การเลือกลงทุนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นในรูปแบบต่างๆ

ทีนี้เราลองมาดูกันนะครับว่า ถ้าจะลงทุนในหุ้นแล้ว มีกี่วิธีที่ทำได้บ้าง

- กองทุนรวมหุ้น
กองทุนพวกนี้สามารถที่จะให้ผลตอบแทนได้เหมือนกับการที่เราลงทุนเอง โดยที่เราไม่ต้องทำงานอะไรเป็นพิเศษนัก เมื่อเรานำเงินส่วนของเราซื้อหน่วยลงทุน เงินของเราก็จะผสมเข้ากับเงินของนักลงทุนคนอื่น และมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพทำหน้าที่เลือกและซื้อขายหุ้นให้กับเรา นอกเหนือไปจากการที่ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความสามารถพิเศษในการดูแลแล้ว การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการคัดเลือกเป็นเจ้าของหุ้นจำนวนหลายๆ ตัวมักจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการที่ลงทุนแยกต่างหาก และนอกเหนือไปจากนั้น (สมมติว่า) ถ้านักลงทุนคนใดคนหนึ่งลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียวของบริษัทเดียว บริษัทนั้นอาจจะล้มละลายทำให้หุ้นมีมูลค่าเป็นศูนย์ได้ แต่กองทุนที่ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 40-50 บริษัท ก็ย่อมมีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้ทุนทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ได้

ในทางตรงกันข้ามของการที่่มีความเสี่ยงต่ำนี้ การลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจำนวนหลายๆ บริษัทมาก ก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่บริษัท ถ้าการลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่บริษัทนั้นได้รับการคัดเลือกมาอย่างถูกต้อง และที่สำคัญก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและนักลงทุนก็จะต้องลงมือลงแรงในการ เฟ้นหาหุ้นของบริษัทที่ดีและมีโอกาสที่จะเติบโตสูงต่อไปในอนาคต

จริงๆ แล้วการเลือกกองทุน ก็เหมือนกับการเลือกหุ้นนั่นแหละครับ คือถ้าเลือกผิด ก็อาจจะขาดทุนได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการรับประกันว่าจะได้กำไร (หรือแม้แต่เท่าทุน) ดังนั้นวิธีการหนึ่งในการลงทุน นักลงทุนอาจจะใช้วิธีผสมผสานกันก็ได้ โดยลงทุนเองด้วยการคัดเลือกหุ้นเอง และลงทุนผ่านกองทุนรวมผสมกันไปก็ไม่มีใครว่าอะไรนะครับ

- ตราสารหนี้
ถ้าว่ากันโดยพื้นฐานสุดๆ แล้ว ตราสารหนี้ก็คือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ของผู้ซื้อ (และลูกหนี้ - ผู้ออก) นั่นเอง เมื่อเราซื้อตราสารหนี้ เราก็กลายเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันอะไรสักอย่างหนึ่ง (เช่นบริษัท, รัฐบาล - เรียกว่าพันธบัตร) และผู้ที่กู้เงินไปก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเรา และถ้าผู้กู้ไม่ล้มละลาย ล้มหายตายจากหมดสตางค์เสียก่อนล่ะก็ เมื่อหมดระยะเวลาของตราสารแล้ว (เรียกว่า maturity date) ก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินคืนให้กับผู้ให้กู้หรือผู้ที่ถือตราสารนี้นั้น ไว้ และก็จะจ่ายเป็นเงินเท่านั้น ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านี้ (อืม... เหมือนเพลงเลย) นั่นก็คือ ไม่มีกำไรหรือขาดทุนจากมูลค่าที่ตราไว้นั้น

ตราสารหนี้ก็มีสองประเภทคือ ที่ออกโดยเอกชนก็เรียกว่าตราสารหนี้หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือถ้าออกโดยรัฐบาลเราก็เรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า Treasury bill หรือ T-Bill นะครับ สำหรับหุ้นกู้บริษัทเอกชน ย่อมจะมีความเสี่ยงมากกว่า (เสี่ยงว่าบริษัทอาจจะเจ๊ง) ก็มักจะต้องให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือว่ามีความมั่นคง มากกว่า

ดูเผินๆ การลงทุนในตราสารหนี้ไม่มีความเสี่ยง (ถ้าตัดเรื่องบริษัทจะล้มละลายจ่ายเงินคืนไม่ได้ทั้งต้นทั้งดอกนะครับ) แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นนัก การลงทุนในตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย คือถ้าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป (เช่นเงินฝากธนาคาร ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ และคงจะต่ำกว่าตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยทั่วไปด้วย) มีอัตราที่สูงขึ้น ราคาซื้อขายของตราสารหนี้ย่อมจะต้องลดลง ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นตัวเลขก็เช่นว่า บริษัทเอ ออกตราสารหนี้ระยะเวลา 1 ปี (ยกตัวอย่าง สั้นๆ นะครับจะได้ง่ายหน่อย) มีอัตราดอกเบี้ย 5% ในขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยทั่วไปอยู่ที่ 2.5% ก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่ซื้อตราสารหนี้นี้มาด้วยราคา 1,000,000 บาท (รับปันผลปีละ 50,000 บาท) แต่หากว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแบบประจำ 12 เดือนขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็น 10% (สมมติครับ สมมติ) ในเวลาอย่างนี้ หากมีความจำเป็นรีบร้อนเร่งด่วน คุณสมชายจะไม่สามารถขายตราสารหนี้ด้วยราคา 1,000,000 บาทอีกต่อไป เพราะว่าคนที่มีเงิน 1,000,000 บาทก็คงจะเลือกเอาเงินไปฝากธนาคารด้วยดอกเบี้ยปีละ 100,000 บาทน่าจะดีกว่า ดังนั้นคุณสมชายก็จะขายตราสารหนี้ได้เพียงราคา 950,000 บาทเท่านั้น (ว่ากันเพียงโดยประมาณเพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้นนะครับ) เพราะว่าจะต้องชดเชยกับเงินจำนวน 50,000 บาทที่หายไปจากการได้รับดอกเบี้ยที่อัตราเพียง 5% พอนึกภาพออกนะครับ ว่าก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน แต่แน่นอนล่ะครับ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คุณสมชายก็คงจะเลือกที่จะถือตราสารนั้นไปจนครบอายุ และไปรับเงินคืน 1,000,000 บาทจากผู้ออก (ผู้กู้) มากกว่าที่จะขายทิ้งไปนะครับ

และก็เหมือนกับหุ้นที่มีกองทุนสำหรับหุ้น ตราสารหนี้ก็มีกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้เช่นกัน แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วถือว่ามีผลตอบแทนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น สามัญในระยะเวลานาน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘