ราคาหุ้นที่เหมาะสม

เวลาที่เราพิจารณาหรือวิเคราะห์ว่าราคาของหุ้นตัวหนึ่งเหมาะสมหรือไม่?  มันแพงเกินไปหรือถูกเกินไป  เราทำอย่างไร?  เรารู้ได้อย่างไร?   Value Investor โดยเฉพาะที่  “เชี่ยวชาญ”  เกี่ยวกับตัวเลขและการคำนวณ  รวมถึงการวิเคราะห์อนาคตของกิจการ  ก็จะบอกว่าเรา “รู้”  เพราะว่าเราสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงหรือ  Intrinsic Value ของกิจการได้  มูลค่าที่แท้จริงนั้น  มีวิธีการหาได้หลายแบบ  ตัวที่ง่ายที่สุดก็คือการใช้ค่า  PE ของหุ้น  อาจจะเป็นค่า PE ในอดีตย้อนหลังไปหนึ่งปี  หรืออาจจะเป็นค่า PE ที่มองไปในอนาคตหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น  ตัวอย่างเช่น  ถ้าค่า E หรือกำไรต่อหุ้นของปีที่ผ่านมาของบริษัทเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น  และบริษัทเป็นกิจการที่  “โตเร็ว”  คาดว่ากำไรจะโตถึงปีละ 20% ต่อปีและจะโตไปอีกหลายปี  หุ้นแบบนี้น่าจะสามารถมีค่า PE สูงถึงประมาณ 20 เท่า  ดังนั้น  มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมควรที่จะเท่ากับ 1 คูณด้วย 20 หรือ  20 บาทต่อหุ้น   หลังจากนั้นเราก็มาดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดเป็นเท่าไร  ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาท  เราก็บอกว่านี่คือหุ้นที่มีราคา “ถูก”  ควรที่เราจะซื้อไว้  ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น  เราก็บอกว่าราคา  “ยุติธรรม”  และถ้าราคาหุ้นในขณะนั้นเท่ากับ 30 บาท  เราก็บอกว่าหุ้นมีราคา “แพง” กว่าพื้นฐาน

            ในหุ้นตัวเดียวกันนั้นเอง  แต่วิเคราะห์โดย VI อีกคนหนึ่งอาจจะมองว่า  บริษัทอาจจะโตขึ้น 20% ก็จริง  แต่เป็นการโตแค่ปีเดียวเนื่องจากเป็นเรื่องของภาวะอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวยไม่ได้เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน  หลังจากนั้นแล้วการเติบโตก็เป็นปกติประมาณปีละ 10%  ดังนั้นค่า PE ของหุ้นจึงควรที่จะเป็น 10 เท่า  ดังนั้น  สำหรับ VI รายนี้ก็จะบอกว่า  ถ้าหุ้นราคา 10 บาท  ก็เป็นราคาที่ยุติธรรม  ถ้าราคาหุ้นเท่ากับ 20 บาทก็ถือว่าแพงมาก  และถ้าราคาเท่ากับ 30 บาทก็ถือว่าแพงสุด ๆ  ต้องรีบขายทิ้ง

            VI อีกคนหนึ่งอาจมองว่าการใช้ PE ในอดีตสำหรับหุ้นตัวนี้ไม่เหมาะสมเพราะบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงใน “พื้นฐาน” อย่างสำคัญ  กำไรที่เห็นยังไม่สะท้อน “พื้นฐานใหม่”  ดังนั้นเขาจึงใช้  PE  ในอนาคต  นั่นก็คือ  เขาจะคาดการณ์กำไรในอนาคตของบริษัท  ซึ่งเขาคาดว่าจะทำได้ถึง 2 บาทต่อหุ้น  และเขาคิดว่าบริษัทจะโตเร็วมากหลังจากนั้นคือโตได้ถึง 20% ต่อปีไปอีกหลายปี  ดังนั้น  ค่า PE ของหุ้นก็ควรจะเป็น 20 เท่า ซึ่งก็ทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเท่ากับ  2 คูณด้วย 20 เท่ากับ 40 บาทต่อหุ้น  ดังนั้น ถ้าราคาหุ้นในปัจจุบันเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น  หุ้นตัวนี้ก็ถูกสุด ๆ   เช่นเดียวกันที่ราคา 20 บาทก็ยังถูกมาก  มี  Margin of Safety  หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยถึง 50%  และแม้ว่าหุ้นจะราคา 30 บาทต่อหุ้น  หุ้นก็ยังถูกอยู่ดีมีโอกาสกำไรได้อีก 33%

          ถ้าจะถามว่าใครวิเคราะห์หรือ “ทาย” ถูก?  คำตอบก็คือ  ในวันที่วิเคราะห์และตัดสินใจซื้อขายหุ้นนั้น  ไม่มีใครรู้   คำตอบที่แท้จริงคงจะต้องรอเวลาอีกหลายปี  และเมื่อถึงวันนั้น  สถานการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีก  อย่างไรก็ตาม  เราก็คงจะพอมองออกเมื่อถึงวันนั้นว่าบริษัทเป็นอย่างไร  มีกำไรเติบโตแบบไหน  และใครน่าจะเป็นคนที่ “ทาย” ถูก  และ  แน่นอน  ราคาหุ้นหลังจากที่ผ่านไปอาจจะ 2-3 ปีหรือ 3-4 ปีจะเป็นเครื่องยืนยันว่าใครน่าจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง   แต่ประเด็นก็คือ  คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไม่อยากรู้ว่าอีก 3 ปีราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร  เขาอยากรู้ว่าราคาหุ้นตอนนี้ถูกหรือแพงและมันจะวิ่งขึ้นหรือลงไปหา  “มูลค่าที่แท้จริง” และมูลค่าที่แท้จริงคือเท่าไร?

            และนี่จึงนำมาสู่ทฤษฎีว่าใครน่าจะวิเคราะห์ได้ถูกต้องที่สุด?   VI คนที่หนึ่ง  VI คนที่สองหรือคนที่สาม?  หรือนักเล่นหุ้นทั่ว ๆ ไปที่เน้นเก็งกำไรเป็นหลักที่บังเอิญเข้ามาเล่นหุ้นตัวเดียวกัน?   คำตอบจากการศึกษาโดยการทดลองภายใต้สมมุติฐานหนึ่งเช่น  สมมุติว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้นเป็นคนที่มีเหตุผลพอสมควรและสามารถควบคุมอารมณ์ได้ในระดับปกติ  เป็นคนที่ซีเรียสในการตัดสินใจลงทุนเพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ของตัวเองเป็นเดิมพัน  เป็นต้น   คำตอบที่ได้ก็คือ  ไม่ใช่ VI ที่ “อนุรักษ์นิยม”  ไม่ใช่ VI ที่ “กล้าหาญชาญชัย”  ไม่ใช่ VI “ระดับเทพ”  และก็ไม่ใช่ “นักเก็งกำไรตัวยง” หรือ  “นักเก็งกำไรสมัครเล่น”  แต่เป็น  “ค่าเฉลี่ย”  ของนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นทุกคน  และค่าเฉลี่ยที่ว่านี้ก็คือ  “ราคาหุ้นในตลาด”  เพราะราคาหุ้นในตลาดนั้น  เป็นตัวสะท้อน “ความเห็น” ของทุกคน  และโดยนัยนี้  มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของหุ้นก็คือ  “ราคาหุ้นในตลาด”  ดังนั้น  หุ้นในตลาดจึงไม่มีคำว่าถูกหรือแพงกว่าพื้นฐาน  หุ้นในตลาดนั้น  ตามทฤษฎีและภายใต้การทดลองที่มีข้อสมมุติฐานที่มีเหตุผลนั้น  มีราคาที่ยุติธรรมเหมาะสมตามพื้นฐานของมัน  ไม่มี  “เซียน” คนไหนคำนวณมูลค่าหุ้นได้แม่นยำเท่า “ตลาด” และนี่ก็คือ ทฤษฎีที่เรียกว่า  “ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ” ซึ่ง  “ทรงพลัง” มาก

            ทำไม “ค่าเฉลี่ย”  จึงแม่นหรือเก่งกว่า “เซียน”  ในการคาดการณ์มูลค่าหุ้นหรืออีกหลาย ๆ  เรื่อง  คำตอบคงยาวมาก  แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า  ค่าเฉลี่ยนั้นเกิดจากการนำข้อมูล  ความรู้  ความสามารถในการวิเคราะห์  และอื่น ๆ  ของแต่ละคนมารวมกัน  เปรียบคล้าย ๆ  กับการต่อพ่วงคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องเข้าด้วยกันแล้วช่วยกันทำงาน  ผลที่ออกมาจึงเหนือกว่าคอมพิวเตอร์ตัวเดียวที่แม้จะเก่งและมีพลังมาก  แต่ก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ  ได้ทั้งหมด  นี่ฟังดูหลายคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อว่าคนหลายคนที่ไม่ได้มานั่ง “สุมหัว” กัน  แต่ต่างคนต่างทำจะสามารถนำข้อมูลมารวมกันได้  แต่นี่เป็นเรื่องจริง  มีการทดลองแล้วพบว่ามันจริง  ผมจำไม่ได้ชัดว่าเป็นเรื่องอะไร   แต่จะเป็นแนวต่อไปนี้

          สมมุติว่าเราต้องการทำนาย  น้ำหนักตัวของคน ๆ หนึ่ง  วิธีการก็คือ  เราหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหนัก  อาจจะเป็นหมอหรือช่างตัดเสื้อก็ได้มาทำนายคนหนึ่ง  นอกจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว  เราก็ยังมีคนที่จะมาทำนายอีกเป็นหลายสิบคน  คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือคนธรรมดาที่มีน้ำหนักตัวมากบ้างน้อยบ้าง  และทำงานอาชีพที่หลากหลายแต่ไม่มีใครเชี่ยวชาญในการคิดประมาณการน้ำหนักตัว  พวกเขาแต่ละคนก็จะมีความคิดหรือความรู้บางอย่างเช่นเขาอาจจะรู้ว่าน้ำหนักของตัวเองเป็นเท่าไรและถ้านำมาเปรียบเทียบกับคนที่เขาเห็น  น้ำหนักตัวของคนที่เขาเห็นจะเป็นเท่าไรอย่างนี้เป็นต้น  ประเด็นสำคัญก็คือ  เขาจะต้องตั้งใจที่จะทายให้ถูกจริง ๆ  เพราะการทายถูกหรือใกล้เคียงจะมีรางวัลตอบแทนให้   ผลของการประมาณการน้ำหนักตัวที่กล่าวนี้  ปรากฏว่า  คนที่ทายได้ใกล้เคียงที่สุดนั้น  ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือเซียนเรื่องน้ำหนักตัวครับ  แต่เป็นอย่างที่พูดแล้ว  นั่นคือ  น้ำหนักตัวของคนที่ถูกทายใกล้เคียงกับ “ค่าเฉลี่ย”    ของการทายหรือประมาณการของทุกคน  เซอร์ไพร้ส์ไหมครับ

            ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพนะครับ  เพราะถ้าผมเชื่อก็คงไม่มาเป็น VI เลือกหุ้นลงทุนอยู่ทุกวันนี้  ว่าที่จริง  ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่เชื่อว่าพฤติกรรมของคนนั้นไม่ใช่ว่าจะมีเหตุผลเสมอไป  ดังนั้น  ราคาหุ้นในตลาดก็อาจจะเพี้ยนไปจากมูลค่าที่แท้จริงได้  และผมจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘