[543][108] เรียนภาษาอังกฤษไม่ต่างจากวิ่งมินิมาราธอน

สวัสดีครับ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมไปวิ่งมินิมาราธอนที่สวนสมเด็จย่าใกล้เมืองทองธานี วิ่ง
บ้าง เดินบ้างตลอดช่วง 15.5 กม. ผมวิ่งติดกลุ่ม 10 คนสุดท้ายที่เข้าเส้นชัย รู้สึกหมดแรงนิดหน่อยเพราะไม่ค่อยได้ซ้อม และคราวนี้วิ่งไกลกว่าปกติซึ่งมักจะประมาณ 10 กม. แต่พอวิ่งเสร็จก็รู้สึกสดชื่นครับ สดชื่นไปทั้งวัน อาจจะเป็นเพราะฤทธิ์ของ endorphin ที่หลั่งออกมาก็ได้

ผมขออนุญาตเล่าให้ท่านผู้อ่านที่ไม่ คุ้นเคยกับการไปร่วมวิ่งมินิมาราธอนได้ทราบสักนิดนะครับ ในเมืองไทยเรานี่มีการจัดวิ่งมินิมาราธอนแทบทุกสัปดาห์หรือทุกสัปดาห์ก็ว่า ได้ ถ้าเราจะไปร่วมวิ่งกับเขา ก็จ่ายค่าสมัครคนละ 200 บาท (ราคามาตรฐาน) เขาจะให้เสื้อวิ่งมา 1 ตัวพร้อมป้ายหมายเลขวิ่ง ซึ่งมักจะแบ่งเป็นประเภทหญิง-ชาย และแบ่งกลุ่มอายุผู้วิ่งออกเป็นกลุ่มละ 5 ปีหรือบางสถานที่ก็ 10 ปี ใครที่เข้าเส้นชัยระดับต้น ๆ ก็จะได้ถ้วย กลุ่มนี้มี technical term ที่เราเรียกเขาว่า ‘แนวหน้า’ ส่วนคนอื่น ๆ ที่วิ่งครบตามระยะทางก็จะได้เหรียญเป็นที่ระลึกถือกลับบ้าน เงินที่เขาเก็บไปจากเรา 200 บาท โดยปกติเมื่อหักค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื้อ ค่าเหรียญ และค่าจัดการต่าง ๆ แล้ว ก็จะเหลือเงินจำนวนหนึ่งที่ผู้จัดจะบอกไว้ก่อนเลยว่าจะเอาไปทำอะไร อย่างวันอาทิตย์ที่ผมไปวิ่งนี้เขาจะเอาไปซื้อเสื้อเกราะให้ทหารซึ่งประจำการ อยู่ที่ 4 จังหวัดภาคใต้

ผมเพิ่งจะไปวิ่งมาราธอนกับเขาไปสัก 2 ปีเท่านั้นเอง ปีหนึ่งๆก็วิ่งแค่ 10 กว่าครั้ง ส่วนวันธรรมดาถ้าไม่ขี้เกียจเกินไปก็จะวิ่งแถว ๆ หมู่บ้านที่พักอยู่

ผม ขอเข้าเรื่องที่ผมอยากจะพูดในวันนี้เลยนะครับ คือ จาก comment ที่ผมได้รับจากท่านผู้อ่านบางท่าน – หลายท่าน ที่เข้ามาเยี่ยมชม Blog นี้ ทำให้ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า คนที่ฟิตภาษาอังกฤษไม่ต่างอะไรจากนักวิ่งมินิมาราธอนเลยในเรื่องกำลังกายและ กำลังใจ ผมขอสาธยายให้ฟังดังนี้ครับ

ตามปกติเมื่อพูดถึงนักวิ่ง มาราธอน คนทั่วไปก็มักจะนึกว่าต้องมีกำลังดีหรือแรงดีถึงจะวิ่งได้ เรื่องนี้จริงครับ ถ้าไม่มีแรงก็คงวิ่งไมไหว ออกนอกเส้นทางก่อนถึงเส้นชัย แต่คำว่า ‘แรงดี’ หรือ ‘กำลังดี’ นี้ มันต้องบวกกันทั้งแรงกายและแรงใจ และผมอยากจะบอกว่า ใน 2 แรงนี้ ‘แรงใจ’ สำคัญกว่า ‘แรงกาย’ ครับ

ท่าน ผู้อ่านลองคิดดูเล่น ๆ ก็ได้ครับ ปกติมินิมาราธอนแทบทุกนัดจะออกวิ่งเวลา 6 โมงเช้า เพราะถ้าออกวิ่งสายเกินไปแดดจะร้อนและวิ่งเหนื่อยง่าย และจะต้องไปแย่งใช้ถนนที่รถวิ่งออกมาจากบ้านเรือนแม้ว่าวันที่วิ่งมักจะเป็น วันอาทิตย์ที่รถบนถนนน้อยก็ตาม นั่นหมายความว่าท่านอาจจะต้องตื่นนอนเวลาตี 4 หรือ ตี 5 เพื่อจัดการตัวเอง และเดินทางไปให้ถึงสถานที่วิ่งประมาณตี 5 ครึ่งเพราะต้องเผื่อเวลา warm up ด้วย ผมเคยได้ยิน ‘ป้าไฝ’ นักวิ่งวัยกว่า 70 ซึ่งขาวิ่งทั้งหลายรู้จักดี ป้าไฝบอกว่า ‘ไอ้พวกที่ออกมาวิ่งนี่บ้า ๆ ทั้งนั้นแหละ เช้า ๆ วันอาทิตย์อย่างนี้ใคร ๆ เขาก็นอนตื่นสายอยู่กับบ้านทั้งนั้น นี่ออกจากบ้านมาทำอะไรก็ไม่รู้’ คำว่า ‘บ้า’ ของป้าไฝ ถ้าให้ผมแปลก็ขอแปลว่า ‘มีใจรัก’ และเมื่อมีใจรักก็จะมี ‘กำลังใจ’

ท่านที่รักการศึกษาภาษาอังกฤษอย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ผมขอพูดถึงเรื่องวิ่งมินิมาราธอน แล้วจะย้อนกลับให้เห็นชัด ๆ ในตอนหลังว่า คนที่ฟิตภาษาอังกฤษเหมือนกับนักวิ่งมินิมาราธอนได้ยังไง

กำลังใจของนักวิ่งมินิมาราธอนมี 2 อย่างครับ คือ กำลังใจที่ให้แก่ตัวเอง และกำลังใจที่ให้แก่กันและกัน ขอพูดทีละอย่างครับ

กำลังใจอย่างที่หนึ่ง คือ กำลังใจที่ให้แก่ตัวเอง - - จากที่สังเกตดูหลายครั้งแล้ว ผมพูดได้เลยว่า กีฬาวิ่งมาราธอนหรือมินิมาราธอนเป็นกีฬาที่เด็ก ๆ หรือวัยรุ่นไม่ค่อยนิยม ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของเขาเหมาะมากที่จะวิ่ง ช่วงวัยของนักวิ่งที่มากที่สุดก็คือ 40 ถึง 60 ปี หลายคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพถูกรุมเร้าด้วยความอ่อนแอและโรคภัย เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดเมื่อย อ้วนน้ำหนักเยอะ เบาหวาน หัวใจ ความดัน ฯลฯ และมองว่าการวิ่งน่าจะให้คำตอบได้ เขาอาจจะเริ่มต้นด้วยการเดินก่อนที่จะวิ่ง จากไม่กี่นาที-ไม่กี่กิโลเมตรค่อย ๆ ขยับขึ้นเรื่อย ๆ จากน้อยไปมาก และจากวิ่งเหยาะ ๆ แหยะ ๆ ก็ค่อย ๆ วิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ

ท่านผู้ อ่านจะเห็นได้ชัดเลยว่า และเมื่อถึงวันหนึ่งซึ่งเขาแน่ใจว่า เขามี ‘กำลังกาย’พอที่จะวิ่งบวกเดินได้ครบ 10 กม. เขาก็ไปสมัครวิ่งมินิมาราธอน แต่จุดเริ่มต้นที่เขาฟิตตัวเองให้มีกำลังกายเช่นนี้ เขาต้องมี ‘กำลังใจ’ มาก่อน เป็นกำลังใจที่เขาต้องให้แก่ตัวเอง เป็นความมุ่งมั่นที่เชื่อว่า ‘เราทำได้’ และเมื่อได้วิ่งก็จะวิ่งได้ และจะวิ่งไปได้เรื่อย ๆ บ่อยขึ้น ยาวขึ้น นานขึ้น เขาเริ่มด้วยการเป็น ‘นักทนวิ่ง’ ทนไปเรื่อย ๆก็จะค่อยๆกลายเป็น ‘นักวิ่งทน’ คือวิ่งอย่างคนมีแรง และวิ่งอย่างคนมีความสุข

กำลังใจอย่างที่สอง คือกำลังใจที่ให้แก่กันและกัน - - บรรยากาศที่นักวิ่งไปรวมตัวกันที่จุด Start ก่อนเริ่มวิ่งนั้น เป็นบรรยากาศที่ผมขอเรียกว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘Holy’ ครับ ณ ตรงนั้นเวลานั้น ไม่ว่าท่านจะรู้จักกับนักวิ่งคนอื่นมากน้อยเพียงใดก็ตาม และแม้ไม่ได้พูดกับใคร ตัวท่านเป็นกำลังใจให้นักวิ่งคนอื่น ๆ ทุกคน และเขาทุกคนก็เป็นกำลังใจให้แก่ท่าน ต่อให้เช้าวันนั้นท่านแรงไม่ค่อยดีนัก หรืออาจจะไม่สบายนิด ๆ บรรยากาศของการมีเพื่อนร่วมวิ่งจะทำให้ท่านมีกำลังใจและรู้สึกว่าท่านวิ่ง ไหว หรือยังไงก็จะขอลองวิ่งดูก่อน

และเมื่อ Start และออกวิ่งไปเรื่อย ๆ นาน ๆ เข้า ถ้าท่านซ้อมมาไม่ดีนัก ท่านอาจจะค่อย ๆ หมดแรง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าและมองย้อนไปข้างหลัง ก็ยังเห็นเพื่อนร่วมวิ่งบนเส้นทางเดียวกัน นี่เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ครับที่ทำให้ท่านฮึดวิ่งต่อไป และท้ายสุดต่อให้ท่านหมดแรงวิ่งจริง ๆ ท่านอาจจะหยุดวิ่งแต่ก็เดินต่อไปได้เรื่อย ๆ เพราะในเส้นทางนั้นก็ยังมีบางคนเป็นเพื่อนร่วมเดินอยู่ และต่อให้ท่านเข้าเส้น Finish อย่างคนที่หมดแรงเหมือนรถยนต์น้ำมันหมดถัง ก็ยังได้รับความชื่นชมจากนักวิ่งด้วยกันอยู่นั่นเอง

กำลังใจจาก เพื่อนนักวิ่งด้วยกันเช่นนี้ทำให้ท่านมีกำลังกาย บอกได้เลยว่าถ้าท่านวิ่งคนเดียวในหมู่บ้านและหมดแรงอย่างนี้ ท่านเลิกวิ่งไปนานแล้ว

นักวิ่งมินิมาราธอน หรือฮาล์ฟมาราธอน หรือมาราธอนจึงต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของการวิ่ง เป็นกำลังใจให้ตัวเอง และเป็นกำลังใจให้แก่นักวิ่งคนอื่น เมื่อยืนหยัดอยู่บนเส้นทางของนักวิ่ง ก็จะมีทั้งกำลังกายและกำลังใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

นัก วิ่งมินิมาราธอนเป็นเช่นใด ผู้ใฝ่ใจเรียนภาษาอังกฤษก็เป็นเช่นนั้น คือ ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของการเรียนภาษาอังกฤษ เป็นกำลังใจให้ตัวเองในการเรียนภาษาอังกฤษ และเป็นกำลังใจให้แก่เพื่อนที่ศึกษาภาษาอังกฤษด้วยกัน เมื่อยืนหยัดอยู่บนเส้นทางของการศึกษาภาษาอังกฤษ ย่อมได้รับผลสำเร็จจากความพยายามนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีทั้งกำลังกายและกำลังใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะศึกษาอย่างไม่รู้จบ เช่นกัน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘