เรียนรู้การเมือง

การเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในเร็ว ๆ นี้  เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนของคนจำนวนไม่น้อย  เพราะรัฐบาลที่จะตามมานั้น  ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร  เข้ามาแล้วจะมีนโยบายอย่างไรชัดเจนแม้ว่าจะมีการประกาศนโยบายต่าง ๆ  ของพรรคการเมืองออกมาแล้ว  นอกจากเรื่องของนโยบายแล้ว  แนวความคิดหรือปรัชญาทางการเมืองของแต่ละพรรคก็เป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าหรือน่าจะพูดว่าสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของนโยบายที่เขียนไว้  เพราะแนวความคิดหรือปรัชญาทางการเมืองนั้น  มักจะเป็นตัวกำหนดว่า  พรรคนั้นจะทำอย่างไรหรือตัดสินใจอย่างไรต่อแนวทางในการบริหารประเทศโดยเฉพาะในด้านของเศรษฐกิจ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  จะเอื้อหรือขัดขวางการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน

            แนวความคิดหรือปรัชญาทางการเมืองหลัก ๆ  ที่ผมคิดว่าสามารถอธิบายได้ชัดเจนในโลกนี้น่าจะแบ่งได้เป็นสองค่ายหรือสองกลุ่มนั่นก็คือ  ฝ่ายที่เรียกว่า “ทุนนิยม” กับฝ่าย “สังคมนิยม”  แต่นี่ก็เป็นเพียงเรื่องของแนวความคิดทางเศรษฐกิจที่สองฝ่ายมีความเห็นไม่เหมือนกันหรือตรงกันข้าม  ที่จริงยังมีเรื่องหรือประเด็นอื่น ๆ  อีกมากที่แต่ละฝ่ายมองไม่เหมือนกันและดังนั้นเวลาแบ่งค่ายจึงมีการใช้คำที่ครอบคลุมความหมายที่กว้างกว่าโดยเรียกว่าเป็น  ฝ่าย “ขวา” กับฝ่าย “ซ้าย”  โดยที่ฝ่ายขวานั้นเชื่อในระบอบเศรษฐกิจที่เป็นทุนนิยมและฝ่ายซ้ายเน้นที่สังคมนิยม

            ถ้าจะให้มองภาพที่ชัดเจนว่าฝ่ายขวาคิดอย่างไรและฝ่ายซ้ายคิดอย่างไรในประเด็นเรื่องต่าง ๆ  นั้น  ผมคิดว่าถ้ามองในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นประเทศคงมองได้ไม่ชัดเจนนัก  เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงหลัง ๆ  การแตกแยกหรือแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น  “เบลอ”  มากขึ้นทุกที  หาประเทศที่เป็นขวา “ตกขอบ” หรือซ้าย “สุดโต่ง” ได้ยาก  ประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมหลายแห่งก็ “กอดรัด” ทุนนิยมเข้าไปเต็มที่  ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนเป็นต้น  ในทางตรงกันข้าม  ประเทศที่เคยเป็นทุนนิยมจัด ๆ  เช่นในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากก็หันมาเน้นนโยบายแบบสังคมนิยมมาก ๆ  กลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” ไปเลยก็มี  ดังนั้น  เพื่อที่จะอธิบายความคิดแบบซ้าย-ขวาให้เห็นภาพได้ชัดเจน  ผมจึงอยากที่จะใช้ตัวอย่างของสองประเทศในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  เหตุผลก็คือ  นั่นเป็นช่วงเวลาที่อุดมการณ์ทางการเมืองกำลังมาแรงเป็นกระแสระดับโลกที่ “เชี่ยวกราก”  สองประเทศที่ว่าก็คือ  เยอรมัน  ตัวแทนของฝ่ายขวา  กับ สหภาพโซเวียตรัสเซีย ตัวแทนของฝ่ายซ้าย

            ความคิดแบบขวานั้น  ประเด็นแรกก็คือ  มองว่าคนเรานั้น  ไม่เท่าเทียมกัน  มีคนที่เหนือกว่าคนอื่นในสังคม  คนที่เหนือกว่าก็ควรต้องมีสิทธิมีเสียงมากกว่า  เป็นผู้นำ  เป็นผู้ที่จะกำหนดเรื่องราวต่าง ๆ  ให้คนที่ด้อยกว่าทำตาม  พูดง่าย ๆ  คนที่ปกครองต้องเป็นคนที่เหนือกว่าหรือดีกว่า   นั่นคือสิ่งที่ฮิตเลอร์คิดและทำ  เขาคิดว่าคนเยอรมันหรือพูดให้ถูกต้องก็คือคนเชื้อชาติ “อารยัน”  นั้นเป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่นโดยเฉพาะคนรัสเซียที่เป็นชนเผ่า  “สลาฟ”  และดังนั้น  เยอรมันจะต้องปกครองรัสเซียและประเทศอื่น ๆ  โดยเฉพาะที่เป็นพวกสลาฟ   ฮิตเลอร์ยังคิดว่าพวกยิวนั้นเป็นชนชาติที่ด้อยและเลวร้ายจะต้องกำจัดให้หมดไป  ดังนั้น  เขาจึงสังหารคนยิวนับล้าน ๆ คน  ส่วนความคิดแบบซ้ายสุดนั้นมองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน  ไม่มีชนชั้น  ดังนั้น  จึงต้องกำจัดชนชั้นให้หมดไปโดยเฉพาะนายทุนที่  “กดขี่ขูดรีด”  ชน “ผู้ใช้แรงงาน” ที่เป็นกลุ่มชนชั้นล่างของสังคม

            ฝ่ายขวานั้น  มักจะเน้นความเป็น “ชาตินิยม”  เรื่องของดินแดนหรืออาณาเขตประเทศเป็นสิ่งที่ต้องรักษาและถ้าเป็นไปได้ต้องขยายออกไปให้ยิ่งใหญ่  การได้อาณาเขตเพิ่มเติมเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและความมั่นคงยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง  นั่นทำให้ฮิตเลอร์ยกทัพเข้ายึดครองประเทศเพื่อนบ้านและรัสเซีย  ตรงกันข้าม  ฝ่ายซ้ายนั้นไม่เน้นความเป็นชาตินิยมแต่เน้นความเป็นสากล  พวกเขาเชื่อว่าโลกหรือคนนั้นไม่ได้แบ่งกันที่อาณาเขตของประเทศ  แต่แบ่งที่ว่าคุณเป็นคนชั้นไหน  “ผู้กดขี่” หรือผู้ที่ “ถูกกดขี่”  สำหรับพวกเขาแล้ว  เขาเน้นการ “ส่งออก”  ความคิดแบบ  “ปฏิวัติ”  และสนับสนุนให้คนที่ถูกกดขี่โดยเฉพาะกรรมกรและชาวนาต่อสู้เพื่อสร้างระบบสังคมนิยมขึ้นในประเทศของตนเอง  ไอดอลของฝ่ายซ้ายอย่าง เช กูวารา นั้น  เขาไปช่วยรบกับฝ่ายซ้ายในหลาย ๆ  ประเทศโดยเฉพาะในละตินอเมริกา

            ฝ่ายขวานั้น  มักจะเน้นการเป็น “วีรบุรุษ”  พวกเขาจะเชิดชูผู้นำที่โดดเด่น  ฮิตเลอร์ใช้สื่อทุกชนิดและกลุ่มคนต่าง ๆ  รวมถึงเยาวชนในการสร้างให้ตนเองเป็นวีรบุรุษและผู้นำของเยอรมัน  ฝ่ายซ้ายนั้นมักเน้นการปกครองหรือการนำเป็นกลุ่ม  หรือก็คือกลุ่มผู้นำของพรรคการเมืองเช่นพรรคคอมมิวนิสต์

            การเป็นขวาจัดของเยอรมัน  นั้น  ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือคนเยอรมันอยากจะเป็น  สถานการณ์มักจะเป็นตัวกำหนด  นั่นก็คือ  เยอรมัน เองถูกบีบจากสันนิบาตชาติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ และทำให้ต้องถูกยึดครองดินแดนและเสียค่าปฏิกรณ์สงครามรวมถึงต้องเสีย ศักดิ์ศรีในอีกหลาย ๆ  เรื่อง  ดังนั้น  อุดมการณ์ขวาจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและแรง  รัส เซียเองนั้นกลายเป็นประเทศซ้ายจัดก็เกิดจากสถานการณ์ในประเทศเช่นเดียวกัน แต่เป็นเรื่องของปากท้องและความเป็นธรรมที่คนรัสเซียต้องประสบซึ่งอาจจะรวม ถึงการ  “กดขี่” ของผู้ปกครองจากระบอบการปกครองของซาร์ที่ไม่ยอมผ่อนตามความต้องการของคนโดยเฉพาะกรรมกรในเมือง  ดังนั้น  เมื่อเกิดการปฏิวัติประชาชน  ระบอบการปกครองหลังจากนั้นจึงเป็นซ้ายจัด  ซึ่งแน่นอน  ต้องกลายเป็นระบอบเผด็จการเช่นเดียวกับเยอรมันที่ก็ต้องเป็นเผด็จการไม่น้อยไปกว่ากัน

            การเมืองไทยเองนั้น  ความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบ ขวา-ซ้าย ผมคิดว่ามีมาหลายสิบปีตั้งแต่สมัยที่จีนเป็นประเทศสังคมนิยมใหม่ ๆ  และ  “ส่งออก”  แนวความคิดมาที่ประเทศไทยผ่านพรรคคอมมูนิสต์ไทย  แต่แนวความคิดแบบ ซ้าย-ขวา ที่มีการเผยแพร่และแสดงออกอย่างกว้างขวางนั้นน่าจะเริ่มหลังจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่นักศึกษาเป็น  “หัวหอก” ในการเสนอแนวความคิดนี้  และเมื่อความคิดแบบซ้ายเปิดตัวออกมา  โดยธรรมชาติ  ความคิดแบบขวาก็ออกมาตอบโต้  สุดท้ายอย่างที่เราทราบกัน  ประกอบกับเหตุผลทางสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมระดับโลกที่เริ่มไม่เน้นในเรื่องของอุดมการณ์แต่สนใจเรื่องการ  “ทำมาหากิน” มากกว่า  อุดมการณ์ทางการเมืองของคนไทยก็ “เลือน” หายไป  การเมืองไทยหลังจากนั้นก็เดินไป “ทางสายกลาง”  เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ของโลก

            ผมไม่รู้ว่าเป็นเหตุผลใดแน่ชัด  อาจจะเป็นเรื่องของ “อุบัติเหตุทางการเมือง”  การเมืองไทยกลับเข้าไปอยู่ใน “ความขัดแย้ง”  ที่อาจจะมีกลิ่นอายของการเป็น ขวา-ซ้าย อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าในยุคนี้จะไม่มีใครเรียกแบบนั้น   ความแตกต่างในครั้งนี้ก็คือ  จำนวนคนที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะมากกว่าอดีตมาก  อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ทางการเมืองดูเหมือนจะไม่สุดโต่งเท่า  ว่าที่จริง  อาจจะไม่มีแนวคิดอะไรที่จะเป็นเรื่องในระดับที่เรียกว่า  “ปฏิวัติ”  อะไรเลย  ผมก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะไม่เลยเถิดจนคุกคามชีวิตและการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นแม้ว่าลึก ๆ  แล้ว  ผมรู้สึกว่า  การเมืองไทยในช่วงนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ต้องจับตามอง เป็นความเสี่ยงที่ว่า  การเมืองอาจจะสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งทั้ง ๆ  ที่คนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘