การวิเคราะห์เชิงตัวเลข 12

เสร็จจากเรื่องของ งบกำไรขาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรานักลงทุนจะต้องดูเป็นอันดับแรกๆ ว่าบริษัท หรือ ธุรกิจ ที่เราสนใจจะซื้อนั้น มีกำไรหรือไม่อย่างไร กำไรมาจากไหน ไปแล้ว คราวนี้เราก็จะมาดูกันในเรื่องของ งบดุล กันต่อ นะครับ

งบดุล (Balance Sheet, B/S)

งบดุล มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า balance sheet บางทีก็เรียกเป็นชื่อย่อว่า B/S หรือ BS ก็ได้นะครับ เจ้างบดุลนี้ เป็นตัวบอก "สภาพทางการเงิน" ของธุรกิจ เป็นสิ่งที่บอกนักลงทุนว่า ธุรกิจนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร คือมีสินทรัพย์อยู่ในมือเท่าไร และมีหนี้สินอยู่เท่าไร และส่วนที่ต่างกันระหว่างทรัพย์สินและหนี้สินก็คือ ส่วนของบริษัทเองจริงๆ เป็นเจ้าของ ถามว่าบริษัทคือใคร บริษัทก็คือผู้ถือหุ้น นี่เอง ก็จึงเรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นก็ได้ คำว่า งบดุล คือการ "ดุล" กันหรือ "เท่ากัน" ตามสมการหรือนิยาม

สินทรัพย์ = ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สิน
หรือ
สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น
นั่นเอง

ถามว่า ทำไมธุรกิจต้องเป็นแบบนี้ด้วย คำตอบนั้นดูเหมือนง่ายมาก และอาจจะง่ายเกินไปด้วยซ้ำก็คือ เนื่องจากในการทำธุรกิจ บริษัทอาจจะไม่ได้ใช้เงินของตัวเองทั้งหมดมาทำงานตั้งแต่เริ่มแรกก็ได้ เช่นอาจจะเริ่มด้วยการลงขันของผู้ถือหุ้น (ก็เป็นเงินส่วนของผู้ถือหุ้น จะมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นหรือไม่ก็ตามที) และกู้เงินสดมาด้วยอีกส่วนหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นเช่นเงินเบิกเกินบัญชีหรือ OD หรือระยะยาว) โดยทั้งเงินที่ผู้ถือหุ้นควักกระเป๋าจ่ายมาแต่แรก รวมกับเงินส่วนที่กู้มานี้ ก็จะกลายเป็นทรัพย์สินรวมของบริษัท และบริษัทอย่างนี้ก็เริ่มด้วยการมีทั้งส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินแต่แรก แต่ถึงแม้ว่า บริษัทไม่ได้กู้เงินมาเพื่อรวมกับเงินของผู้ถือหุ้นแต่แรก ในระหว่างการทำธุรกิจไป ก็จะต้องมีการซื้อของโดยการเครดิต (คือจ่ายเงินทีหลัง) แบบนี้ก็เป็นหนี้สินอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ตรงจุดนี้ พวกเรานักลงทุนจะต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า หนี้สินนั้น ไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ หนี้สินถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าดอกเบี้ยและเงินต้นจ่ายคืน ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่ดีนะครับ เรียกว่า ยิ่งกู้ยิ่งรวย นั่นเอง

งบการเงินที่เรียกว่า งบดุล นี้ เป็นตัวเลขที่ทำการบันทึกลงในจุดเวลาหนึ่งๆ เช่น 31 ธันวาคม ก็จะเป็นงบดุลปลายปี คือเป็นตัวเลข ณ วันที่ 31 ธันวาคมเท่านั้นว่ามีสินทรัพย์เท่าไร ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไร และมีหนี้สินเท่าไร ส่วนของสามอย่างนี้จะเป็นเท่าใดในวันเวลาก่อน 31 ธันวาคม จะมองไม่เห็นในงบดุล ดังนั้น เวลาที่เราดูงบการเงินที่เรียกว่า งบดุล เขาจึงเขียนไว้ว่า งบดุล ณ วันที่ หนึ่งๆ อย่างไงล่ะครับ

ตรงจุดนี้มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องสังเกตไว้ว่า งบดุล ต่างจากงบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด (ที่เราจะได้ดูกันต่อไป) ที่เป็นตัวเลขแบบสะสม (cumulative) ที่เกิดในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นงบกำไรขาดทุนของไตรมาสที่ 1 จะเป็นตัวเลขสะสมของการได้มาซึ่งกำไร ในช่วงเวลาจาก 1 มกราคม - 30 มีนาคม (สมมติว่าปีงบประมาณของบริษัทนั้นเริ่มที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม เพราะอาจจะมีบางบริษัทที่ปีงบประมาณขยับเลื่อนไปไม่ตรงกับปีปฏิทินก็เป็น ได้)

ในระหว่างที่ผมค่อยๆ เขียนเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน ก็อาจจะต้องมีการใช้คำศัพท์แปลกๆ บ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบาย ขยายความให้ดีที่สุดนะครับ แม้จะยากสักนิดในตอนเริ่มต้น แต่รับรองได้ว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการอ่านและทำความเข้าใจแน่นอน ค่อยๆ ติดตามไปนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘