0395: ความไม่สมดุลของโลก

ในรอบกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ประเทศแถบเอเชียหลายประเทศหันมาใช้การส่งออกเป็นเครื่องมือหลักในการพยุง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งออกช่วยทำให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศมากขึ้น ตลอดจนเป็นการใช้กำลังการผลิตส่วนเกิน ในกรณีที่่ความต้องการภายในประเทศอ่อนตัว
เพื่อกระตุ้นการส่งออก ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้แอบทำให้ค่าเงินของประเทศตัวเองอ่อนกว่าความ เป็นจริงเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งทำได้โดยการเทขายเงินสกุลของตัวเองออกมาในตลาดเงิน แล้วนำเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ได้มาเก็บไว้เป็นทุนสำรอง แรงเทขายทำให้ค่าเงินอ่อนซึ่งจะช่วยทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลงเมื่อคิด เป็นเงินดอลล่าร์ สินค้าส่งออกก็จะขายได้มากขึ้น
การกระตุ้นการส่งออกด้วยการทำค่าเงินให้อ่อนเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายกว่าการ กระตุ้นการส่งออกด้วยการปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก มากขึ้น อะไรก็ตามที่ทำได้ง่าย ยิ่งทำก็ยิ่งติดใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้ชะลอตัว ประเทศเหล่านี้ก็จะแก้ปัญหาด้วยการรีบทำค่าเงินให้อ่อนเป็นอันดับแรกเพื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อค่าเงินถูกทำให้อ่อนลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ ภาคส่งออกก็เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจโดยรวม เพราะภาคเอกชนรู้สึกว่าการทำธุรกิจส่งออกง่ายกว่าการทำธุรกิจเพื่อขายคนใน ประเทศมาก เนื่องจากรัฐฯ คอยช่วยเหลืออยู่ เมื่อรู้ตัวอีกที เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็พึ่งพาการส่งออกมากเกินไปเสียแล้ว ประเทศไทยเราก็พึ่งพาส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพีเลยทีเดียว ธนาคารกลางจึงไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากการทำให้ค่าเงินอ่อนต่อไปเรื่อยๆ มิฉะนั้นเศรษฐกิจทั้งระบบจะได้รับผลกระทบมาก หากการส่งออกลดลง
อีกด้านหนึ่ง เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่แข็งเกินความเป็นจริงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียทำให้คนอเมริกันมีอำนาจ ในการจับจ่ายใช้สอยเกินความเป็นจริง สหรัฐฯ จึงมีการนำเข้าสินค้ามากเกินไป ในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ เองก็แพงจนขายไม่ออกในเวทีโลก สหรัฐฯ จึงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
โดยปกติแล้ว ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ถ้าประเทศขาดดุลการค้ามากๆ ค่าเงินจะอ่อนลงเอง ค่าเงินที่อ่อนลงจะช่วยทำให้ส่งออกค่อยๆ ดีขึ้นจนทำให้การขาดดุลการค้าลดลงได้ แต่ในกรณีของสหรัฐฯ เมื่อใดที่ค่าเงินดอลล่าร์มีแนวโน้มอ่อนลง ธนาคารกลางของบรรดาประเทศส่งออกในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและญี่ปุ่น ก็จะรีบเข้าไปช้อนซื้อเงินดอลล่าร์ในตลาดเงิน แล้วนำเงินดอลล่าร์นั้นไปเก็บไว้เป็นทุนสำรอง เงินดอลล่าร์จึงไม่อ่อน ทำให้การปรับสมดุลไม่เกิดขึ้น สหรัฐฯ จึงขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรัง ในขณะที่ จีนและญี่ปุ่นก็ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ อย่างมากมายมหาศาล ทุนสำรองของจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ภาวะความไม่สมดุลของโลก (Global Imbalance) เพราะประเทศกลุ่มหนึ่งได้ดุลการค้าประเทศอีกกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเกิดจากการที่ค่าเงินของประเทศที่ได้ดุลการค้าถูกทำให้อ่อนเกินความเป็น จริงอย่างต่อเนื่อง
เวลาที่จีนและญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้น จีนและญี่ปุ่นก็นำทุนสำรองส่วนใหญ่ไปซื้อเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เก็บไว้ เนื่องจากพันธบัตรให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยและตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องสูงสามารถรองรับการซื้อเป็นจำนวนมากได้ การที่จีนและญี่ปุ่นซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ก็เท่ากับเป็นการให้สหรัฐฯ ยืมเงินนั่นเอง วงจรอัฐยายซื้อขนมยายของโลกจึงเกิดขึ้นโดยมีีสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นนักบริโภคตัวยงที่อาศัยเงินที่ยืมมาจากจีนและญึ่ปุ่นในการซื้อ สินค้าของจีนและญี่ปุ่นมาบริโภค วงจรของเงินที่หมุนกลับไปเป็นวงกลมนี้ช่วยทำให้การค้าระหว่างประเทศคึกคัก ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกจึงเติบโตสูงได้เพราะอาศัยวงจรอัฐยายซื้อขนมยายอันนี้นี่เอง
สภาวะเช่นนี้สามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานาน เนื่องจากทั้งฝ่ายผู้กู้และผู้ให้กู้ล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จาก เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวทั้งสิ้น เมื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากวงจรนี้ ทำให้ไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหาความไม่สมดุลของโลก เพราะไม่มีใครอยากเห็นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว สักวันหนึ่ง วงจรเช่นนี้ก็จะต้องหยุดชะงักลงในที่สุด เพราะย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พ่อค้าจะให้เงินลูกค้ายืมเพื่อมาซื้อของของพ่อค้า ไปเรื่อยๆ โดยที่ลูกค้าไม่มีวันจ่ายเงินคืน มีการคาดการณ์กันมานานแล้วว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่วงจรนี้ล่มสลาย เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงอย่างรุนแรง เพราะประเทศในเอเชียไม่สามารถส่งออกสินค้าได้มากๆ อีกต่อไป แต่ก็เหมือนกับวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วไป กล่าวคือ เราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า สักวันหนึ่งมันจะต้องเกิดวิกฤตขึ้น แต่ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่า เมื่อไร?
โดยมากแล้ว จุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจต้องการเหตุการณ์อะไรบางอย่างเป็นตัวจุดชนวน เพื่อให้ปัญหาที่สะสมไว้เป็นเวลานานได้ระเบิดออกมาในทีเดียว ผู้คนมักเข้าใจผิดคิดว่า เหตุการณ์นั้นเป็นต้นเหตุของวิกฤต แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ มันเป็นเพียงแค่ตัวจุดชนวน มีการพูดถึงกันมาเป็นเวลานับสิบปีแล้วว่า ความไม่สมดุลของโลกจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในที่สุด แต่จนแล้วจนรอดมันก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที
. . . .
ในช่วงปี 2006 การขาดดุลการค้าที่ต่อเนื่องของสหรัฐฯ เนื่องจากเงินดอลล่าร์ที่แข็งเกินไปเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงถึง 6% ของจีดีพีซึ่งนับเป็นระดับที่มองกันว่าสูงเกินกว่าที่จะสามารถปล่อยให้เป็น เช่นนี้ต่อไปได้นาน นักลงทุนเริ่มวิตกกังวลในเสถียรภาพของเงินดอลล่าร์จึงพากันโยกย้ายเงินของ ตัวเองออกจากสินทรัพย์สกุลดอลล่าร์ทั้งหลายเข้าสู่่สินทรัพย์รูปแบบอื่น เช่น ทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามแก้ปัญหาความเชื่อมั่นด้วยการขอให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น เพื่อทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนน้อยลงแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากจีนมากนัก ทั้งจีนและญี่ปุ่นยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำให้เงินดอลล่าร์แข็งต่อไปเนื่องจาก ไม่ต้องการให้เศรษฐกิจในประเทศของตนชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกที่ลดลง เมื่อปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้รับการแก้ไข ความวิตกกังวลในเสถียรภาพของเงินดอลล่าร์ก็ทำให้เกิดความผัวผวนของราคาทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ไปทั่วโลก
. . . .
ในปี 2007 สหรัฐฯ เกิดปัญหาวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัวลงเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งการปรับเปลี่ยนค่าเงิน เมื่อคนอเมริกันซื้อสินค้าน้อยลง เศรษฐกิจโลกก็ได้รับผลกระทบทันที ตัวเลขการส่งออกของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งน่าจะช่วยทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลดลงได้ ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน
ในอนาคต โลกของเราคงไม่อาจพึ่งพาภาวะความไม่สมดุลในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพยุงการจ้างงานได้อีกต่อไป ต่อไปนี้ดุลการค้าของแต่ละประเทศทั่วโลกน่าจะมีความแตกต่างกันน้อยลง ค่าเงินดอลล่าร์จะถูกปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริงมากขึ้น โลกของเราต้องหันไปหาวิธีการใหม่ๆ ในการผลักดันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแทนการส่งออก ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นวิธีการอะไร หลายคนเสนอว่า จีนและอินเดียควรสร้างตลาดภายในประเทศขึ้นมาทดแทนการส่งออก ทุนสำรองที่เคยนำกลับไปให้สหรัฐฯ กู้ยืมควรนำมาใช้เองภายในประเทศเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศต่ำ ซึ่งจะเอื้อต่อการลงทุนและกำลังซื้อของคนภายในประเทศ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอัน สั้น เศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปคงต้องเผชิญกับปัญหาในการปรับตัวอีกไม่น้อย
. . . .
ส่วนวิกฤตซับไพรม์เองไม่ใช่ต้นตอของปัญหา แต่เป็นเหมือนสิ่งหนึ่งที่ช่วยจุดชนวนให้เกิดการปรับสมดุลของโลกใหม่เท่า นั้น ปัญหาของวิกฤตซับไพรม์เองเกิดจากความเชื่ออย่างผิดๆ ของคนอเมริกันว่าตลาดเสรี ไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมใดๆ จากภาครัฐฯ เลย ก่อให้เกิดการปล่อยสินเชื่ออย่างปราศจากความระมัดระวังและการเก็งกำไรอย่าง ไม่มีขอบเขต ที่จริงแล้ว แม้แต่มิลตัน ฟรีแมน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดตลาดเสรีอย่างเต็มที่ยังบอกว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รัฐบาลมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาคการเงิน เศรษฐกิจแบบทุนนิยมต้องการการดูแลภาคการเงินโดยหน่วยงานของรัฐฯ ให้มีเสถียรภาพ ทุกวันนี้ มีภาคการเงินหลายส่วนที่อยู่นอกระบบธนาคาร ทำให้เล็ดรอดจากการกำกับดูแล อีกทั้งโลกที่เป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้นทำให้ระบบการเงินของแต่ละประเทศเชื่อม ถึงกัน แต่ยังไม่มีหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีอำนาจกำกับดูแลระบบการเงินของโลก หวังว่าวิกฤตซับไพรม์ครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือใหม่ๆ ของประเทศทั้งหลายในโลก ในการควบคุมระบบการเงินของโลกให้มีเสถียรภาพมากกว่าเดิม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘