สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน

เคยพบเจอไหมครับ หลายคนเล่นหุ้นตามเซียนซื้อตามเซียนแล้ว แต่ตัวเองกลับขาดทุน
หลายคนเห็นจังหวะเซียนเข้าเลยเข้าตามเซียน แต่ก็ยังขาดทุน
หลาย ๆ คนไม่ว่าจะพยายามเลียนแบบเซียนหุ้นยังไงก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที
มีหลายคนที่ยังเข้าใจกันผิด ๆ ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้นั้นคือ การซื้อแล้วหุ้นขึ้น หรือ ขายแล้วหุ้นก็ลงในทันที
ที่ผมคิดว่าการเข้าออกถูกจังหวะได้ตลอดเวลานั้นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักก็เพราะว่า ปรมจารย์ทั้งหลายเองก็ยังทำผิดพลาดได้บ่อย ๆ
ผมได้ยินมาว่า Warren Buffett เศรษฐีนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่ง ก็เคยซื้อหุ้นแล้วราคามันลงทิ้งดิ่งต่อไปอีก อยู่หลายครั้ง
หรือ George Soros สุดยอดนักเก็งกำไร ก็ยังตัดสินใจผิดพลาดอยู่บ่อยครั้งมาก
ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการประสบจะความสำเร็จได้ในตลาดการเงิน
ผมคิดว่าหากมีสิ่งใดที่สำคัญที่สุด สิ่งนั้นน่าจะเป็น “กลยุทธ์” (Strategy) ที่ใช้ในการลงทุนครับ
หากเราสามารถพัฒนา และ เลือกใช้กลยุทธ์ ที่ดีและเหมาะสมกับตัวเราได้นั้น ความสำเร็จและความมั่งคั่งจากการลงทุนก็ไม่น่าไกลเกินเอื้อม
แต่การจะมี กลยุทธ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น เราจำเป็นต้องมี “ความรู้” ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะกับตัวเราได้
นอกจากนั้นยังต้องมี “วินัย” ที่จะทำให้เราปฎิบัติตามกลยุทธ์นั้นได้อย่างตลอดรอดฝั่ง โดยไม่ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเป็นตัวชี้นำ
มีหลายคนพอเห็นตลาดลงแรง ๆ ก็ตระหนกตกใจ แตกตื่นกัน (บางทีตกไม่แรงยังแตกตื่นกันเลย)
ถามว่าพรุ่งนี้ควรเข้าซื้อเลยไหม ขาดทุนทำอย่างไรดี
ผมมีความเห็นว่าในตลาดหุ้นนั้นมีความผันผวนสูงมากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว การที่ใครสักคนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนต้องยอมรับธรรมชาติของมันให้ได้เสียก่อนที่จะเข้ามาลงทุน ดังนั้นหากเราเข้าใจในธรรมชาติของมัน และ มีกลยุทธ์ที่รองรับไว้ดีแล้ว ก็ไม่เห็นจะต้องไปกังวลใจอะไร
มีหลายคนชอบตั้งคำถามกันว่า ซื้อตัวไหนดี วันนี้ วันพรุ่งนี้ สัปดาห์นี้ หรือ อาทิตย์หน้า ปีหน้า หุ้นจะขึ้นหรือลง
และ ส่วนใหญ่คำตอบที่จะได้จากผมคือ “ไม่รู้” ครับ เพราะนั่นไม่ใช่สาระหลัก ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จจากการลงทุน
วันนี้หุ้นเริ่มตกหนักมีเพื่อนหลายคนสับสนวุ่นวาย เลยขอเขียนเอาไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยครับ
สุดท้ายนี้ขอฝากพิชัยยุทธ์ซุนวู ฉบับนักลงทุนผู้เฉียบแหลม บทที่ 4 ซึ่งเข้ากับสถานะการณ์นี้ไว้อีกครั้งครับ
ซุนวู รูปลักษณ์การรบ บทที่ 4
ฝ่ายชนะรู้ว่าชนะก่อนจึงออกรบ ฝ่ายแพ้รบก่อนแล้วจึงหวังชนะ
SI รูปลักษณ์การลงทุน
นักลงทุนจะได้กำไรเมื่อซื้อ ไม่ใช่เมื่อขาย
รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ใยต้องกลัวพ่าย รู้แต่เรา ไม่รู้เขา รบทุกครั้ง ใช่จะชนะทุกครั้ง ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา กรำศึกทุกครั้ง พ่ายทุกครา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘