การวิเคราะห์เชิงตัวเลข 22

หลังจากที่เราได้รู้จักงบดุลไปแล้ว ว่ามีส่วนของสินทรัพย์ ซึ่งจะเท่ากับหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น คราวนี้เรามาดูว่านักลงทุนควรจะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขนี้อย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะสามารถเลือกลงทุนได้ถูกในบริษัทต่างๆ

สรุปจุดที่ต้องดูในงบกำไรขาดทุน

ดูส่วนของสินทรัพย์

1. สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) เป็นตัวทำเงินให้กับธุรกิจ บริษัทที่ดีควรมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนมาก ยิ่งส่วนต่างมาก ยิ่งดี ตัวเลขนี้คำนวนได้เรียกว่า current ratio (อัตราส่วนหมุนเวียน) = current assets (สินทรัพย์หมุนเวียน) / current liabilities (หนี้สินหมุนเวียน) ถ้ามีค่ามากกว่า 1 เยอะๆ จะดี โดยที่ ทรัพย์สินหมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน = ทุนดำเนินกิจการ (Working Capital)  ยิ่งมีมากยิ่งดี
2. วัฎจักรของการทำเงินของธุรกิจคือ เงินสด -> วัตถุดิบ -> สินค้าคงคลัง -> ลูกหนี้การค้า -> เงินสด ยิ่งบริษัททำให้วงรอบนี้สั้นและมีประสิทธิภาพได้เท่าไร ธุรกิจก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากเท่านั้น
3. ดูที่เงินสด (Cash and cash Equivalents) บริษัทที่มีเงินสดในมือมาก จะได้เปรียบบริษัทอื่น (ยกเว้นผู้บริหารไร้ความสามารถ ไม่รู้จักหาประโยชน์จากเงินสดนั้น) โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ความสามารถในการอยู่รอดและการมีเงินสดมาก สร้างโอกาสได้มาก แต่ เงินสดนั้นจะต้องได้มาจากการดำเนินงานตามปกติ ไม่ใช่ขายสินทรัพย์ที่มีออกไป หรือกู้มาไว้เฉยๆ แนวโน้มของเงินสดต้องดีคือไม่ใช่ร่อยหรอลงๆ อย่างไม่มีเหตุผล แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นกับบางบริษัท ที่ตัวเองคิดว่าแข็งแกร่งมาก และไม่จำเป็นต้องเก็บเงินสดไว้เยอะ แต่ใช้ไปในการซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ก็มี
4. มองดูที่สินค้าคงคลัง (Inventory) ให้ระวังให้ดีโดยเฉพาะสินค้าที่ล้าสมัยได้ เพราะการมีสินค้าคงคลังได้ บริษัทจะต้องใช้เงินสดในการสร้างขึ้นมา หากถึงเวลาแล้วขายไม่ได้ จะเกิดการขาดทุนได้ แต่หากปริมาณสินค้าคงคลัง เพิ่มขึ้นตามยอดขาย (และกำไร) ที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงจุดที่ดีเพราะหมายความว่ามีสินค้าเตรียมไว้รอขาย
5. ดูที่ ลูกหนี้การค้า (Account receivables) ลำพังตัวเลขนี้เดี่ยวๆ คงบอกอะไรไม่ได้มากนัก แต่บริษัทที่ดีจะมีอัตราส่วนของลูกหนี้การค้าค้างจ่าย (ที่ยังเก็บเงินไม่ได้) ต่อยอดขายต่ำกว่าคู่แข่ง นั่นแปลว่าสามารถขายของแล้วเก็บเงินได้เร็ว หรือแม้แต่ขายเป็นเงินสด (ลูกค้าต้องยอมจ่ายเร็ว) คือมีอำนาจต่อรองสูง
6. ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses) คือเงินที่จ่ายไปก่อน ก่อนที่บริษัทจะได้รับสินค้าหรือบริการ ตัวเลขนี้ตัวเดียวจะบอกอะไรเราไม่ได้มากนัก แต่ไม่ควรมีจำนวนมากผิดสังเกต
7. ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ของพวกนี้ล้าสมัยได้ เสื่อมสภาพได้ และมีค่าเสื่อมราคา ที่ต้องหักออกจากกำไรขั้นต้น ทำให้กำไรสุทธิต่ำลง บริษัทที่ดีน่าจะมีจำนวนเงินของสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักร จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับยอดขาย คือสามารถทำเงินได้มาก (และมีกำไรมาก) จากเครื่องจักรนั้น ให้สังเกตการลงทุนเครื่องจักรของบริษัทต่างๆ ให้ดี บริษัทที่ต้องลงทุนเครื่องจักรบ่อยๆ เพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ในธุรกิจ (พวกบริษัท hi-tech ทั้งหลาย) เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรระมัดระวัง
8. ค่าความนิยม (Goodwill) เป็นเงินส่วนที่บริษัทจ่ายออกไป แล้วได้กลับมาในรูปของค่าความนิยมเช่น ยี่ห้อ ตราสินค้าหากตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น แสดงว่าบริษัทได้ทำการซื้อธุรกิจอื่นเพิ่มขึ้นมา หากไม่มีการซื้อเพิ่มเข้ามา ให้นักลงทุนติดตามดูตัวเลขนี้ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปีหรือไม่ การลดลงแสดงถึงการที่ตอนแรกจ่ายเงินซื้อมากเกินไป
9. สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นๆ เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ ถ้ามีตัวเลขพวกนี้เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าบริษัทได้ซื้อทรัพย์เหล่านี้เข้ามาจากคนอื่น บริษัทไม่สามารถบันทึกทั้ง Goodwill, ค่าสิทธิบัตร, ค่าลิขสิทธิ ใดๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นเองภายในของบริษัทได้ นั่นคือในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นของธุรกิจที่มีชื่อตราสินค้าที่พัฒนาโดยตัวเองได้ ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากบริษัทไม่สามารถบันทึกค่าของสิ่งเหล่านี้ไว้ในมูลค่าทางบัญชีได้
10. ดูที่ตัวเลขการลงทุนระยะยาว (Long Term Investments) ธุรกิจที่ดีควรแบ่งเงินไปลงทุนระยะยาว เพื่อผลสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว คือสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากและมีความได้เปรียบในการแข่งขัน การลงทุนระยะยาวนี้รวมถึงการซื้อธุรกิจอื่นด้วย สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือ ตัวเลขของการลงทุนระยะยาวนี้จะถูกบันทึกไว้ด้วยมูลค่าเมื่อซื้อ หรือราคาตลาด แล้วแต่ว่าอันไหนจะต่ำกว่า ดังนั้นการเลือกบริษัทที่ได้นำเงินไปลงทุน (ซื้อ) ธุรกิจอื่นที่ดีเอาไว้ จะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว และตัวบริษัทเองก็เพิ่่มค่าขึ้นไปเรื่อยๆ
11. สินทรัพย์ระยะยาวอื่นๆ จริงๆ ตัวเลขนี้บอกอะไรไม่ได้มากนัก แต่ไม่ควรมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์โดยรวม เพราะว่าผู้บริหารควรจะหาทางเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สร้างรายได้และกำไร ไปเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลกำไรให้กับบริษัทมากกว่า
12. ขนาดของสินทรัพย์รวม และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ยิ่งอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA - Return On Asset) มีค่ามากยิ่งดี คือสามารถทำประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีได้ดี แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าขนาดของสินทรัพย์นั้นใหญ่มากๆ ด้วย เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าแข่งขันของผู้อื่น (Entry Barrier) ทำให้บริษัทมีคู่แข่งน้อยรายและมีการแข่งขันต่ำในอุตสาหกรรมนั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘