พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้า 021-025

     แม้ครั้งที่สาม บิดาของพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์ นี้
ทรัพย์ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วน
ของปู่ต่างหาก พ่อสุทินน์ พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติ และบำเพ็ญบุญ
มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
    ท่านพระสุทินน์ตอบว่า คุณโยม รูปขอพูดกะคุณโยมบ้าง ถ้าคุณโยมไม่ตัดรอน.
    บ. พูดเถิด พ่อสุทินน์.
    สุ. คุณโยม ถ้าเช่นนั้น คุณโยมจงสั่งให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ๆ บรรจุเงินและทอง
ให้เต็มบรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในกระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี การเฝ้ารักษาก็ดี อันมี
ทรัพย์นั้นเป็นเหตุ ที่จักเกิดแก่คุณโยมนั้น จักไม่มีแก่คุณโยมเลย.
    เมื่อท่านพระสุทินน์กล่าวอย่างนี้แล้ว บิดาของท่านได้มีความไม่พอใจว่า ไฉนลูกสุทินน์
จึงได้พูดอย่างนี้ และแล้วได้เรียกปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์มาบอกว่า ลูกหญิง เพราะเจ้า
เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง.
    ทันใดนั้น นางได้จับเท้าท่านพระสุทินน์ถามว่า ข้าแต่ลูกนาย นางอัปสร ผู้เป็นเหตุให้
ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้น ชื่อเช่นไร?
    น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย พระสุทินน์
ตอบ.
    บัดดล นางน้อยใจว่า สุทินน์ลูกนาย เรียกเราด้วยถ้อยคำว่า น้องหญิง ในวันนี้
เป็นครั้งแรก แล้วสลบล้มลงในที่นั้นเอง.
    ท่านพระสุทินน์ได้กล่าวคำนี้กะบิดาว่า คุณโยม ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มีอยู่ ก็จงให้เถิด
อย่ารบกวนรูปเลย.
    ฉันเถิด พ่อสุทินน์ มารดาบิดาของท่านพระสุทินน์กล่าวดังนี้แล้ว ได้อังคาสท่าน
พระสุทินน์ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตร และแล้วมารดาของ
ท่านพระสุทินน์ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ผู้ฉันเสร็จ ลดมือจากบาตรแล้วว่า พ่อสุทินน์
สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก
มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญ
บุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.

    คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
    แม้ครั้งที่สอง มารดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์
สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก
มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญ
บุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
    คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
    แม้ครั้งที่สาม มารดาของท่านพระสุทินน์ก็ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า พ่อสุทินน์
สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและมีเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก
มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อสุทินน์ ดังนั้น พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้
ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสีย.
    สุ. คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้.
    ม. พ่อสุทินน์ ก็เวลานี้พ่อพำนักอยู่ที่ไหน?
    ที่ป่ามหาวันจ้ะ ท่านพระสุทินน์ตอบ และแล้วได้ลุกจากอาสนะหลีกไป.
                            เสพเมถุนธรรม
    [๑๗] หลังจากนั้น มารดาของท่านพระสุทินน์สั่งกำชับปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์
ว่า ลูกหญิง ถ้ากระนั้นเมื่อใดเจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าพึงบอกแก่แม่.
    นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์แล้ว ต่อมาไม่ช้านัก นางได้มีระดู ต่อมโลหิตได้
เกิดขึ้นแก่นาง นางจึงได้แจ้งแก่มารดาของท่านพระสุทินน์ว่า ดิฉันมีระดู เจ้าค่ะ ต่อมโลหิตเกิดขึ้น
แก่ดิฉันแล้ว.
    มารดาของท่านพระสุทินน์กล่าวว่า ลูกหญิง ถ้ากระนั้น เจ้าจงแต่งตัวด้วยเครื่องประดับ
อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่พอใจ.
    จ้ะ คุณแม่ นางรับคำมารดาของท่านพระสุทินน์แล้ว จึงมารดาพานางเข้าไปหาท่าน
พระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน แล้วรำพันว่าพ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทอง
และเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็นทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมา
เป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็น
คฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.

    คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
    แม้ครั้งที่สอง มารดาของท่านพระสุทินน์ ก็ได้รำพันว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มี
ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็น
ทรัพยากรมาก พ่อควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญ มาเถิด
พ่อสุทินน์ พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคสมบัติและบำเพ็ญบุญเถิด.
    คุณโยม รูปไม่อาจ ไม่สามารถ รูปยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ พระสุทินน์ตอบ.
    แม้ครั้งที่สาม มารดาของท่านพระสุทินน์ ก็ได้รำพันว่า พ่อสุทินน์ สกุลนี้มั่งคั่ง มี
ทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องอุปกรณ์ที่น่าปลื้มใจมาก มีข้าวเปลือกเป็น
ทรัพยากรมาก พ่อสุทินน์ ดั่งนั้นพ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติ
ของเรา อันหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้ไปเสียเลย.
    คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้รูปอาจทำได้ ท่านพระสุทินน์ตอบแล้วจูงแขนปุราณทุติยิกาพาเข้าป่า
มหาวัน เป็นผู้มีความเห็นว่าไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติ จึงเสพเมถุนธรรมกับ
ปุราณทุติยิกา ๓ ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์เพราะอัฌาจารนั้น.
                เทพเจ้ากระจายเสียง
    [๑๘] เหล่าภุมเทพกระจายเสียงว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียดไม่มีโทษ
พระสุทินน์กลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว เทพชั้นจาตุมหาราช ได้สดับเสียง
เหล่าภุมเทพแล้วกระจายเสียงต่อไป เทพชั้นดาวดึงส์ เทพชั้นยามา เทพชั้นดุสิต เทพชั้น
นิมมานรดี เทพชั้นปรนิมมิตวสวดี เทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียงแล้วกระจายเสียงกัน
ต่อๆ ไปว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ พระสุทินน์กลันทบุตรก่อ
เสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว โดยทันใดนั้น ครู่หนึ่งนั้น เสียงได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก
ด้วยอาการอย่างนี้แล.
    สมัยต่อมา ปุราณทุติยิกาของท่านพระสุทินน์ อาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น คลอดบุตร
แล้ว จึงพวกสหายของท่านพระสุทินน์ได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า พีชกะ ตั้งชื่อปูราณทุติยิกาของท่าน
พระสุทินน์ว่า พีชกมาตา ตั้งชื่อท่านพระสุทินน์ว่า พีชกปิตา ภายหลังเขาทั้งสองได้ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว.
                พระสุทินน์เกิดวิปฏิสาร
    [๑๙] ครั้งนั้น ความรำคาญ ความเดือดร้อน ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภ
ของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชใน

พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้
บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญนั้นแหละ เพราะความเดือดร้อนนั้นแหละ ท่านได้
ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ
มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาแล้ว.
    จึงบรรดาภิกษุที่เป็นสหายของท่านพระสุทินน์ ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระสุทินน์ว่า อาวุโส
สุทินน์ เมื่อก่อนคุณเป็นผู้มีผิวพรรณ มีอินทรีย์สมบูรณ์ มีสีหน้าสดใส มีฉวีวรรณผุดผ่อง
มีน้ำมีนวล บัดนี้ ดูคุณซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่ง
ด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสาร ซบเซาอยู่ คุณจะไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์กระมังหนอ?
    อาวุโสทั้งหลาย ความจริง มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระสุทินน์ค้าน
แล้วแถลงความจริงว่า เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนธรรมในปุราณทุติยิกา
ผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่ว
แล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้
แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิต ดังนี้.
    อาวุโส สุทินน์ จริง การที่คุณบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้
แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตนั้น พอที่คุณจะรำคาญ
พอที่คุณจะเดือดร้อน.
    อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด
ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่
เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลาย
ความกำหนัด คุณยังจะคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อ
ความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
    อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่ง
ราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่ง
อาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อ
ความดับทุกข์ เพื่อนิพพานมิใช่หรือ?

    อาวุโส การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การ
เพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอก
ไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ?
    อาวุโส การกระทำของคุณนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั่น เป็นไปเพื่อ
ความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใส
แล้ว.
    ภิกษุสหายเหล่านั้น ติเตียนท่านพระสุทินน์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ได้กราบทูลเนื้อ
ความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
                    ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
    [๒๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระสุทินน์ว่า ดูกรสุทินน์ ข่าวว่าเธอ
เสพเมถุนธรรม ในปุราณทุติยิกา จริงหรือ?
    ท่านพระสุทินน์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้
แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า.
    ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่
เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมี
ความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิด
เพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความ
ไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น.
    ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อ
เป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อ
เป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับ
แห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ?

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘