เงินสิบบาท

ถ้าเรามีเงินอยู่ 10 บาท ไปซื้อของ 3 บาท

จะได้รับเงินทอนเท่าไร ครูคนหนึ่งตั้งคำถาม

กับเด็กว่า “ถ้าเรามีเงินอยู่ 10 บาท นำไปซื้อของ 3 บาท

จะได้รับเงินทอนเท่าไร” เด็กส่วนใหญ่ตอบว่า “7 บาท”

แต่มีเด็ก 2 คน ที่ตอบไม่เหมือนกับคนอื่น

คนหนึ่งตอบว่า “2 บาทคะ” อีกคนหนึ่งตอบว่า “ไม่ต้องทอนครับ”

ครูถามเด็กคนแรกว่า ทำไมถึงได้เงินทอน 2 บาท

คำตอบที่ได้คือ ในจินตนาการของเขา

เขามีเหรียญห้าบาท 2 เหรียญ เมื่อซื้อของราคา 3 บาท

เขาก็ให้เหรียญห้าบาทไป 1 เหรียญ

ดังนั้น จึงได้รับเงินทอนมา 2 บาท

เมื่อถามเด็กคนที่สองว่า ทำไม ไม่ได้รับเงินทอนกลับมา

เด็กคนนี้ไปคิดว่าเขามีเหรียญหนึ่งบาท

ทั้งหมด 10 เหรียญ เมื่อซื้อของราคา 3 บาท

เขาก็ส่งเหรียญหนึ่งบาทให้แม่ค้าไป 3 เหรียญ

แม่ค้าจึงไม่ต้องทอนเงินให้เขา


โชคดีที่เป็นการถาม-ตอบในห้องเรียน

ลองนึกดูสิว่า ถ้าโจทย์นี้ เป็นข้อสอบที่มีคำตอบ

เป็น ก-ข-ค-ง เด็ก 2 คนนี้ คงไม่ได้คะแนน

จากคำตอบที่ผิดเพี้ยนไปจากคนส่วนใหญ่

การสร้างโจทย์ที่ “เสมือนจริง” ในจินตนาการของครู

อาจถูกจำกัดเพียงแค่ “ตัวเลข” แต่สำหรับเด็ก

จินตนาการของพวกเขาไร้กรอบ เงิน 10 บาท

จึงสามารถเปลี่ยนเป็นเหรียญสิบบาท เหรียญห้าบาท

หรือ เหรียญหนึ่งบาท

เมืองไทยมีเหรียญสองบาท เราจึงอาจได้คำตอบ

เพิ่มอีก 1 ตำตอบ คือได้เงินทอน 1 บาท


โลกในห้องเรียน กับโลกของความเป็นจริง

นั้นแตกต่างกัน โลกในห้องเรียน ทุกคำถาม

ส่วนใหญ่มีเพียง 1 คำตอบ แต่โลกของความเป็นจริง

ทุกคำถามอาจมีคำตอบที่ถูกต้องได้เกิน 1 คำตอบ


อย่ารีบตัดสินความผิดถูกของคนๆนั้น

เพียงแค่คำตอบของเรา

อย่าหยุดความคิดสร้างสรรของคนๆนั้น

ด้วยกรอบความคิดของเรา


ดูเผินๆ เรื่องข้างต้น อาจจะไม่เกี่ยว

กับการวางแผนการเงินสักเท่าไร

แต่หากคิดให้ลึกซึ้ง จะพบว่า

ในโลกของความเป็นจริง ช่องทาง

ในการทำมาหากิน วิธีการเก็บออม

หรือทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลายมากมาย

ขึ้นกับโอกาส สิ่งแวดล้อม ความชำนาญ

หรือความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

แต่หลักการพื้นฐานในการวางแผนยังคงเดิม

ไม่เปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับตัวอย่างข้างต้น

เรามีเงิน 10 บาท ซื้อของไปเพียง 3 บาท

ย่อมมีเงินเหลือ 7 บาท แต่วิธีการจ่ายเงิน

หรือวิธีการทอนเงินนั้น อาจแตกต่างกันไป

ในแต่ละคน แต่ละสิ่งแวดล้อม


ที่ปรึกษาการเงินที่ดี จึงควรชี้แนะ

เพียงหลักการกว้างๆ เพื่อให้ลูกค้านำไปปฏิบัติ

เช่น การวางแผนให้เป็นรูปธรรม การกำหนด

กรอบของเวลา หรือการกระจายความเสี่ยง

การตัดสินใจแทนลูกค้าทั้งหมด โดยไม่ใส่ใจ

ในข้อจำกัดของลูกค้า อาจนำความเสียหาย

มาให้โดยคาดไม่ถึง


อย่ารีบตัดสินความผิดถูกของคนๆนั้น

เพียงแค่คำตอบของเรา

อย่าหยุดความคิดสร้างสรรของคนๆนั้น

ด้วยกรอบความคิดของเรา


หมายเหตุ ขอขอบคุณผู้เขียนนิรนาม

ที่สามารถใช้ตัวอย่างเรื่องง่ายๆ

แต่ให้ข้อคิดอย่างลึกซึ้ง ขอบคุณจริงๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘