คำนิยมจาก ล.เสถียรสุต

บรรดาหนังสือแนวปรัชญาของจีน จำได้ว่ามีอยู่ไม่กี่เล่มที่ได้รับการยกย่องหรือถือว่าเป็น "คัมภีร์" เช่น คัมภีร์เหลาจื๊อ-ขงจื๊อ และ ตำราพิชัยสงครามของซุนวู ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกยกเป็น "คัมภีร์" เช่นกัน

               สิ่งที่อยากจะกล่าวถึงคุณความดีของ "ตำราพิชัยสงครามซุนวู" ก็คือภาษาหนังสือของ "ซุนวู" ถูกยกย่องว่าเป็นภาษาหนังสือที่ดีที่สุด มีทั้งความเฉียบคม ดุเดือด เข้มแข็ง เด็ดขาด และลีลาที่สง่างามทางภาษา ซึ่ง โจโฉ ก็กล่าวยกย่องไว้มาก
               ประการต่อมา-เนื้อหาซึ่งถือเป็นตำราพิชัยสงครามนั้น มีคุณค่าสูงส่งโดยปราศจากข้อสงสัย แม้ "ขงเบ้ง" ก็ยกย่องและยอมรับนับถือ บรรดาแม่ทัพนายกองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจีนจำนวน 13 คน ได้ทำ "หมายเหตุ" บรรยายหรือขยายความเพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง
               หนังสือ "ตำราพิชัยสงครามชุนวู" เล่มนี้ยังได้ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง แม้แต่คำกราบบังคมทูลของขงเบ้งก็อ้างถึงว่า โจโฉมีความสามารถเทียบเท่าซุนวู ไกเซอร์ วิลเลียมที่สองซึ่งพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะถูกเนรเทศไปอยู่ที่ฮอลแลนด์ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และได้กล่าวว่า "ถ้าได้อ่านตำราพิชัยสงครามซุนวูมาก่อนหน้านี้ คงรบไม่แพ้แน่"

                              นักการทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้เขียนบรรยายถึงหนังสือเล่มนี้โดยละเอียด สรุปไว้ว่า เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นปรัชญาซึ่งทุกคนสามารถนำมาใช้ได้ตลอดชีวิต และใช่จะใช้ได้แต่เฉพาะการยุทธ์ในสงครามเท่านั้น แม้แต่การดำเนินกิจการงานทั่วไป และการดำรงชีวิตในครอบครัวให้ปกติสุข "ตำราพิชัยสงครามซุนวู" ก็สามารถนำมาใช้อย่างได้ผลดีเช่นกัน

               ชาวจีนยกย่องซุนวูว่า "ซุนจื๊อ" เช่นเดียวกับที่เรียกเหลาจื๊อ, ขงจื๊อ หมายถึง "ท่านปราชญ์ซุนวู" ซึ่งบรรดาปราชญ์ที่ได้รับยกย่องนี้มีไม่กี่คนนัก
               คุณเสถียร วีรกุล เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์จีนและไทยเป็นอย่างดี ซึ่งท่านคงจะเห็นด้วย เมื่อได้อ่าน ตำราพิชัยสงครามซุนวู เล่มนี้แล้ว

ล. เสถียรสุต
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘