วิชาการพูด 10

นักพูดที่ประทับใจ

    หากจะกล่าวถึงนักพูดที่ประทับใจ  ผมเชื่อว่าเพื่อนๆแต่ละคนก็คงจะมีนักพูดในดวงใจของเพื่อนๆเองอยู่แล้ว  เพื่อนๆบางคนอาจจะชอบลีลาการพูด  ตลกแบบมีสาระในแบบฉบับของอาจารย์  จตุพล  ชมภูนิช  หรือ  อาจารย์ อภิชาต  ดำดี  บางคนอาจจะชอบลีลาการพูดที่สะใจ  ใช้คำ “ โดนใจ ”  อย่างอาจารย์ สุนีย์  สินธุเดชะ  หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนาม  อาจารย์แม่ของเรานั่นเอง   หรือบางคนที่ชอบดูรายการ  Talk  Show  ก็คงจะมีหลายๆคนที่ติดใจลีลาการพูดของ คุณ อุดม  แต้พาณิชย์   ซึ่งก็แน่นอนว่า    การที่เพื่อนๆจะประทับใจนักพูดท่านใดนั้น  นั่นย่อมหมายความว่า  นักพูดท่านนั้น  มีลักษณะ   บุคลิก รวมถึงลีลาการพูดที่ตรงกับความต้องการและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆได้
    สำหรับผมก็เช่นกันครับ  ผมเองก็มีนักพูดที่ผมประทับใจอยู่ท่านหนึ่ง  นักพูดของผมท่านนี้นอกจากบทบาทการเป็นนักพูดที่มีคุณภาพแล้ว  ในอีกบทบาทชีวิตของท่าน       ท่านเป็นเหมือนเทียนที่ช่วยจุดความสว่างไสวแห่งปัญญาให้แก่เหล่านิสิตนักศึกษา    ท่านมีประสบการณ์ในแง่ของการบริหารหลายระดับ  ท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็น  คณบดี   อธิการบดี  และในปัจจุบัน  ท่านเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง   ด้วยชีวิต  55 ปีแห่งการเป็นอาจารย์  ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์  ความสามารถและคุณภาพ  จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า  เหตุใดท่านจึงเป็นที่เคารพรักของเหล่านิสิตนักศึกษาและบุคคลในหลายๆอาชีพ  หลายวงการ       ถึงตรงนี้เพื่อนๆหลายคนอาจจะทราบแล้วนะครับว่านักพูดที่ผมประทับใจคือใคร  ครับ!  ท่านคือสุภาพบุรุษนักพูดแห่งวงการ  ซึ่งมีรูปลักษณ์ภายนอกคำภีรภาพสมนาม  อาจารย์  สุขุม  นวลสกุล
    ลักษณะโดดเด่นของท่านที่ทำให้ผมประทับใจและยึดถือเป็นแบบอย่างนั่นคือ  ความหนักแน่นของน้ำเสียงและแววตาที่แสดงถึงความเชื่อมั่นยามเอ่ยข้อความ  ซึ่งลักษณะแบบนี้ผมคิดว่าเป็นลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดี และเป็นลักษณะที่นักพูดควรจะมีในตนเอง  เพื่อใช้ในการเสริมสร้างความมั่นใจและแสดงออกซึ่งความเป็นตัวตนของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด     ในการพูดของอาจารย์แต่ละครั้ง  ท่านจะนำเสนอมุมมองประเด็นในการพูดที่แตกต่างไปจากคนอื่น  ทั้งตัวอย่างที่ท่านนำมาหยิบยกเพื่อประกอบการพูดก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง  ซึ่งนี่ก็เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นแบบฉบับของท่านที่ไม่เหมือนใคร    ด้วยความที่ท่านเป็นนักวิชาการจึงทำให้การพูดของท่านดู จริงจัง  จริงใจ และมีสาระ  แต่ถึงกระนั้นท่านก็ได้แฝงไปด้วยอารมณ์ขันซึ่งมีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวของท่าน    ท่านอาจารย์สุขุมสามารถมองเรื่องที่เครียดในแง่มุมที่น่าหัวเราะได้ ซึ่งก็เป็นวิธีการสร้างอารมณ์ขันที่เป็นแบบของท่านเอง  การพูดของท่านแต่ละครั้งจึงไม่น่าเบื่อแม้บางครั้งเรื่องที่ท่านต้องพูดจะเป็นเรื่องในเชิงวิชาการก็ตาม
    และในวันนี้  ผมจึงขอถือโอกาสนี้เพื่อพูดถึงหลักการเป็นนักพูดที่ดีของท่านอาจารย์สุขุม  นวลสกุล  ให้เพื่อนๆได้รับฟังซึ่งหลักการเป็นนักพูดที่ดีของท่านมีเพียง 5 ข้อเท่านั้นแต่เป็นหลักการที่ผมคิดว่า  ผู้ที่คิดจะเป็นนักพูดอย่างพวกเราควรจะพึงมีและพึงทำ
    1.  นักพูดที่ดีต้องมีเรื่องที่จะพูด  มีเรื่องที่จะบอก  คือ  เวลาไปพูดที่ไหนเราต้องคิดว่า  เอ…วันนี้เราจะบอกคนฟังเรื่องอะไร  สมมติว่าเราอยากจะบอกคนฟังว่า  ความขยันเป็นสิ่งดี  คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ต้องมีความขยัน  จากนั้นเราก็มานึกเรื่อง  ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้คนเห็นชัดว่าขยันแล้วจะนำสู่สิ่งดี  สรุปคือ  ต้องเตรียมตัวว่าวันนี้จะพูดเรื่องอะไร  เราอยากจะบอกคนฟังเกี่ยวกับหัวข้อนี้ว่าอย่างไร  จากนั้นก็ไปหาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วนำมาใช้
    2.  นักพูดที่ดีต้องชอบการแสดงออก  คือ ต้องชอบที่จะพูดให้คนอื่นฟัง  รักที่จะพูดแล้วถ่ายทอดความรักนั้นให้แก่ผู้ฟัง   บางคนชอบที่จะพูดแต่ไม่กล้า  ก็ต้องฝึกพูดบ่อยๆ การไปพูดในหลายๆเวทีจะเป็นแบบฝึกหัดสู่การเป็นนักพูดที่ดีได้  เรียนรู้ข้อบกพร่องที่ตัวเองทำไปแล้วนำมาปรับปรุงให้การพูดครั้งต่อไปสมบูรณ์แบบมากขึ้น
    3.  นักพูดที่ดีต้องทำให้คนฟังรู้สึกว่าไม่เสียเวลาฟัง  คือ  ต้องให้คนฟังรู้สึกว่าได้อะไรกลับไปบ้าง เท่านั้นก็ถือว่าการพูดของเราประสบความสำเร็จแล้วในขั้นหนึ่ง  แม้คนฟังอาจจะไม่ขำเลยแม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม  ยกตัวอย่างเช่น การพูดของคุณ ชวน  หลีกภัย  ซึ่งพูดทีไรไม่ขำเลยแต่ทำไมคนฟังนั่นเพราะคนฟังรู้สึกว่าฟังแล้วคุ้มค่า  ฟังแล้วมีแง่มุมอะไรต่างๆที่แปลกๆ   ดังนั้นจึงไม่ควรปักใจอยู่กับอารมณ์ขันอย่างเดียวแต่ถ้าพัฒนาออกมาได้ก็จะช่วยให้การพูดของเราสมบูรณ์ขึ้น  เพราะเราต้องเข้าใจว่า  พื้นฐานทุกคนต้องการอารมณ์ขัน  ต้องการความรู้สึกที่ผ่อนคลาย
      4.  นักพูดที่ดีต้องมีลีลาการพูดที่เป็นเฉพาะตัว  คือ  มีจุดเด่นที่เป็นของตัวเอง  เราถนัดอย่างไรก็ใช้จุดนั้นมาเป็นจุดเด่นของเรา   ดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดเพราะนี่คือสิ่งแรกที่เลียนแบบกันไม่ได้   “ อย่าคิดพูดเลียนแบบใคร  คุณพูดเลียนแบบใครคุณจะไม่มีวันประสบความสำเร็จเหมือนคนนั้นได้  เพราะอย่างเก่งคุณก็แค่เหมือนเขา  แล้วเราไปเลือกฟังที่ต้นแบบเลยไม่ดีกว่าหรือ? ”
    5.  นักพูดที่ดีจำเป็นต้องเป็นนักวิชาการ  คือ  ต้องเป็นผู้ที่อ่านมากๆ   คนที่มีเรื่องราวมาพูดเยอะๆก็ต้องมีประสบการณ์ชีวิตมากมาย  หรือบางทีไม่ต้องมีประสบการณ์ชีวิตมากแต่เราต้องรู้จักอ่าน   รู้จักค้นคว้าเพราะ การอ่านเป็นการเรียนประสบการณ์ทางลัด   ถ้านักพูดเป็นนักวิชาการด้วยแล้วจะช่วยให้คนฟังได้อะไรมากขึ้น  คนฟังจะเป็นผู้ได้รับ  ถ้าเราอยากให้เขาหัวเราะ  เราก็สามารถทำให้เขาหัวเราะและในขณะเดียวกันได้สาระด้วยมันไม่ดีกว่าหรือ ?
    นอกจากหลักการเป็นนักพูดที่ดีทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว  ผมเชื่อว่า  เวลาที่เพื่อนๆต้องออกมาพูด  ความรู้สึกหนึ่งที่ต้องเกิดกับเพื่อนๆ นั่นคือ  ความประหม่า   ท่านอาจารย์สุขุม  ก็ได้ให้หลักในการแก้ความประหม่าไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว  คือ  ต้องใช้วิธีทักคนฟังให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเองทำให้เขายิ้มแย้มให้กับเรา  กล่าวคือ  เมื่อไรที่เรารู้สึกว่าคนฟังเป็นพวกเดียวกับเรา  เอาใจช่วยเรา เมื่อนั้นความรู้สึกตื่นเต้นของเราจะหายไป    เราต้องทำให้ผู้ฟังเป็นพวกเดียวกับเราก่อน  ต้องทักทายแบบหาจุดเด่นจุดหัวเราะ   อาจารย์ได้ยกตัวอย่างว่า  ถ้าวันนั้นเราต้องไปพูดให้พยาบาลฟัง  ก็ทักว่า  “ โอ้โฮ…วันนี้ผมมาอยู่ท่ามกลางผู้มีจิตใจกรุณาปราณี ”  รับรองว่าเราต้องได้รับเสียงปรบมืออย่างแน่นอนเพราะถูกใจเขา     ความประหม่าที่เกิดขึ้นนั้น  เกิดจากความกลัว  คือ กลัวเขาจะไม่ฟังเราพูด  กลัวเขาไม่รับเรื่องที่เราบอก  ดังนั้นทีเด็ดของนักพูดพอขึ้นเวที สิ่งแรกคือ  เสียงปรบมือหรือเสียงหัวเราะสักหน่อยก็พอแล้ว  
    และทั้งหมดนี้ก็คือเกร็ดเล็กๆน้อยๆ  ที่ผมหยิบนำมาเล่าให้กับเพื่อนๆได้ฟังกันในวันนี้      เพื่อนๆครับ  ผมอยากให้เพื่อนๆได้ลองนำข้อคิดหลักการการเป็นนักพูดของอาจารย์  สุขุม  นวลสกุลไปใช้เพื่อพัฒนาการเป็นนักพูดของเพื่อนๆเองนะครับ   ไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จโดยไม่พบกับความผิดหวังมาก่อน   เรียนรู้ความผิดหวังแล้วนำมาเป็นบทเรียนของเราเพื่อความเป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่       ขอบคุณครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘