การเตรียมใจก่อนนั่งภาวนา

การทำภาวนานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ทำจะต้องมีใจและอารมณ์ปลอดโปร่ง ใจต้องวางภารกิจทั้งปวงไม่เก็บมาคิด จะคิดดี คิดชั่วก็ไม่คิด ถ้าคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำให้สมาธิไม่แน่วแน่ ฉะนั้นถ้าตั้งใจจะทำสมาธิแล้วก็พึงละความกังวลทุกอย่าง มุ่งแต่ธรรมะอย่างเดียวแม้ความรู้ทางธรรมะใด ๆ ที่ได้เล่าเรียนมาก่อนหน้านี้ ก็ให้ปล่อยวางเสียให้หมดสิ้นก่อนนั่งภาวนา เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ก็จะทำให้จิตเกิดวิจิกิจฉาขึ้น (ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ) ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่เห็นธรรมได้ตามที่ต้องการ 


          หลวงพ่อจะอธิบายหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาก่อนว่า พระพุทธเจ้าสอนให้สัตว์โลกทั้งหมด ละชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ และทำใจให้ใสบริสุทธิ์ ทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต 

          การละชั่ว ก็ต้องรักษาศีลอย่างน้อยก็ต้องเบญจศีล การทำความดีก็ต้องรักษาเบญจธรรม ส่วนการจะทำใจให้ใสบริสุทธิ์ได้ก็ต้องฝึกสมถะวิปัสสนา 

          สมถะเป็นวิชาเบื้องต้นที่พุทธศาสนิกชนควรเอาใจใส่ หมายถึงการสงบระงับใจ เมื่อเกิดสมถะแล้วทำให้ความกำหนัดยินดีอันใดที่มีอยู่ในจิตใจนั้นหมดไป ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นขั้นสูงกว่าสมถะ เป็นธรรมเบื้องสูง คือการเห็นแจ้ง ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ความไม่รู้จริงอันใดที่มีอยู่ในจิตใจนั้นหมดไปด้วยความเห็นจริง 

          หลวงพ่อย้ำว่า “ท่านได้ศึกษามาตั้งแต่บวชศึกษาในวันรุ่งขึ้นที่บวชเลยทีเดียว เรียนไม่ได้หยุดเลย จนกระทั่งบรรลุธรรมกายแล้วก็ยังเรียนเต่อไปอีก เรียนด้วยสอนด้วย” 

ใจคืออะไร อยู่ที่ใด 

          การจะเข้าถึงภูมิของสมถะได้ มีวิธีเดียว คือต้องทำใจให้หยุด ถ้าทำใจให้หยุดไม่ได้ก็เข้าภูมิสมถะไม่ได้ ใจหรือจิตของคนเรานั้น เป็นดวงกลมใหญ่ประกอบด้วย ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ดวงเห็น คือดวงธาตุที่ทำให้เราสามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ ดวงจำ คือดวงธาตุที่ทำให้เกิดความทรงจำ ดวงคิด คือดวงธาตุที่ทำให้เกิดความคิด ดวงรู้คือดวงธาตุที่ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ดวงธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้มารวมเป็นจุดเดียวกัน จึงเรียกว่า ใจ 

          ที่ตั้งของใจมีเพียงแห่งเดียว คือที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ อยู่ตรงกึ่งกลางกาย สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย เหมือนเราขึงเส้นด้ายให้ตึง จากสะดือทะลุซ้ายให้ตึงตรงกันทั้ง ๒ เส้น ตรงกลางที่เส้นด้ายตัดกันเรียกว่ากลางกั๊ก ให้เอาใจไปจรดที่กลางกั๊กนั้น 

          หลวงพ่อย้ำว่า 
ที่เขาบอกให้ตั้งใจ ๆ นั้นก็คือตั้งที่ตรงกลางกั๊กนั่นเอง เวลาจะทำบุญ ทำกุศล ก็ต้องตั้งใจไว้ตรงนั้น เวลาจะรักษาศีล เจริญภาวนาก็ต้องตั้งใจตรงนั้นเหมือนกัน ที่ตรงนี้ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ หน้าธาตุน้ำ ขวาธาตุดิน ซ้ายธาตุลม หลังธาตุไฟ ศูนย์กลางอากาศธาตุ นี่คือฐานที่ ๗ อันเป็นฐานสำคัญที่สุด 

          หลวงพ่อท่านเปรียบเทียบฐานที่ ๗ ว่าเหมือนปากถ้วยแก้ว แล้วท่านก็ใช้ปลายไม้ยาวชี้ลงไปในปากแก้ว บอกว่านี่แหละคือที่ตั้งของใจ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘