วิชาการพูด 04

นักพูดที่ประทับใจ
“นักพูด” ถ้าพูดถึงคำ ๆ นี้หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงคนที่มีปาก แต่เป็นปากที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่ปากเบี้ย ปากเน่า หรือปากเหม็น แต่เป็นปากที่สามารถทำให้ทุก ๆ คน คล้อยตาม หลงไหลและมีความสุขไปกับคำพูดที่เปล่งออกมาได้ นั่นคือ นักพูด ซึ่งนักพูดแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ทั้งบุคลิกลักษณะ ท่าทาง วิธีการพูด เพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้ฟัง และนักพูดที่ทำให้ผมหลงไหล ในคารมอันคมคายมากที่สุด คือ อ. จตุพล ชมภูนิช
    ความประทับใจ ในตัวของนักพูดคนนี้ ส่วนหนึ่ง ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ผมยังเด็ก เพราะว่าแม่ของผมชอบ อ. จตุพล มาก เวลาที่แม่เช่าวีดีโอทอล์กโชว์ของท่านมาดูหรือดูรายการทางโทรทัศน์ที่นำท่านมาออกรายการ ผมก็จะนั่งดูอยู่ด้วยไม่เคยพลาด ซึงสิ่งที่ทำให้ผมชอบ อ. จตุพล เป็นอันดับแรกเลยนั่นก็คือ ความตลกขบขัน แต่มีสาระคละเคล้าไปกับการให้แง่คิดในการดำเนินชีวิต นี่คือจุดสำคัญที่ผมคิดว่าน่าจะเอาเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด สำหรับผมและทุก ๆ คน ประกอบกับการได้มาอ่านหนังสือที่อาจารย์ได้เขียนในเรื่อง “เวที ฝีปาก” ยิ่งทำให้ผมรู้สึกได้ว่า คนนี้แหละ ใช่เลย! นักพูดในฝัน
    “เวที ฝีปาก” เป็นหนังสืออ่านเล่นที่สนุกมาก เหมือนกับหน้าปกของหนังสือที่รับประกันไว้ว่า “อารมณ์ขัน สงวนลิขสิทธิ์ไว้ เฉพาะมนุษย์เท่านั้น โปรดอย่านอนหลับทับสิทธิ์” เนื้อหาของหนังสือโดยรวม ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ปากในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของปากแต่ละคนว่าจะใช้ปากของตัวเองไปในทิศทางใด ดังเช่น กับที่เขามีคำเปรียบเปรยไว้ตรงประเด็น เห็นได้ชัดว่า “ปากดีพารวย ปากซวยพาจน” ซึ่งในหนังสือก็ได้ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะปากของคนเรา ทั้งเล็กและใหญ่เพื่อที่จะให้เราได้ศึกษาว่า การใช้คำพูดที่เปล่งออกมาจากปากของเราในแต่ละครั้งสำคัญแค่ไหน และเราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ที่มาจากปากของเราได้อย่างไร
    เนื้อหาของหนังสือ เวทีฝีปาก เล่มนี้ อ. จตุพล แบ่งออกเป็น 13 บท ด้วยกันซึ่งแต่ละบทมีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป แต่ก็คงความขำ ฮากลิ้งเหมือนกันทุก ๆ บท จึงอยากจะขอเล่าเนื้อหาคร่าว ๆ ในบางบท ที่ผมมีความประทับใจ ทั้งในเนื้อหา และกลวิธี การพูด การเขียน และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับทุก ๆ ท่าน ดังนี้
    “อารมณ์ขัน สีสันแห่งชีวิต” เป็นบทแรกของหนังสือ ที่กล่าวถึงเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีอารมณ์ขัน มนุษย์เราเป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่มีอารมณ์ขัน ยิ้มแย้มหัวเราะได้ คนที่รู้จักใช้คุณสมบัติที่พิเศษที่สงวนลิขสิทธิ์เอาไว้เฉพาะมนุษย์ได้ดีเพียงใด ก็จะยิ่งได้เปรียบกว่าคนที่มีแล้วไม่รู้จักใช้เพียงนั้น คนมีอารมณ์ขันไปที่ไหนก็มีแต่คนรุมล้อม แต่คนที่ขาดอารมณ์ขัน พูดด้วยแล้วอาจถูกคนล้อมรุม
    “ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้” เป็นการให้ความสำคัญของชื่อของแต่ละคน และกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตั้งชื่อ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการทำให้เกิดเสน่ห์แบบง่าย ๆ แต่ได้ผลง่ายดาย ประดุจพลิกฝ่าลิ้น นั่นก็คือ การจดจำนามจำเพาะของบุคคลให้ได้เท่านั้นเอง อย่างนี้เรียกว่าเสน่ห์ในที่อยู่ได้นานกว่าเสน่ห์ใดใด
              “พูดดีเป็นศรีแก่อาชีพ” การพูดนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเราเกือบจะมากที่สุด เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ พอจะอนุมานได้ว่าการประกอบอาชีพเกือบทุกประเภทต้องใช้การพูดเข้ามาเป็นตัวจักรสำคัญในการติดต่อสื่อสารซึ่งถ้าพูดดีก็เป็นศรีแก่อาชีพ ถ้าพูดแล้วคนขอตัวไปงีบ อาชีพก็หมดราศี
               “ชิหวังเชอะส้วน” บทนี้เป็นบทที่มีการนำเสนอแปลกมาก เพราะใช้คำที่เราไม่รู้จัก   อ่านไปจึงรู้ว่าเป็นภาษาจีน แปลว่า ฟันหักแต่ลิ้นยังอยู่ เป็นการให้แง่คิดในเรื่องของการพูด โดยให้คิดก่อนพูด ไม่งั้นอาจจะฟันหักแต่ลิ้นยังอยู่ได้ นอกจากนี้ยังสอนหลักในการเตือนใจนักพูดไว้ 3 ประการ  คือ พึงเตือนตนด้วยการฟัง พึงระวังด้วยการคิด พึงสร้างมิตรด้วยการพูด
    “พูดทั้งทีอย่าให้มีปัญหา” บทนี้กล่าวว่าการมีปากนั้นจะให้ดี ต้องอยู่ที่การใช้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็นเน้นไม่ถูกมันก็ย่อมจะยุ่ง นอกจากนี้ยังสอนเรื่องการเป็นนักพูดที่ “เจนจบครบเครื่องนั้น” จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการในการพูดแต่ละครั้ง คือ สำนวนโวหาร ปฏิภาณฉับไว กว้างไกลข้อมูล
    “ปากข้าใครอย่าแตะ” สอนว่าก่อนจะพูดนั้น ให้ช่างใจก่อนใช้วาจาว่า ควรพูด เก็บไว้พูด เมื่อใด พูดเดี๋ยวนี้ พูดที่นี่ พูดที่ไหน พูดกับใคร พูดทำไม พูดอย่างไร เมื่อต้องใช้การพูด ถ้าไม่สามารถเก็บคำพูดกักกันคำพูดที่เหน็บให้คนอื่นเจ็บเอาไว้ได้ ลองถามตัวเองสักคำเถิดว่า ถ้าพูดไปแล้วคำพูดเรา “สร้างรอยเจ็บให้อีกฝ่ายได้จดจำ มันอิ่มหนำแก่ใจเท่าใดเชียว”
    ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงเนื้อหาคร่าว ๆ ในหนังสือที่หยิบยกมาเป็นเพียงบางบทเท่านั้น ซึ่งผมรับรองว่า ถ้าใครได้อ่านจะต้องติดใจในความสนุกแน่นอน ซึ่งความสนุกสนานเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะกลวิธีการพูด การเขียน ของท่าน อ. จตุพล ที่สามารถดึงดูดผู้ฟังและผู้อ่านได้มากทีเดียว ผมถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้กับอาจารย์ ได้เป็นอย่างดี เราลองมาดูเทคนิคต่าง ๆ ของอาจารย์ ว่ามีอะไรกันบ้าง เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการพูดครั้งต่อ ๆ ไปของเรา ดังนี้
    1. ใช้ความตลกขบขัน อาจารย์พยายามทำทุก ๆ เรื่อง แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่เครียดแค่ไหนให้กลายเป็นเรื่องตลกเรื่องที่ฟังดูแล้วสบาย ๆ ทำให้ไม่เกิดความเครียดแต่ก็ยังคงความมีสาระให้แง่คิดเสมอจึงทำให้น่าติดตามและน่าสนใจ
    2. ใช้ประสบการณ์ของตัวเองที่ได้ไปประสบพบเจอมาเป็นตัวอย่างในการพูด ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพตามได้ง่ายขึ้น เพราะส่วนมากสิ่งอาจารย์พูดนั้นเราก็พบอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจารย์อาจจะมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่เราคาดไม่ถึง
    3. ใช้คำกลอนหรือคำพูดที่คมคายในการสื่อความหมายต่าง ๆ ซึ่งคำกลอนแต่ละคำกลอนหรือคำคมนั้นอาจารย์จะเป็นผู้ที่แต่งขึ้นมาเอง มีความตลกและให้แง่คิดที่ดีมาก เช่น “ถ้าพูดดี ฟันก็ติดอยู่ที่เหงือก ถ้าพูดไม่เลือก มีแต่เหงือกฟันไม่มี” หรือ “จงคิดทุกคำที่พูด อย่าพูดทุกคำที่คิด ถ้าพูดทุกคำที่คิด อาจติดคุกทุกครั้งที่พูด” หรือคำกลอนที่ผมชอบมาก เช่น “เป็นมนุษย์สุดจะดีที่ฝีปาก ถ้าพูดมากแต่ไรค่าพาเสียศรี แม้พูดน้อยด้อยราคาค่าไม่มี พูดไม่ดีเสียค่าราคาคน” เป็นต้น ซึ่งคำคมหรือคำกลอนต่าง ๆ เหล่านี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดที่ทำให้คนหันมาสนใจในตัวผู้พูดได้มาก เพราะเป็นคำที่ตลก เว้นให้แง่คิดและไม่เคยได้พบที่ไหนมาก่อน ซึ่งไม่น่าอาจเป็นคำที่ฮิตติดหู ติดปาก คนฟังไปเลยก็เป็นได้
    4. รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวแล้วนำมาพูดให้เกิดประโยชน์ บางทีสิ่งที่เราได้พบเจอหรือผ่านไปในแต่ละวันเราอาจจะมองข้ามมันไปหรือดูว่ามันไร้ค่า แต่ อ. จตุพล กลับทำสิ่งเหล่านั้นให้มีค่ายิ่งขึ้นเกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น อาจารย์ไปเจอกลอน ที่ติดอยู่ที่ร้านขายเกาเหลาเลือดหมู ใน จ. อุตรดิตถ์ เขียนว่า “ชนะอยู่ที่พวก สะดวกอยู่ที่เงิน เจริญอยู่ที่งาน ชำนาญอยู่ที่ทำ ระยำอยู่ที่ปาก” ซึ่งเมื่อเราอ่านแล้วมันก็คงจะจบอยู่ที่ร้านขายเกาเหลาร้านนั้น แต่ อ. จตุพล รีบจดแล้วก็นำมาขยายความตามแบบฉบับของอาจารย์ทันที เพื่อเป็นหัวข้อในการพูด การเขียน ของอาจารย์นี่คือประโยชน์ของการรู้จักสังเกต
    5. มีการให้แง่คิดเตือนใจอย่างเป็นระบบระเบียบตลอดเวลา ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น หลักเตือนใจนักพูดมีอยู่ 3 ประการ คือ 1. พึงเตือนตนด้วยการฟัง 2. พึงระวังด้วยการคิด 3. พึงสร้างมิตรด้วยการพูด หรือ การจะเป็นนักพูดที่ “เจนจบครบเครื่อง” ได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1. สำนวนโวหาร 2. ปฏิภาณฉับไว 3. กว้างไกลข้อมูล เป็นต้น
    เหล่านี้คือเทคนิคต่าง ๆ ที่ อ. จตุพล ใช้ในการพูด และการเขียน ซึ่งผมได้สังเกตจากประสบการณ์ตามที่ได้ฟัง อาจารย์พูดตามรายการโทรทัศน์หรือสื่อต่าง ๆ และการอ่านจากหนังสือของอาจารย์ เทคนิคเหล่านี้เอง คือกลยุทธในการพูด การเขียน ที่สำคัญ ที่ทำให้ อ. จตุพล ชมภูนิจ ประสบความสำเร็จบนเวทีฝีปากได้อย่างน่าชื่นชมและน่านำไปเป็นแบบอย่าง ซึ่งผมจะนำกลยุทธต่าง ๆ เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพูดของผม เพื่อที่สักวัน ผมจะได้เป็นนักพูดที่เก่งกาจอย่าง อ. จตุพล ชมภูนิช บ้าง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘