จากผู้เขียน

หลังจากประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 2540 แล้ว ประเทศไทยได้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และต้องถูกกำหนดให้ต้องกระทำการหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ต่อรัฐบาลไทย ภาคธุรกิจและประชาชนไทย

           รัฐบาลในบางช่วงได้กระทำการทุกอย่างตามความเรียกร้องต้องการของต่างชาติ เอื้อประโยชน์ทุกอย่างตามความต้องการของทุนต่างชาติ และทำทุกอย่างที่คนไทยเข้าใจว่าเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ายึดครองครอบงำประเทศไทย จนเกิดข้อครหาว่ากำลังมีการทำให้ประเทศไทยตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของต่างชาติ

           แล้วเกิดข้อหารัฐบาลขายชาติและคนขายชาติขึ้น ก่อตัวเป็นกระแสที่แผ่ไปในวงกว้าง และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการก็ได้อยู่ในแนวหน้าสุดในการต่อต้านการกระทำทั้งหลายที่คนไทยถือว่าเป็นการขายชาติ

           คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำแห่งสำนักพิมพ์ผู้จัดการ ได้ปรารภว่ายามบ้านเมืองมีกลียุคทั้งวีรชนและทรชน ทั้งผู้กอบกู้ชาติและคนขายชาติย่อมปรากฏขึ้น จึงสมควรจัดพิมพ์เรื่องราวสักเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์และจิตวิญญาณของผู้คนทั้งปวง

           ผู้เขียนได้ยินปรารภดังนั้นแล้วจึงได้คิดอ่านเขียนเรื่องสามก๊กขึ้นใหม่โดยอนุโลมแนวความคิดนั้น เพราะในบรรดาเรื่องราวทั้งหลายในโลกโดยเฉพาะเรื่องวีรชน ทรชน เรื่องผู้กู้ชาติและคนขายชาติ ได้มีปรากฏอยู่ในสามก๊กมากมายหลายหลาก สามารถสะท้อนและกระตุ้นเตือนความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณของผู้คนในบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี จึงได้แจ้งความคิดนี้ให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ทราบ ครั้นทราบแล้วก็เห็นด้วย จึงเป็นที่มาของเรื่องสามก๊กฉบับคนขายชาติฉบับนี้

           เนื่องจากจะต้องนำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ดังนั้นในแต่ละตอนจึงจำต้องสรุปเท้าความในตอนก่อนพอเป็นทางแห่งความระลึกและเข้าใจ เพื่อจะได้อ่านตอนต่อไปได้โดยสะดวก ครั้นจะนำมาพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ต่อเนื่องกันไปก็อาจจะติดขัดบ้าง แต่ขอได้โปรดเข้าใจถึงความหลังดังที่ได้กล่าวมานี้

           ได้ลงมือเขียนสามก๊กตอนแรกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 และได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 การเขียน    ต้นฉบับได้แล้วเสร็จลงในตอนที่ 655 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2545 รวมเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 1 เดือน

           หลังจากสามก๊กฉบับคนขายชาติได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันได้ประมาณ 50 ตอน ความนิยมก็เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ สำนักพิมพ์ผู้จัดการจึงได้ขยายขอบเขตการเผยแพร่โดยนำไปออกรายการทางสถานีวิทยุคลื่น FM. 99.5 MHz    รายการคารวะแผ่นดิน ระหว่างเวลา 19.30-22.00 น. ทุกวันอีกทางหนึ่ง ครั้นความนิยมแพร่หลายมากขึ้นก็ได้ลงเผยแพร่ในเว็บไซด์ของสำนักพิมพ์ชื่อ www.manager.co.th เพิ่มเติมขึ้นอีก

           ตลอดระยะเวลาที่ลงพิมพ์ ได้มีท่านผู้สนใจติชมและเสนอข้อคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนขอน้อมรับด้วยความขอบคุณ และได้ทำการชี้แจงเป็นครั้งคราวทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ตลอดจนได้ทำการปรับปรุงโดยอนุโลมตามความประสงค์และคำแนะนำเท่าที่จะทำได้

           การเขียนเรื่องสามก๊กฉบับคนขายชาตินี้ได้ยึดถือเค้าโครงใหญ่จากสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งถือเป็นฉบับหลักและฉบับครูของประเทศไทย และได้ถือฉบับอื่น ๆ เป็นฉบับประกอบ ผสมผสานกับความคิดเห็นข้อมูลและความรู้เท่าที่จะพึงมี เพื่อบรรณาการท่านผู้สนใจให้ได้รับความเบิกบานสำราญใจและได้รับทั้งความรู้และแง่คิดตามสมควร

           ถ้าจะถามว่าสามก๊กฉบับคนขายชาตินี้ได้สร้างบุคลิกภาพของตัวละครแต่ละตัวเพื่อประชดเสียดสีหรือกระทบเปรียบเปรยนักการเมืองหรือบุคคลคนใด ก็ตอบได้ในทันทีว่ามิได้ปรารถนาเช่นนั้น และมิได้กระทำเช่นนั้นเลย จุดที่มุ่งเน้นก็คือพฤติกรรมของวีรชน ทรชน ผู้กอบกู้ชาติ คนขายชาติ ผู้จงรักภักดีและผู้ที่ประพฤติตนเป็นข้าขายเจ้า บ่าวขายนาย เพื่อเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์สำหรับชนรุ่นหลัง และเหนืออื่นใดเนื้อความทั้งปวงในสามก๊กฉบับคนขายชาติล้วนสะท้อนถึงสัจธรรมที่ชีวิตทุกผู้คนต้องอยู่ภายใต้สังสารวัฏและโลกธรรม ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะมีสติปัญญาหรืออำนาจเพียงไหนก็ตาม

           สามก๊กนั้นอาจแบ่งได้เป็นสามช่วง

           ช่วงแรก เป็นช่วงปลายแผ่นดินของพระเจ้าเลนเต้ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 700 ซึ่งเป็นยุคปลายของราชวงศ์ฮั่น จนถึงเหตุการณ์ที่เล่าปี่ออกไปเชิญขงเบ้ง ณ กระท่อมน้อยที่เขาโงลังกั๋ง ในช่วงนี้เป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันในทางการเมืองภายในราชสำนักฮั่นและการรบพุ่งระหว่างบรรดาขุนศึกทั้งหลาย ในทางการเมืองนั้นมีการต่อสู้ขับเคี่ยวอย่างแหลมคม ซึ่งได้ขยายความและทำความเข้าใจให้ละเอียดชัดเจนขึ้นกว่าต้นฉบับเดิม ในทางการทหาร การรบพุ่งยังคงใช้กลยุทธ์แบบดั้งเดิมที่ค่อย ๆ พัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน กล่าวโดยรวมในช่วงแรกเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองเป็นด้านหลัก การรบพุ่งทางการทหารล้วนใช้กลยุทธ์พื้นฐานในคัมภีร์พิชัยสงครามทั้งสิ้น

           ช่วงที่สอง เป็นช่วงเวลานับแต่ขงเบ้งออกจากเขาโงลังกั๋งตามคำเชิญของเล่าปี่ และกำหนดยุทธศาสตร์สามก๊กขึ้น ยุทธศาสตร์สามก๊กที่ขงเบ้งเสนอต่อเล่าปี่ได้ทำให้แผ่นดินจีนถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือเล่าปี่ได้ครองอำนาจทางภาคตะวันตกและพายัพ เกิดเป็นจ๊กก๊กสืบสายราชวงศ์ฮั่นต่อจากพระเจ้าเหี้ยนเต้  โจโฉได้ครองอำนาจในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เกิดเป็นวุยก๊กและราชวงศ์วุยในกาลต่อมา ส่วน ซุนกวนครองอำนาจในภาคใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง เกิดเป็นง่อก๊กและราชวงศ์ซุนในกาลต่อมา เรื่องราวในช่วงที่สองนี้การต่อสู้ขับเคี่ยวเป็นไปอย่างครบครัน ทั้งทางการเมือง ทางการทูต และทางการทหาร ในทางการทหารนั้นได้ใช้กลอุบายที่ลึกซึ้งแยบยลยิ่งกว่าช่วงก่อน ได้มีการนำพลังจักรวาลมาใช้ในการสงครามหลายครั้ง ทำลายชีวิตผู้คนนับล้าน ช่วงนี้ถือว่าสิ้นสุดลงหลังจากขงเบ้งสิ้นบุญในปีพุทธศักราช 770    
   
           ช่วงที่สาม เป็นช่วงหลังจากขงเบ้งสิ้นบุญแล้ว ลูกหลานของเล่าปี่ โจโฉ และ   ซุนกวนได้สืบทอดอำนาจต่อมา ช่วงนี้แม้ว่าจะดูเหมือนสุมาอี้จะมีสติปัญญายิ่งกว่าใคร แต่สถานการณ์ไม่อำนวย ไม่อาจยกกองทัพไปรบพุ่งใด ๆ ได้ จนกระทั่งถึงแก่กรรม และได้ฝากคติการบริหารการปกครองที่แหลมคมไว้เบื้องหลัง ทำให้ลูกหลานตระกูล   สุมาได้ครองอำนาจในวุยก๊ก แล้วผนวกจ๊กก๊กไว้ในขอบขัณฑสีมาได้สำเร็จ จากนั้นจึงชิงราชบัลลังก์จากราชวงศ์วุย สถาปนาราชวงศ์ต้าจิ้นขึ้น ครั้นรวบรวมง่อก๊กเข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมาเป็นก๊กสุดท้าย แผ่นดินจีนได้กลับเข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมาเดียวกันภายใต้ราชวงศ์ต้าจิ้น สามก๊กจึงเป็นอันสิ้นสลายลงในปีพุทธศักราช 823 รวมระยะเวลา 103 ปี

           ในการเขียนสามก๊กฉบับคนขายชาตินี้ ได้รับความช่วยเหลือการจัดพิมพ์ต้นฉบับจากคุณกัญญาภัค อินสว่าง และการตรวจทานต้นฉบับ ตลอดจนการหาข้อมูลที่ต้องการจากคุณปนัดดา กาญจนดิษฐ์ เป็นอย่างมาก หาไม่แล้วก็ยากที่จะทำการได้สำเร็จดังประสงค์ จึงขอขอบคุณทั้งสองท่านนี้ไว้ ณ ที่นี้
หวังว่าสามก๊กฉบับคนขายชาติที่กำลังจะจัดพิมพ์เป็นเล่มจะอยู่คู่ฟ้าบรรณพิภพไทย อำนวยประโยชน์สุขและความสำราญใจแก่ท่านผู้สนใจตลอดไป.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘