0168 : Bounty Hunters

ในสหรัฐฯ มีธุรกิจที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง
ปกติแล้ว เวลาผู้ต้องหาถูกตำรวจจับ แล้วศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ ถ้าหากผู้ต้องหารายนั้นฐานะการเงินไม่ดี ไม่มีหลักทรัพย์มากพอที่จะประกันตัวก็จะไม่สามารถประกันตัวได้
แต่ในสหรัฐฯ ผู้ต้องหายังมีทางเลือกที่จะใช้บริการจากธุรกิจเอกชนชนิดนี้ ซึ่งที่จะทำหน้าที่วางหลักประกันแทนผู้ต้องหา โดยแลกกับค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่ง (เช่น 10% ของหลักประกัน) ที่ผู้ต้องหาจะต้องจ่ายให้กับบริษัทเป็นค่าบริการ
ถ้าหากปรากฏว่าภายหลัง ผู้ต้องหารายนั้นไม่มาปรากฎตัวในวันที่ศาลนัด ความรับผิดชอบจะตกอยู่กับบริษัท โดยศาลจะให้เวลาบริษัทในการติดตามตัวผู้ต้องหารายนั้นกลับมาขึ้น ถ้าหากทำไมไม่ได้ ศาลก็จะยึดเงินประกันของบริษัท
กลไกเช่นนี้นับเป็นตัวอย่างของการนำกลไลตลาดมาใช้แก้ไขปัญหาสังคม ในด้านหนึ่ง ผู้ต้องหาทุกคน ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ดังนั้นธุรกิจนี้จึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในกระบวนการ ยุติธรรมในแง่ของสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวได้
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น กระบวนการบังคับคดีถือเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวมากปัญหาหนึ่งของกระบวนการ ยุติธรรม เพราะการติดตามตัวผู้ต้องหานั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐฯ จำนวนมหาศาลในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นในด้านกำลังพล หรือเวลาของศาลที่ต้องเสียไปจากการที่คดียืดเยื้อ ที่สำคัญ คดีที่ล่าช้าคือสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็น ธรรม เพราะยิ่งคดียืดเยื้อเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิดมากเท่า นั้น เพราะหลักฐานและพยานย่อมสูญหายไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และต้นทุนของโจทก์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้โจทก์รู้สึกถอดใจ ทำให้คนผิดไม่ได้รับโทษตามสมควรในที่สุด
แต่การส่งผ่านหน้าที่ให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ติดตามตัวผู้ต้องหานี้ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมาก จากการศึกษาโดยคณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน พบว่า ผู้ต้องหาในสหรัฐฯ ที่ใช้บริการของธุรกิจนี้ จะหลบหนีประมาณ 25% ของทั้งหมด แต่บริษัทเหล่านี้ก็สามารถติดตามผู้ต้องหาที่หลบหนีกลับมาได้ในอัตราที่สูง ถึง 94-96% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ติดตามเองมาก เพราะจากสถิติเฉพาะในเมืองใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีได้ราว 50%-60% เท่านั้น (ในเมืองเล็กตัวเลขจะยิ่งต่ำกว่านี้) เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่แบบเดียวกันนั้นมีรายได้เป็นเงินเดือน ประจำ และมักต้องทำงานหลายหน้าที่พร้อมๆ กัน เนื่องจากบุคลากรมีจำกัด ในขณะที่ ธุรกิจเหล่านี้มีแรงจูงใจในการติดตามตัวผู้ต้องหามากกว่า เพราะไม่ต้องการจะสูญเงินประกัน
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง แทนที่รัฐฯ หรือผู้เสียภาษีจะต้องจ่ายเงินจำนวนมากไปกับทรัพยากรในการบังคับคดี รัฐฯ สามารถประหยัดเงินส่วนนี้ได้ โดยที่มีผลงานที่ดีกว่า แถมในกรณีที่ไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องหากลับมาได้ รัฐฯ ก็ยังมีรายได้จากการยึดเงินประกันเป็นของแถมอีกด้วย
Bounty Hunters คือชื่อเรียกของคนที่ทำงานติดตามตัวผู้ต้องหาในธุรกิจชนิดนี้ พวกเขามักไม่มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำ แต่จะได้รับค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อสามารถจับตัวผู้ต้องหากลับมาได้เท่านั้น รายได้ของพวกเขาแตกต่างกันพอสมควร โดยมากแล้วขึ้นอยู่กับขนาดของเงินประกันด้วย แต่โดยสถิติแล้ว พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปีใกล้เคียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ แบบเดียวกัน แต่พวกเขาจะต้องลงทุนมากกว่า เพราะจะต้องซื้ออุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง เช่น กุญแจมือ และรถแวนส่วนตัว ซึ่งมักเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการติดตามตัวผู้ต้องหามักจะต้องทำงานข้ามรัฐฯ​ โดยช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย และเมื่อจับผู้ต้องหาได้แล้ว ก็มักจะต้องนำตัวผู้ต้องหาข้ามรัฐฯ กลับมาขึ้นศาลอีกด้วย
Bounty Hunters มีเทคนิคในการติดตามตัวหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ตามกฎหมายศาลจะอนุญาตให้พวกเขามีสิทธิพิเศษบางอย่างเพื่อความสะดวกในการ ปฏิบัติงาน และส่วนใหญ่แล้ว บริษัทจะใช้วิธีบังคับให้ญาติสนิทของผู้ต้องหา เซ็นค้ำประกันในสัญญาว่าจ้างด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างมาก เพราะมีผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยที่ไม่กลัวตำรวจ แต่กลับเกรงกลัวสมาชิกในครอบครัวของตัวเอง นอกจากนี้ยังพบว่า Bounty Hunters จำนวนไม่น้อยนั้นเป็นผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงนั้นมีข้อได้เปรียบในการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะนี้หลายอย่าง มากกว่าผู้ชาย
เรื่องนี้ช่วยจุดประการให้คิดได้ว่า ปัญหาบ้านเมืองหลายๆ อย่างนั้น สามารถแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณเสมอไป เพียงแค่เปลี่ยนแรงจูงใจในการทำงานใหม่ให้เหมาะสมแค่นั้นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘