานั่นก็คือ การนำเอาท่าทางประกอบและน้ำเสียงที่ไปตามเรื่องที่จะพูด เป็นการดึงดูดความสนใจให้ผู้ชมกว่าพันคนในการเดี่ยวแต่ละครั้ง การที่คุณโน้ตเองนั้นเป็นนักแสดงด้วยทำให้เขาได้เปรียบนักพูดอื่นๆ ในวงการค่อนข้างมาก เพราะเขาจะคุ้นเคยกับการแสดงอยู่แล้วเพียงแค่ปรับโน่นนิด นี่หน่อยก็เอามาใช้ประกอบการพูด เป็นผงชูรสไปได้เป็นอย่างดี
            ผงชูรสในการพูดอีกอย่าง คือ การใช้อุปกรณ์ประกอบการพูด ในการเดี่ยวนั้น คุณโน้ตไม่ได้นำเอาเฉพาะไมค์ และร่างกายขึ้นเวทีแต่เพียงอย่างเดียว (มันง่ายไป) แต่เขาจะมีอุปกรณ์ประกอบด้วยไม่ว่าจะเป็นแสง สี เสียง รวมไปถึงการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมไปด้วย ทำให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อเพราะถ้าให้เราไปนั่งฟังใครสักคนพูดติดต่อกันไม่มีการหยุดเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหรือกว่านั่นคงจะไม่ไหวแน่ การพูดนั้นถ้าหากเราเปรียบกับอาหาร การพูดที่ดีก็เหมือนกับอาหารที่ผู้พูดนั้นตั้งใจปรุงจากใจ เป็นการกลั่นกรองประสบการณ์และการฝึกฝนอย่างชำนาญของผู้ปรุงที่ชำนาญจนออกมาเป็นอาหารที่มีอร่อย กลมกล่อม มีคุณค่า และประทับใจผู้รับประทาน แต่ถ้าผู้ปรุงขาดประสบการณ์ ไม่เคยทำอาหาร ถึงแม้จะใช้ตำราเล่มเดียวกันทำออกมาจากใจเหมือนกัน แต่รสชาติและหน้าตาที่ออกมาก็คงจะไม่อร่อยเท่า
            และถ้าจะเปรียบการพูดสักครั้งหนึ่งเป็นอาหารหนึ่งจาน การพูดที่มีแต่ความบันเทิงไม่สอดแทรกสาระอะไรไว้เลยก็คงจะเปรียบได้กับ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ง่ายไม่อร่อยนักแต่ก็กินได้ แต่ไม่มีคุณค่า กินเสร็จก็ลืม แต่ถ้าหากการพูดในครั้งนั้นมีแต่สาระล้วนๆ ก็คงจะเหมือนกับอาหารที่ขาดการปรุงแต่งรสชาติ กินยาก และถ้าไม่โดนบังคับก็คงไม่กิน ดังนั้นการพูดที่ดีก็ควรทำให้เป็นอาหารที่ปรุงอย่างพิถีพิถัน ปรุงด้วยความตั้งใจ ใส่แต่สิ่งดีๆ และไม่ลืมที่จะปรุงให้ถูกปากของผู้ที่บริโภคเข้าไป และจะเป็นอาหารจานที่จะประทับไว้ในดวงใจของผู้ทานอย่างยากที่จะลืมเลือน ขอบคุณครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘