เทคนิคการพูด 04

๒. ช่วยกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ
๓. ช่วยให้แสดงความหมายได้ชัดเจนขึ้น
๔. ช่วยในการเน้นหนักต่างๆ

๔. หลักชัยแห่งการพูดของ เดล คาร์เนกี
๔.๑ จงทำให้เรื่องที่พูดชัดเจนจนแจ่มกระจ่าง
๔.๒ จงทำให้เรื่องที่พูดสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ
๔.๓ จงพูดโน้มน้าวและชักชวนจนทำให้เกิดการปฏิบัติ
๔.๔ จงทำให้การพูดประทับใจผู้ฟัง

ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติในการฝึกฝนการพูด
      มีนักพูดและนักวิชาการหลายท่านได้เสนอแนะวิธีการฝึกฝนการพูดเอาไว้ คล้ายคลึงกันบ้างแตกต่างกันบ้าง ยกตัวอย่างให้ศึกษา และเปรียบเทียบกัน เพียง ๓ ท่าน คือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ดร.สวัสดิ์ บรรเทิงสุข และเพียรศักย์ ศรีทอง ซึ่งแต่ละท่านก็ได้เสนอแนะวิธีการ ในการฝึกฝนการพูดเอาไว้ แตกต่างกันไป แต่ก็ทำให้เราได้รับความรู้ในการพัฒนาตนเองอย่างกว้างขวาง ท่านแรกที่จะกล่าวถึงคือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกฝน การพูดว่า สารถกระทำได้ ๓ วิธี คือ
๑. การฝึกพูดด้วยวิธีธรรมชาติ
๒. การฝึกพูดจากตำรา
๓. การฝึกพูดโดยผู้แนะนำ

ซึ่งแต่ละวิธีพอสรุปได้ดังนี้
     วิธีแรก การฝึกพูดด้วยวิธีธรรมชาติ หมายถึง การฝึกฝนด้วยตนเอง ผู้พูดต้องชอบพูดชอบแสดงออก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ให้มี ชั่วโมงบิน มาก ๆ ก็อาจกลายเป็นนักพูดที่ดีได้ ยิ่งถ้ามีปฏิญาณไหวพริบดีด้วยก็อาจจะจับหนทางได้เร็วและประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
     วิธีที่สอง การฝึกพูดจากตำรา โดยอาศัยตำราซึ่งมีผู้เขียนไว้มากมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผู้พูดสามารถเลือกอ่าน ศึกษาได้ตามใจชอบ ที่สำคัญผู้ที่ศึกษาจากตำรานั้นต้องหาโอกาสฝึกปฏิบัติจริง ๆ โดยอาจฝึกจากงานสังคมต่าง ๆ หรือฝึกในงานอาชีพของตนเองก็ได้ โดยถ้านำความรู้และ เทคนิคใหม่ ๆ จากตำรามาใช้ประกอบด้วยก็จะทำให้เก่งเร็วขึ้น
     วิธีสุดท้าย การฝึกพูดโดยมีผู้แนะนำ หมายถึง การมีพี่เลี้ยงดี ๆ คอยให้คำแนะนำ อาจจะเป็นการแนะนำซักซ้อมให้เป็นการส่วนตัว เป็นครั้งคราว หรือจัดกลุ่มฝึกพูดขึ้น โดยมีการฝึกฝนกันเป็นประจำก็ได้
ท่านต่อไป คือ ดร.สวัสดิ์ บรรเทิงสุข ได้กล่าวถึงวิธีการฝึกฝนการพูดไว้อย่างละเอียดว่าสมารถกระทำได้ ๒ วิธีคือ
๑. การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ
๒. การฝึกพูดแบบเป็นทางการ
     ซึ่งแต่ละวิธีผู้เรียบเรียงใคร่ของนำเสนอไว้พอสังเขป ดังนี้

วิธีแรก การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ
     การฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการ หมายถึง การฝึกพูดที่มิได้จัดเป็นรูปแบบที่แน่นอน ซึ่งได้แก่ การฝึกพูดด้วยตนเอง การฝึกพุดเช่นนี้ ผู้พูดต้องอาศัย ความอดทนอย่างยอดเยี่ยมประกอบกับความตั้งใจจริงเป็นพลังอันสำคัญ ข้อแนะนำสำหรับการฝึกพูด แบบไม่เป็นทางการ หรือการฝึกพูดด้วยตนเองนั้น มีลำดับขั้นในการปฏิบัติดังนี้
๑. จงเป็นนักอ่านที่ดี โดยการอ่านตำราและข้อแนะนำการพูดให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้
๒. จงเป็นนักฟังที่ดี โดยการติดตามฟังการพูดในทุกโอกาสให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งการพูดของนักพูดที่มีชื่อเสียงและนักพูดทั่ว ๆ ไปแล้วพยายามวิเคราะห์ว่าสิ่งใดที่ผู้พูดทำได้เหมาะสมหรือสิ่งใดไม่ควรทำ
๓. จงใช้เครื่องบันทึกเสียงให้เป็นประโยชน์ โดยการบันทึกการพูดที่ดีเอาไว้ แล้วเปิดฟังให้บ่อยที่สุดจนจำได้ขึ้นใจว่าตอนใดเป็นตอนที่ดีที่สุด ตอนใดเด่น ตอนใดด้อย เพราะเหตุใด
๔. จงบันทึกเสียงพูดของท่าน โดยการบันทึกทั้งการพูดในที่ชุมนุมชน และการพูดคนเดียว แล้วเปิดฟังบ่อย ๆ ให้ขึ้นใจว่าตอนใดว่าด้อย ตอนใดเด่น เพราะเหตุใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเดียวกัน จงบันทึกและฟังเสียงของท่านเองหลาย ๆ ครั้ง เพื่อที่จะได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องให้ได้
๕. จงพยายามหาโอกาสฝึกพูดต่อหน้ากระจกเงา โดยการพูดแลฝึกฝนการใช้ท่าทางประกอบโดยไม่กระดากอายหรือเคอะเขิน เพราะวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง
     ๖. จงเริ่มฝึกหัดด้วยความมุ่งมั่นจากง่ายไปหายามเป็นลำดับ ดังนี้
๖.๑ การพูดให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นรูปธรรม
๖.๒ การพูดอธิบายคำพังเพยหรือภาษิต
๖.๓ การพูดเพื่อให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นนามธรรม
๖.๔ การพูดเพื่อให้เหตุผลสนับสนุน
๖.๕ การพูดเพื่อให้เหตุผลคัดค้าน
๖.๖ การพูดในเชิงอภิปรายหรือวิจารณ์

     ๗. จงฝึกเขียนประกอบการฝึกพูด โดยการร่างประกอบให้ครอบคลุมสิ่งที่พูดไว้ทั้งหมดแล้วอ่านซ้ำหลาย ๆ เที่ยว หลังจากนั้นจงฝึกพูดจากบันทึก จนกระทั่งพูดโดยไม่มีบันทึกหรือใช้บันทึกแต่น้อย
     ๘. จงอย่าละเลยเมื่อมีโอกาสที่จะได้พูดจริง ๆ ต่อหน้าผู้ฟัง โดยการเตรียมตัวให้มากจนเกิดความมั่นใจ บางตอนที่สำคัญท่านจะต้องท่องจำให้ได้ โดยเฉพาะการขึ้นต้น และการจบจะต้องท่องจำเอาไว้ให้ได้
     ๙. จงเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ลอกเลียนแบบอย่างใด ๆ ไปทั้งหมด จงนึกอยู่เสมอว่าท่านมิได้กำลังพูดแทนใคร แลไม่มีใครพูดแทนท่านได้ ท่านล้มเหลวในแบบของท่านเองดีกว่าท่านชนะในแบบของผู้อื่น

วิธีที่สอง การฝึกพูดแบบเป็นทางการ
     การฝึกพูดแบบเป็นทางการ หมายถึง การฝึกพูดที่มีรูปแบบที่แน่นอน มีบทฝึก มีขั้นตอนโดยเฉพาะ ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง การฝึกพูดแบบ เป็นทางการที่ปฏิบัติกันอยู่ในสโมสรฝึกพูดต่างๆ โดยสรุปเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้
๑. โครงสร้างของสโมสรฝึกพูด
 ๒. ขั้นตอนการฝึกพูด
๓. การดำเนินรายการฝึกพูด

๑. โครงสร้างของสโมสรฝึกพูดล
     โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างของสโมสรฝึกพูด จะจัดเป็นรูปคณะกรรมการเช่นเดียวกันกับสโมสรทั่ว ๆ ไป คือ มีนายกสโมสร อุปนายก เลขานุการ เหรัญญิก ปฏิคม และประชาสัมพันธ์ ซึ่งในแต่ละสโมสรอาจมีหน้าที่ต่างๆ แตกต่างกัน ไปได้
๒. ขั้นตอนการฝึกพูด
     ขั้นตอนการฝึกพูดของสโมสรฝึกพูดนั้น มักจะดำเนินการเป็น ๔ ขั้นตอน คือ
     ๒.๑ การฝึกพูดแบบฉับพลัน ได้แก่ การเชิญให้สมาชิกพูดในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งโดยที่ผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวมาล่วงหน้าจะใช้เวลาการพูดเพียง ๒-๓ นาที
     ๒.๒ การฝึกพูดแบบเตรียมตัว ได้แก่ การฝึกพูดในบทเรียนหรือเนื้อหาและบทฝึกพูดตามมุ่งหมายของบทเรียนหรือบทฝึกที่มีความมุ่งหมายเฉพาะ อย่างกำหนดไว้ จะมีเวลาในการพูด ๕-๗ นาที และผู้พูดมีโอกาสเลือกเรื่องที่จะพูดได้ตามต้องการ
     ๒.๓ การวิจารณ์การพูด ได้แก่ ขั้นตอนที่ผู้พูดหรือสมาชิกฝึกพูด ได้รับการประเมินผล และคำแนะนำในการแก้ข้อบกพร่อง ของแต่ละคนสำหรับเป็นข้อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นสำหรับการพูดครั้งต่อไป

๓. การดำเนินรายการฝึกพูด
     การดำเนินรายการฝึกพูดของสโมสรแต่ละแห่ง อาจมีข้อแตกต่างกันไปบ้าง ตามความเหมาะสม แต่โดยมาก มักมีการกำหนด นัดหมาย ให้มีรายการฝึกพูด สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ประมาณ ๒ - ๓ ชั่วโมง โดยมีรายการเป็นลำดับ ส่วนท่านสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ เพียรศักย์ ศรีทอง ซึ่งได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติในการฝึกฝนการพูดไว้อย่างละเอียด และน่าสนใจมาก โดยพอจะเรียบเรียงเป็นขั้นตอน ได้ดังนี้
๑. การฝึกฝนให้รู้จักแสวงหาความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ควรต้องฝึกดังเรื่องในต่อไปนี้
๑.๑ ฝึกนิสัยรักการอ่าน
๑.๒ ฝึกนิสัยรักการฟัง
๑.๓ ฝึกนิสัยในการคิดสร้างสรรค์
๑.๔ ฝึกจดจำเรื่องราวต่าง ๆ
ซิเซโร (Cicero) นักพูดผู้โด่งดังชาวโรมัน เมื่อ ๑๐๖ - ๖๓ ปีก่อนคริสตกาล ได้กล่าวเกี่ยวกับ ความจำของมนุษย์ไว้ว่า ความจำคือคลังและยามเฝ้าสรรพสิ่ง หมายถึง ความจำเป็นแหล่งสะสมความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์  ในเรื่องของการฝึกความจำนั้น แฮร์รี่ โลเรน กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
เทคนิคการช่วยความจำมีบทบาทสำคัญ และเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย คำว่า "นีมอนิค" (Mmemornic) แปลว่า เทคนิคการช่วยความจำนั้น มาจากคำว่า "นีมอซีน" (Mnemosyne) ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาองค์หนึ่งของชาวกรีกโบราณ ได้ชื่อว่าเป็นเทพธิดาแห่งความจำ นั่นก็แสดงว่า เทคนิคการช่วยจำมีมานานแล้ว ตั้งแต่อารยธรรมกรีกยุคต้น ๆ เป็นเรื่องที่แปลกคือ ระบบการจดจำที่สามารถฝึกฝนได้ ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้และนำมาใช้กัน คนที่รู้จักนำมาใช้ ไม่เพียงแต่จะแปลกใจ ที่ตนมีความสามารถในการจดจำดี แต่ยังแปลกซ้ำไปอีกที่ได้รับแต่คำชมเชย ยกย่องจากเพื่อนฝูง และสมาชิกของครอบครัว บางคนเห็นว่าเทคนิคการจำเหล่านี้มีค่าเกินกว่า จะไปถ่ายทอดให้คนอื่น

๒. ฝึกกล่าวคำพูดให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษาพูด
     การฝึกพูดของนักพูดทั้งหลาย สิ่งแรกที่ควรให้ความสนใจ ก็คือ ฝึกการออกเสียงภาษาที่พูดให้ถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะ การออกเสียงพยัญชนะให้ถูกต้องชัดเจน กรณีที่ไม่ออกเสียงเหมือนอักษรที่เขียนมีอยู่ ๒ ชนิด ที่ทำให้คนส่วนหนึ่ง รำคาญหู คือ
     ๑. ตัว "ร" กลายเป็น "ล" การกระทำเช่นนี้บางครั้งอาจทำให้สื่อความหมายผิดไปได้
     ๒. ตัวกล้ำ เช่น พูดว่า "ปับปุง" แทนที่จะออกเสียงกล้ำว่า "ปรับปรุง"     ถ้อยคำที่คนส่วนใหญ่ออกเสียงผิด พอจะยกตัวอย่างได้ไม่ยาก อาทิเช่น
๒.๑ ถ้อยคำที่เขียนด้วย "ร" และ "ล" ๒.๒ ถ้อยคำที่ออกเสียงเป็นเสียงควบคล้ำ เช่น กว้างขวาง ไขว้เขว พลัดพราก คลี่คลาย เพลิดเพลิน แพร่พราย ตรวจตรา ตรึงตรา ฯลฯ ๒.๓ ถ้อยคำที่เป็นคำศัพท์ต่าง ๆ ในภาษาไทยเรามีการสร้างคำใหม่ขึ้นมา โดยวิธีการสร้างคำสมาส คำสนธิ คำประสม คำซ้อน ฯลฯ คำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่ออกเสียงไม่เป็นไปตามรูปศัพท์ โดยเฉพาะคำศัพท์ ที่เป็นคำ สมาส หรือคำประสม เช่น
ประสบการณ์ ออกเสียงที่ถูกต้องว่า "ประ - สบ - กาน"
     กาลสมัย ออกเสียงที่ถูกต้องว่า "กาน - ละ - สะ - หมัย"
     ปรัชญา ออกเสียงที่ถูกต้องว่า "ปรัด - ยา"

     ๓. การฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง นักพูดที่ดีต้องมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง การฝึกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น แก่ตนเองจนเกิดเป็นนิสัย ผู้ฝึกจะต้องมีความตั้งใจ อดทน ฝึกฝนตนเองในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๓.๑ ฝึกสร้างพลังจิตให้มีปมเด่น
๓.๒ ฝึกตนให้เป็นคนกล้าพูด
๓.๓ ฝึกการใช้สายตาและกิริยาท่าทางเวลาพูด

๔. ฝึกตนให้เป็นคนมีความอดทนอดกลั้นต่อ อิฏฐารมณ์และอริฏฐารมณ์ จะต้องฝึกตนเกี่ยวกับการอดทน ต่ออากัปกิริยาต่าง ๆ ของผู้ฟัง เพราะการพูดทุกครั้ง ย่อมได้รับปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ฟัง ทั้งทางบวก และทางลบ การหักห้ามอารมณ์ และรู้จักข่มใจตนเอง จึงเป็นสิ่งที่นักพูดต้องฝึกฝนให้ได้ โดยอาศัยหลักในการฝึกฝนดังนี้
๔.๑ ฝึกระงับอารมณ์ต่าง ๆ
๔.๒ ฝึกวางเฉยให้ได้ (อุเบกขา)
๔.๓ ฝึกการไม่ตอบโต้ผู้ฟัง
๔.๔ ฝึกไม่วางโตเหนือผู้ฟัง
๔.๕ ฝึกสร้างพลังใหม่ ๆ

๕. ฝึกการพัฒนาบุคลิกในการพูด
     ดร.ประดินันท์ อุปรมัย ได้แบ่งกลุ่มนักจิตวิทยาที่อธิบายพัฒนาการทางบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็นกลุ่ม ๔ กลุ่ม ตามวิธีการศึกษาทัศนะ คือ
๑. นักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ ซึ่งใช้วิธีการศึกษาบุคลิกภาพของบุคคล ด้วยการวิเคราะห์จิตของคนไข้โรคจิตเป็นส่วนใหญ่
๒. นักจิตวิทยากลุ่มเน้นลักษณะของบุคคล ซึ่งใช้วิธีศึกษาบุคลิกภาพของบุคคลปกติทั่วไป โดยเน้นศึกษาลักษณะของบุคคลเป็นสำคัญ
๓. นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งใช้วิธีศึกษาพฤติกรรมของบุคคล โดยนำเอาความรู้พื้นฐาน ที่ได้จากการทดลองกับสัตว์ มาประยุกต์ กับการศึกษาพฤติกรรมของบุคคล
๔. นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ซึ่งมีความเชื่ออย่างลึกซึ้ง ในเรื่อง แนวโน้มในการพัฒนาศักยภาพแห่งตน และมีพื้นฐานความเชื่อในปรัชญาอัตภาวนิยม
     จากแนวคิดที่นักจิตวิทยาได้ให้ทัศนะในการพัฒนาบุคลิกภาพไว้นี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาบุคลิกภาพ จะต้องมีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน และหลาย ๆ วิธี ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ การพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้เวลาในการพัฒนา

อ้างอิง: มหาวิทยาลัยศรีปทุม. 2546. การเตรียมตัวและการฝึกฝนการพูดเบื้องต้น. [Online]./Available: url:
http://komut.spu.ac.th/somkiart/talk2.html#

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘