วิชาการพูด 15

บันได เจ็ดขั้นกับความสำเร็จของการพูด
เราทุกคนเกิดมาพร้อมด้วยเสียงที่มีลักษณะที่คล้ายกัน    เป็นเสียงร้องที่ไร้ซึ่งความหมายที่ใครอีกหลายคนไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่แฝงและซ่อนเร้นอยู่ในเสียงนั้น  หากแต่เมื่อเราเติบโตขึ้น เป็นธรรมดาที่มนุษย์ย่อมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามธรรมชาติ วัยวุฒิ   และสภาพสังคม จากเสียงที่ไร้ความหมายกลับกลายเป็นเสียงที่สามารถสื่ออะไรได้หลาย ๆ อย่างและสามารถทำให้มนุษย์คนนั้นอยู่ในสังคมได้ ใช่ครับ กระผมกำลังจะบอกว่าสิ่งที่สามารถทำให้เราเข้าถึงจุดมุ่งหมายและสามารถเข้าถึงปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้นั้นเราต้องอาศัยการพูดเป็นสำคัญ
    กระผมเชื่อว่า เราหลายคนต่างเคยพูดให้ใครต่อใครฟังมาแล้วมากมาย     แต่มีเพียงไม่กี่คนหรอกครับที่จะสามารถพูดแล้วมีคนนิยมชมชอบ พูดแล้วมีคนศรัทธา   และพูดแล้วมีคนประทับใจ แต่เราสามารถที่จะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนนั้นได้หากแต่เพียงเราสามารถที่จะทราบถึงหลักการพูดและทดลองเอาหลักนั้นไปใช้กับตนเอง
    หลักง่าย ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้นั้น นิพนธ์ ศศิธร ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ บันไดตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นฐานรองรับฉันใด การพูดจะก้าวหน้าไปด้วยดีไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นฐานการเตรียมตัวที่มั่นคงฉันนั้น ” นี่เป็นประโยคสั้น ๆ ที่แฝงด้วยความหมายที่ลึกซึ้งและถูกต้องตามความจริงที่ว่า หากเราจะเป็นนักพูดที่ดีได้นั้นพื้นฐานการพูดในแต่ละครั้งถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะพาเราประสบความสำเร็จ
    ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มก้าวสู่บันไดขั้นที่ หนึ่ง     เราควรที่จะปูพื้นฐานให้มั่นคงเสียก่อนและฐานความมั่นคงนั้นก็คือ   พื้นฐานการเตรียมการพูด   ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ    นั่นก็คือ
    ส่วนแรก คือ ส่วนของผู้ฟัง…  เป็นที่แน่นอนว่าผู้ฟังถือว่ามีส่วนที่สำคัญสำหรับการพูดในแต่ละครั้ง การพูดต้องพูดให้คนฟัง คงไม่มีใครหรอกนะครับที่พูดให้ควายฟังหรือพูดกับลม ดังนั้นเมื่อมีคนฟัง ก็ต้องพิจารณาเกี่ยวกับตัวผู้ฟังโดย
       
ดูอายุ คู่กับเพศ            ดูขอบเขต การศึกษา
ดูอาชีพ    ดูวิชา                         ดูทีท่า ในเรื่องราว
ดูจำนวน มีมากน้อย        จงค่อยค่อย ดูคร่าวคร่าว
ให้เหมาะสม กับเรื่องราว        ที่จะเล่าให้เขาฟัง
    ส่วนที่สอง คือ ส่วนของสถานที่ โอกาส และเวลาสำหรับการพูด…  คงเป็นไปไม่ได้นะครับ หากเราจะพูดโดยที่เราไม่รู้ว่าการพูดนั้นเป็นการพูดเนื่องในโอกาสอะไร ? ณ สถานที่ใด ? มีรายการอื่น ๆ มาประกอบอีกหรือไม่ ? และที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ ไม่รู้ว่าเวลาที่ต้องพูดนานเท่าใด ?   ดังนั้นเราจะต้อง
ทราบโอกาส      ทราบสถานที่      ทราบประเพณี     ที่มีค่า
ทราบเรื่องราว    ทราบเวลา         และทราบว่า         พูดเมื่อใด
   
    ส่วนที่สาม คือ ส่วนของการกำหนดจุดมุ่งหมายของการพูดให้แน่นอน… ในการพูดแต่ละครั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดความมุ่งหมาย  ว่าต้องการจะให้ข่าวสารหรือรายละเอียด ข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น หรือต้องการให้ความบันเทิงความสนุกสนาน รวมไปถึงมุ่งหมายที่จะชักจูงให้ผู้ฟังเห็นพ้อง และเกิดความประทับใจหรือกระทำตาม
    เมื่อเราได้ยืนอยู่บนฐานบันไดอย่างมั่นคงแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าเราจะต้องรู้แนวทางที่จะก้าวต่อไป และต่อไปนี้กระผมจะพาทุกคน เริ่ม  “ ไต่เต้า ”  ไปตามบันไดขั้นต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การเป็นนักพูดที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
       
บันไดนั้นมีอยู่ถึงเจ็ดขั้น        หากขยันตั้งใจไม่เกินฝัน
จงก้าวตามขึ้นมาอย่างเร็วพลัน        เพื่อผลอันเป็นประโยชน์เกิดกับตน
ขั้นที่หนึ่ง รวมเนื้อหาที่จะพูด    ขั้นที่สองจัดเรื่องพูดให้เกิดผล
ขั้นที่สามขยายความตามไกกล        ขั้นที่สี่มีบันดลถึงบทนำ
ขั้นที่ห้า การเตรียมบทปิดท้าย    ขั้นที่หก ซ้อมให้หายความถลำ
ขั้นที่เจ็ด แสดงการพูดอย่างผู้นำ        หากได้ทำความสำเร็จเกิดแน่นอน
   
บันไดขั้นที่หนึ่ง  รวมเนื้อหาที่จะพูด นั่นก็คือ   การรวบรวมเนื้อหาที่เราจะพูด โดยการคิดก่อนว่า ในเรื่องที่จะพูดนั้นมีอะไรบ้างที่เราทราบ   และมีเรื่องไหนที่เรายังไม่ทราบ      เพื่อที่จะได้สามารถค้นคว้าหาข้อมูลต่อไป
    นอกจากนี้อาจจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตการณ์   คือต้องสามารถแยกหาข้อดีข้อเด่นของสิ่งที่เราได้สังเกตนั้นออกมาให้ได้ ไม่เพียงแค่เท่านี้ การรวบรวมเนื้อหาจากการติดต่อกับคนอื่นก็เป็นสิ่งที่ดี อาจจะเป็นในรูปของการสนทนา การสัมภาษณ์ หรือการติดต่อทางจดหมาย และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยหากเราต้องการเนื้อหาที่มาก   นักพูดที่ดีต้องเป็นนักอ่านที่ดีด้วย   คือ ต้องอ่านให้มากและเจาะลึกในส่วนของเนื้อหาที่ตนจะพูดในแต่ละครั้ง
    บันไดขั้นที่สอง  จัดเรื่องพูดให้เกิดผล นั่นก็คือ    การจัดระเบียบเรื่อง ซึ่งสามารถทำได้โดยการเขียนโครงเรื่อง  เพื่อที่จะสามารถเป็นหลักในการพูดได้อย่างแม่นยำ    นอกจากนั้นยังสามารถที่จะแทรกเนื้อหาที่เราคิดว่าเหมาะสมเข้าไปได้อีกด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้การจัดระเบียบเรื่องบังเกิดผลดีได้ นั่นก็คือ การเรียงตามลำดับใจความสำคัญ เช่น เรียงตามลำดับ  เรียงตามลำดับสถานที่ เรียงตามลำดับเรื่อง เรียงแบบเสนอแนวทางแก้ไข เรียงแบบแสดงเหตุและผล เรียงแบบเสนอเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งแบบต่าง ๆ นี้สามารถที่จะเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งหรือ หลาย ๆ แบบผสมกันไปก็ได้
    บันไดขั้นที่สาม  ขยายความตามกลไก นั่นก็คือ การหาข้อความอื่น ๆ มาประกอบหรือขยายความออกไป ซึ่งเราสามารถที่จะใช้แบบของการขยายความได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการยกอุทาหรณ์หรือตัวอย่าง, การใช้สถิติ, การเปรียบเทียบหรืออุปมา, การอ้างอิงคำพูดหรือคำกล่าวของผู้อื่น ที่มีน้ำหนักในเรื่องนั้น ๆ  การกล่าวซ้ำหรือย้ำโดยเปลี่ยนวิธีพูดใหม่    การอธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่าง, และการใช้เหตุผลก็ได้   แต่หากต้องการที่จะเพิ่มความสนใจ  และดึงดูดให้คนฟัง  ติดตามผลการพูดของเรามากขึ้นนั้น การใช้ทัศนูปกรณ์ประกอบก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมายเลยทีเดียว
    บันไดขั้นที่สี่  มีบันดลถึงบทนำ นั่นก็คือ การเตรียมอารัมภบทหรือบทนำ   ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนที่สามารถเรียกร้องให้เกิดความสนใจ และทำให้ผู้ฟังอยากติดตามมากที่สุด โดยอาจจะเป็นการ เน้นถึงความสำคัญของเรื่องที่พูด, ใช้เรื่องหรือคำพูดที่ขำขัน    ในส่วนนี้นั้นอย่าให้ผู้ฟังมองว่าผู้พูดเป็นตัวตลกมากเกินไป, ยกอุทาหรณ์ที่ตรงกับเรื่อง, เริ่มต้นด้วยข้อความหรือคำพูดที่ก่อให้เกิดความตื่นเต้น ซึ้งใจ ไพเราะ, เริ่มต้นด้วยการตั้งปัญหาที่เร้าใจ, เริ่มโดยการกล่าวถึงโอกาสหรือความมุ่งหมายที่มาชุมนุมกัน หรืออาจจะเป็นการสรรเสริญยกย่องผู้ฟัง
    แต่การอารัมภบทหรือบทนำนั้นสิ่งที่ผู้พูดไม่ควรทำนั่นก็คือ
    “ ออกตัวว่าไม่พร้อม  ออกนอกเรื่องที่รู้  ดูแคลนกลุ่มคนดู  ไม่รู้และวกวน “
    บันไดขั้นที่ห้า  การเตรียมบทปิดท้าย นั่นก็คือ การเตรียมบทสรุป   เพื่อที่จะย้ำใหม่ให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจน อย่างย่อ ๆ โดยอาจจะกล่าวถึงข้อใหญ่ ใจความของเรื่องทั้งหมด   อาจจะเป็นการเรียงลำดับหัวข้อความคิดที่กล่าวมาแล้ว, การอธิบายทบทวน, หรืออาจจะเป็นการยกเอาสุภาษิต คำคมมาเป็นส่วนสรุปก็ได้
    สำหรับข้อที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับการสรุปนั่นก็คือ
         “ ขอโทษว่าทำไม่ดี  วันนี้เตรียมตัวไม่พอ  นอกเรื่องเยิ่นเย้อเกิดก่อ  ไม่พอแนะแนวคิดใหม่ “
    บันไดขั้นที่หก  ซ้อมให้หายถลำ นั่นก็คือ การซักซ้อมการพูด บันไดขั้นนี้มีความสำคัญมากเพราะ หากเราได้ก้าวมาถึงห้าขั้นแล้ว แต่ขาดการซักซ้อมเราก็จะไม่สามารถที่จะไปให้ถึงบันไดขั้นสุดท้ายได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความไม่ประหม่า จำเนื้อเรื่องได้แม่นและมีท่าทางอย่างธรรมชาติ เราก็ต้องมีการซ้อมเป็นอย่างดี โดยต้องรู้ว่า จะซ้อมที่ไหน ? ซ้อมเมื่อไหร่ ? ซ้อมอย่างไร ? ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในเรื่องของ การกำหนดการพูด, น้ำเสียง,  ท่วงท่า,  และการปรับปรุงถ้อยคำให้สละสลวย
    บันไดขั้นที่เจ็ด  แสดงการพูดอย่างผู้นำ นั่นก็คือ การแสดงการพูด ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดที่เราทุกคนต่างใฝ่ฝันให้มาถึงบันไดขั้นนี้ให้ได้ เมื่อเราสามารถที่จะมาถึงบันไดขั้นนี้แล้ว    เราก็ควรใช้บันไดขั้นนี้ แสดงความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อพูดก็ควรพูดด้วยความมั่นใจ ทุกจังหวะ ทุกลีลา ต้องเชื่อมั่น และแสดงสิ่งที่ตนได้ซักซ้อมและเตรียมตัวมาอย่างดีที่สุด
   
“ พูดเกิดภาพพจน์  จำจดแจ่มแจ้ง  เชื่อมั่นไม่ระแวง  แสดงจากใจ  สุภาพอ่อนโยน  โอนอ่อนเรื่อยไป  ให้คนวางใจ  ในท่วงท่าทาง  หน้าตาผ่อนคลาย  ไม่หม่นหมองหมาง  เคลื่อนไหวถูกทาง  กระจ่างผู้ฟัง  มีมารยาท  ตลกบางครั้ง  อย่าบ่อยพลาดพลั้ง  ตั้งความหวังแก่ตน “
    ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งหาก เราได้ก้าวไปยืนต่อหน้าคนหลายคน เพื่อพูดให้พวกเขาได้ฟัง
    ถึงตอนนี้   เราก็ได้ก้าวขึ้นมาถึงบันไดขั้นที่เจ็ดแล้วนะครับ แต่นี่เป็นเพียงในภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่กระผมเชื่อว่าหากเราทุกคนสามารถที่จะนำเอาหลัก    ของบันไดทั้งเจ็ดขั้นไปปฏิบัติใช้ เมื่อเรามีโอกาสได้พูด   เมื่อนั้นเราทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่นำธงแห่งชัยชนะและความสำเร็จไปปักไว้ บนบันไดขั้นสุดท้าย   เหมือนอย่างที่ นิล อาร์ม สตรอง ได้นำเอาธงชาติของสหรัฐอเมริกาไปปักไว้บนดวงจันทร์ แน่นอนครับ….

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘