วิชาการพูด 13

นักพูดที่ประทับใจ

    นักพูดที่ดิฉันประทับใจ และชื่นชม คือ อาจารย์ จตุพล ชมภูนิช นักพูดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทย  เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน  ดิฉันได้เริ่มรู้จักอาจารย์ผ่านทางโทรทัศน์ในรายการหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แน่ชัดว่าชื่อรายการอะไร แต่ยังพอนึกออกว่าลักษณะการพูดวันนั้น เป็นรูปแบของการแซววาที แม้จะได้ดูเป็นครั้งแรกก็รู้สึกชื่นชม เพราะอาจารย์พูดได้ดีมาก คืออาจารย์เตรียมเนื้อหาการพูดมาโดยเชื่อมโยง โต้ตอบกับนักพูดคนอื่นๆได้อย่างสนุกสนาน
และแล้วเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยินข่าวว่าอาจารย์ จตุพล จะมาพูด ฮาลอยตัว จึงตัดสินใจไปดู เมื่อได้เห็นลีลาการพูดตัวจริงยิ่งชื่นชมมากขึ้นไปอีก ยังจำได้ว่าวันนั้นคนนับร้อยที่ไปดู ต่างก็ได้รับความสนุกสนานและเพลิดเพลินกับการฟังมาก ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการคลายเครียดที่ดีทีเดียว เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผู้คนทั่วไปต่างก็เครียดกับค่าเงินบาทลอยตัว และแม้ว่าดิฉันเองจะไม่ได้เครียดกับเรื่องนี้สักเท่าไร แต่ประจวบเหมาะว่าเป็นช่วงเคร่งเครียดกับการสอบแต่เมื่อไปฟังแล้วรู้สึกไม่ผิดหวังเลยจริงๆ เพราะได้รับความบันเทิงเต็มที่ แต่นอกเหนือจากนั้น ดิฉันยังได้แง่คิดอะไรหลายๆอย่างจากเรื่องที่อาจารย์นํามาพูดให้ฟัง
และแล้วความชื่นชมก็ทวียิ่งๆขึ้นไปอีกเมื่อได้รู้ว่า อาจารย์ จตุพล นั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่พรสวรรค์ในการพูดเพียงอย่างเดียว อาจารย์ยังมีพรแสวงประกอบด้วย ซึ่งพรข้อนี้เป็นผลผลิตอันเนื่องมาจาก ความขยัน ความพากเพียรพยายาม และความอดทน
    เพราะเหตูจากความชื่นชมในตัวผลงาน และตัวบุคคลทำให้ดิฉันพยายามติดตามรายการต่างๆที่อาจารย์ขึ้นไปแสดงความสามารถในด้านการพูดเสมอ พอนานเข้าก็เริ่มซื้อหนังสื่อที่เป็นงานเขียนของอาจารย์ แม้จะไม่ได้ติดตามทุกเล่ม(เพราะเงินในกระเป๋าไม่เป็นใจ) แต่เมื่อมีโอกาสก็พยายามหาหยิบยืมจากที่ต่างๆมาอ่านเสมอ และหนังสือเล่มหนึ่งที่ดิฉันเฝ้าอดออมค่าขนมจนได้มาเป็นสิทธิ์ส่วนตัวก็คือ  ไม่แน่นอนนั่นแหละแน่นอน       และหนังสือเล่มนี้เองที่ทำให้ดิฉันเริ่มสังเกตเห็นเอกลักษณ์บางอย่างของอาจารย์จตุพล นั่นก็คือ  อารมณ์ขันที่มีอยู่ในตัวอาจารย์ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่สามารถดึงดูคนฟังได้ เพราะคงไม่มีผู้ฟังคนไหนชอบฟังเนื้อหาที่เต็มตื้น และอัดแน่ไปด้วยสาระอยู่ตลอดเวลา คนเรามันก็ต้องมีการผ่อนคลายกันบ้าง หากพูดเอาแต่เนื้อหาอย่างเดียวเหมือนสารานุกรมดิ้นได้ เพียงแค่ไม่กี่นาที่คงได้เห็นคนฟังนั่งตาเชื่อม น้ำลายยืดไปตามๆกัน
หากจะดูลักษณะการพูดของอาจารย์จตุพลนั้น นับว่ามีอยู่เยอะชนิดที่อภิมหาตลกสุดๆเรียก พี่ เลยทีเดียวซึ่งนับเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าสังเกตก็จะเห็นว่า อาจารย์มักเอาเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดมามองจุดเด่นจุดด้อยที่คนนึกไม่ถึงเป็นสิ่งที่มองข้าม หรือไม่ก็ถูกลืม มาปรุงแต่งให้มันฟังดูสนุกสนาน มีกระทบกระเทียบ เจ็บๆ คันๆ มันในอารมณ์ ได้สอดคล้องกับเนื้อหาอย่างเหมาะเจาะจริงๆ และส่วนสำคัญที่เลียนแบบได้ยากคือ อาจารย์เป็นตลกหน้าตายที่น้อยคนนักจะทำได้ คือสามารถพูดมุขตลกโดยแสดงสีหน้าเฉยๆหรือไม่ก็ทำหน้าเป๋อๆ เหวอๆ ไปเลย ซึ่งมันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของนักพูดชื่อดังคนนี้ และดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฟังจดจำได้ดียิ่ง เพราะแม้แต่ดิฉันเอง เพียงแค่อ่านงานเขียนของอาจารย์ ก็รู้สึกเหมือนว่ามีรูปเหมือนของอาจารย์ นูนออกมาจากในหนังสือมายืนพูดให้ฟัง จึงนับว่าหนังสือ  ไม่แน่นอน นั่นแหละแน่นอน  ของ อาจารย์ จตุพล ชิ้นนี้ แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์เลยก็ว่าได้
อย่างในงานเขียนชิ้นนี้ อาจารย์ จตุพล ก็มีวิธีเด็ดๆที่นำมาใส่สีสันให้เกิดรสชาแปลกใหม่อยู่หลายจุด ดังเช่นในตอน สักวันคนนั้นอาจเป็นเรา ซึ่งตอนท้ายของบทนี้ อาจารย์ได้ให้แง่คิด เตือนพวกนักเที่ยวว่า
            คงไม่มีสถานบริการที่ไหน ติดป้ายบอกไว้ว่า
            ลำดวน  ปลอดเอดส์แต่เป็นโกโนเรีย  500  บาท  แถมสบู่และยาสีฟัน
            ลำยอง  ติดนานพอสมควร มีอาการ  100  บาท  แถมดอกลั่นทม เอาไว้อมกับระกำ
            ลำไย  ระยะสุดท้าย  ขึ้นห้องฟรีแถมดอกไม้จันทน์
นอกจากนี้เรายังสังเกตได้อีกว่า การใส่อารมณ์ขันของอาจารย์นั้น มีอยู่หลายรูปแบบ นอกจากจะเหน็บๆ เตือนๆ ดังตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีการใช้สำนวนหรือประโยคที่คนทั่วไปรู้จักกันดีมาดัดแปลงให้เกิดความสนุกด้วย เช่น
            เอดส์ตายไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้ โดยการไม่ใช้ถุงยางอนามัยร่วมกัน
    หรือแม้แต่การแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองขึ้นมาเอง โดยให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่พูด เช่น
            ใดใดในโลกล้วน                     อนิจจัง
            สภาวันนี้ยัง                              ยุบได้
            พรุ่งนี้มีตังค์                              เลือกตั้ง ดีแฮ
            วันทาประชาไว้                        เพื่อได้ คะแนนเสียง   
(นอกจากจะเหน็บให้เจ็บๆ คันๆแล้วยังถูกสัมผัสอีกด้วย)
    นอกจากอารมณ์ขันที่ชวนให้ผู้ฟังสนุกสนานแล้ว เนื้อหาก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังสนใจ ซึ่งข้อนี้อาจารย์มักจะมีแนวการพูดที่พอจะสังเกตได้ก็คือ เนื้อหาจะเป็นเรื่องที่ทันสมัย ไวต่อเหตุการณ์ เท่าที่ดิฉันติดตามผลงานการพูดหรือแม้แต่งานเขียนก็ยังไม่เคยเห็นอาจารย์ยกเรื่องสมัยอดีตแต่โบราณกาลเช่นสมัยสุโขทัย อยุธยาหรือแม้แต่ต้นกรุงรัตโกสินทร์มาพูดเลย หรือหากเรื่องที่นำมาพูดจะเป็นผลผลิตอันสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษแต่โบราณกาล เช่น เรื่องที่มีเนื้อหาทางวรรณคดี อาจารย์ก็ยังสามารถนำเนื้อหามาประยุกต์ให้เข้ากับยุกต์สมัยนี้ได้เป็นอย่างดี คือมุ่งจับเอาเฉพาะประเด็นที่นำมาใช้ในชีวิตปัจจุบันได้ เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็จะได้รับเนื้อหาที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเนื้อหาที่เป็นประวัติศาสตร์ ไว้จำประดับความรู้เท่านั้น
ลักษณะอีกประการของเนื้อหาที่มักนำมาพูดหรือแม้แต่ถ่ายทอดออกมาในงานเขียนนั้นก็มักเป็นเนื้หาที่มีแนวคิด มุมมองใหม่ๆที่คนอื่นคาดไม่ถึงอยู่เสมอ เช่นในตอน ดัชนีชี้ชีวิต อาจารย์ได้กล่าวเปรียบเทียบลักษณะของคนกับหุ้นว่า
การจะเลือกคบใครเป็นแฟนนั้นเราควรดูให้ดีก่อน คือควรดูปัจจัยพื้นฐานประกอบ ถ้าเขาเป็นหุ้นประเภทบลูชิพ มีผลการประกอบการดี ตระกูลดี อย่างนี้น่าคบ คือต้องคบยาวนานประเภท รักจริงหวังแต่ง แต่ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดี มีคนลากขึ้นลากลงเพื่อตบตานักลงทุนด้วยกันบ่อยๆ อย่างนี้ไม่ควรคบนาน ขอให้ตัดสินใจเล่นแบบ ติดชิ่ง คือเข้าเร็วออกเร็ว เล่นแบบหวังเก็งกำไร ชักช้าอาจถูกจับแต่งได้ คิดแล้วไม้คุ้ม
ตัวอย่างนี้หากดูเผินๆอาจมองว่าเป็เนื้อหาที่ให้อารมณ์ขันซึ่งก้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่ยิ่งกว่านั้นหากมองดีๆจะเห็นว่า อาจารย์กำลังสอนเราในการคบคน ไม่ใช่สอนให้เลือกคบเพราะผลประโยชน์ แต่สอนให้รู้จักเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตนเอง และเมื่อได้คนที่คิดว่าเหมาะสมแล้ว ก็ควรรักษาไว้ให้ดี คือต้องจริงใจ จริงจัง กับคนที่เลือกเพียงคนเดียว แต่หากมองแล้วว่าคนที่เราเข้าไปคลุกคลี ไม่ใช่คนในแบบที่เราต้องการ หรือไม่เหมาะสมกับเรา ก็ต้องรู้จักปลีกตัวออกห่างด้วยลีลาที่สวยงามเช่นกัน
ส่วนที่จะสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังได้อีกอย่างก็คือ บทสรุปหรือบทปิดท้ายที่ให้แง่คิดสะกิดใจ เพราะการจบแบบห้วนๆ สั้นๆ นอกจากจะทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านตั้งตัวไม่ทันว่า จบแล้วเหรอเนี่ย แล้วยังไม่ช่วยในการลำดับความคิดของผู้รับสารด้วย คือเวลาที่เราพูดหรือเขียนอะไรไปนั้นบางทีระยะเวลาในการพูดของเรายาวนาน และมีหัวข้อย่อยๆมากมาย คนรับข้อมูลอาจลำดับความคิดไม่ทันหรือไม่ก็ลืมเนื้อหาในช่วงแรกไปแล้ว บทสรุปจึงมีความสำคัญมากอย่างหนึ่งเหมือนกัน
สำหรับกรณีของอาจารย์จตุพล ก็เช่นกัน ทุกครั้งที่ถ่ายทอดข้อมูลออกมาจะไม่เคยจบแบบห้วนๆ จะมีการปิดท้ายอย่างสวยงามเสมอ ถ้าเปรียบกับนักบินคงเทียบได้ว่า มีการบังคับเรื่องลงอย่างสุขุมนุ่มลึก คือ จะมีการฝากข้อคิดหรือบางทีก็จะเป็นการเตือนใจให้ผู้รับสารด้วย โดยภาษาที่ใช้นั้นจะเป็นคำง่ายๆเป็นกันเอง แต่ฟังแล้วให้ความรู้สึกดี คือไม่ยัดเยียดสาระให้ผู้ฟังจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ไร้สาระ เช่นในตอน แด่แม่ที่แท้จริง อาจารย์ได้เขียนไว้ว่า
        ความโชคดีสูงสุดของมนุษย์คนหนึ่งเท่าที่จะมีได้นั้นที่แท้แล้ว มิใช่อยู่ที่การได้ลาภก้อนมหึมามีแก้วแหวนเงินทองกองเท่าภูเขาเลากา แต่ทว่าอยู่ที่เกิดมาแล้วมีพ่อที่เมตตาเราอย่างแน่แท้ และมีแม่ที่เป็นผู้ให้อย่างไม่หวังผลตอบแทน มนุษย์คนหนึ่งจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้เล่า
        ถ้าแม้ว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด หาได้มีจิตสำนึกระลึกถึง ความโชคดีของตนเองได้แล้วไซร้ สักวันหนึ่งบุคคลผู้นั้นจะกลับกลายเป็นบุคคลผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบโชคเท่านั้นเอง แล้วเขาจะตระหนักว่าเวลาที่ผ่านไปนำไปแลกแม่กลับมาไม่ได้เลย  (เป็นบทลงท้ายที่ดิฉันประทับใจมาก)
    ตั้งแต่บทขึ้นต้นจนจบ ดิฉันประทับใจการพูดของอาจารย์ จตุพล ทุกาขั้นตอน เพราะผลงานของอาจารย์ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือการพูดในครั้งต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่าอาจารย์เป็นผู้ที่มีฝีมือด้านการพูดอย่างแท้จริง ทุกครั้งอาจารย์จะมีเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายทอดให้ผู้ฟังหรื่อผู้อ่านได้รับสาระและความบันเทิงไปพร้อมๆกัน
หากมีบุคคลใดที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักพูดหรือฝันเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในด้านการถ่ายทอดข้อมูล          ผู้อื่นรับรู้ เข้าใจและเพลิดเพลินได้ ดิฉันคิดว่า การมองอาจารย์ จตุพล ชมภูนิช เป็นแบบอย่าง จะได้ความรู้และเทคนิคต่างๆมากมาย และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการพูดครั้งนั้นๆได้อย่างแน่นอน.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘