เล่นหุ้นตามเซียน

ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  แนวทางการลงทุนหรือการเล่นหุ้นที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดน่าจะเป็นการลงทุนแบบ  “Value Investment”  เพราะหุ้น “Value”  หรือหุ้นที่มี  “พื้นฐาน”  ที่ดี หลาย ๆ  ตัวนั้น  มีราคาปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น  นอกจากนั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็เพิ่มสูงขึ้นมาก  หลาย ๆ      ตัวกลายเป็นหุ้นยอดนิยมที่มีปริมาณการซื้อขายติดอันดับสูงสุดหนึ่งในสิบของตลาดหุ้นทั้ง ๆ  ที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก  ถ้ามองเฉพาะปริมาณการซื้อขายก็น่าจะพูดได้ว่าหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้น “เก็งกำไรอย่างรุนแรง” ไปแล้ว  หุ้นที่เรียกว่า “Value” ที่คนเล่นกันทั้งตลาดนั้นเอง  ถ้ามองจากข้อมูลตัวเลขและการวิเคราะห์ตามมาตรฐานของ Value Investor “พันธุ์แท้”  ก็ดูเหมือนว่าหุ้นเหล่านั้นที่อาจจะ “เคย”  เป็นหุ้น Value หมดความเป็น Value ไปแล้วด้วยเหตุผลที่ว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปเกิน “พื้นฐาน” มาก

            อะไรทำให้หุ้นคุณค่ากลายเป็นหุ้นยอดนิยม ?   คำตอบผมคิดว่าเกิดจากจำนวนของนักลงทุนที่เป็น Value Investor หรือ VI มีจำนวนมากขึ้นและที่สำคัญกว่าก็คือ  มีเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนมากขึ้นมาก  นักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้าตลาดในช่วงหลัง ๆ  นี้  เริ่มเห็นคุณค่าของการลงทุนในกิจการที่ดีและมีราคาถูกให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการฝากเงินซึ่งให้ดอกเบี้ยน้อยมาก  แต่ปัญหาของนักลงทุนก็คือจะหาหุ้นตัวไหนที่จะเป็นหุ้น  “Value”   ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะวิเคราะห์หุ้นได้อย่างลึกซึ้ง  ดังนั้น  ทางออกก็คือ  คอยดูว่าคนที่วิเคราะห์หุ้นเก่ง ๆ  ระดับ  “เซียน”  ว่าเขาซื้อหุ้นตัวไหน  เสร็จแล้วก็ซื้อตาม  นี่เป็นวิธีการ  “ลอกการบ้าน”  ที่ไม่มีครูจับได้    ในอีกด้านหนึ่ง  เซียนเอง  บ่อยครั้งก็อยากให้ลอกการบ้าน  หลาย ๆ คนพยายามกระจายคำตอบให้คนอื่นลอกด้วยเหตุผลที่ว่า  ถ้ามีคนซื้อหุ้นตามมาก ๆ   หุ้นที่ตนเองซื้อไว้ก็จะมีราคาปรับตัวขึ้น  ดังนั้น  ทั้งคนลอกการบ้านและคนให้ลอกต่างก็ได้ประโยชน์  โดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ  ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป  และนี่คือสิ่งที่ผมจะพูดถึงการลงทุน “กระแสใหม่”  ที่ผมอยากจะเรียกว่าการ  “เล่นหุ้นตามเซียน”  หรือถ้าจะเรียกให้เท่ขึ้นไปหน่อยก็คือ  Celebrity Investment หรือเรียกย่อ ๆ  ว่า  CI  ซึ่งเป็นการเล่นหุ้นตามคนดังหรือ  “เซียน VI”

          เรื่องการเล่นหุ้นตามเซียนนี้  ปีเตอร์ ลินช์ เขียนไว้ในหนังสือ One Up on Wall Street ว่า  เขาไม่แนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้นตามเซียนหรือตัวเขาเอง   เหตุผลมี 3 ข้อ  คือ  1) เซียนหรือ ปีเตอร์ ลินช์อาจจะผิด /images/emoticons/mozilla_yell.gifเขาบอกว่าเขาผิดประมาณ 40% ของการเลือกซื้อหุ้น)  ข้อ 2) แม้ว่าเขาจะถูก  คุณก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะเปลี่ยนใจเกี่ยวกับหุ้นและขายไปเมื่อไร)  และข้อ 3)  คุณมีข้อมูลที่ดีกว่า  และมันอยู่รอบ ๆ ตัวคุณ  สิ่งที่ทำให้มันดีกว่าก็คือ  คุณสามารถที่จะติดตามมันได้  เช่นเดียวกับที่ ปีเตอร์ ลินช์ ติดตามหุ้นของเขา  อย่างไรก็ตาม  คำแนะนำของลินช์เองนั้น  ผมคิดว่าคนที่จะปฎิบัติตามน่าจะเป็นคนที่มีความรู้หรือมีความสามารถหรือมีความตั้งใจสูงที่จะศึกษาวิธีการลงทุนแบบ VI  ส่วนคนที่  “เล่นหุ้น”  นั่นก็คือ  คนที่หวังทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นคงจะไม่เห็นด้วยและคิดว่า  CI น่าจะให้ผลได้ดีกว่า

            การลงทุนแบบ CI นั้น  ดูเหมือนว่าจะไม่ยากโดยเฉพาะในยุคที่ข่าวสารต่าง ๆ  สามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่ออีเล็คโทรนิคส์สมัยใหม่ต่าง ๆ   วิธีก็คือ  ขั้นแรก  ดูว่าใครคือ  “เซียน” นี่ก็คือการเข้าไปตามเวบไซ้ต์หรือสื่อต่าง  ๆ  ที่มีการกล่าวขวัญถึงว่าใครสามารถซื้อขายหุ้นทำกำไรได้มากมายขนาดไหนในระยะเวลาอันสั้น  นอกจากนั้น   การบอกต่อ ๆ  กันในหมู่นักลงทุนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ  เมื่อกำหนดได้แล้วว่าใครคือเซียน  สิ่งที่จะต้องทำต่อมาก็คือ  คอยติดตามว่าเซียนกำลังจะเข้าซื้อหุ้นตัวไหน  ซึ่งบางทีก็ไม่ยาก  เพราะเซียนจำนวนไม่น้อยก็พยายามบอกต่ออยู่แล้ว  ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม  ในบางครั้ง  ถึงเซียนจะไม่ได้บอก  แต่ เนื่องจากเซียนได้เข้าซื้อหุ้นบางตัวจนมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งจะ ถูกรายงานในเวบไซ้ต์ของตลาดเมื่อมีการปิดบุ๊คเพื่อการประชุมผู้ถือหุ้น  แต่ข้อมูลนี้อาจจะไม่เป็นปัจจุบันมากนัก  บางกรณีอาจจะเกิดขึ้นมาแล้วเป็นปีก็เป็นได้

            เมื่อกำหนดได้แล้วว่าใครคือเซียน  CI แต่ละคนดูเหมือนจะรู้ว่าเซียนแต่ละคนนั้น  มี “กระบวนท่า”  หรือใช้หลักการลงทุนแนวไหน  เช่น  ชำนาญทางด้านหุ้นโตเร็ว  หุ้นวัฏจักร  หุ้นฟื้นตัว  หุ้นมีสตอรี่ หรืออื่น ๆ  รวมถึงระดับของพอร์ตหรือเม็ดเงินที่มักจะเข้าซื้อหุ้นด้วย  ประเด็นก็คือ  CI นั้น  มักจะซื้อตามเซียนที่มีแนวคิดหรือ “จริต” ที่สอดคล้องกับตัวเองและไม่ตามเซียนที่มีแนวทางอีกแบบหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น  ถ้าตนเองนั้นชอบเล่นหุ้นแบบสั้น ๆ  ไม่เกินปีหรือไม่เกินหนึ่งเดือน  โอกาสก็คือ  เขาจะไม่สนใจเซียนที่ชอบลงทุนระยะยาว  แต่จะชอบเซียนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่จะมีผลการดำเนินงานในระยะสั้นที่ดีมากกว่า

            เมื่อพบว่าเซียนได้เข้าซื้ออย่างมีนัยสำคัญแล้ว  CI “วงใน”  นั่นคือ  CI  ที่อาจจะคุ้นเคยกับเซียนก็จะซื้อตามก่อน  ต่อมาข้อมูลที่ว่าเซียนได้เข้าซื้อแล้วก็จะถูก  “ถ่ายทอด”  ต่อมายัง CI “วงนอก”  ที่ อาจจะห่างออกมาหน่อยแต่ก็ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่มเช่นที่ติดตาม เวบไซ้ต์การลงทุนอย่างใกล้ชิดซึ่งจะเริ่มมาซื้อตามหลังจากราคาหุ้นเริ่ม เคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องมาจากการที่มีแรงซื้อเพิ่มขึ้นมามาก  กระบวนการนี้จะคล้าย ๆ  กับสิ่งที่ จอร์จ โซรอส พูดถึง  นั่นคือ  กระบวนการ Reflexivity หรือกระบวนการที่คนในตลาดซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น  ซึ่งส่งผลให้พื้นฐานหรือมุมมองต่อหุ้นเปลี่ยนไป  ทำให้คนมาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอีก  ซึ่งก็จะกลับมาเสริมพื้นฐานหรือมุมมองของหุ้นต่อไปอีกต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่  ในบางครั้งกระบวนการนี้ก็อาจจะรุนแรงมากขึ้นจนราคาหุ้นกลายเป็นฟองสบู่เนื่องจาก CI ชุดสุดท้ายที่เข้ามาเล่น

CI  ชุดท้าย ๆ  ก็คือนักเล่นหุ้นทั่ว ๆ  ไป ที่ได้ข่าวว่าเซียนได้เข้ามาซื้อหุ้นจากสื่อกระแสหลักเช่นหนังสือพิมพ์และอาจจะบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์  พวกเขาจะเข้ามาเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้นเป็นหลัก  ด้วยปริมาณการซื้อขายมโหฬารเนื่องจากเป็นการซื้อขายเป็นรายวันหรืออาจจะเป็นรายนาทีCI กลุ่มนี้จะไม่สนใจเลยว่าหุ้นนั้นยังมี Value หรือไม่  สิ่งที่พวกเขาคาดหรือจับตานั้นมีเพียงเรื่องเดียว  นั่นก็คือ  หุ้นตัวนี้  รายใหญ่หรือจ้าวหรือสปอนเซอร์ ยังเล่นหรือไม่  ถ้ายังเล่น  พวกเขาก็พร้อมเข้ามาเสี่ยง  ถ้าเลิกก็  “ตัวใครตัวมัน” เหนือสิ่งอื่นใด  เขาคิดว่าเขาจะ “ออก” ทันเสมอเนื่องจากปริมาณการซื้อขายหุ้นเมื่อถึงจุดนี้มีสูงมาก  อย่างไรก็ตาม  หลาย ๆ  ครั้ง  การตกของหุ้นในจุดนี้จะแรงมากจนหนีไม่ทันก็มี

การเป็น CI นั้น  ในช่วง 2- 3 ปี มานี้  ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นบูมเป็นกระทิง  ดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ทำเงินได้ไม่น้อยสำหรับบางคนโดยเฉพาะที่เป็น CI วงต้น ๆ   เหนือสิ่งอื่นใด  อาจจะเป็นช่วงที่ยังมีหุ้น Value ที่ยังถูกมากเหลืออยู่ให้เซียนเข้าไปเก็บและเผื่อไปถึง CI ได้ไม่น้อย  อย่างไรก็ตาม  อนาคตหลังจากนี้  หุ้นที่เป็น Value อาจจะเหลือน้อยหรือแทบหมดแล้ว  และเซียนก็อาจจะผิดพลาดได้  ดังนั้น  CI ที่เข้าไปซื้อตามอาจจะพบว่าการทำเงินนั้นยากลำบากมากขึ้นจนถึงกับขาดทุนก็เป็นไปได้โดยเฉพาะ CI วงหลัง ๆ    สำหรับผมแล้ว  การเป็น CI นั้น  ยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว  ดังนั้น  สำหรับ  VI ที่มุ่งมั่นแล้ว  การวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองจะดีกว่าการ “ลอกการบ้าน”  แน่นอน  แม้ว่าเราจะไม่เก่งเท่าเซียน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘