การวิเคราะห์เชิงตัวเลข 9

- กำไรสุทธิ
กำไรสุทธิ คือสิ่งที่เหลือทั้งหมดของบริษัท หลังจากหักค่าใช้จ่ายใดๆ สารพัดอย่างออกไปแล้ว บางทีตัวเลขนี้ฝรั่งมังค่าชอบเรียกกันว่า "บรรทัดสุดท้าย" (Bottom Line) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือผลสุดท้าย หลังจากที่ดูงบกำไรขาดทุนมายาวเหยียด สุดท้ายก็ต้องจบที่บรรทัดนี้ล่ะครับว่า ตกลงได้กำไรเท่าไร บรรดานักลงทุน ขาใหญ่ ขาเล็ก หรือแม้แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลาย จะพูดถึงตัวเลขของกำไรสุทธิอยู่มาก แต่พวกเรานักลงทุนจะต้องจำไว้ว่า ตัวเลขนี้เป็นผลพวงรวมของทุกอย่าง ซึ่งรวมทั้งกำไร/รายได้พิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และในทางตรงกันข้าม คือบริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (เช่นจ่ายค่าปรับอะไรบางอย่าง) ทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยนไปได้ นอกจากนั้นแล้ว ตัวเลขกำไรสุทธินี้ อาจจะแตกต่างจากตัวเลขของการไหลเวียนของเงินสดอยู่ได้ไม่น้อย ดังนั้นแล้ว แม้ว่าตัวเลขกำไรสุทธิจะสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เป็นตัวเลขสุดท้ายของชีวิตที่เราจะมาดูกัน เรายังจะต้องดูอย่างอื่นประกอบไปด้วยอีกมาก

- กำไรต่อหุ้น
กำไรต่อหุ้น หรือที่เรียกว่า Earning Per Share (EPS) ก็คือกำไรสุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น (คือหุ้นทั้งหมดที่ออกแล้ว ลบด้วยหุ้นซื้อคืน หรือเรียกว่า Outstanding Shares) ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ตัวเลขนี้ พวกเราและนักวิเคราะห์ทั้งหลายจะให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่บริษัททำให้ หรือ สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่ตัวเลข EPS นี้สำคัญ แต่เราก็ต้องดูข้อมูลทางด้านการเงินอื่นๆ ของบริษัทประกอบไปด้วย

พวกเราบางคนอาจจะเป็นคนช่างสังเกต และเห็นว่ามีตัวเลข EPS จำนวนสองตัวอยู่ในงบกำไรขาดทุน ตัวแรกคือ EPS แบบพื้นฐาน (Basic EPS) และ diluted EPS (diluted แปลว่าเจือจาง เหมือนเราเอาน้ำเปล่า เติมใส่ในน้ำเชื่อม ความหวานก็จะลดลงเนื่องจากถูกเจือจาง ในกรณีของหุ้น คำว่า dilute คือการที่มีหุ้นใหม่ โผล่เพิ่มเข้ามาผสมกับหุ้นเดิมที่มีอยู่ ทำให้สัดส่วนการเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง หรือเจือจางลง และผลที่ตามมาอีกอย่างคือต้องแบ่งกำไรไปยังหุ้นใหม่นั้นด้วย ทำให้เกิดการเจือจางของกำไรต่อหุ้นด้วย) ตัวเลขสองตัวนี้ต่างกันเนื่องจากตัวหาร (จำนวนหุ้น ซึ่งคือ Outstanding Shares) ต่างกัน โดยที่ EPS พื้นฐานได้มาจากการใช้ตัวเลข Basic Shares คือจำนวนหุ้น Outstanding จริงๆ ในเวลานั้นๆ เป็นตัวหาร และในทางกลับกัน ตัวเลขที่เรียกว่า Diluted EPS จะใช้ตัวหารเป็น Oustanding share ที่เป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งอาจจะมาจากการแปลงสภาพมาจากตราสารใดๆ ของบริษัท เช่นวอร์แร้นท์, ESOP (Employee Stock Options ตราสารให้สิทธิพนักงานแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ), หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น การใช้ตัวเลขของ Diluted EPS จะดูเข้าท่ากว่าเพราะเป็นการเผื่ออนาคต (อันเลวร้ายลง) เอาไว้ด้วยแล้ว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘