บทเรียนหุ้นโภคภัณฑ์

หุ้นที่ร้อนแรงและมีสีสันที่สุดกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้นนั้น  ผมคิดว่าคือหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์  เป็นครั้งเป็นคราวโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจร้อนแรงอย่างในช่วงเร็ว ๆ  นี้  หุ้นโภคภัณฑ์บางตัวหรือบางกลุ่มจะปรับตัวหรือวิ่งขึ้นหวือหวามาก   ราคาหุ้นอาจขึ้นไปได้เป็น 5-10 เท่าอย่างง่าย ๆ    ในเวลาเดียวกันก็อาจจะมีหุ้นโภคภัณฑ์อีกตัวหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวลงเหลือครึ่งเดียวหรือต่ำกว่านั้น   นี่ไม่ใช่เฉพาะราคาที่ปรับตัวขึ้น   แต่มันมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วเป็นร้อยหรือเป็นพันล้านบาทต่อวัน  หลาย ๆ  ตัวมีปริมาณการซื้อขายสูงสุดสิบอันดับแรกเกือบทุกวันทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นหุ้นขนาดใหญ่  ดังนั้น  หุ้นโภคภัณฑ์นั้น   ต้องถือว่าเป็นหุ้น  “ยอดนิยม”  ในตลาดหุ้นไทย

            ลองนึกดูย้อนหลังไปเพียงไม่นาน  ธุรกิจเรือเทกองเคยเป็นขวัญใจของนักเล่นหุ้นเกือบทุกคนและก็อาจจะรวมถึง  “VI”  หลาย ๆ  คนที่วิเคราะห์ด้วย  “หลักการแบบ VI”  แล้วก็สรุปว่าหุ้นเรือนั้น  Undervalued  หรือมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปหลายเท่าแล้ว   ผมคงไม่ต้องพูดว่านั่นคือความผิดพลาดของการวิเคราะห์   เพราะว่าหุ้นเรือต่างก็  “จมลง”  นั่นคือราคาที่เคยสูงลิ่วตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ  ตั้งแต่กำไรของบริษัทยังดีน่าประทับใจจนถึงขณะนี้ที่กำไรเริ่มตกต่ำลงอย่างมาก  ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ลดลงไปเรื่อย ๆ  และคนก็เลิกพูดกันเรื่องเกี่ยวกับเรือและหันไปเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ตัวอื่นต่อไป

          หุ้นผลิตฟิล์มสำหรับบรรจุอาหารนั้น  ในอดีตแทบไม่มีคนสนใจเลยเพราะกำไรของบริษัทไม่มีอะไรน่าประทับใจ   การเติบโตก็ไปเรื่อย ๆ  ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ใคร่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทหน้าตาเป็นอย่างไร  แต่แล้วจู่ ๆ  ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด  สักระยะหนึ่งปริมาณการซื้อขายก็ตามมา  หุ้นหลายตัวในกลุ่มกลายเป็นหุ้นยอดนิยม  แม้แต่  “VI” จำนวนไม่น้อยก็ยังคิดว่าหุ้นเหล่านี้ยังถูกและมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากหลังจากที่มันได้กระโดดขึ้นไปแล้วหลายเท่า  เหตุผลก็คือ  จากการวิเคราะห์ด้วย  “หลักการแบบ VI”  แล้ว  หุ้นยังคุ้มค่าที่จะซื้อเพราะราคาหุ้นนั้นยังถูกมาก  กำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมากและเพิ่มต่อไปแบบก้าวกระโดด   การวิเคราะห์เรื่องกำไรนั้นดูเหมือนว่าจะถูกต้อง  กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น  “มโหฬาร”  ดังคาด   แต่ราคาหุ้นกลับถดถอยลงอย่าง  “ผิดคาด”

            หุ้นโภคภัณฑ์หลายตัวหรือหลายกลุ่ม  ยาง  เป็นตัวอย่างที่กำลัง  “แสดงอยู่บนเวที”  นั่นคือ  ราคาหุ้นกำลังดีดตัวถึงขีดสุด  กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนไม่น่าเชื่ออานิสงค์จากราคายางในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดน่าจะในประวัติศาสตร์  ปริมาณการซื้อขายหุ้นติดอันดับสูงสุดสิบอันดับเป็นว่าเล่นทั้งที่ไม่ใช่เป็นหุ้นตัวใหญ่  เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าหุ้นจะไปทางไหนหลังจาก “จบการแสดง”

            ทำไมหุ้นที่วิเคราะห์ตาม  “หลักการแบบ VI”  และพบว่ามันเป็นหุ้นที่ถูก  มี  Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง  แต่ราคากลับลดต่ำลงไปมาก?  ตลาดผิดหรือคนวิเคราะห์ผิดกันแน่?  เรามาดูกัน

            หุ้นโภคภัณฑ์ที่หวือหวาทั้งหลายที่กล่าวถึงนั้น  ช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าแล้วนั้น  บางทีจะพบว่า  ข้อแรก  ค่า PE  หรือราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นนั้นยังต่ำมากเพียง 3-4 เท่าก็มี  ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่  “ถูกมาก”  ซื้อหุ้นแล้ว “เพียง  3-4 ปี ก็คืนทุนแล้ว”  แต่นี่อาจเป็นความเข้าใจผิด  เพราะหุ้นโภคภัณฑ์นั้น  กำไรมักไม่สม่ำเสมอ  กำไรที่เห็นนั้นคือกำไรที่มากกว่าปกติมากและไม่ยั่งยืน   กำไรโดยเฉลี่ยที่จะรักษาอยู่ได้นั้นอาจจะต่ำกว่าหลายเท่า   ดังนั้น  การเอาปีที่กำไรดีผิดปกติมาใช้วัดค่า PE  จึงใช้ไม่ได้  หุ้นที่จะสามารถใช้ค่า PE เป็นตัววัดความถูกความแพงนั้น  ควรจะเป็นกิจการที่มีกำไรสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น  ดังนั้น  ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์แบบนี้  ค่า PE จึงมีประโยชน์น้อย  การบอกว่าค่า PE ต่ำแสดงให้เห็นว่าเป็นหุ้นถูกจึงอาจจะไม่ถูกต้อง   นี่เป็นข้อแรก

            ข้อสอง  หุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนนั้น  นอกจาก PE  ต่ำแล้ว  ค่า  PB หรือราคาต่อมูลค่าทางบัญชี  ซึ่งเป็นตัวชี้ความถูกความแพงอีกตัวหนึ่งก็อาจจะต่ำด้วย  บางทีต่ำกว่า 1 เท่าหรือไม่เกิน 2 เท่า  ดังนั้น  นี่เป็นการ “ยืนยัน”  อีกจุดหนึ่งว่าหุ้นร้อนตัวนั้น  “ยังถูกมาก”  นี่ก็อาจจะมีส่วนจริงบ้างถ้าคิดว่ามูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีนั้นอาจจะเป็นมูลค่าของทรัพย์สินจริง ๆ  ที่สามารถขายได้ในกรณีเลิกกิจการ  แต่ในความเป็นจริงก็คือ  ไม่มีบริษัทไหนคิดจะเลิกกิจการ  และผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเลิกจริง ๆ  สินทรัพย์จะมีราคาอย่างที่ว่าจริงไหม  เพราะบ่อยครั้ง  เวลาเลิกกิจการ  โรงงานมักจะกลายเป็นเศษเหล็กที่แทบไม่มีค่าเลย  นอกจากนั้น   มูลค่าทางบัญชีเองก็ลดลงได้ในกรณีที่บริษัทมีผลขาดทุนในอนาคตอันเนื่องมาจากราคาของโภคภัณฑ์ที่ลดลงก็ได้  สรุปแล้ว  ค่า PB เองก็ไม่ได้บอกอะไรที่มีความหมายมากนักในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์ที่เป็นโรงงาน

            ข้อสาม  ค่า Dividend Yield หรือผลตอบแทนเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น  ของหุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนแรงนั้น  มักจะสูงลิ่ว  บางทีมากกว่า 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นปันผลที่งดงามมาก  นี่เป็นตัวยืนยันความถูกของหุ้นในสไตล์หุ้น   “ห่านทองคำ”  ซึ่งเป็นแนวของนักลงทุนแบบ VI  ที่  “อนุรักษ์นิยมมาก”  ในกลุ่ม VI ด้วยกัน   ดังนั้น  นี่เป็นการยืนยันความปลอดภัยของหุ้นอีกจุดหนึ่ง   แต่นี่ก็อาจจะเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดอีกเช่นกัน   เหตุผลก็คือ  ปันผลที่เห็นนั้น  เป็นปันผลที่คิดจากกำไร  ถ้าในอนาคตกำไรลดลง  ปันผลก็ต้องลดลง   ผลตอบแทนที่บอกว่า 6-7%  จึงเป็นปันผลเพียงครั้งเดียว  ในอนาคตอาจจะน้อยลงหรือไม่มีก็ได้  ดังนั้น  Dividend Yield ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์จึงไม่ได้บอกว่าหุ้นถูกหรือแพง

            สุดท้าย  ฐานะการเงินของหุ้นโภคภัณฑ์ในยามร้อนแรงก็อาจจะดีเยี่ยม  บางทีมีเงินสดเหลือเฟือด้วยซ้ำ  แต่นี่ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา   เพราะเงินสดนั้น  ไม่ได้นำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น  บางทีอนาคตก็อาจจะหมดไปกับการลงทุนหรืออะไรต่าง ๆ  ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัท  ดังนั้น  เงินสดก็อาจจะมีความหมายไม่มากถ้าเจ้าของเขาไม่อยากแจกคืนให้ผู้ถือหุ้น

            ข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ  ตัวเลขและการวิเคราะห์ตามหลักการ  “แบบ VI”  นั้น  ใช้ไม่ได้กับหุ้นโภคภัณฑ์  วิธีการที่ผมคิดว่าดีที่สุดสำหรับการเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ก็คือ  ซื้อหุ้นก่อนที่วัฏจักรราคาสินค้าจะเป็น  “ขาขึ้น”  อย่างน้อย 2-3 เดือนโดยที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ขยับขึ้นหรือปรับตัวขึ้นก็เพียงเล็กน้อย  ขายหุ้นเมื่อทุกอย่างกำลังร้อนแรงสุด ๆ  และราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนไม่น่าเชื่อ  ทั้งหมดนี้  ผมคิดว่าคนที่รู้ดีที่สุดก็คือเจ้าของหรือผู้บริหารกิจการ  ดังนั้น  คนที่ได้เปรียบก็คือ  คนในหรือคนที่ใกล้ชิดหรือได้ข้อมูลก่อนคนอื่น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘