เรียนรู้ชีวิต

ในสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น  วิชาที่ผมไม่ชอบที่สุดวิชาหนึ่งก็คือ  ชีววิทยา  เหตุผลก็เพราะ  มันเป็นวิชาที่ผมจะต้องท่องจำมากที่สุดโดยที่ผมไม่รู้ว่าจะจำไปทำไมยกเว้นแต่ว่าจะต้องไปทำข้อสอบ   การจำนั้น  บ่อยครั้งเป็นการจำที่ไม่มีพื้นฐานอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลเลยสำหรับผม  เช่นต้องจำว่าใบไม้ชนิดไหนมี “กี่แฉก” หรือต้องจำชื่อเซลแปลก ๆ  จำนวนมากว่ามันมีรูปร่างและทำงานอย่างไร  นี่ประกอบกับการที่ผมไม่คิดว่าจะเรียนต่อทางสายแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต  ผมจึงเรียนวิชาชีววิทยาเพียงแค่  “พอผ่าน”  หลังจากนั้นผมก็เลิกสนใจความรู้ทางด้านนี้ไปเลย

            ผมกลับมาสนใจเรื่องของสิ่งมีชีวิตซึ่ง แน่นอน  รวมถึงมนุษย์หรือคนเราด้วยเมื่อได้มีโอกาสอ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุคซึ่งเขียนเพื่อให้คนเข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่อง “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต”  ตามทฤษฎีของ  ชาร์ล ดาร์วิน  หนังสือในแนวนี้เริ่มมีแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ   พร้อมกับคำอธิบายและทฤษฎีใหม่ ๆ  ของนักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ    หลังจากอ่านหลาย ๆ  เล่มผมก็พบว่า  แท้ที่จริงแล้ว   เกือบทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงคนด้วยนั้น  สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย  จิตใจ  พฤติกรรม  สังคมและการเมือง   นี่เป็นเรื่องน่าทึ่ง  และในฐานะที่เป็น  Value Investor  ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ผมอยากรู้   อย่างน้อยที่สุดมันคงช่วยให้ผมเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ผมลงทุนอยู่   และก็โดยบังเอิญ  ความรู้เรื่อง  Behavioral Finance หรือ  “การเงินพฤติกรรม”  ก็เป็นเรื่องที่กำลังได้รับการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากมันสามารถอธิบายความ  “ผิดปกติ”  ในตลาดการเงินได้ดี  มันช่วยในการลงทุนของเราไม่น้อยไปกว่าทฤษฎีการเงินสายหลักอย่างทฤษฎี  “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” หรือที่เรียกว่า  Efficient Market ที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่านักลงทุนในตลาดหุ้นนั้นเป็นคนที่มีเหตุผลและไม่ได้ใช้อารมณ์ในการลงทุน

          ในความเห็นของผม  ทฤษฎีวิวัฒนาการนั้น  มันมีพื้นฐานที่ง่ายมากและนั่นคือสิ่งที่ทำให้มันทรงพลังในการที่จะอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ   หัวใจสำคัญก็คือ  สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนั้นต่างก็มาจากการปรับตัวและปรับปรุงจากสิ่งมีชีวิตอื่น  การปรับตัวและปรับปรุงนั้นไม่ได้มีเป้าหมายหรือทิศทางแต่เป็นการได้มาโดยบังเอิญเนื่องจากการ “ผ่าเหล่า” ของยีนส์ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทใดและอย่างไร  หัวใจสำคัญก็คือ  เมื่อมีสิ่งที่ “ดี”  เกิดขึ้นจากการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง  สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะเก็บสิ่ง “ดี” นั้นไว้และส่งต่อให้ลูกหลาน   คำว่า “ดี” นั้น  ไม่ใช่ดีในแง่ของศีลธรรมที่เราเข้าใจกันแต่เป็นสิ่งที่ดีในแง่ของชีวิตหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือดีในแง่ของยีนส์นั่นก็คือ  มันทำให้ยีนส์เผยแพร่ไปได้มากขึ้น

การที่ยีนส์จะเผยแพร่ต่อไปได้หรือเผยแพร่ได้มากขึ้นนั้น  สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องมีภารกิจหรือ Mission สำคัญสามอย่างนั่นก็คือ  หนึ่ง  มันจะต้องพยายามกินสิ่งมีชีวิตอื่น  สอง  มันจะต้องหลีกหนีการถูกกิน  และสาม  มันจะต้อง “สืบพันธุ์”  หรือส่งต่อยีนส์ไปให้ได้มากที่สุด  และนี่คือสิ่งที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทำเป็นหลัก  สิ่งที่ทำนอกเหนือจากนี้เป็นสิ่งประกอบเพื่อที่จะเสริมให้ภารกิจหลักบรรลุเป้าหมาย  ว่าที่จริงสิ่งมีชีวิตที่ “ไม่ซับซ้อน”  เช่นพวกแบคทีเรีย  ไส้เดือน  หรือสัตว์ “ชั้นต่ำ”  ทั้งหลายนั้น  จะไม่ทำภารกิจเสริมเลย   สัตว์ชั้นสูงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่าเช่นเสือหรือกวางเองก็ทำภารกิจเสริมน้อยมาก  ในแต่ละวันมันคิดแต่ว่าจะกินสัตว์อื่นได้อย่างไร  จะหลีกหนีการถูกกินหรือเอาตัวรอดได้อย่างไร  และจะมีโอกาสผสมพันธุ์ไหม  ในขณะที่มนุษย์หรือคนเรานั้น  เราทำภารกิจเสริมมากมายจนบางครั้งเราลืมคิดไปว่าภารกิจหลักคืออะไร  อย่างไรก็ตาม  “จิตใต้สำนึก”  จะเป็นคนที่ชี้นำหรือสั่งเราเองว่าเราจะต้องตัดสินใจทำอะไรหรือทำอย่างไรที่จะทำให้เราบรรลุภารกิจหลัก

จากพื้นฐานดังกล่าว  เราก็สามารถที่จะรู้หรือคาดการณ์การกระทำหรือพฤติกรรมของคนได้ถูกต้องขึ้น  เช่นเดียวกัน  เราก็สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมหรือวัฒนธรรมได้ว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น  ในประเด็นนี้  เราจะต้องนำ  “สิ่งแวดล้อม”  เข้ามาประกอบการวิเคราะห์  เพราะสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่งนั้น  มีผลต่อการกินหรือถูกกินและการสืบพันธุ์ต่างกัน   ร่างกายและจิตใจมนุษย์ถูกออกแบบหรือได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่โบราณนับได้ถึงสองแสนปีแล้ว  และแม้ว่าจะมีการปรับปรุงมาตลอดเพื่อให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในช่วงประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อนที่เราเริ่มเปลี่ยนจากการล่าสัตว์และหาของป่ามาทำเกษตรกรรม  ทำให้ร่างกายของเรายังปรับตัวไม่ทัน  ยิ่งถ้าคิดถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนที่เกิดการปฏิวัติอุตสากรรม นั้น  ก็ยิ่งทำให้ร่างกายของเรา “เพี้ยน” ไปจากที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  นั่นคือ  ร่าง กายของเราถูกออกแบบมาสำหรับการล่าสัตว์หาของป่าแต่ต้องมาอยู่ในสังคมที่ก้าว หน้ามากและสามารถหาอาหารได้อย่างง่ายดายในซุปเปอร์มาร์เก็ต

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  มนุษย์ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในชีวิตสามประการ  พฤติกรรมที่แตกต่างไปจากนี้ที่ไม่เป็นการเสริมกับภารกิจหลักนี้ย่อมไม่มี  มนุษย์ทุกคนทำทุกอย่าง  “เพื่อตนเอง”  ถ้าพูดกันตามภาษาที่เราคุ้นเคยก็คือ  คนย่อม  “เห็นแก่ตัว”  หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ  “ยีนส์ย่อมเห็นแก่ตัว”  และยีนส์ก็คือคนที่คุมคน  ดังนั้นคนจึงเห็นแก่ตัว  ว่าที่จริง  ถ้าคนไม่เห็นแก่ตัว  ป่านนี้คนก็คงหมดโลกไปแล้ว  เพราะคนจะ “ถูกกิน” หมดก่อนถึงวันนี้   อย่าลืมว่าในสมัยแสนปีที่แล้ว  มนุษย์ไม่ได้สบายแบบวันนี้และยังต้องคอยหนีเสืออยู่ในป่าเช่นเดียวกับที่ต้อง “ถูกกิน” โดยเชื้อโรคทั้งหลายโดยที่ไม่มียารักษา

ผมเขียนมายืดยาว  เป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก  การประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในฐานะ VI นั้นแต่ละคนก็ต้องทำเอง  การหาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านของจิตวิทยาของคนซึ่งก็มีคนเขียนไว้ไม่น้อยที่เรียกว่า  “จิตวิทยาวิวัฒนาการ”  ซึ่งเป็นสาขาจิตวิทยา “แนวใหม่”  ที่กำลังได้รับการยอมรับเนื่องจากสามารถอธิบายเรื่องของจิตวิทยาหรือพฤติกรรมคนได้ดีกว่าจิตวิทยาแนวเดิม  ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ VI เข้าใจชีวิตและสังคมดีขึ้น  และน่าจะทำให้มีโอกาส  “กินคนอื่น”  แทนที่จะ  “ถูกกิน”  ในสมรภูมิหุ้น  เหนือสิ่งอื่นใด  มันน่าจะทำให้เราไม่  “ซื่อ”  จนเกินไป  คิดว่ามีคนที่ “ไม่เห็นแก่ตัว”  เอา “อาหาร” มาให้เรากินแทนที่เขาจะกินเสียเอง   อย่าลืมว่าตลาดหุ้นนั้น  ถ้าเทียบกับยุคหินก็คือป่าที่เต็มไปด้วยเสือ สิงห์  กระทิง  แรด  ที่ต่างก็ต้องการ  “กินคนอื่น”   ถ้าเผลอคุณก็มีโอกาสเป็นอาหารของพวกเขาเสมอ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘