วิชาการพูด 12

“พลังการพูด”
 “ด้วยมนุษย์พูดกันอยู่ทุกวันนี้
ไม่มีที่หยุดหน่วงเหมือนห้วงเหว
ไม่มีรสหมดเนื้อเหลือแต่เปลว
พูดเหลวเหลวมีมากไม่อยากฟัง”
พวกเรารู้ไหมว่าวันหนึ่ง เราพูดกันคนละกี่คำ นายเอลเมอร์ วิลเวอร์นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้บันทึกเป็นสถิติว่า โดยเฉลี่ย มนุษย์หนึ่งคนพูดคนละประมาณ 30,000 คำต่อวัน และคิดว่าสำหรับคนไทยคงมากกว่า 30,000 อย่างแน่นอนเพราะชอบเมาท์กันอยู่แล้วอย่างที่รู้ ๆ กันหรือไม่จริง และแน่นอนการพูดมากก็ย่อมมีการผิดพลาดมากเป็นธรรมดา
นอกจากนี้คำพูดยังเป็นสิ่งที่มีรสชาดที่เรียกว่า “รสน้ำคำ” ดังที่สุนทรภู่กล่าวไว้ ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
คำพูดที่ว่า “มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต” จึงมีความหมาย ว่าคำพูดมี “รสชาด” และเป็นอาหารของจิตใจ ที่ประสาทหูรับรู้ โดยไม่สามารถยับยั้งได้ และทันทีที่มันพุ่งเข้าสู่รูหูของผู้ฟัง มันจะแผ่อิทธิฤทธิ์อิทธิเดช ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างมิตรหรือก่อศัตรูก่อได้ การพูดโดยไม่ได้คิดหรือการพูดที่ผิดพลาดก็ไม่สามารถถอนคืนหรือลบทิ้งไปได้ ซึ่งนักการฑูตเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “จุดอ่อนแอของการพูด”
บุคคลสำคัญของโลก เช่น อัมราฮัมลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของวาทะที่ว่า “รัฐบาลนี้เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” อันเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จนกลายเป็นคำพูดอมตะที่กล่าวขวัญกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
ทำไมสุนทรพจน์ของลินคอล์นจึงเป็นที่จับอกจับใจ ลึกซึ้งแหลมคม ทั้ง ๆที่ท่านไม่ได้เป็นนักพูดมาตั้งแต่เกิด ทั้ง ๆที่ในอดีต เมื่อลินคอล์นเป็นทนายว่าความครั้งแรกมีอาการ ปาก ขาสั่นเหงื่อตกเป็นเม็ดๆ จนศาลสงสาร สั่งให้นั่งลง หลังจากนั้นท่านได้ฝึกฝนตนเองและประสบความสำเร็จในการพูดอย่างยอดเยี่ยม แสดงให้เห็นว่า เรานอกจากจะชื่นชมกับความสำเร็จเบื้องหน้าของ บุคคลอื่นแล้ว ยังต้องมองให้ลึกถึงความยากลำบากในเบื้องหลังด้วยว่า “กว่าจะลุกยืน ก็ต้องผ่านการล้ม กว่าจะคม ก็ต้องผ่านจากการทื่อ กว่าจะเก่ง ก็ต้องผ่านการฝึกปรือ กว่าจะลือชื่อ ก็ต้องผ่านความอดทน”
ฉะนั้นคำพูดที่เกิดจากการศึกษาวิธีพูด จากประสพการณ์ จากการฝึกฝน และจากการเตรียมตัวที่ดีจึงเป็นการพูดที่มีพลังแห่งการพูด ดั่งคำพูดของนักปราชญ์จีนโบราณที่ว่า “คำพูดสามารถย้ายภูเขาได้” พวกเราลองมาเพิ่มพลังคำพูดโดยใช้หลัก 6 ประการดังต่อไปนี้กันดีไหม
ประการที่หนึ่ง การใช้สรรพนาม “ ท่าน และ เรา ” แทนสรรพนามอื่น ๆทั้งหมด เพราะ “ท่าน และ เรา” สองคำนี้เป็นคำที่ทรงพลังที่สุดในทุกภาษา ใช้ผสมกันได้อย่างกลมกลืน ใช้ด้วยกันจะทรงพลังยิ่งกว่าใช้อย่างเดียว ตัวอย่าง
ลินคอล์นได้พูดไว้ที่สมรภูมิ เก็ตติ๊สเบอร์ก หลังจากพูดไม่ถึง 4 นาที มีผลทำให้สงครามกลางเมืองหยุดลงทันที ใจความของคำพูด ท่านใช้คำสรรพนามอย่างมีประสิทธิภาพ คือมีคำว่า “เรา” และ “ของเรา” 10 ครั้ง คำว่า “ท่าน , พวกท่าน , ของท่าน” 7 ครั้ง ส่วนคำว่า “ข้าพเจ้า” มีเพียงครั้งเดียว
ประการที่สอง คือ การใช้ถ้อยคำมนต์ขลังให้ผู้ฟังคล้อยตาม ซึ่งมีอยู่ 2 แบบคือ
1. แบบกำหนดคำพูดไปที่จุดเด่นของสิ่งที่ต้องการพูดถึง โดยไม่พูดถึงจุดด้อยของสิ่ง ๆ นั้น เช่น คำพูดที่ว่า “ท่านพูดไม่รู้เรื่อง” หากเปลี่ยนเป็น “เราฟังไม่เข้าใจ” จะกลายเป็นคำพูดที่รู้สึกดีและมีพลัง ถือเป็นการสะกดคนฟังได้มากกว่า
2. แบบให้มีทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการกำหนดช่องทางของคำตอบ ในลักษณะที่ผู้พูดต้องการ เช่น หนุ่มชวนสาวว่า “วันนี้เราไปทานข้าวกันดีไหม” ฟังแล้วเราเองยังรู้สึกว่าธรรมดา อาจไม่ได้ผล แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น “วันนี้เราจะไปทานสุกี้หน้ามอหรือหมูกะทะหลังมอกันดี” หนุ่มอาจได้คำตอบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ความหมายคือมีสาวไปนั่งทานด้วย
ประการที่สาม คือ การใช้น้ำเสียง การรู้จักใช้เสียงนั้นนอกจากจะเพิ่มเสน่ห์แก่ผู้พูดแล้ว ยังช่วยให้คำพูดมีพลังอีกด้วย เช่นคำว่า “ขอบคุณ” หากเราพูดด้วยน้ำเสียงแข็งก็เหมือนเป็นการกระแทกประชด หากกล่าวว่า “ขอบคุณ” ด้วย น้ำเสียงที่อ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ จะให้ความรู้สึกที่ดีและมักสะกดผู้ฟังได้เสมอ
ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญกว่า “คำพูด” ก็คือ วิธีที่เราใช้เสียง เพราะเสียงคือสื่อที่โฆษณาบุคลิกภาพของผู้พูดเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมพลังการพูด เรามาทำเสียงให้น่าประทับใจเวลาพูดกันดีกว่า
ประการที่สี่ คือ ใช้คำพูดสร้างมโนภาพให้กับผู้ฟัง โดยการพูดให้ผู้ฟังตามทัน เข้าใจง่ายคำพูดที่ทำให้คนฟังเกิดภาพ จะช่วยให้แนวคิดของผู้พูดพุ่งเข้าสู่จิตใจของคนฟังอย่างรวดเร็ว เช่น พูดว่า “กุ้งอบมาแล้วค่ะ” ฟังธรรมดาไป หากพูดใหม่ว่า “กุ้งอบซอสปรุงรสต้นตำหรับสด ๆร้อนๆจากเตามาแล้วค่ะ ” ฟังแล้วจะเกิดภาพมากกว่า
ประการที่ห้า คือ การกระตุ้นด้วยคำถาม เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการเพิ่มพลังการพูด เพราะ เป็นการขจัดปฏิกิริยาต่อต้านหรือความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยของผู้ฟัง ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ผู้ฟังกำลังพูดอยู่กับตัวเองและกำลังคิดตอบปัญหาด้วยตัวเอง หมายถึงการมีอารมณ์ร่วมในการฟังและคล้อยตามได้ ตัวอย่างเรื่องนี้ คือคำพูดของ แพตทริค เฮนรี่ สมาชิกรัฐเวอร์จิเนียร์เมืองขึ้นของอังกฤษสมัยนั้น เขาต่อสู้เพื่อให้รัฐเวอร์จิเนียมีอิสรภาพ ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภา เขาพูดว่า … “พี่น้องของเราต่างอยู่ในสนามรบ ทำไม ? เราจึงอยู่กันอย่างงอมืองอตีน… เราจะนอนคอยกันอย่างเกียจคร้านเช่นนี้หรือ…? ชีวิตอันเป็นที่หวงแหน มีเสรีภาพเป็นที่ชื่นใจไหม …? เมื่อจะต้องเป็นทาสของอังกฤษ ? อยู่ในฐานะเป็นทาสหรือสู้กับอังกฤษดี…? ” ในที่สุดสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยกับเขา รัฐเวอร์จิเนอร์จึงได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรภาพ
ประการที่หก การพูดแบบให้ฟังง่าย คือ ทำเรื่องยาก ๆ ให้ง่าย ๆ ใช้คำพูดง่ายๆธรรมดา พอได้ยินปุ๊บก็เข้าใจปั๊บ เช่น พูดว่า “ฉันโกรธแล้วนะ” กับพูดว่า “เธอเขย่าธรรมชาติอารมณ์ขุ่นมัวให้ฉันโมโห” ประโยคหลังฟังเข้าใจยากและบางครั้งกว่าคนฟังจะเข้าใจคนพูดก็หายโกรธไปพอดี
พลังหกประการข้างต้นรวมกับหลักการพูดที่เป็นสากลซึ่งพวกเรารู้ ๆ กันอยู่อย่างดีแล้วนั้นประกอบกำลังกัน ภายใต้การฝึกปรืออย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความตั้งใจให้เกิดประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าคำพูดวันละประมาณ 30,000 คำของพวกเรานั้น จะกลายเป็นคำพูดที่มีพลังอำนาจ แต่ จะมีพลังอำนาจขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกปรือวิทยายุทธ และการทำชั่วโมงบิน ทั้งนี้เพราะการพูดไม่ได้เป็นศาสตร์ ไม่ได้เป็นศิลป และไม่ได้เป็นทักษะ แต่การพูดเป็นทั้งสามอย่างรวมกัน สมดั่งคำกลอนที่ว่า
“ศิลปะทั้งผองต้องฝึกหัด
ตามบรรทัดฐานเห็นเป็นปฐม
วาทศิลปเลิศล้ำคำนิยม
คมเหนือคมอาวุธใดในปฐพี
ครูอาจารย์การพูดพิสูจน์แล้ว
อันดวงแก้วแจ่มจำรัสรัศมี
ถึงแรกมัวสลัวผ้าเหมือนราคี
เช็ดขัดดีขึ้นมาจึงน่ายล”
สุดท้ายนี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปใช้ประโยชน์ให้คำพูดของท่านมีพลังเพิ่มมากขึ้น หากท่านใดประสบความสำเร็จจากการพูดอย่างมีพลังนี้แล้ว กรุณาแจ้งให้ทราบด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง ขอให้ทุกท่านจงโชคดี สวัสดีค่ะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘