ข้อคิดจาก Stiglitz "ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา"

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Professor Joseph Stigilitz

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลได้มาพูดที่กรุงเทพฯ

ในโครงการสัมมนาของหนังสือพิมพ์ The Nation

ผมได้มีโอกาสฟังและมีส่วนร่วมในบางส่วนของงานนี้

จึงขอนำสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้

"ดังนอกบ้าน" ผู้นี้พูดมาเล่าสู่กันฟัง


ถ้าจะซาบซึ้ง สิ่งที่ Dr.Stiglitz พูด คงต้องทราบ

ประวัติก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร


Stiglizt เรียนจบจาก MIT เคยสอนหนังสือที่

Oxford/Cambridge/Princeton/Yale/Stanford/

Duke/ MIT ฯลฯ ปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัย Columbia

เมื่อเร็วๆ นี้ มีงานวิจัย ระบุว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์

ที่งานของเขาถูกอ้างอิงมากที่สุดในโลก


Stiglizt เขียนหนังสือกว่า 19 เล่ม มีบทความ

ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกว่า 300 บทความ

ปัจจุบันอายุ 66 ปี เขาจัดอยู่ ในกลุ่มความคิด

ที่เรียกว่าเกือบซ้ายสุด ในทางเศรษฐศาสตร์

ของสหรัฐอเมริกา กล่าวคือฝ่ายซ้าย เชื่อในการ

แทรกแซงของภาครัฐ ในการทำงานของระบบ

เศรษฐกิจทุนนิยม (ขวาสุด ก็คือปรมาจารย์

รางวัลโนเบิล Milton Friedman ผู้ล่วงลับไปแล้ว)


Stiglizt เป็นนักเศรษฐศาสตร์ "ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา"

ในขณะที่เขาเป็น Chief Economist ของธนาคารโลก

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 12 ปีก่อน

เขาวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทและวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ของ IMF อย่างหนักว่า วิธีการที่ใช้นั้น เป็นการทำลาย

มากกว่าสร้างสรรค์ จนเขาไม่ได้รับสัญญาจ้างงานเทอมที่สอง

โดยถูกบีบให้ลาออกก่อนครบเทอมแรกเล็กน้อย


และไม่นาน หลังจากการลาออก ในปี 2001

เขาก็ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์


ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณตอน "ปีเผาจริง" คือ 1998

หรือ 1999 เขาได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย

และถ้าจำไม่ผิดได้พบคุณอภิสิทธิ์ นายกฯคนปัจจุบันด้วย

และคาดว่า คงมีการติดต่อกับคุณอภิสิทธิ์ อยู่เป็นระยะ

เพราะ Stiglizt เดินทางไปรอบโลกตลอดเวลา เมื่อนายกฯ

อภิสิทธิ์ได้รับเชิญไปประชุม World Economic Forum

ที่ Davos สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ

ก็ได้พบกัน และคงเป็นที่มา ของการเป็นที่ปรึกษา

รัฐบาลไทยของอาจารย์ Stiglitz


มีสิ่งแปลก เกี่ยวกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ นั่นก็คือ

เขาไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และชื่นชอบนัก

ในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะได้รับรางวัลโนเบิลก็ตาม

แต่เขา กลับได้รับความนิยมมาก จากคนนอกประเทศ

ไม่ว่ายุโรป อเมริกาใต้ หรือเอเชีย โดยเฉพาะในจีน


เหตุผลหนึ่ง ที่ไม่เป็นที่นิยม ในสหรัฐอเมริกา ก็คือ

เขานำเสนอความคิด ที่ตรงข้าม กับกระแสหลัก

ของคนอเมริกัน กล่าวคือเขาเห็นว่าภาครัฐ

ควรมีบทบาท ในการแทรกแซงเศรษฐกิจมาก

เพราะไม่อาจไว้วางใจกลไกตลาดได้ ซึ่งการเห็นว่า

ภาครัฐที่ดีที่สุด คือภาครัฐที่เล็กสุดเป็นความเชื่อดั้งเดิม

และเป็นที่นิยมกันมากมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเรแกน

(ในอังกฤษก็สมัยของนางแทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี)


Stiglizt รู้เรื่องสายสนกลในของนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างดี

เพราะในช่วง 1993-1995 เขาเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษา

เศรษฐกิจของประธานาธิบดีคลินตัน และในปี 1995-1997

ก็เป็นประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ก่อนที่จะไปเป็น

Senior Vice President และ Chief Economist

ของธนาคารโลก


เมื่อมาพูดที่บ้านเรา ก็ไม่ผิดหวังเลย Stiglizt

ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ เป็นผลพวง

จากความล้มเหลว ครั้งยิ่งใหญ่ของระบบตลาดเสรี

ของสหรัฐอเมริกาที่ขาดการควบคุม คนส่วนใหญ่

เข้าใจผิด ว่านโยบายทางเศรษฐกิจ เสรีที่นำโดย

โลกตะวันตก คือความสำเร็จทั้งที่ผลกระทบด้านลบ

ที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ นั้นมีผลกว้างไกลมาก

ความเชื่อในเรื่องกลไกควบคุมตัวเองเป็นสิ่งเหลวไหล

ระบบการเงินภายใต้ตลาดเสรี ที่ขาดการควบคุม

ของโลกตะวันตก ทำงานอยู่ได้ก็เพราะการช่วยเหลือ

จากภาครัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า


เขาชี้ให้เห็น ต่อไปว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ตลอดจนความล้มเหลวของทุนนิยมเสรี

สไตล์อเมริกัน ทำให้เห็น ถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องทำให้ ความสมดุลระหว่างตลาด ภาครัฐ

และผู้มีส่วนได้เสียในสังคมกลับคืนมา เราจะปล่อย

ให้ภาครัฐอยู่เฉยๆ อย่างขาดการควบคุมดูแล

กลไกตลาดไม่ได้เป็นอันขาด


Stiglitz เชื่อในระบบทุนนิยม ที่มีกลไกราคาเป็นหัวใจ

แต่ต้องไม่ใช่ระบบที่ขาดการควบคุมอย่างรัดกุมจากภาครัฐ

เขาเชื่อว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย จนภาครัฐ

ต้องพัฒนากลไกควบคุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงิน

การมีกรอบการควบคุมในระดับโลกเป็นสิ่งจำเป็น

โดยมีการร่วมมือกันโดยนานาชาติ แต่เขาก็ยังไม่เห็น

ความริเริ่มในเรื่องนี้


อีกเรื่องหนึ่งที่ Stiglitz สร้างความสั่นสะเทือน

ในวงการเศรษฐศาสตร์ และเขาได้ทำมานาน

หลายปีแล้ว นั่นก็คือการโจมตีการใช้ GDP

(Gross Domestic Product ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ)

เป็นตัวชี้วัดความสุขหรือสวัสดิการ (welfare)

หรือสถานะความอยู่ดี (well-being) ของประชาชน


GDP คือมูลค่าผลผลิตรวม หรือรายได้รวม

ของคนทั้งประเทศในเวลา 1 ปี สามารถชี้วัดกิจกรรม

ทางเศรษฐศาสตร์ แม้แต่ Simon Kuznet ผู้คิดค้น GDP ขึ้น

เมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว ก็บอกว่า ไม่อาจใช้รายได้

เป็นตัวสะท้อนสวัสดิการ อย่างไรก็ดี หลายปีผ่านไป

ด้วยความสะดวกและเผอเรอ นักเศรษฐศาสตร์และสื่อ

เหมาเอาว่า GDP เป็นตัววัดความอยู่ดีหรือวัดสวัสดิการ


ผลพวงที่เกิดตามมา ก็คือความพยายาม ให้มี

อัตราการเจริญเติบโตสูง (ให้ GDP ที่วัด ณ

ราคาคงที่มีค่าเพิ่มขึ้นสูงข้ามปี) กลายเป็นเป้าหมาย

ของรัฐบาลต่างๆ ถึงแม้อัตราการเจริญเติบโต

ของเศรษฐกิจจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานสูง

ประชาชนมีอำนาจสูง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าประชาชน

จะมีสถานะความอยู่ดีและมีความสุขมากขึ้น


นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เมื่อได้ฟังก็คงจะต้องคิดทบทวน

และน่าจะคล้อยตาม Stiglitz เพราะสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง

นักเศรษฐศาสตร์ขี้ตู่และหลงผิดมานานว่า GDP ต่อหัวสูง

จะทำให้ประชาชนมีสถานะความอยู่ดีและมีความสุขมากขึ้น

ขณะนี้ Stigitz และพวกได้พยายามเสนอตัวชี้วัดใหม่

ที่จะสะท้อนสถานะความอยู่ดีได้ดีกว่า GDP รั

ฐบาลและผู้คนทั้งหลายจะได้เลิกหลงผิดงมงายกับ

"GDP เป็นบวก" เสียที


GDP มิได้ผิดอะไร มันก็วัดสิ่งที่ Kuznet ตั้งใจให้วัด

คือระดับรายได้รวมของคนทั้งประเทศ นักเศรษฐศาสตร์

ต่อๆ มาต่างหาก ที่ผิด ที่นำมันไปใช้วัดสถานะความอยู่ดี

และความสุขของคนทั้งๆ ที่มันมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง


ต่อไปนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต้องพิจารณา "ฝัง" GDP

ในฐานะ ตัววัดสถานะความอยู่ดี และการใช้

อัตราการขยายตัว เป็นเป้าหมายของเศรษฐกิจ

และหันไปพิจารณา "GDP ดัดแปลง" ที่กำลังมีผู้คิดค้น

ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นตัวชี้ระดับกิจกรรม ของนักเศรษฐกิจ

ที่แม่นยำกว่า ตลอดจน ตัวชี้สถานะความอยู่ดีใหม่

อีกหลายตัว ทั้งที่มีใช้อยู่แล้วและที่กำลังจะตามออกมา


ผมรัก GDP เพราะมันมีประโยชน์ แต่รังเกียจ

การนำมันไปใช้อย่างผิดๆ (ซึ่งครั้งหนึ่งผมก็เป็นหนึ่ง

ในผู้หลงผิดเหล่านั้นด้วย) คงคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า

I love mankind, only the people I can"t stand

กระมัง (ผมรักมนุษยชาติ แต่สิ่งที่ผมทนไม่ได้คือมนุษย์)


พวกเราชาวประเทศกำลังพัฒนาดีใจที่มีนักเศรษฐศาสตร์

ที่รักมนุษยชาติมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง

แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าที่อเมริกาเขาไม่รักท่าน

มาอยู่ที่บ้านเราก็ได้ครับ รับรองมีปัญหาให้ช่วยขบคิด

ไม่ให้เหงามากมาย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘