วิชาการพูด 01

คนพูดเป็น

เมื่อสมัยเด็ก ๆ ผมได้ยินแม่เล่าให้ฟังว่า เด็กที่เกิดมาเป็นใบ้พูดไม่ได้นั้น ส่วนใหญ่เขาจะหูหนวกประสาทการรับฟังจะไม่ดีด้วยเสมอ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ผมถามแม่ แม่เล่าว่าธรรมชาติเขาสร้างมาคู่กัน เพราะเด็กใบ้พูดไม่ได้เวลาได้ยินหรือรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากคนรอบข้างมากเข้า ๆ แล้วไม่สามารถพูดตอบโต้ได้เขาจะอัดอั้นตันใจจนอาจจะอกแตกตายได้
ผมฟังเรื่องที่คุณแม่เล่าแล้วก็นึกสงสารเด็กใบ้ที่พูดไม่ได้เหล่านั้นเหลือเกิน แล้วก็ให้หวนคิดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกนึกคิดและการสื่อสารออกมาเป็นคำพูดของมวลมนุษยชาติว่าช่างมีความสำคัญยิ่งใหญ่อะไรปานนี้
การพูดเป็นการสื่อความหมาย(Communication)ซึ่งกันและกันในสังคม ดังนั้นการพูดจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของมนุษย์เรา บางคนบอกว่าการพูดนั้นเป็นเรื่องของทั้งศาสตร์(Science)และศิลป์(Art)เพราะต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน(study and practice)และเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ(doing)  ดังนั้นการพูดจึงเป็นเรื่องของทั้งวาทศาสตร์และวาทศิลป์ประกอบกันและอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกเลยทีเดียวเชียวครับ และแม้ว่าโลกของเราจะพัฒนาไปสู่ยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม วิวัฒนาการของการพูดก็ได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา เพื่อน ๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าในสังคมที่เราอยู่ร่วมกันทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือใหญ่ก็ตาม คนที่พูดเก่ง พูดเป็น พูดได้ดี พูดแล้วน่าฟังนั้นมักจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ อยู่เสมอใช่ไหมครับ
และพวกเราทุกคนที่มาลงเรียนกระบวนวิชาการพูด(Speaking ๐๑๔๓๐๔)โดยถ้วนหน้ากันทั้ง     ชีวิตในเทอมนี้ ก็เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วนะครับว่าพวกเราต่างก็มุ่งหวังที่จะมาเรียนรู้และฝึกหัดเพื่อการเป็น "นักพูดที่ดี"กัน และแน่นอนครับเราย่อมไม่ผิดหวังแน่นอนเพราะนอกจากเราจะได้รับความรู้และการฝึกปฏิบัติจากอาจารย์ผู้สอนแล้ว วันนี้ผมยังมีเคล็ด(ที่ไม่ลับ)ของการเป็น"นักพูดที่ดี"มาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนด้วยครับ
ดังได้กล่าวมาแล้วนะครับว่า การพูดเป็นเรื่องของการศึกษาเรียนรู้และการฝึกฝนดังนั้น เรื่องของการพูดจึงเป็นเรื่งอที่ผู้อื่นเพียงแต่สามารถแนะนำหลักการให้เราเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดตัวเราเองจะต้องเป็นผู้พร้อมเสมอที่จะ"เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง"เพราะเรื่องของการพูดเก่งนั้นเป็นเรื่องของทักษะที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ไม่มีใครหรอกครับที่เกิดมาแล้วก็พูดได้เก่งเลย อย่างที่มีผู้กล่าวไว้ได้อย่างน่าคิดว่าทุกคนที่เกิดมา"พูดได้"เหมือนกันหมดแต่จะไม่ทุกคนที่"พูดเป็น"
และเคล็ดที่ไม่ลับของการเป็นนักพูดที่ดีมีประสิทธิภาพที่ผมจะนำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้ก็ไม่ใช่สิ่งสลับซับซ้อนอะไรหรอกครับ เพียงแต่เป็นหลักการที่สำคัญเอามาก ๆ ทีเดียว ที่ผู้ฝึกพูดทุกคนจะมองข้ามไปเสียมิได้เลย หลักการที่ว่านั้นมีอยู่ด้วยกัน ๑๒ ประการดังนี้ครับ
๑. เชื่อมั่นในตัวเรา         ๒.อย่าดูเบาเรื่องเเต่งกาย     ๓.ท่าทางต้องผึ่งผาย            ๔.ก้าวเดินไปอย่างมั่นใจ
๕.ทักทายให้เข้าท่า         ๖.อีกใบหน้าต้องแจ่มใส       ๗.รู้หลักการใช้ไมฯ              ๘.ภาษาไทยต้องชัดเจน
๙.น้ำเสียงดังพอเหมาะ ๑๐.สายตาเกาะกวาดทั่วเห็น  ๑๑.เวลาครบจบตามเกณฑ์ ๑๒.สรุปเน้นให้จับใจ
ประการที่ ๑ เชื่อมั่นในตัวเรา  ความเชื่อมั่นในตนเองนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้พูด ๆ ได้ดี ไม่ประหม่า กลัวหรือสะทกสะท้านต่อสิ่งใด ๆ ซึ่งความเชื่อมั่นในตัวเองนี้จะไม่สามารถมีได้เลย ถ้าหากผู้พูดปราศจาก"การเตรียมพร้อม"และ"การซักซ้อม"มาเป็นอย่างดีและเต็มที่ การจะพูดทุกครั้งเราจะต้องมีการเตรียมตัวและรู้ว่าเราจะได้พูดเรื่องอะไร ซึ่งแน่นอนเราจะพูดได้ดีเราต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูด ก่อนพูดจึงต้องมีการค้นคว้าการรวบรวมข้อมูล มีการจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา มีการเรียบเรียงบทพูดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องมีการซึกซ้อมเรื่องที่เราจะพูดนั้น ๆ หลาย ๆ รอบ เพื่อให้การพูดของเราในเวลาพูดจริงสามารถทำได้ดีที่สุด หากไม่มีการเตรียมตัวแล้ว ก็จะเข้าทำนองไป "ขึ้นเขียง"หรือไม่ก็ "ตกม้าตาย"อย่างที่ท่านอาจารย์ผู้สอนได้กล่าวไว้ไงครับ
ประการที่ ๒ อย่าดูเบาเรื่องแต่งกาย การแต่งกายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพของผู้พูดว่าเป็นเช่นไร และสามารถสร้างความเชื่อถือสนใจใคร่ฟังให้แก่ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ผู้พูดจะต้องแต่งกายให้สะอาด เรียบร้อย เหมาะสมกับสมัยนิยม ที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงกาละเทศะ โอกาสและสถานที่ ๆ เราจะไปพูดว่าเป็นงานอะไร ตัวอย่างเช่นผู้ชายไม่ควรใส่เสื้อยืดกางเกงยีน หรือแต่งเครื่องแบบแต่เสื้อและกางเกงคนละสีกัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็ไม่ควรนุ่งสั้นและเปิดเผยจนเกินไป เป็นต้น รวมทั้งเรื่องของทรงผม ใบหน้า เข็มขัด รองเท้า เน็คไทล์ กลิ่นตัว กลิ่นปาก ฯลฯ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้าเราดูเบาหรือปล่อยปละละเลยก็จะทำให้บุคลิกภาพของเราด้อยหรือเด่นจนเกินไป ซึ่งจะมีผลเสียต่อทัศนคติที่คนฟังมีต่อผู้พูดได้
ประการที่ ๓ ท่าทางต้องผึ่งผาย โดยทั่วไปท่าทางในขณะพูดถ้าหากเป็นการยืนพูดก็มักจะวางมือไว้ข้างลำตัวอย่างสบาย ๆ หรือไม่ก็ประสานมือไว้ด้านหน้าบริเวณท้อง ถ้าหากมีโต๊ะหรือแท่นยืนอยู่ข้างหน้าก็มักจะวางมือไว้บนโต๊ะหรือแท่นยืนนั้นเสมอ แต่ในบางครั้งการแสดงท่าทางประกอบการพูด เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และทำให้การพูดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะชอบภาพที่เคลื่อนไหวมากกว่าภาพนิ่ง แต่การเเสดงท่าทางประกอบการพูดนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่องที่พูด และจะต้องพอเหมาะพอควรไม่ขัดตาผู้ฟังเพราะความเก้งก้างจนเกินไป ประการสำคัญการใช้ท่าทางประกอบการพูดนั้นจะต้องเรียบร้อย สุภาพ ไม่ซ้ำซากและดูมีชีวิตชีวาด้วย
ประการที่ ๔ ก้าวเดินไปอย่างมั่นใจ การเดินเป็นการเคลื่อนไหวเริ่มแรกที่สะดุดตาหรือเป็นจุดสนใจของผู้ฟังและเป็นส่วนสำคัญของบุคลิกผู้พูดด้วย ทุกสายตาจะจ้องมองมานับตั้งแต่ผู้พูดลุกจากที่นั่งเดินขึ้นเวที เพราะฉะนั้น การก้าวเดินขึ้นหรือบงจากเวที ผู้พูดจะต้องก้าวเดินด้วยฝีเท้าพอเหมาะไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ต้องไม่เดินหลังโกงหรือยืดหน้าอกหรือกระมิดกระเมี้ยน ระวังอย่าให้หัวไหล่ตึงและทื่อ ขณะเดินก็แกว่งแขนตามสบาย แต่ไม่แกว่งมาจนเกินไปหรือไม่แกว่งเลย เดินขึ้นเวทีอย่างสง่างาม ศรีษะตรง แม้ผู้พูดยังไม่มีคำพูดออกจากปากสักคำ แต่นับแต่ผู้พูดเริ่มเคลื่อนไหวก็เป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ฟังแล้วครับ
ประการที่ ๕ ทักทายให้เข้าท่า การปฏิสันถารทักทายผู้ฟังก่อนพูด เป็นธรรมเนียมที่ผู้พูดจะละเว้นมิได้เลย ไม่ใช่ว่าพอขึ้นเวทีก็ชักยาวเนื้อหาเลย การทักทายผู้ฟังนอกจากจะเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหายังเป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองกับผู้ฟัง ทำให้ลดความเกร็งหรือประหม่าลงได้ การทักทายผู้ฟังนั้นจะต้องดูสถานการณ์งานที่เราพูดว่าเป็นงานแบบพิธีการหรือไม่ใช่งานพิธีการ เพราะเราจะทักแบบสุ่มสี่สุ่มห้ามิได้ เช่น ถ้าเป็นการเป็นงานคำทักก็มักจะพูดเฉพาะตำแหน่งของประธานหรือผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานเท่านั้น คำแสดงความสนิทสนม เช่นที่รัก ที่เคารพ ก็จะเหมาะสมกับการพูดแบบไม่เป็นพิธีการมากกว่า อีกประการหนึ่งระหว่างที่ทักทายนั้น คำที่ใช้เรียกผู้ฟังอาจเป็นคำที่แสดงความยกย่อง ให้เกียรติ หรือแสดงความเป็นพวกเดียวกัน เช่น ท่าน,พี่น้อง,เรา,พวกเรา,เพื่อน ๆ,น้อง ๆ เป็นต้น
ประการที่ ๖ อีกใบหน้าต้องแจ่มใส การแสดงออกทางสีหน้าของผู้พูดเป็นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการเป็นนักพูดที่ดี เพราะนอกจากผู้ฟังจะฟังน้ำเรียงเสียงปากแล้วผู้ฟังก็จะดูหน้าผู้พูด เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องที่ตนพูดอย่างลึกซึ้ง เราก็ต้องใส่ความรู้สึกลงไปในใบหน้าด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องที่ตนเองพูดและอากัปกิริยาอื่น ๆ พูดเรื่องเศร้ามากกลับทำหน้าระรื่น หรือพูดเรื่องตลกกลับทำหน้าเคร่งขรึม เป็นต้น ก็ไปด้วยกันไม่ได้ แต่โดยปกติถ้าพูดเรื่องทั่ว ๆ ไป ผู้พูดควรจะกระทำสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มีสีหน้าเปิดเผย บรรยากาศจึงจะไม่เครียดและรู้สึกเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังครับ
ประการที่ ๗ รู้หลักการใช้ไม(โครโฟน) ในกรณีที่การพูดนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ไมโครโฟนเพื่อกระจายเสียงให้ได้ยินโดยทั่วกัน ซึ่งเราจะพบอยู่บ่อย ๆ ในปัจจุบัน การพูดโดยใช้ไมโครโฟนนั้นมีหลักคือ เราต้องกะระยะห่างระหว่างปากกับไมโครโฟนให้พอเหมาะไม่ใกล้เกินไปหรือไกลเกินไป คนที่รู้ตัวเองพูดเสียงดังเสียงมีพลัง ก็ไม่ควรให้ไมโครโฟนใกล้ปากเกินไป คนที่มีพลังเสียงน้อยก็อาจจะขยับไมโครโฟนให้ใกล้ปากนิดหนึ่ง โดยปกติทั่วไปการตั้งระยะห่างระหว่างปากกับไมโครโฟนไม่ควรห่างเกิน ๕-๖ นิ้ว การปรับไมโครโฟนควรปรับให้ตรงปากและเหมาะสมกับความสูงของผู้พูดพอดี ไม่ควรมองไมโครโฟนในขณะพูด และไม่ควรพูด”ฮัลโหล ฮัลโหล”หรือกระแอมกระไอใส่ไมโครโฟนก่อนพูดเด็ดขาด ในกรณีไมโครโฟนมีขาตั้งก็ไม่ควรถอดออกมาจับอีก เมื่อพร้อมที่จะพูดแล้วก็พูดไปเลยด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มครับ
ประการที่ ๘ ภาษาไทยต้องชัดเจน มีความสำคัญอย่างมากที่ผู้พูดจะต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องกับความนิยมของกลุ่มผู้ฟัง เพราะนอกจากจะใช้ภาษาเป็นสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวเเล้ว ภาษาของผู้พูดยังสื่อให้เห็นถึงรสนิยม ระดับภูมิความรู้การศึกษาของผู้พูดอีกด้วย หลักสำคัญก็คือ ผู้พูดควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบุคคล สถานที่และโอกาส โดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้ฟัง ควรใช้ภาษาสุภาพ เน้นภาษาสนทนา ใช้คำง่าย ๆ เรียบ ๆ สั้น ๆเพื่อความเป็นธรรมชาติและเป็นกันเอง ควรใช้สรรพนามบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ดูสนิทสนม ที่สำคัญอีกอย่างคือ การออกเสียงควบกล้ำ ร,ล ควรถูกต้องและชัดเจนที่สุด พยายามพูดให้ชัดถ้อยชัดคำเป็นจังหวะจะโคนสม่ำเสมอ และไม่ควรมองข้ามเรื่องของสำนวน ศัพท์แสงต่าง ๆ ที่ถูกต้องและทันยุคทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้พูดที่ดีก็คือผู้ค้นคว้าเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ไว้ในคลังปัญญาของตนได้มากที่สุดและพร้อมใช้อยู่เสมอนั่นเอง
ประการที่ ๙ น้ำเสียงดังพอเหมาะ  น้ำเสียงของผู้พูดสามารถที่จะบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดได้เป็นอย่างดี ผู้พูดยินดีที่จะพูด เสียงที่พูดนั้นก็จะสะท้อนทัศนคติและความรู้สึกออกมาให้เห็นอยู่เสมอ การพูดที่ดีนั้นน้ำเสียงจะต้องดังพอสมควร ให้ได้ยินทั่วกัน ความเร็ว,กำลังและหางเสียงจะต้องมีความสมดุลกัน ไม่เร็ว,รัว หรือช้าเกินไป ไม่ดังหรือเบาเกินไป ออกเสียงชัดเจน พอเหมาะและถูกต้องตามความนิยมของสังคม เสียงที่พูดควรจะเป็นเสียงที่แจ่มใส นุ่มนวลชวนฟัง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกนิยมชมชอบและนับถือในตัวผู้พูด การพูดควรมีหางเสียงเสมอ ไม่ควรใช้เสียงเนือย ๆ หรือเสียงระดับเดียวกันตลอดการพูดควรใช้เสียงสูงบ้างต่ำบ้างสลับกันไปตามเรื่องราวที่พูด เพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อและรู้สึกน่าติดตามการพูดของเราไงครับ
ประการที่ ๑๐ สายตาเกาะกวาดทั่วเห็น สายตานั้นสามารถสร้างความสัมพันธ์และถ่ายทอดความรู้สึกของผู้พูดไปสู่ผู้ฟังได้ ในขณะที่พูดเราควรจะกวาดสายตาไปยังผู้ฟังให้ทั่วกน อาจจะจากซ้ายไปขวาหรือจากขวาไปซ้าย หากสบตาผู้ฟังก็จงแสดงความจริงใจออกมาทางสายตาในขณะนั้น ๆ พยายามมองผู้ฟังอยู่ตลอดเวลา แสดงให้ผู้ฟังเห็นว่าเราสนใจผู้ฟังอยู่ตลอด ผู้ฟังก็จะสนใจฟังเรา หลีกเลี่ยงการมองพื้น เพดาน ประตู หรือมองข้ามผู้ฟังไปผนังหลังห้องหจ้องมองออกนอกห้องไป หรือมองเฉพาะผู้ฟังคนใดคนหนึ่งอยู่เพียงจุดเดียว เพราะจะทำให้เสียบุคลิกภาพของผู้พูดทันที พึงระลึกอยู่เสมอว่า”ปากพูดตาต้องมอง”ด้วยครับ
ประการที่ ๑๑ เวลาครบจบตามเกณฑ์ ผู้พูดควรใช้เวลาในการพูดครบตรงตามที่ได้กำหนดไว้ เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าผู้พูดสามารถบริหารเวลาเป็นแล้ว ผู้พูดก็จะได้รับความเชื่อถือจากผู้ฟังเป็นอย่างดีด้วย ดังนั้นผู้พูดควรพูดให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ไม่ด่วนจบก่อนหมดเวลาหรือไม่ก็ยืดเยื้อกินเวลาของผู้พูดคนอื่น เพราะอาจทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเบื่อ จะส่งผลเสียทั้งต่อตัวผู้พูดเองและเวลาที่ได้กำหนดกิจกรรมอื่นไว้ด้วย การบริหารเวลาเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ และสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมคือจัดการเรื่องเวลาให้พอเหมาะกับเนื้อหาก่อนจะขึ้นพูดนั่นเอง
ประการที่ ๑๒ สรุปเน้นให้จับใจ บทสรุปก่อนจะจบการพูดมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเริ่มพูดเลย เราควรนะจบการพูดด้วยคำพูดที่ประทับใจ สร้างสรรค์ สามารถตราตรึงอยู่ในความรู้สึกและความทรงจำของผู้ฟังได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญก็คือผู้พูดจะต้องสรรหาคำที่สื่อให้ผู้ฟังเห็นว่าผู้ฟังได้รับประโยชน์จากการฟังครั้งนี้ ซึ่งสามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เป็นต้นว่าอาจจะเป็นข้อคิดสะกิดใจ บทกวี คำคม หลักธรรม คำเชิญชวนต่าง ๆ โดยทั่วไปควรจะเป็นการสรุปจบที่สั้น กระชับ จำง่าย และให้ประโยชน์แก่ผู้ฟังได้เป็นสำคัญครับ
เห็นไหมครับว่าสูตรสำเร็จการฝึกพูดทั้ง ๑๒ ข้อนี้สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพการพูดของเราให้เป็นนักพูดที่ดีได้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่าพวกเราจะต้องมีใจรักที่จะฝึกฝนตนเอง เพิ่มความขยันในการฝึกพูดบ่อย ๆ หาโอกาสพูดเพื่อเป็นการฝึกไปในตัวอยู่เสมอ ๆ แต่ต้องไม่ลืมที่จะรับฟังปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากผู้ฟังรอบข้างและหลักการพูดที่ดีหรือคำเเนะนำจากท่านผู้รู้หลากหลาย เพื่อเป็นกระจกส่องตัวเราได้ปรับปรุงตัวเองในสิ่งที่เห็นว่ายังบกพร่อง และพัฒนาสิ่งที่ดีแล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เเล้วการเป็น"นักพูดมีระดับ"หรือการเป็นคนที่ได้ชื่อว่า “พูดเป็น”ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันสำหรับพวกเราอีกต่อไปครับ

        ปากกับใจ        สื่อสัมพันธ์    สรรค์คำพูด
        ปากเป็นทูต    ให้งานสำเร็จ    เสร็จสมหมาย
        ปากแสนดี    พูดเข้าท่า    พาสบาย
        ปากอันตราย    ตายเพราะปาก    ก็มากมี
        ปากมงคล    หนึ่งนั้นคือ    ถือประโยชน์
        สองพูดเพราะ    เสนาะโสต    โทษห่างหนี
        สามพูดแท้    แต่ความจริง       สิ่งที่ดี
        พึงตระหนัก      สามหลักนี้    "ปากดี"เอยฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘