[167] ประโยคพื้นฐาน 5 แบบ.. ฝึกกันตรงนี้ก่อน

สวัสดีครับบางท่านที่หยิบหนังสือพิมพ์ฝรั่ง เช่น Bangkok Post ขึ้นมาอ่านอาจจะรู้สึกมึนหัว เพราะว่า บางทีทั้งย่อหน้ายาว 5 บรรทัดมีแค่ประโยคเดียว อ่านจบประโยคแล้วยังจับไม่ได้เลยว่าอะไรคือกริยาหลัก ก็จะให้ไม่งงได้ยังไง คำนั้นคำนี้ขยายกันไปขยายกันมาจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร อ่านจบครั้งใดก็มักจะสรุปใจความได้ 4 คำสั้น ๆเหมือนกันทุกครั้ง ว่า ‘อ่านไม่รู้เรื่อง

ที่สรุปได้ใจความอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ผมเองก็เป็นอยู่บ่อย ๆ

อาจ จะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่เว็บ manythings.org เขาจึงมีบทหนึ่งให้เราเรียนรูปแบบประโยคพื้นฐานของภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาสรุปว่ามี 5 แบบ ถ้าเข้าใจทั้ง 5 แบบนี้อย่างช่ำชองเชี่ยวชาญ ก็จะเข้าใจประโยคที่ยุ่งกว่านี้ได้ไม่ยาก 5 แบบประโยคพื้นฐานมีอะไรบ้าง
แบบที่ 1: [ประธาน + กริยา] หรือ [Subject + Verb ]เช่น [ I + swim.], [They + talked.], [He + walked.] แบบนี้พื้นฐานที่สุด

แบบที่ 2: [ประธาน + กริยา + กรรม] หรือ [Subject + Verb + Object ]ประโยค แบบนี้เพิ่มกรรมขึ้นมาอีก 1 อย่าง เพราะว่า ถ้ามีเพียง ‘กริยา’โดยไม่มี ‘กรรม’ มันไม่รู้เรื่องหรือรู้ไม่ชัด เช่น [ฉัน + ขับ + รถ] หรือ [I + drive + a car.] ถ้าไม่มี ‘รถ’ หรือ ‘car’ มาต่อท้าย ‘ขับ’ หรือ ‘drive’ ก็ไม่รู้ว่า ขับรถ หรือขับเรือ หรือขับเตรื่องบิน พูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มี ‘กรรม’ ก็เพราะเป็นเวรเป็นกรรมต้องรองรับการกระทำของ ‘กริยา’

แบบที่ 3: [ประธาน + กริยา + ตัวขยายประธาน] หรือ [Subject + Verb + Complement]เช่น [He + is + a carpenter ] หรือ [เขา + คือ + ช่างไม้] ‘ช่างไม้’ ไม่ได้รับการกระทำจากใคร แต่ขยาย ‘เขา’ ทำให้รู้ว่า ‘เขา’ นั่นแหละตือ ‘ช่างไม้’ แบบที่ 3 นี้ ต่างจากแบบที่ 2, เพราะแบบที่ 2 car ถูก drive, แต่ car ไม่ใช่ I, แต่แบบที่ 3 carpenter ขยาย He ให้รู้ว่า He คือ carpenter ถ้าฟังแล้วงงก็ช่วยเก็บอาการไว้ก่อน อย่าให้คู่ต่อสู้เห็น

แบบที่ 4: [ประธาน + กริยา + กรรมรอง(มักจะเป็นบุคคล) + กรรมตรง(มักจะเป็นสิ่งของ) ] หรือ [Subject + Verb + Indirect Object + Direct Object]เช่น [ I + gave + her + a gift.] หรือ [ฉัน + ให้ + หล่อน + ของขวัญ] นี่ชักจะยากขึ้นมาหน่อยนึง ที่ยากก็เพราะว่า ประโยคพื้นฐานรูปแบบนี้ที่ฝรั่งใช้พูดกัน คนไทยไม่ได้พูดแบบนี้ ในทีวีเราอาจจะได้ยินเขาโฆษณา ‘บริษัทมอบโชคแก่ผู้ซื้อรถ...ทุกคัน’ ไม่มีช่องไหนโฆษณาว่า ‘บริษัทมอบผู้ซื้อรถ...ทุกคันโชค ’ ฟังแล้วงง ๆ

แบบที่ 5: [ประธาน + กริยา + กรรม + ตัวขยาย] หรือ [Subject + Verb + Object + Complement]อ๊ะ ชักจะเริ่มยุ่งขึ้นมาแล้วซี ตามตัวอย่างที่เขาให้มา คือ
I left the door open. Open = complement
We elected him president. President = complement
They named her Jane. Jane = complement

ขอ สารภาพนะครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมริอ่านจะเขียนอธิบายแกรมมาร์ให้คนอื่นฟัง พอเขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมรู้สึกขึ้นมาถึงลำคอเลยว่า แกรมมาร์นี่น่าเบื่อหน่ายจริง นี่ขนาดเรื่องพื้น ๆ ยังน่าเบื่อขนาดนี้ ถ้าเรื่องเพดานหรือหลังคาจะน่าเบื่อขนาดไหน
ท่านอาจจะถามว่า ผมเองเรียนแกรมมาร์แบบไหนจึงไม่เบื่อ ตอบว่า ผมเรียนอย่างนี้ครับ
1. ผมอ่านตำราแกรมมาร์พอให้เข้าใจ ‘คร่าว ๆ’ รู้เรื่องบ้าง – ไม่รู้เรื่องบ้าง, จำได้บ้าง – จำไม่ได้บ้าง ผมไม่ serious
2. ผมอ่านครับ อ่านข่าว อ่านนิยาย อ่านสารพัดอ่าน แล้วก็ค่อย ๆ สังเกตไปทีละหน่อยว่า วิธีการที่ผู้เขียนเขาเขียนนี้ มันเข้ากับหลักเกณฑ์แกรมมาร์ข้อใดบ้าง จับหลักได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร ผมเรียนแกรมมาร์จากของจริง มากกว่าเรียนจากตำราแกรมมาร์ครับ และตอนทำข้อสอบ (ขอโม้นิดนึงนะครับ)ก็ทำแกรมมาร์ผิดไม่มาก

ย้อนกลับมาเข้าเรื่องครับ จากประโยคพื้นฐาน 5 รูปแบบข้างต้น เว็บ manythings.org เขาได้สร้างเครื่องมือให้ทุกท่านคุ้นเคยกับประโยคทั้ง 5 รูปแบบนี้

ผม ลองเข้าไปเล่นดูแล้ว เข้าท่าทีเดียวครับ คือ เขาให้เราฝึกกับเว็บของเขาทีละแบบ เมื่อเข้าไปแล้วจะพบว่าที่ตอนล่างของหน้ามีปุ่ม 3 sentences, 4 sentences, 5 sentences, เช่น ถ้าท่านคลิก 4 sentences เว็บก็จะแสดงรูปแบบของประโยคชนิดที่กำลังเล่นให้ท่านดูครั้งละ 4 ประโยค เป็นต้น ให้ท่านคลิกและศึกษาประโยคที่เขาให้มา คลิกและศึกษาไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าไม่นานนัก ท่านจะคุ้นเคยและช่ำชองกับประโยคพื้นฐาน 5 รูปแบบนี้ และเมื่อจบการศึกษาชุดนี้ การศึกษาประโยคที่ซับซ้อนกว่านี้ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก

ลองคลิกเล่นดูได้เลยครับ
แบบที่ 1: [ประธาน + กริยา]
คลิก Subject + Verb

แบบที่ 2:
[ประธาน + กริยา + กรรม]
คลิก Subject + Verb + Object

แบบที่ 3: [ประธาน + กริยา + ตัวขยายประธาน]
คลิก Subject + Verb + Complement

แบบที่ 4: [ประธาน + กริยา + กรรมรอง(มักจะเป็นบุคคล) + กรรมตรง(มักจะเป็นสิ่งของ) ]
คลิก Subject + Verb + Indirect Object + Direct Object

แบบที่ 5: [ประธาน + กริยา + กรรม + ตัวขยาย]
คลิก Subject + Verb + Object + Complement
ขออวยพรให้เล่นได้ ไม่ปวดหัว รู้เรื่องดี และสนุกนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘