การวิเคราะห์เชิงตัวเลข 2

ก่อนอื่น อยากจะเล่าถึงคำว่า "งบการเงิน" ให้เพื่อนๆ ฟังก่อนนะครับ งบการเงินนั้นมีหลักการและจุดมุ่งหมายที่จะบอกสถานะทางการเงินของบริษัท (เห็นไหมครับ ว่าอย่างน้อยโดยวัตถุประสงค์แล้วก็คือไม่ได้มีไว้เพื่อบอกสถานะด้านอื่นของ บริษัท) โดยงบการเงินจะแบ่งออกได้เป็น 3-4 งบย่อยๆ อีกทีหนึ่ง ทั้ง 3-4 งบนี้ รวมกันแล้วเรียกว่า "งบการเงิน" งบใดงบหนึ่งเพียงอย่างเดียวเดี่ยวๆ นั้นไม่พอที่จะเรียกได้ว่าเป็นงบการเงิน เนื่องจากว่าไม่เพียงพอที่จะบอกสถานะของบริษัทได้ งบต่างๆ ดังกล่าวนี้คือ
- งบกำไรขาดทุน
- งบดุล
- งบกระแสเงินสด
- บัญชีแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น
โดยเราจะเน้นหนักไปที่งบสามอย่างแรกกันนะครับ ซึ่งเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถที่จะช่วยบอกให้นักลงทุนทราบได้เป็นอย่างดี (ยกเว้นว่า มีการเล่นแร่แปรธาตุ ปกปิดความผิดปกติบางอย่างเอาไว้) ว่าสุขภาพทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างไร (เห็นไหมครับว่า "ทางการเงิน" ดังนั้นในบทความแรกๆ ที่ผ่านมา ผมจึงได้แยกการวิเคราะห์ธุรกิจที่เป็นสุขภาพทางอื่นออกไปต่างหาก) เราจะค่อยๆ มาดูแต่ละส่วนของงบการเงินกันไปพร้อมๆ กันนะครับ

งบกำไรขาดทุน (Income Statement, P/L statement)

งบแรกที่เราสนใจคือ งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นงบการเงินส่วนที่บอกว่าการดำเนินกิจการของบริษัทนั้น มีกำไรหรือไม่มีกำไร สำหรับงบกำไรขาดทุนนี้ ผมอยากจะเน้นให้เพื่อนๆ ได้ทราบในสองจุดก็คือ งบกำไรขาดทุนจะเป็นบัญชีส่วนที่บอกว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุน "ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง" และการที่บอกว่าได้กำไรหรือขาดทุนนั้น "อาจจะไม่อยู่ในรูปของตัวเงินหรือเงินสด" ก็ได้ ไว้ว่างๆ เราค่อยกลับมาดูในจุดนี้กันนะครับ ภายในงบกำไรขาดทุน ตัวเลขต่างๆ จะบอกว่าบริษัทได้มีรายได้จากการขายมาเป็นเงินเท่าไร (บางบริษัทอาจจะมีรายได้อัตราแลกเปลี่ยน รายได้จากการลงทุน เป็นต้น เพิ่มเติมเข้ามาอีก) และใช้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างสินค้าและบริการเป็นเงินเท่าไร ใช้จ่ายเงินส่วนที่เป็นเงินประกอบรายการ (เช่นค่าใช้จ่ายในการขายและบริการต่างๆ) เป็นเงินเทาไร มีค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ยจ่าย ภาษี จิปาถะทีเป็นรายจ่าย (โห... แย่จริงๆ นะครับ รายรับมีนิดเดียว รายจ่ายมีเยอะแยะมากมายจริง) และสุดท้ายแล้วความแตกต่างของรายได้และรายจ่ายเป็นเท่าไร (ก็คือกำไรหรือขาดทุน) นักลงทุนสามารถดูตัวเลขกำไร/ขาดทุนนี้ว่าบริษัทได้กำไรมากขึ้นหรือน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา และสามารถที่จะดูแนวโน้มของธุรกิจได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘