ใจชื่อว่าเป็นใหญ่ของธรรมทั้งหลาย

เรื่องวิชชาธรรมกายนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง อีกทั้งลี้ลับมหัศจรรย์ ผู้ที่ยังปฏิบัติไม่ถึง จึงไม่รู้ไม่เห็นได้ด้วยตนเอง ก็ยากที่จะเข้าใจ หลวงพ่อจึงพูดเสมอว่า “ผู้ที่ยังไม่มีจิตศรัทธาเชื่อถือ ไม่คิดสนับสนุนส่งเสริม ก็ขออย่าได้แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา หรือแม้แต่คิดในใจ” โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิตกับผู้ที่ได้ธรรมกาย ยิ่งต้องระมัดระวังไตรทวารของท่านให้มากยิ่งขึ้น อย่าไปเผลอไปล่วงล้ำก้ำเกินแม้โดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ผลกรรมที่ได้รับจะมากกว่าทำกับคนทั่วไปมากมายนัก แต่ในทางตรงกันข้ามถ้านอบน้อมเคารพ ยกย่อง ทำดีกับผู้ที่ได้วิชชาธรรมกาย ท่านก็จะได้รับผลบุญมากมายเช่นกัน เหมือนกับผู้อยู่ใกล้ไฟฉะนั้น ถ้าท่านระมัดระวังไม่พลั้งเผลอก็จะได้ประโยชน์จากไฟอย่างมหาศาล แต่ถ้าท่านประมาทเลินเล่อเผลอสติ ไปก็จะทำร้ายท่านโดยที่เข้าก็ไม่ได้ตั้งใจแต่มันเป็นกฎของธรรมชาติ 

          การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ อยู่ที่ใจเป็นผู้บงการทั้งสิ้น แม้เราจะแก้ตัวกันอยู่เสมอว่า ไม่ได้ตั้งใจ แต่ความที่ใจของคนนั้นไปรวดเร็วมาก จนเจ้าตัวแทบจะนึกไม่ถึง ตามไม่ทัน หารู้ไม่ว่าใจได้บงการให้เกิดวจีกรรม กายกรรมไปแล้ว ดังคาถาบาลีว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมามโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐนภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติจกฺกํ ว วหโต ปทํ ฯ

          ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น ดุจล้ออันหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกอยู่ฉะนั้น 

          หมายความว่า ธรรมทั้งหลายนั้น ชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า เพราะเมื่อใจไม่เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ฝ่ายใจถึงเจตสิกธรรม (ธรรมที่ประกอบกับจิต) บางเหล่าแม้ไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ใจชื่อว่าเป็นใหญ่ของธรรมทั้งหลายนั่น ด้วยอำนาจเป็นอธิบดี (เป็นใหญ่) เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่ามีใจเป็นใหญ่ ธรรมทั้งหลาย ได้ชื่อว่าสำเร็จแล้วด้วยใจ เพราะเสร็จมาแต่ใจ 

          ถ้าบุคคลนั้นมีอกุศลจิต ย่อมเกิดทุกข์ติดตามผู้นั้นเหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าของโค ที่ถูกเทียมด้วยแอก มันลากแอกนั้นไปกี่วันก็ตามย่อมไม่อาจให้ล้อหมุนกลับได้ ไม่อาจจะละล้อไปได้ ถ้ามันก้าวไปข้างหน้า แอกก็เบียดคอ เมื่อมันถอยหลัง ล้อก็ขูดเนื้อที่ขา ถูกล้อเบียดเบียน ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ หมุนตามรอยเท้าของมันไป ฉันใด ทุกข์ทั้งที่เป็นไปทางกาย ทั้งที่เป็นไปทางจิต อันมีทุจริตเป็นมูล ย่อมติดตามบุคคลผู้มีใจร้ายแล้วทำทุจริต ๓ ประการ (มโนทุจริต วจีทุจริต กายทุจริต) ให้เต็มที่ ตั้งอยู่ในที่เขาไปแล้วนั้น ๆ มีนรกเป็นต้น 

          แต่ถ้าบุคคลมีจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ ดังบาลีว่า จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ ใจของคนเราจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ใจที่ฝึกฝนอบรมไว้ดีแล้ว จะแสดงออกมาทางกาย วาจา ด้วยดี ถ้าเราไม่สามรถบังคับใจ ปล่อยให้อารมณ์ภายนอกที่ไม่ดีมายั่วยุจิตใจ ให้กระเจิดกระเจิงฟุ้งซ่านแล้ว เราก็จะทำผิดทำชั่วด้วยกาย วาจา แต่ถ้าเราสามารถบังคับใจ ข่มใจให้หยุดให้นิ่งได้ แม้จะมีอารมณ์ที่ไม่ดีขนาดไหนมายั่วยุเราก็สามารถข่มใจระงับใจไม่ให้ทำชั่วทำผิดไปตามอารมณ์ที่มาปรุงแต่งนั้นได้ 

          
ธรรมอยู่ที่ไหน ? มนุษย์อยู่ที่ไหนธรรมก็อยู่ที่นั่น มนุษย์ทุกคนมีธรรมทุกคน เรียกว่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นดวงกลมใสบริสุทธิ์ ขนาดโตเท่าฟองไข่แดงของไก่ ถ้าปฏิบัติธรรมเป็นก็จะต้องนำใจไปติดที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ จึงจะชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่มนุษย์คนนั้นแล้ว 

          หลวงพ่อยังว่า พวกที่ชอบสงสัยนัก ท่านสอนอะไร ท่านบอกอะไร ก็สงสัยทุกเรื่อง แทนที่จะฟังแล้วไปขบคิดไตร่ตรอง ใช้วิจารณปัญญาของตนหาคำตอบ ท่านพูดดังนี้ 

          “พวกเรานี่มันสงสัยทุกคนนั่นแหละ ธรรมมากมายนักโน่นก็ธรรมนี่ก็ธรรม ไม่รู้จะไปเอาธรรมที่ไหนแน่ไม่รู้จะเอาธรรมที่ไหนแท้ ๆ นี้ ธรรมอันนี้แหละเป็นตัวจริงละ ให้เอาใจติดอยู่ตรงนี้แหละ ถ้ายังไม่เห็น นาน ๆ เข้าก็เห็นเอง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเองที่ไปหาที่อื่น ไปโน่น ไปตรงโน้น ไปตรงนี้ ไปที่โน้น ไปที่นี้ ไปหาธรรมในป่าในดอนในดงกันยกใหญ่ทีเดียว เพราะไม่เห็น พอไปเห็นเข้าแล้ว โธ่ ผ้าโพกหัวหาแทบตาย ไม่เห็น อยู่บนหัวนี่เอง ไปหาธรรมแทบตาย ธรรมอยู่กลางตัวของตัวนั่นเอง นั่นแหละธรรมอยู่ตรงนั้นแหละ”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘