volume analysis

ด้วยอานิสงค์การลากดัชนี ด้วยเม็ดเงินมหาศาลจากฝรั่ง(ไม่รู้หัวดำ หัวทอง) ที่พาปู่ SET มาไกลทะลุ 1100 ทำเอาพอร์ตเล็กพอร์ตใหญ่เขียวไปตามๆกัน ใครที่มี Bigcap ก็ยิ้มออกหน่อย แต่ถ้านิยมสะสมหุ้นเล็กตามกระแส ก็อาจจะยิ้มไม่กว้างนัก แต่เอาน่ายังไงก็ยังยิ้มได้ หลายคนดีใจเพราะใกล้ลงดอย บางคนก็ผลตอบแทนของพอร์ตทำ new high


แน่นอนว่ามีคนดีใจก็ย่อมมีคนเสียใจ อกหักจากการตกรถ เพราะล้างพอร์ตรอกะว่าให้ set หลุด 1000 แล้วไปรับแถว 920 คนกลุ่มนี้ก็อย่าคิดมากครับ วันพระไม่ได้มีหนเดียว โอกาสหน้ายังมี ขอให้เรียนรู้เป็นบทเรียน สิ่งหนึ่งที่จงตระหนักเถอะว่าราคาหุ้น มันคือเรื่องของอนาคต เราไม่สามารถเดาอนาคตได้ทางที่ดีคือหมั่นสังเกต และติดตามราคาอย่างใกล้ชิด เฝ้ารอพิจารณาหุ้นรายตัวที่มีการย่อพักฐานมาทดสอบแนวต้าน แล้วค่อยลงทุน ดีกว่าไปไล่หุ้นที่ปลายดอย ความเสี่ยงจะสูงกว่าครับ


คุณภาพของแนวโน้ม
ที่สำคัญเวลาเรามองกราฟราคา สิ่งที่ต้องมองให้ออก หรือตีให้แตก(ยืม ดร.นิเวศมาใช้หน่อยนะครับ) สำหรับการเก็งกำไรระยะสั้น ไม่ใช้แค่ตัวเลขราคา แต่สิ่งสำคัญนั้นคือ แนวโน้ม แนวโน้มหรือ Trend คือรูปแบบทิศทางการเคลื่อนตัวของราคาหุ้น ณ กรอบเวลาที่เราพิจารณา มันบ่งบอกถึงโอกาสในการลงทุน ถ้าเราสามารถซื้อหุ้นในระยะเริ่มต้นของแนวโน้มขาขึ้นได้ ย่อมมีโอกาสกำไร ได้มาก (เหมือนปีที่แล้วไงครับ กำไรกันถ้วนหน้าจน คิดว่าเจ๋ง ไงล่ะต้นปีมา หงายเงิบติดดอยกันเป็นแทบ หุหุ) ส่วนระยะเวลาของแนวโน้มจะสั้นหรือยาวก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยและกระแสเงินที่เข้ามา ตัวนี้ต้องพิจารณาติดตามไป


สิ่งที่ยากคือการอ่านแนวโน้มให้ออก เพราะหุ้นไม่ได้ linear แบบการวิ่งทิศทางเดียว หรือบางครั้งแนวโน้มเองก็ไม่ชัดเจนมีการผันผวนได้สูง ดังนั้นวันนี้ผมมีตัวแปรหนึ่ง ที่ใช้หา Quality of Trend  มาฝาก นั้นคือ การวิเคราะห์ปริมาณซื้อขาย (Volume Analysis) แบบเบื้องต้น (พยายามอธิบายภาษาชาวบ้านง่ายๆ ให้ใช้ง่ายๆไม่ทฤษฏีจ้า น่าเบื่อ และทำให้ยากจนเกินงาม)


ปริมาณการซื้อขาย VOLUME

Volume คือ ปริมาณการซื้อขายหุ้น ประเภท free float ในตลาด บนช่วงเวลาขณะหนึ่งที่ทำการสังเกต โดยปริมาณการซื้อขายนี้สามารถระบุ คุณภาพของแนวโน้ม หรือกำลังของแนวโน้มราคาได้ เป็นอย่างดี เพราะการเคลื่อนไหวของราคาระยะสั้นเกิดภายใต้กฏของ อุปสงค์และอุปทาน ที่สำคัญปริมาณการซื้อขายคือตัวเลขจริงที่หลอกกันได้ยาก เพราะบ่งบอกถึงกำลังและความต้องการซื้อ ต้องการขายอย่างแท้จริง


ดังนั้นราคาหุ้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ปริมาณการซื้อ ย่อมต้องมากกว่าปริมาณการขาย โดยทั่วไปเราสามารถดูทิศทางของ Volume ควบคู่ไปกับแนวโนวของราคา โดยมีหลักคิดเบื้องต้นว่า การที่แนวโน้มราคาจะแข็งแรงและมั่นคง จะต้องสอดคล้องกับทิศทางของ Volume ด้วย กรณีที่ทิศทางราคา เกิดขัดแย้งกับทิศทางของ Volume ย่อมทำให้เป็นจุดสังเกตุได้ว่า อาจจะถึงจุดกลับตัวของแนวโน้มราคาหุ้น


การวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย แบ่งออกได้เป็น 2 มุมมองหลักคือ ระดับแคบ และระดับกว้าง ระดับแคบคือการวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขายในรูปแบบตามช่วงราคาที่วาง Bid-offer เพื่อดูการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน การแกว่งตัวของช่วงราคา ใช้มากในการลงทุนระยะวัน(day trade)


ระดับกว้าง เป็นระดับที่ผมจะกว่าถึงเพราะ ง่ายต่อการเข้าใจและง่ายต่อการสังเกตมากกว่าแบบแรก เป็นระดับกว้างเป็นการดูปริมาณการซื้อ ขายอิงกับช่วงเวลา ในรูปแบบสะสมในกรอบเวลานั้นๆ ใช้อนุมานแนวโน้มราคาระยะสั้นและยาวได้ดี ที่สำคัญมีเครื่องมือดัชนี(indicator) หลายตัวให้เลือกใช้งาน


ทิศทางราคาและ Volume 
จริงๆแล้วการวิเคราะห์แนวโน้มราคา ถ้าจะมั่นใจจำเป็นต้องดู volume ประกอบด้วย โดยผมขออธิบายแยกเป็นแนวโน้ม ดังนี้


1. ขาขึ้น (Up trend)
หุ้นขาขึ้น ของเข้าแน่นอนว่าย่อมมีคนแย่งเข้ามาซื้อ ดังนั้นปริมาณการซื้อขายก็จะเพิ่มขึ้นจากปกติ(ในช่วง sideway) โดยเราสามารถดูแนวโน้ม Volume ได้จากแท่งกราฟหรือจะใส่เส้น EMA3 เข้าไป อย่างในภาพ จะทำให้เห็นเส้นแนวโน้มการลดลงของราคาได้ชัดขึ้น



2. ขาลง (Down Trend)
ขาลง คือช่วงที่แนวโน้มราคาลดต่ำลง เรื่อยๆมีการสร้างจุดต่ำสุดลดลงในรอบนั้น ดังนั้นปริมาณการซื้อขายก็จะมีแนวโน้มลดลงด้วย โดยเริ่มต้น Volume ขายจะสูง(คนแย่งขาย) และจะเริ่มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งเท่านั้น อาจจะไม่ยาวจนจบแนวโน้มของราคา


ระยะหนึ่ง Volume เข้าสู่ภาวะชะลอตัวทิศทางออกข้าง sideway ยังไม่มีทิศทางชัดเจน volume จะลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ EMA และประคองตัวในกรอบแคบๆเป็นแนวตรง ในลักษณะการถูกรินออกขาย จุดเฝ้าระวัง ว่าลงหรือขึ้นต่อ


ดัชนีเชิงปริมาณ
ดังนั้นการมองแนวโน้มของหุ้นว่าจะมีทิศทางขึ้นหรือลงนั้นไม่อาจจะมองได้จากข้อมูลราคา เพียงอย่างเดียวจึงมีการนำเอาสมการคณิตศาสตร์ มาประยุกต์สร้างเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อใช้ในการยืนยันแนวโน้มของราคาหุ้นอีกชั้นเพื่อไม่ให้เป็นการโดนหลอก ดัชนีที่ใช้ง่ายไม่ซับซ้อนและเป็นที่นิยมได้แก่ OBV(On Balance Volume) และ VAD (Accumulation/Distribution) ซึ่งจริง Volume indicator มีอีกหลายตัวครับ ลองไปศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ผมของยกสองตัวที่ผมถนัดและใช้บ่อย มาอธิบายเพื่อความชัดเจนในการยกตัวอย่างครับ


OBV(On Balance Volume) 
On Balance Volume เป็นดัชนีที่ใช้ในการแกว่งตัวของ Volume โดยมีหลักการคิดเบื้องต้นว่า ปริมาณของหุ้นวันที่ปิดบวก(ราคาปิดสูงขึ้นจากราคาเปิด) เป็นการสะสมหุ้น ส่วนปริมาณของหุ้นวันที่ปิดลบ (ราคาปิดต่ำกว่าจากราคาเปิด) เป็นการกระจายหุ้นออกไป โดยวิธีการคำนวณมาจาก


สมการ
กรณีที่ ราคาปิดวันนี้>วันก่อน 
   OBVใหม่=OBVเดิม+ปริมาณหุ้นวันนี้
กรณีที่ ราคาปิดวันนี้<วันก่อน
   OBVใหม่=OBVเดิม-ปริมาณหุ้นวันนี้
กรณีที่ ราคาปิดวันนี้=วันก่อน
   OBVใหม่=OBVเดิมการแปลผล 
1. ถ้าดูจากสมการจะพบว่า ราคาหุ้นมันจะมีผลต่อปริมาณสะสมของ OBV กรณีที่ราคา เพิ่มขึ้นมาก(ความกว้างของแม่งเขียวมาก) แต่ ปริมาณ OBV น้อยหรือลดลงไม่เพิ่มตาม แปลว่าเกินการชะลอตัว เกิดความเฉื่อยของราคาแล้ว โอกาสจะเปลี่ยนแนวโน้มหรือออกข้าง(sideway)ก็จะมีมาก

2. ดูแนวโน้มทิศทางของ OBV เพื่อทำการยืนยันแนวโน้มของราคา สังเกตจากการทำจุดสูงสูงสุดของ OBV ที่สอดคล้องกับการทำจุดสูงสุดของราคา หรือกรณีขาลง แรงซื้อลดลงที่ ราคาหุ้นทำจุดต่ำสุด สอดคล้องแนวโน้มที่มีการทำจุดต่ำสุดใหม่ของ OBV 


3. ดูการทำ DIVERGENCE ของ OBV และทิศทางราคาหุ้น กรณีที่ราคาหุ้นทิศทางขาขึ้นแต่ กราฟ OBV เริ่มลดตัวลง มีแนวโน้มลดต่ำลง เป็นสัญญาณบอกถึงแรงซื้อที่ลดลงอาจจะเกิดการเปลี่ยนแนวโน้มได้



4. สามารถใช้ค่าเฉลี่ย EMA ใน OBV เพื่อสร้างเป็นจุดสังเกตุในการบอกถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณสะสมเป็นการบอก ยืนยันสัญญาณของซื้อ สัญญาณขายในระบบเทรดร่วมกับค่า indicator ทางราคาอื่นๆเช่น RSI ,MACD เป็นต้น จุดเด่นอยู่ที่กรณีราคาออกข้าง sideway แล้ว OBV กลับเริ่มขึ้นแบบนี้สามารถสะท้อนถึงการสะสมหุ้นเพื่อ ก่อตัวแนวโน้มขาขึ้นใหม่อีกรอบ





VAD(Variable Accumulation Distribution)

VAD เป็นดัชนีค่าเฉลี่ยที่ใช้ในการแกว่งตัวแบบ OSCILLATOR ของ Volume อีกอันที่มีการนำราคาปิด ราคาเปิดมาใช้ในการคำนวณ ณ ช่วงเวลานั้นมีเป็นตัวนิยามระยะสะสมและระยะกระจายหุ้น แนวคิดระยะสะสม VAD มากกว่า 0 เนื่องจากราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด ถ้า VAD น้อยกว่า 0 ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด

สมการการคำนวณ 
VAD = MA([(Close Open) /(High Low)] * Volume)





การแปลผล 
1. กรณี VAD มากกว่า 0 เกิดสัญญาณซื้อสะสมหุ้น 
2. กรณี VAD น้อยกว่า 0 บอกถึงสัญญาณการกระจายหุุ้น
3. พิจารณาแน้วโน้มของ VAD โดยดูจากกราฟ VAD กรณีใช้เพื่อสร้างการยืนยันทิศทางราคา VAD มีทิศทางเดียวกับแนวโน้มของราคา 
4. สามารถใช้ Moving Average เพื่อสร้างแนวสังเกต สำหรับการสังเคราะห์สัญญาณการยกตัวของแนวโน้ม VAD ได้ เช่นกรณี VAD ทำจุดสูงสุดเพิ่มตัว SMA line บ่งบอกทิศทางการขึ้น หรือกรณีที่ VAD ลดลงตัด SMA Line บ่งบอกถึงการย่อตัวของแนวโน้ม Volume



สรุป
หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือการอ่านแนวโน้มของราคาหุ้นให้ออก เพื่อหาจังหวะในการลงทุน หรือทำกำไร ตามแนวโน้ม Volume คือปริมาณการซื้อขายเป็นตัวบ่งบอกถึงสาเหตุการวิ่งขึินลงของราคา การที่เราสามารถนำเอา Volume มาวิเคราะห์ในระบบเทรดร่วมกับการวิเคราะห์ด้วยราคา จะทำให้เกิดความแน่นอนและสามารถลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ 


หุ้นบางตัวที่มี Volume น้อยการชี้นำราคาจะเกิดขึ้นได้ง่าย(ราคาไป แต่ volume ไม่ตาม) และการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มราคาก็จะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเช่นกัน แต่ถ้าแนวโน้มของราคา มี Volume สนับสนุนแล้วคุณภาพของแนวโน้มจะสูงมีความชัดเจนที่มาก ท่านสามารถเลือกใช้ทั้งการวิเคราะห์ Volume โดยตรงหรือใช้เครื่องมือดัชนีทางปริมาณช่วยในการวิเคราะห์และหาสัญญาณซื้อขายได้ ลองนำไปใช้ดูนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘