0392: การเติบโตมาจากไหน

ความเป็นอยู่ของมนุษย์แต่ละยุคสมัยสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะสังคมมนุษย์รู้จักวิธีที่จะเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้นหรือรู้วิธีที่จะ ผลิตให้ได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ศักยภาพในการผลิตของสังคมมนุษย์จึงสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
ในระยะยาว เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ในอัตราเฉลี่ยเท่ากับการเพิ่มขึ้นของศักยภาพในการผลิต ของโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2% ต่อปี หรือเท่ากับว่า ทุกๆ 35 ปี ความกินดีอยู่ดีในเชิงวัตถุของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นได้ประมาณสองเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น เศรษฐกิจโลกในแต่ละปีอาจมีการเติบโตมากหรือน้อยกว่า 2% หรืออาจถึงขั้นหดตัวได้ในบางช่วง เนื่องจากในระยะสั้น การผลิตมีการเติบโตแบบเป็นวัฏจักร
ถ้าหากจะพูดให้ชัดๆ ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากไหน? ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในยุคคลาสสิกอธิบายว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับระดับการออมของประชากร การออมคือ การเบี่ยงเบนการใช้กำลังการผลิตจากการบริโภคไปสู่การลงทุน เพราะโดยปกติแล้ว ถ้าทุกคนนำรายได้ที่ได้รับทั้งหมดไปบริโภคอย่างเดียว กำลังการผลิตของทั้งประเทศจะถูกใช้ไปกับการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนอง การบริโภคเท่านั้น แต่ถ้าทุกคนมีการออมรายได้ไว้ส่วนหนึ่งด้วย เงินส่วนนี้จะเข้าสู่ระบบธนาคาร ธนาคารก็จะนำเงินส่วนนี้ไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจก็จะนำเงินไปลงทุนสร้างโรงงาน สร้างเครื่องจักร ฯลฯ กำลังการผลิตส่วนหนึ่งของประเทศจึงถูกนำไปใช้ในการสร้างโรงงานหรือสร้าง เครื่องจักรซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้สูงขึ้นได้ในอนาคต การออมจึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในอนาคต เพราะการออมทำให้เกิดการลงทุน และการลงทุนช่วยทำให้เกิดการขยายศักยภาพในการผลิตนั่นเอง
ทฤษฏีการเติบโตของเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกช่วยทำให้เราตระหนักว่า ทุกวันนี้การใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้ช่วยทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของภาครัฐฯ เป็นการกระตุ้นการบริโภคจึงไม่ได้ทำให้เกิดการออมเพิ่มขึ้น ถ้าแม้นโยบายเหล่านี้สามารถกระตุ้นความต้องการสินค้าได้จริงแต่ความเป็นอยู่ ในระยะยาวของประชาชนจึงไม่เพิ่มขึ้นจากนโยบายเหล่านี้ ในทางตรงข้ามอาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ เพราะการบริโภคที่มากขึ้นหมายถึงการออมที่ลดลง
ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ระบบเศรษฐกิจจะใช้กำลังการผลิตไม่เต็มศักยภาพในการผลิต เมื่อรัฐฯ ใช้จ่ายเพิิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นความต้องการ พ่อค้าจะใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นนั้น ซึ่งอาจจะช่วยพยุงการจ้างงานไม่ให้ลดต่ำลงได้ แต่พ่อค้าจะไม่คิดลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิต เนื่องจากพ่อค้ารู้ดีว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐฯ เป็นการทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต เพียงแค่นำกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มาใช้มากขึ้นก็พอเพียงแล้ว การใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นเพียงแค่การจัดการวัฎจักร เศรษฐกิจในระยะสั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อมั่นและอัตราการใช้ กำลังการผลิตเท่านั้น ไม่ได้ช่วยทำให้้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่สูงขึ้นได้ในอนาคต เพราะไม่ได้ทำให้ศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐฯ ใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา แทนที่เงินภาษีจะถูกใช้ไปกับการพัฒนาประเทศ เงินภาษีจะถูกใช้ไปกับการลดความผันผวนของวัฏจักรซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของ ระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีวัฏจักร ประชาชนจึงไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ในระยะยาว
. . . .
ในปี 1956 นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลคนหนึ่งชื่อ โรเบิร์ต โซโลว์ (Robert Solow: 1924 – ) ได้ทำการศึกษาพบว่า ที่จริงแล้ว แม้แต่การออมเองก็มีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแค่ในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออมหรือการลงทุนเลย แต่กลับขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ 2 อย่าง ได้แก่ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยทำงาน และการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี
เมื่อประเทศมีประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้น ประเทศย่อมมีทรัพยากรแรงงานมากกว่าเดิม ทำให้ประเทศมีศักยภาพในการผลิตสูงขึ้น ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ส่วนความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนั้นจะช่วยทำให้แรงงานแต่ละคนสามารถ ผลิตได้มากกว่าเดิม ดังนั้นต่อให้จำนวนประชากรในวัยทำงานของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ถ้าประเทศมีการนำเทคโนโลยีในการผลิตที่ก้าวหน้ามากขึ้นมาใช้ก็จะทำให้ ศักยภาพในการผลิตสูงขึ้น ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้เช่นกัน ที่จริงแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี่แหละที่มีผลต่อการเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของ ประชาชนมากที่สุด เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถเพิ่มผลผลิตต่อหัวได้ ในขณะที่ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยทำงานนั้นเพิ่มได้แค่เพียงผลผลิตโดยรวมของประเทศ เท่านั้น แต่ความเป็นอยู่ของแต่ละคนอาจไม่ดีขึ้น เพราะผลผลิตต่อหัวยังเท่าเดิม
โซโลว์กล่าวว่า การออมมีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น เพราะในระยะสั้น ประเทศอาจจะยังนำเทคโนโลยีทั้งหมดที่มีอยู่มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตไม่เต็มที่ การออมที่มากขึ้นจะช่วยทำให้นักธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทำให้นักธุรกิจสามารถซื้อหาเครื่องจักรมาช่วยในการผลิตเพิ่มเติมหรือปรับ ปรุงสภาพแวดล้อมในการผลิตให้ทันสมัยกว่าเดิม ศักยภาพในการผลิตจึงเพิ่มขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม เมื่อนักธุรกิจลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตมากขึ้น เรื่อยๆ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะค่อยๆ ลดน้อยลงเพราะเทคโนโลยีถูกนำมาใช้จนหมดแล้ว อันเป็นไปตามปรากฏการณ์ธรรมชาติที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ผลิตภาพที่ลดลงจากการผลิตที่มากขึ้น (Diminishing Returns to Scales) ทำให้ไม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก แม้ว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้เข้าใจว่า ผลิตภาพลดลงจากการผลิตที่มากขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ลองจินตนาการว่า บ่ายวันหนึ่งคุณกำลังทำขนมเค้กให้ลูกสาวของคุณรับประทาน ส่วนผสมของขนมเค้ก ได้แก่ นมหนึ่งถ้วยต่อแป้งเค้กหนึ่งถ้วย
บ่ายวันนั้น บังเอิญมีเพื่อนของลูกสาวของคุณหนึ่งคนกลับจากโรงเรียนมาด้วยกันพร้อมกับลูก สาวของคุณ โชคไม่ดีเลยที่แป้งเค้กหมดพอดี ด้วยความหัวใสของคุณ คุณก็เลยใช้นมสองถ้วยต่อแป้งเค้กหนึ่งถ้วยแทน บ่ายวันนั้นคุณจึงสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปได้ แม้ว่าขนมเค้กจะอร่อยน้อยลงไปสักหน่อยเพราะแป้งเค้กค่อนข้างเจือจาง แต่มันก็เป็นขนมเค้กที่พอกินได้
ลองคิดดูว่า ถ้าบ่ายวันนั้นเพื่อนของลูกสาวของคุณมาเยี่ยมบ้านถึงสองคน ถ้าคุณต้องเปลี่ยนไปใช้นมสามถ้วยต่อแป้งเค้กหนึ่งถ้วย ขนมเค้กที่ได้จะมีรสชาดเป็นอย่างไร แล้วถ้าเพื่อนของลูกสาวของคุณเพิ่มจำนวนเป็นสาม สี่ ห้า หก คนล่ะ? สุดท้ายแล้ววิธีขายผ้าเอาหน้ารอดด้วยการใส่นมมากขึ้นจะใช้ไม่ได้ผลในที่สุด เพราะเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ส่วนผสมจะเจือจางมากเกินไป ทำให้เค้กไม่สามารถจับตัวกันเป็นก้อนได้ ระบบเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ถ้าจำนวนแรงงานมีเท่าเดิมแต่เราเพิ่มผลผลิตด้วยการเพิ่มจำนวนเครื่องจักร เข้าไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง การเพิ่มเครื่องจักรจะไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีก เพราะคนงานหนึ่งคนต้องควบคุมเครื่องจักรจำนวนมากในเวลาเดียวกันเสียจนมือ เป็นระวิง จะเห็นได้ว่า การเพิ่มวัตถุดิบอย่างหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่เพิ่มวัตถุดิบที่เหลือด้วยอาจทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็จะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกต่อไปโดยไม่หันมาเพิ่มวัตถุ ดิบตัวอื่นๆ บ้าง ปรากฏการณ์นี้เองที่เราเรียกว่า ผลิตภาพที่ลดลงจากการผลิตที่มากขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์ การลงทุนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่เพิ่มแรงงานหรือเทคโนโลยีเข้าไปด้วย ย่อมทำให้การเติบโตถึงขีดจำกัดได้ในที่สุด
พอล ครุกแมน (Paul Krugman: 1953- ) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2008 ผู้โด่งดังเคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้ก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากของหลายๆ ประเทศในเอเชียในขณะนั้นเกิดจากการใส่ทุนเพิ่มเข้าไปมากๆ จากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ ในขณะที่ ผลิตภาพเองแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเลย เขาทำนายว่า ในไม่ช้าอัตราการเติบโตที่สูงเหล่านั้นจะต้องสิ้นสุดลงในที่สุด เนื่องจากปรากฏการณ์ ผลิตภาพที่ลดลงจากการผลิตที่มากขึ้นนั่นเอง การเพิ่มทุนเข้าไปเรื่อยๆ อย่างเดียวโดยไม่เพิ่มแรงงานหรือเทคโนโลยีตามไปด้วยย่อมทำให้การเติบโตเข้า ถึงขีดจำกัดของมันในที่สุด
ดังนั้นการออมและการลงทุนจึงช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในช่วงระยะเวลา หนึ่งเท่านั้น ถ้าขาดการเพิ่มจำนวนประชากรวัยทำงานหรือการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี สุดท้ายแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะถึงจุดอิ่มตัว ไม่ว่าจะเพิ่มการลงทุนเข้าไปอีกแค่ไหน ก็จะไม่ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ จำนวนประชากรวัยทำงานและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจึงเป็นตัวที่กำหนด ศักยภาพของการผลิตที่แท้จริงในระยะยาว
แนวคิดของโซโลว์จึงทำให้เราตระหนักว่า แม้แต่การออมและการลงทุนเองก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่แท้จริงที่ช่วยทำให้ความ เป็นอยู่ของคนดีขึ้นในระยะยาว ถ้าต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างแท้จริง จะต้องหันมาเน้นการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประเทศแทน คำว่าเทคโนโลยีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเครื่องจักรที่ทันสมัยเพียงอย่างเดียว เท่านั้น แต่หมายถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกๆ ด้านจะที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการผลิตของประเทศให้สูงขึ้นได้ รวมๆ แล้วมีทั้งหมด 4 ด้านใหญ่ๆ ด้วยกัน หนึ่งคือการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น สองคือการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานเพื่อให้แรงงานสามารถทำงานได้อย่างฉลาดขึ้น สามคือการพัฒนาการศึกษาเพื่อทำให้ทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพ และสี่คือการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการองค์กรใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่า เดิม เงินภาษีส่วนใหญ่ของประเทศควรนำมาใช้ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้ง สี่ด้านนี้เป็นหลัก แทนที่จะหมดไปกับการกระตุ้นการบริโภคผ่านนโยบายการคลัง ซึ่งให้ผลแต่เพียงการพยุงการจ้างงานในระยะสั้นเท่านั้น
ในยุคทศวรรษที่ 80 ได้เกิดแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ขึ้นอีกแนวหนึ่งเรียกว่า เศรษฐศาสตร์แบบเน้นอุปทาน (Supply-side Economic) เศรษฐศาสตร์แนวนี้มีแนวคิดว่า แทนที่รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านทางนโยบายการเงินและการ คลังซึ่งเป็นเพียงแค่การบริหารจัดการความต้องการ (Demand-side Economics) ซึ่งส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังผลิตเท่านั้น รัฐบาลน่าจะหันมาเน้นการขยาย ศักยภาพในการผลิต ของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวแทนจะดีกว่า เพราะ ศักยภาพในการผลิต ของระบบเศรษฐกิจเท่านั้นที่มีผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนในระยะยาวอย่าง แท้จริง การขยายศักยภาพในการผลิตก็คือการหันมาขยายอุปทานนั้นเอง เศรษฐศาสตร์แนวใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ช่วยทำให้ รัฐบาลหันมามองการพัฒนาประเทศในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เศรษฐศาสตร์แนวเน้นอุปทานกลับมุ่งเน้นไปที่การลดภาษีเป็นสำคัญโดยมีแนวคิด ว่า การเก็บภาษีในอัตราที่สูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ศักยภาพในการผลิต ของระบบเศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะภาษีที่สูงเกินไปจะลดแรงจูงใจในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีอัตราก้าวหน้าซึ่งเก็บภาษีนักธุรกิจในอัตราที่สูงมาก เสียจนนักธุรกิจรู้สึกว่าไม่รู้จะทำธุรกิจให้เติบใหญ่ไปทำไม เพราะยิ่งกำไรมากขึ้นก็ยิ่งต้องเสียภาษีให้กับรัฐฯ ในอัตราที่สูงขึ้น เมื่อนักธุรกิจไม่อยากขยายการผลิตให้เต็มที่ ศักยภาพการผลิตก็ไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น ภาษีจึงเป็นอุปสรรคของการเพิ่ม ศักยภาพในการผลิต ให้กับระบบเศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์แนวนี้ยังมีแนวคิดด้วยว่า การลดภาษีจะไม่ทำให้รัฐบาลมีปัญหาในการจัดทำงบประมาณในภายหลังเนื่องจาก เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นจากการลดภาษี รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้นทั้งๆ ที่อัตราภาษีที่จัดเก็บลดลง การลดภาษีจึงมีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสีย รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีเรแกนได้นำเอาแนวคิดนี้มาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ตลอดสมัยของเรแกน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุคของเขาก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์แนวเน้นอุปทานก็ยังไม่ได้ทำให้รัฐบาลหันมาพัฒนาเศรษฐกิจตามแนว ทางของโซโลว์อย่างแท้จริง เพราะมุ่งเน้นไปที่การลดภาษีแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้เน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาแรงงานและการศึกษา ตลอดจนการปรับปรุงเทคโนโลยีการจัดการ ซึ่งเป็นที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวโดยตรง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘