วิชาการพูด 05

นักพูดที่ข้าพเจ้าประทับใจ

    นักพูดที่ข้าพเจ้าประทับใจนั้นมีอยู่หลายคนเลยทีเดียว  ใช่นักพูดส่วนใหญ่จะพูดในเนื้อหาที่คล้าย ๆ กัน  แต่จะต่างกันตรง  “วิธีการนำเสนอ” ครับนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจนักพูดท่านนี้
    ครับนักพูดท่านนี้ท่านมีวิธีการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร  ท่านมองในมุมที่ใครไม่มอง  วิธีการพูดของท่านก็พูดในเชิงวิชาการ  เชิงตลก  ซึ่งฟังดูแล้วทำให้ไม่เครียด  สบาย ๆ  ผลงานของท่านนั้นก็มีมากมาย  แต่ที่เรารู้จักกันดีก็ในนาม  “ไทยทอร์ค”  ครับคงจะพอเดากันได้หรือยังครับว่านักพูดท่านนี้คือใคร
    ใช่แล้วครับ  ท่านผู้นี้คือ  อาจารย์  จตุพล  ชมพูนิช  ที่เรารู้จักและคุ้นหูกันดี  วันนี้ก็จะขอนำเสนอผลงานของท่านที่ข้าพเจ้าประทับใจ  เป็นบทพูดที่กล่าวถึงเทคนิคในการพูดเบื้องต้น  ศิลปะการพูดแบบไทย ๆ ง่าย ๆ  ซึ่งท่านพูดเอาไว้ดีมาก  นั่นก็คือ  “ปากเป็นเอก”  ท่านกล่าวเอาไว้ว่า  การพูดดีหรือพูดเก่งนั้น  เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานได้  วิธีการพูดจะเป็นอย่างไรก็ช่างขอให้พูดแล้วมีคนอยากฟัง
    คนที่ปากเป็นเอกได้นั้นจะต้องเป็นคนที่รู้จักวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ หรือแง่มุมแปลก ๆ รู้จักหาประสบการณ์  แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่พัฒนากันได้  เป็นพรแสวงไม่ใช่พรสวรรค์
    การพูดทุกครั้งจะต้องให้เกียรติคนฟัง  ท่านกล่าวเอาไว้ว่า  การพูดที่ดีต้องมีคนฟัง  การพูดที่ไม่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การพูดแล้วไม่มีคนฟังนั่นเอง  เพราะฉะนั้นในการพูดนั้นคนฟังจึงมีความสำคัญ  คนพูดต้องให้เกียรติคนฟังถือว่าคนฟังไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่  ล้วนมีพระคุณต่อผู้พูดทั้งนั้น  แต่ถ้าเวลาพูดแล้วไม่สนใจฟัง  อย่าไปเปิดเกม  “จุดเดือด”  ขึ้นกับคนฟังเป็นอันขาด  เมื่อเจอเหตุการณ์หรือสถานการณ์อย่างนี้  คนที่มีจิตวิทยาจะออกมาในทำนองออดอ้อนหรือขอความร่วมมือ  สร้างบรรยากาศให้คนฟังมีความรู้สึกที่ดีต่อคนฟัง  เริ่มทักทายด้วยการเป็นกันเอง
    เมื่อรู้ว่าจะถูกเรียกให้ไปพูดหน้าชั้น  หรือเมื่อใกล้จะถึงเวลาจะต้องออกไปพูด  เชื่อได้เลยว่าคงไม่มีใครที่ไม่เกิดอาการประหม่า  ความประหม่านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ  แทบทุกคนไม่ว่าจะพูดมากี่ครั้งก็มักมีอาการนี้
    คนทุกคนจะต้องประหม่าเมื่อต้องปรากฏตัวต่อหน้าคนจำนวนมาก  แต่คนที่ประสบผลสำเร็จในการพูดต่อหน้าชุมชน ก็คือ ผู้ที่สามารถคุมอาการประหม่าของตัวเอง  หรือไล่ออกไปในเวลาอัน   รวดเร็ว

    ท่านอาจารย์ก็มีเทคนิคในการที่จะทำอย่างไรจึงจะหายประหม่า  เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้  ท่านกล่าวเอาไว้ว่า  วิธีการแก้เขินนั้นมีหลายทาง  ในที่นี้จะนำเสนอด้วยวิธีการทางจิตวิทยา”
    ข้อแรกคือให้ข้อคิดว่า  เรารู้ดีกว่าคนอื่นในเรื่องที่จะพูด เพราะเราค้นคว้าเตรียมตัวไปพูดเรื่องนั้นอยู่แล้ว  คนฟังที่ไม่ได้ค้นคว้าเลยตั้งใจมาฟัง  จะมารู้เรื่องนั้นดีกว่าเราได้อย่างไร
    วิธีการแก้ประหม่าข้อต่อมาคือ  พยายามหาจุดปลอบใจ  วิธีการนี้คือ  เมื่อขึ้นไปบนเวทีแล้วให้พยายามมองหาใครซักคนที่นั่งฟังอยู่  ที่มีท่าทางเป็นมิตรและเป็นกำลังใจให้เรา  คนประเภทนี้ก็คือ  ผู้ที่แสดงความตั้งอกตั้งใจฟัง  มีอาการสบตา  พยักหน้าเห็นด้วยเป็นระยะ ๆ แต่อย่าเผลอไปจ้องเอา ๆ แต่จุดปลอบใจไม่ยอมมองจุดอื่นเลย  เพราะจะผิดหลักการพูดในที่ชุมชน  กลายเป็นการพูดให้คน ๆ เดียวฟังไป  ถ้ามีหน้าม้าด้วยก็ดี
    การไปถึงสถานที่พูดก่อนเวลาพูดพอสมควร  ก็เป็นวิธีลดการประหม่าลงไปได้หลายดีกรีเลยทีเดียว  เพราะเราจะได้มีเวลาพอที่จะทำความคุ้นเคยกับสถานที่
    วิธีการทางจิตวิทยาข้อต่อมาก็คือ  ให้พยายามคิดว่าถ้าเราคุยในวงสนทนาได้ก็พูดหน้าที่ประชุมได้เหมือนกัน  เพราะความจริงแล้วการพูดหน้าที่ประชุมก็คือ  การขยายวงสนทนานั่นเอง
    ข้อสุดท้ายก็คือให้คิดถึงความฝันของเรา  ถ้าเราปรารถนาจะเป็นนักพูดหรือผู้บรรยายยอดนิยม  ถ้าเราไม่กล้าเสียแต่วันนี้  มัวแต่เขินอยู่แล้วเมื่อไหร่จะเดินไปถึงจุดหมายปลายทาง  เพราะฉะนั้นต้องพยายามเอาชนะในเรื่องนี้ให้ได้  ไม่อย่างนั้นความฝันของเราไม่มีวันเป็นจริงได้
    เมื่อเรารู้สึกหายประหม่าแล้ว  ก็มาลองศึกษาถึงการพูดต่อที่ชุมชนบ้าง  ซึ่งท่านอาจารย์ท่านก็ได้เสนอเทคนิคว่า  การพูดต่อที่ชุมชน  ทำยังไงถึงให้ออกมาดี  ไม่ใช่ขอไปที  การพูดให้คนจำนวนมากฟังนั้นต้องมีและใช้ศิลปะเข้าช่วยพอสมควรทีเดียวจึงจะสามารถสะกดหรือทำให้คนฟังจำนวนมากติดตามสิ่งที่เราพูดได้  ไม่ลุกหนีไปก่อนที่เราจะพูดจบ  จะรอจนเราพูดจบแล้วปรบมือให้ด้วยความพอใจหรือประทับใจไม่ใช่ด้วยมารยาท
    คนที่จะพูดได้ดีนั้นเบื้องแรก  ต้องยึดให้ได้ก่อนว่าการพูดคือการพูดอย่าได้ขึ้นไปยืนอ่านอะไรให้คนฟังเป็นอันขาด  ต้องพูดให้คนฟัง  ไม่ท่อง  ถ้าจะมีโน๊ตย่อหรือบันทึกกันลืมติดไปบ้างก็ได้  แต่ขอให้เป็นหัวข้อหรือจุดสำคัญ ๆ ที่เขียนไว้กันลืม
    สายตาของเราต้องอยู่กับคนฟัง  จะแอบมองโน๊ตหรือได้จดหัวข้อกันลืมขึ้นมาได้บ้างเป็นครั้งคราว  ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาอ่าน หรือก้มหน้าก้มตาพูด  ขอให้นึกเสมอว่า  เราหยุดมองคนฟังเมื่อไหร่คนฟังก็จะหยุดฟังเราเมื่อนั้น
    ใช้มือออกท่าทางประกอบด้วย  จะทำให้คนฟังรู้สึกมีชีวิตชีวา  และชวนสนใจขึ้น  ควรฝึกหัดการใช้มือประกอบและแสดงโดยให้เหมาะกับเนื้อหาที่พูดด้วย  ไม่ใช่สะเปะสะปะไม่สอดคล้องกับคำพูด  ถ้านั่งพูดโดยมีโต๊ะตั้งตรงหน้า  หรือเวทีอภิปราย  ก็ให้ขยับแค่พองาม อย่าถึงให้ออกงิ้ว  ถ้ายืน    โด่เด่ไม่มีอะไรบังตัวเราเลยนอกจากเสาไมโครโฟนในลักษณะการอภิปรายหาเสียง  ก็ออกท่าทางได้เต็มที่
    น้ำเสียงในการพูดต้องมีชีวิตชีวา  และดูให้เหมาะสมกับสถานที่  ถ้ากลางแจ้งก็ต้องเสียงดังกระแทกกระทั้นหน่อย  ถ้าในห้องประชุมใหญ่  ก็อาจจะลดเสียงลงมาได้  แต่ลีลาน้ำเสียงต้องมีชีวิตชีวา  มีเสียงสูงเสียงต่ำ  ลากเสียง  เน้นเสียงหรือทอดเสียงเพื่อปลุกความรู้สึกของผู้ฟัง  ขณะที่พูดก็ต้องสังเกตเสียงของเราที่ผ่านเครื่องเสียงลงสู่ผู้ฟังด้วย  ถ้าเป็นพื้นที่กว้าง ๆ โล่ง ๆ  เช่น  สนามฟุตบอลมีลำโพงหลาย ๆ ตัว  อย่าพูดเร็วเพราะจะรัวจนฟังไม่รู้เรื่อง  ให้พูดช้า ๆ เว้นช่องประโยค  วิธีพูดแบบนี้ใช้ได้กับห้องประชุมที่มีเสียงสะท้อน  แต่ถ้าเป็นห้องประชุมในโรงแรมชั้นหนึ่ง  ซึ่งดีทั้งห้องและเครื่องมือก็ใช้ลีลาตามถนัดได้เต็มที่
    ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารก็ควรจะเน้นภาษาพื้น ๆ ฟังแล้วเข้าใจง่าย อย่าใช้ศัพท์สูง ๆ เพราะการพูดให้คนจำนวนมาก ๆ  ที่ไม่ใช่นักเรียนหรือนักศึกษาฟังเพื่อเอาความรู้ไปไว้สอบ
    จะต้องวิเคราะห์กิริยาอาการของคนฟังตลอดเวลา  ให้รู้ว่าขณะที่เราพูดนั้น  คนฟังพอใจ  ชอบใจ  หรือไม่สนใจ  ถ้าพูดแล้วคนฟังไม่สนใจแม้จะไม่ถึงกับนั่งหลับ  แต่มีอาการกระสับกระส่าย หันไปคุยกันบ้าง  ลุกขึ้นไปโน่นมานี่บ้าง  ดูขวักไขว่ไปหมด  ก็คงต้องรีบรวบรัดให้จบ ๆ เพื่อหาโอกาสไว้แก้มือใหม่วันหลัง
    และที่สำคัญต้องดูสถานการณ์และรู้กาละเทศะ
    ครับเมื่อเราทราบเทคนิคการพูดอย่างง่าย ๆ แล้วต่อไปเราก็คงไม่ต้องหวั่นไหวกับอุปสรรค   เล็ก ๆ น้อย ๆ กับการพูดอีกแล้วนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘