วิชาการพูด 07

พูดอย่างไรให้ไปถึงดวงดาว

     หลายต่อหลายคนต้องการที่จะเป็นนักพูดที่ดีให้ได้  ซึ่งมันก็ไม่ใช่ง่ายๆเลย  ต้องอาศัยระยะเวลาการฝึกฝน   การสั่งสมประสบการณ์  รวมไปถึงต้องเป็นคนที่มีความรู้กว้างขวาง  ยิ่งอ่านมาก  ยิ่งรู้มาก   เพราะการที่เราจะพูดอะไรออกไปนั้น  มันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็ว่าได้  คนเราจะได้ดี  หรือตกต่ำก็ขึ้นอยู่กับคำพูดของเรานี่แหละคะ   ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะอยากจะเป็นคนที่พูดเป็น   ไม่ถึงกับต้องไปขึ้นเวทีประกวดกับเค้าหรอกคะ  ขอแค่พูดกับเพื่อนหรือนำไปใช้ได้กับชีวิตประจำวันและอนาคตเวลาสมัครงานก็ถือว่าดีมากแล้ว  ดิฉันก็ได้เจอกันหนังสือเล่มหนึ่งของ  ดร. จามจุรี   ผดุงชีวิต  ( อาร์ต )  ซึ่งอาจารย์ ยังเป็นหญิงสาวสวย  บุคลิกดีคนหนึ่ง  และหนังสือของอาจารย์สามารถทำให้คนที่พูดไม่เป็นสามารถกลายเป็นคนพูดเป็นด้วยเทคนิคและกลวิธีการเป็นนักพูดอย่างง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน เพื่อนอยากรู้แล้วใช่ไหมล่ะคะ  ว่าขั้นตอนเหล่านั้นมีอะไรบ้าง 
ขั้นตอนง่าย  เพียง  3 ขั้นตอนเท่านั้นคะที่จะทำให้เราไปถึงดวงดาว ได้ดังที่ใจเราปรารถนา  ได้แก่
1. ภาษาพูด
2. ภาษากาย
3. ภาษาใจ
สามขั้นตอนนี้ถือเป็นหัวใจของการเป็นนักพูด  แต่ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดของ สามขั้นตอนข้างต้นนี้    เราต้องต้องมาเรียนรู้พื้นฐานเบื้องต้นของการเป็นนักพูดก่อนนะคะ  สิ่งสำคัญที่เพิ่งจะเรียนรู้ไว้ก็คือ
-   รู้จักวิเคราะห์ผู้ฟังแบบฉับพลัน    เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะมี  เพราะไม่ว่าเราจะไปที่ไหน  ที่แห่งหนใด   เราไม่สามารถจะล่วงรู้ได้ก่อนว่า  เราต้องพูดกับใคร  ที่ไหนบ้าง    อย่างถ้าเราไปงานแต่งงานของเพื่อน  อาจจะสนิทหรือไม่สนิทก็แล้วแต่นะคะ  บังเอิญได้รับเชิญให้ขึ้นไปพูดอวยพรให้แก่เจ้าของงานต่อหน้าคนนับพัน   โดยที่เราไม่ได้เตรียมตัวเลย   เราก็ต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟังว่าเขาต้องการจะรับฟังอะไรจากเราบ้าง  แน่น่อนเขาย่อมต้องการรับฟังการพูดแบบสนุกสนานชวนให้สรวลเสฮาเอพอสมควร   พร้อมทั้งการพูดยกย่องชมเชยต่อคู่สมรส  หากว่าเรามีอายุมากกว่า เราต้องรู้จักให้ศีลให้พร  ไปตามธรรมเนียม  เป็นต้น     แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องให้ศีลให้พรไปเสียทุกงานเมื่อใหร่    ฉะนั้นเราก็ต้องวิเคราะห์ผู้ฟังให้ได้ว่าเป็นอย่างไร   อยู่ในวัยใด  เพศใด   กลุ่มใด   ระดับอาชีพหรือระดับการศึกษาใดรวมทั้งความสนใจ  จนถึงศาสนา  เพราะข้อมูลเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะโยงใยไปถึงข้อมูลที่ใหญ่ๆ และมีความสำคัญต่อไป 
-  การวิเคราะห์ผู้ฟังแบบมีวัตถุประสงค์  ในกรณีที่เรารู้แล้วว่าจะพูดในโอกาสอะไร  เมื่อใหร่  ที่ไหน  และต้องรู้ด้วยว่าจุดประสงค์ของการพูดคืออะไร  พูดง่ายๆก็คือ เรามีข้อมูลทุกอย่างอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว   อาจเปรียบเทียบได้กับการเป็นเซลส์แมนที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องรู้จักรู้ค้าของตนเองได้เป็นอย่างดี  ว่าเขามีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ  หรืออาจจะรู้ลึกไปถึงข้อมูลส่วนตัว  เช่น  มีรสนิยมเป็นอย่างไร  เกลียดอะไร  ชอบอะไร  เป็นต้น   ยิ่งรู้มาก รู้ลึกเท่าใหร่เรียกได้ว่า  ยิ่งกว่าการได้เปรียบ   ในปัจจุบัน ใครเป็นผู้กำข้อมูลอยู่ในมือ ผู้นั้นเป็นผู้กุมอำนาจ    หมั่นเอาใจใส่กับรายละเอียดของคนรอบข้างของคุณให้มากขึ้นนะคะ   ดิฉันรับรองว่า   มีแต่กำไร ไม่มีขาดทุนแน่นอนค่ะเอาล่ะคะเมื่อเรารู้ถึงเรื่องพื้นฐานของการพูดไปแล้วต่อไปก็จะพูดถึงขั้นตอนการไปสู่การพูดให้ถึงดวงดาวกันสักทีนะคะ   ดิฉันขอพูดเป็นประเด็นเลยนะคะขั้นตอนแรก  คือ   ภาษาพูด    เริ่มจากการเปิดเรื่องหรือการเริ่มต้นในการพูด   การเริ่มต้นที่ดีถือเป็นเรื่องยากอย่างมากสำหรับคนที่จะพูด  เพราะจะถือว่าเป็นช่วงนาทีแรกที่จะเริ่มสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นในตัวผู้ฟัง   ถ้าเริ่มดี  ก็ดูเหมือนว่าจะมีชัยไปกว่าครึ่งแล้วล่ะคะ    แต่ก็มีมากเหมือนกันที่เข้าข่ายประเภท ล่มตอนจบ   อุตส่าห์เปิดตัวซะเยี่ยมแต่ปิดท้ายซะแย่  การเริ่มต้นนั้นผู้พูดควรจะสามารถดังดูดความสนใจของผู้ฟัง  เพิ่มความมั่นใจหรือความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง  และช่วยให้ผู้ฟังมีความเข้าใจและสนใจที่จะฟังการพูดของเรา  ที่ขาดไม่ได้  ควรเกริ่นด้วยการกล่าวขอบคุณหรือบอกกับผู้ฟังว่า  เรามีความรู้สึกยินดีเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสมาพูดกับพวกเขาในวันนี้  เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร  และสร้างความรู้สึกที่เป็นบวกว่าเราให้ความเคารพและชื่นชมในการเข้าฟังของเขา
การเปิดตัว  ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ  ซึ่งก็มีหลายแบบด้วยกันได้แก่
* เริ่มด้วยการใช้สุภาษิต  คำคม หรือคำพูดที่กินใจ
* เริ่มด้วยการบอกเหตุผลที่มาที่ไปว่าทำไมเราถึงมาพูดในวันนี้
* เริ่มด้วยการพูดเชื่อมโยงหัวข้อที่เราจะพูดกับตัวเราเอง หรือว่ากับผู้ฟัง โดยพยายามพูดในแนวสบายๆ  หรืออาจเป็นอารมณ์ขันไม่เครียด เพื่อผู้ฟังจะได้รู้สึกผ่อนคลาย และฟังเราพูดต่อไปได้เรื่อยๆ  หลังจากพูดเปิดตัวแล้วก็พูดถึงการปิดท้าย   ซึ่งก็จะคล้ายๆกับการเปิดตัว คือ อาจกล่าวปิดท้ายด้วยภาษิต  คำคม ,  การใช้อารมณ์ขัน, การใช้จุดเร้า   อาจจะเร้าความรู้สึก  หรือความคิดของผู้ฟัง    และการปิดท้ายด้วยการสรุปย่อประเด็นหลักของการพูดทั้งหมดของเราเอง  เผื่อว่าคนฟังอาจจะลืมแนวคิด หรือประเด็นหลักของเราได้บ้างเหมือนกัน  และในตอนท้ายหากมีการเปิดให้ซักถาม  หรือตอบคำถามด้วยก็จะยิ่งดีมาก เพราะถือเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง  ซึ่งเราในฐานะผู้พูดจะได้ประโยชน์ไม่น้อยจากจุดนี้นะคะ   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการพูดแต่ละครั้งน้ำเสียงก็ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพูด  ผู้พูดต้องรู้จักปรับน้ำเสียงไปตามสถานการณ์   ตามหัวข้อ  ตามเรื่องราวที่พูด  ต้องเสียงดังชัดเจน  ตัวควบกล้ำ  อักษรต่างๆ  ออกเสียงให้ถูก  เรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เราก็ไม่ควรจะมองข้ามนะคะ
ขั้นตอนที่สอง  คือ ภาษากาย
    เป็นส่วนที่เราต้องใช้ประกอบเวลาพูด  ภาษากายที่สำคัญได้แก่
การสบตากับผู้สนทนาหรือกลุ่มของผู้ฟัง  เป็นเรื่องสำคัญมากที่เดียว  เพราะนอกจากจะเป็นการประเมินว่าอีกฝ่ายฟังเราพูดหรือเปล่า  หรือเข้าใจไหม   ยังเป็นการส่งสัญญานให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าคุณมีความจริงใจและรู้สึกอย่างไรในขณะที่พูดอยู่   ฉะนั้นสายตาของเราควรกวาดมองกลุ่มผู้ฟังอย่างเป็นมิตร   ถ้าเป็นห้องแคบๆ พยายามสบสายตากับผู้ฟังให้ครบทุกคน   เพราะสายตานี่แหละคะที่แสดงถึงพลังและอำนาจในการโน้มน้าวใจของผู้พูด  ถ้าพูดแบบไม่สบตาก็อย่าหวังว่าจะได้รับการชื่นชมอย่างจริงใจจากผู้ฟัง
การแสดงออกทางสีหน้าเช่นกัน  เพราะหน้าของเราแสดงได้ถึงอารมณ์  สุข เศร้า  โกรธ  ขยะแขยง เฉยเมย   ดูถูกเหยียดหยาม และอื่นๆอีกมากมาย   โดยทั่วไปเวลาพูดสีหน้าของเราขณะที่พูดต้องเป็นมิตร  อย่าก้าวร้าว  อย่าแสดงอาการหวาดกลัวในการพูดให้คู่สนทนาหรือผู้ฟังจับได้ว่าเราไม่มั่นใจในการพูด  ที่สำคัญอย่าทำสีหน้าขัดแย้งกับเรื่องที่กำลังพูดอยู่  เช่น  พูดเรื่องเศร้าสลด  แต่ริมฝีปากของเรายิ้มร่า  พูดอย่างเมามัน   แบบนี้เป็นต้น  ผู้ฟังคงจะงงนะคะ ว่าเอ๊ะ  นี่พูดอะไรอยู่    หรือ บ้าหรือเปล่าเนี๊ยะ    ภาษามือก็เช่นกันคะ  ควรปล่อยมือให้เป็นไปตามธรรมชาติ  ไพล่หลังได้บ้าง  ผายมือออกบ้าง  ทิ้งลงข้างลำตัวบ้าง  แต่อย่าใช้มากถึงขนาดที่ดึงความสนใจของผู้ฟังไปจากสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่
การทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ขณะที่พูด  ควรมีท่าทางที่สง่างามอยู่เสมอ  ถ้านั่งก็ควรจะนั่งหลังตรง  ถ้ายืนก็อย่าหลังโกงหรือยืนพุงป่องก้นป่อง   การทิ้งน้ำหนักขาต้องสมดุลกัน  ปลายเท้าอาจเสมอหรือเหลื่อมกันนิดๆ  ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง  อย่าปักหลัก เดี๋ยวคนฟังจะนึกว่าเราเป็นหุ่นยนต์นะคะ
การใช้น้ำเสียง เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆในระบบการพูด  เพราะถ้อยคำสะท้อนความคิด  น้ำเสียงจะสะท้อนอารมณ์ของคนเรา  ควรรู้จักฝึกใช้น้ำเสียงให้หลากหลายซึ่งจะทำให้การพูดของเราฟังดูน่าสนใจมากขึ้น  ลองดุนะคะ  แม้แต่ดิฉันเองก็คิดว่ายากลำบากเหมือนกันคะสำหรับข้อนี้
การแต่งกาย  ต้องสวมเครื่องแต่งกายที่ใส่สบาย   เพิ่มความมั่นใจในการพูดและเหมาะสมกับกาลเทศะ   ที่สำคัญต้องสะอาด  ใส่แล้วเข้ากับรูปร่าง  เพื่อเป็นากรเสริมบุคลิกภาพและหน้าที่การงานของเราไปด้วย  โดยทั่วไปควรเลือกสีสันในโทนกลางๆ เช่น  ขาว เทา ดำ  ครีม น้ำเงิน  ถ้าจะเป็นสีสันสดใส  ควรเน้นแบบเรียบๆ  ตกแต่งเครื่องประดับให้น้อยชิ้นที่สุดก็คงจะเหมาะสมกว่าได้ตราหน้าว่าเป็นตู้ทองเคลื่อนที่นะคะ
ขั้นตอนที่สาม  ภาษาใจ กว่าจะมาถึงประเด็นสุดท้ายได้นี่ก็เกือบแย่เหมือนกันนะคะ   ภาษาใจก็คือ  เราต้องมีความมั่นใจในการพูด  ต้องใส่ใจค้นหาข้อบกพร่องในการพูดของเราอยู่เสมอ   และต้องมีกำลังใจที่จะฝึกฝนทักษะการพูดของเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป
    ดิฉันเองทุกวันนี้ก็ยังวิเคราะห์หาข้อบกพร่องทุกครั้งในการสื่อสารของตัวเอง  ในบางครั้งที่อาจจะรู้สึกท้อใจเมื่อพูดจบไปแล้วว่า  ทำไมการสื่อสาร  การพูดของตัวเองถึงได้แย่มาก  หรือเป็นไม่ได้ดั่งใจที่อยากจะให้เป็น    เป็นต้นว่า  การเรียบเรียงและการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นถ้อยคำในบ้างครั้งไม่สามารถจะเรียบเรียงให้ออกมาเป็นถ้อยคำได้  คิดๆแล้วก็นึกโมโหตัวเองทุกครั้ง 
    แต่หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ " ไปให้ถึงดวงดาวเล่มนี้แล้ว" ได้รับรู้วิธีการพูดได้เยอะมากๆ   และคิดว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการจะเป็นนักพูดที่ดี   หากแต่ว่าจะเป็นนักพูดได้หรือไม่ได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้ หรือเล่มไหนๆที่สอนทางด้านการพูดเพียงอย่างเดียว     ยังขึ้นอยู่กับตัวเราเองด้วยว่ามีความสนใจที่จะฝึกฝน  ค้นหาความเป็นนักพูดของตัวเราเองได้หรือเปล่า    ขืนมัวแต่ไปยึดเอาแบบอย่างนักพูดคนอื่น  โดยที่หาแนวทางการพูดให้กับตัวเองไม่ได้แล้วนั้น   ดิฉันขอแนะนำว่า  อย่าพูดเสียเลยดีกว่าคะ    ขอบคุณคะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘