หมายเหตุจากทีมงาน เรื่อง สามก๊กฉบับคนขายชาติ

จำได้ว่าครั้งแรกที่เรืองวิทยาคมบอกจะเขียนเรื่องยาวสักเรื่องหนึ่ง เรื่องสามก๊กโดยเอาเหตุการณ์ที่กำลังเกิดในสังคมนี่แหละ มาเป็นตัวขยายเนื้อหาของสามก๊กให้สนุกน่าติดตามและง่ายต่อความเข้าใจ จึงถามเรืองวิทยาคมแล้วจะใช้ชื่อเรื่องว่าอย่างไร เพราะสามก๊กมีคนเขียนออกมาหลายฉบับ ซึ่งแต่ละแบบก็ล้วนติดตลาดน่าสนใจ ท่านก็บอกว่า สามก๊กฉบับคนขายชาติ นี่แหละได้บรรยากาศของสังคมและเศรษฐกิจตอนนี้ดี  ฟังแล้วก็ดูน่าสนใจนะ เพราะส่วนตัวเองแล้วการจะอ่านสามก๊กของเดิมให้จบในแต่ละเล่มนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีสมาธิและให้ความใส่ใจในเนื้อหาเป็นอย่างมากทั้งยังต้องแม่นในตัวละคร จากนั้นท่านก็เอาภาพวาดแผนที่ของประเทศจีนที่มีการแบ่งอาณาเขตการครอบครองของแต่ละก๊กมาให้ระบายสี เป็นการเตรียมข้อมูลขั้นต้น

            แล้วเรืองวิทยาคมก็เริ่มบอกบทโดยให้น้องรุ่งเป็นคนพิมพ์ ที่ต้องใช้คำว่าบอกบทมิใช่การเขียนเนื่องจากว่าเมื่อถึงเวลาที่จะทำงานกันคนพิมพ์นั่งประจำที่ เรืองวิทยาคมก็นั่งประจำที่เช่นกัน แล้วก็เริ่มว่ากันไปท่านบอกประโยคเสร็จ ก็พิมพ์เสร็จ เป็นภาพที่เจนตาทั้งของผู้ที่แวะเวียนมาหาเรืองวิทยาคมและของตัวเอง เนื่องจากนั่งทำงานอยู่ใกล้ๆ จึงมีส่วนร่วมในบรรยากาศสามก๊กอย่างสม่ำเสมอ  แรกๆที่เริ่มทำสามก๊ก ก็มีบางทีท่านเขียนใส่กระดาษในช่วงวันหยุดแล้วมาให้พิมพ์ แต่ดูจะติดขัดมากกว่าเนื่องจากความคิดดูจะแล่นไหลไวกว่ามือ ทำให้ต้องมาช่วยกันกับน้องแกะลายมือกัน บางทีก็สื่อออกไปแล้วผิดเพี้ยน ก็เลยกลับมาใช้วิธีบอกบทเหมือนเดิม ซึ่งดูจะได้อารมณ์ทั้งของเรืองวิทยาคมเองและของตัวเองด้วย จริงๆเคยคิดนะว่าน่าจะอัดเทปเสียงของเรืองวิทยาคมเองนี่แหละ!ไปออกรายการทางวิทยุ เพราะเวลาที่บอกบทท่านมิได้บอกไปเรื่อยๆเหมือนอ่านหนังสือ แต่มีน้ำเสียงหนักเบาบ่งบอกถึงอารมณ์ภาวะโศกเศร้า หรือฮึกเหิมของตัวละครในบรรยากาศนั้น ขาดแต่เสียงดนตรีจีนมาช่วยสร้างบรรยากาศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นแค่นั้นเอง แต่ถึงกระนั้นในระหว่างการทำต้นฉบับก็ทำให้ตัวเองสะเทือนใจน้ำตาคลอเบ้าได้หลายตอนเหมือนกันเช่นตอนที่19 ดวงตะวันในกองฟาง ภาพหองจูเปียนฮ่องเต้น้อยกับฮองจูเหียบพระอนุชา ถูกขันทีทิ้งไว้กลางป่า ด้วยกลัวว่าจะพลัดหลงก็เลยใช้ชายเสื้อผูกติดกันไว้แล้วเด็กน้อยทั้งสองก็จูงมือกันโซซัดโซเซเดินตามแสงหิ่งห้อยตลอดคืน หรือตอนที่ 443 สิ้นบุญกวนอู บทบรรยายในขณะที่กวนอูจะถูกตัดคอ ทำให้บรรยากาศการพิมพ์ต้นฉบับขณะนั้นค่อนข้างเศร้า พอจบบทตัวเองก็น้ำตาคลอด้วยสงสารกวนอู เพราะเป็นตัวละครตัวโปรด หันไปหาน้องรุ่งคนพิมพ์ให้กวนอูตายก็เห็นนั่งนิ่งทำตาแดงๆ      พิมพ์จบตอน      เรืองวิทยาคมหันมาถามความเห็น ก็ได้คำตอบคือความเงียบ พอถึงเวลารวมเล่มต้นฉบับช่วงตอนที่441-450 ก็เลยมีการไว้อาลัยให้กวนอูโดยการทำปกสีเทาสันสีขาว ให้ดูรู้ว่าเล่มนี้มีตัวละครสำคัญหมดวาระไปแล้ว เพราะปกติในการทำต้นฉบับ พอพิมพ์ได้ครบ 10 ตอน เรืองวิทยาคมก็จะตรวจทาน หลังจากนั้นเราก็จะนำมาทำรวมเล่มเป็นต้นฉบับไว้ 4 COPY โดยปกติแต่ละเล่มของแต่ละช่วงตอนก็จะมีสีสันหน้าปกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบรรยากาศของเนื้อเรื่องในขณะนั้น หลังจากนั้นเวลามีตัวละครสำคัญตายก็จะเป็นที่รู้กันว่าสีของกระดาษทำปกจะเป็นสีทึมๆแล้วสันจะเป็นสีขาว  ก็คิดว่าเป็นการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครอีกประการหนึ่ง เป็นความพิเศษแฝงของสามก๊กฉบับคนขายชาติ ที่แฝงอยู่โดยผู้อ่านที่สนใจติดตามจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการไม่มีโอกาสจะได้รับรู้ นอกจากจะติดตามสะสมฉบับรวมเล่มนี้

            นับเป็นความโชคดีของนักอ่านที่เรืองวิทยาคมได้คิดสร้างสรรผลงานวรรณกรรมชิ้นยอดของโลก สามก๊ก ออกมาเป็นอีกแบบหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ น่าศึกษาติดตาม การดำเนินเรื่องอาจจะดูแล้วคล้ายกับการดำเนินเรื่องในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)     แต่ความต่างที่ต้องบอกว่าเป็นความพิเศษ ก็คือการเสริมความรู้ ทางตำราพิชัยสงคราม กลอุบาย ยุทธวิธีต่าง ในการต่อสู้ทำสงครามทั้งสงครามจริง สงครามทางทางการเมือง สงครามทางความความคิดของบรรดาตัวละครซึ่งมีความซับซ้อนยากแก่การตีความ  แต่ท่านกลับสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ  สร้างอรรถรสในการอ่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งความรู้เหล่านี้บางส่วนไม่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือหรือถ้าแม้นมีก็เป็นหนังสือหายาก ซึ่งทั่วไปคงไม่หามาอ่านอยู่แล้ว ดังนั้นความรู้ที่ได้รับจึงเป็นการตกผลึกทางความคิด ที่ใช้คำว่าตกผลึกทางความคิดเพราะเคยคิดหาคำมาเทียบเคียงความรู้สึกที่ได้เห็นท่านแสดงภูมิรู้ ประสบการณ์เรื่องต่างๆแล้วก็ยังนึกไม่ออก จึงคิดว่าคำนี้แหละที่เหมาะ  เหตุเพราะในการบอกบทเรื่องสามก๊กให้ดำเนินไปพร้อมสอดแทรกความรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหาในขณะที่ความคิดกำลังโลดแล่นนั้นป็นเรื่องที่สำคัญ เรืองวิทยาคมสามารถเพิ่มเติมความรู้หรือเหตุการณ์นั้นได้อย่างต่อเนื่องเแนบเนียน โดยมิต้องเสียเวลายกหนังสือมาเปิดเพื่ออ้างอิง หรือถ้าจะต้องเปิดค้นก็เพียงเพื่อให้ข้อมูลนั้นถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้ มีความจำที่ดีเป็นเลิศถึงจะนึกได้ว่ามีเรื่องราวใดที่จะสามารถนำมาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น  อันนี้ขอชื่นชมเป็นการส่วนตัว เนื่องจากความรู้ตัวเองยังอ่อนด้อย เมื่อได้พบเจอผู้มีความรู้ พบเจอบัณฑิต ย่อมต้องชื่นชมอยากศึกษาเรียนรู้เป็นธรรมดา

            อีกสิ่งหนึ่งคือการเป็นผู้มีสมาธิอันยอดเยี่ยม ตลอดเวลาในการบอกเล่าเรื่องราวเพื่อให้พิมพ์ในแต่ละวันซึ่งบางวันเนื้อเรื่องกำลังสนุก อีกทั้งยังไม่มีงานเร่งด่วนก็อาจนั่งพิมพ์กัน 4-5 ตอนในหนึ่งวันเลยทีเดียว ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีโทรศัพท์ติดต่อเรื่องต่างๆเข้าโดยภาระหน้าที่การงานของท่านเองหรือไม่ก็มีแขกแวะมาเยี่ยมเยือน  ทักทายหรือขอคำปรึกษา มิได้ขาด แต่เรืองวิทยาคมก็ยังสามารถกลับมานั่งบอกเล่าเรื่องต่อโดยมิได้ขาดตอนหรือตกหล่นแต่อย่างใด  มิหนำซ้ำยังเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงในอารมณ์ของบทบาทในตอนนั้นๆ อย่างได้อรรถรสอีกต่างหาก นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่ง  แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสารของน้องรุ่งคนพิมพ์ เพราะถ้าวันไหนเจอเข้าไป 4-5 ตอนในวันเดียวกันนั้น  ความเมื่อยล้าช่วงต้นคอก็จะมาเยี่ยมเยือน ถ้าคนไม่เคยนั่งพิมพ์เอกสารวันหนึ่ง 20 แผ่นในความเร็วแบบที่คนเรียนเลขานุการมาก่อนพิมพ์ แล้วสมาธิต้องเยี่ยมเพื่อรับฟังข้อความตลอดเวลามิได้ขาด ทั้งยังนั่งตัวตรงหลังอย่างถูกท่าจะไม่รู้หรอกว่าสาหัสแค่ไหน  ตัวเองก็เลยต้องกลายเป็นมือนวดจำเป็นต้องคอยนวดกดให้กล้ามเนื้อต้นคอคลาย แล้วเธอก็พร้อมจะฮึดพิมพ์ต่อได้อีก ไม่มีบ่น นี่เป็นความน่ารักและเป็นความโชคดีอีกประการหนึ่ง  แต่อันนี้เป็นของเรืองวิทยาคมเอง ส่วนผู้อ่านสามก๊กฉบับคนขายชาติ ก็พลอยได้รับความโชคดีอันนี้ที่มีคนช่วยให้สายธารความคิดของเรืองวิทยาคมเรียงร้อยออกมาเป็นตัวหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของสามก๊กฉบับคนขายชาติได้ทันต่อเหตุการณ์ในขณะที่กำลังพิมพ์ต้นฉบับนั้น ซึ่งถ้าคนที่ติดตามอ่านตลอดจะพอมองเห็นว่าเหตุการณ์ที่ถูกนำมายกตัวอย่างพื่ออธิบายให้เข้าใจความคิดของตัวละครในขณะนั้นได้อย่างชัดเจน ก็เป็นเหตุการณ์ในสังคมบ้านเราขณะนั้นนั่นเอง   คนไม่ว่าจะยุคไหน ชาติไหน  ก็ยังมีพฤติกรรม ความคิดที่แสดงให้เห็นถึงความหมายของคำว่า คน ได้เป็นอย่างดี

            ความพิเศษอีกประการหนึ่งที่คิดว่าสามก๊กฉบับคนขายชาติไม่เหมือนกับวรรณกรรมเรื่องอื่นก็สืบเนื่องจากมิได้ใช้การเขียนร่างต้นฉบับ แล้วมาตามแก้ไขทีหลัง แต่ใช้การบอกเล่าเรื่องราว ให้บันทึกหรือพิมพ์ออกมาดังนั้นภาษาที่ใช้จึงเป็นลักษณะกึ่งภาษาพูดกึ่งทางการกึ่งภาษากวี เพราะจะพบว่าหลายๆคำ ถ้าเปิดพจนานุกรมแล้วจะไม่พบความหมาย หรือบางคำเป็นคำเก่าใช้เฉพาะในการเขียนบทกวี หรือบางคำเป็นคำที่เรืองวิทยาคมเรียงร้อยออกมาเพื่อให้วรรคตอนนั้นสละสลวยยิ่งขึ้น เคยทักท้วงเรืองวิทยาคมหลายครั้งเหมือนกัน ด้วยเกรงว่าถ้าวันหนึ่ง เกิดสามก๊กฉบับคนขายชาติรวมเล่มจัดพิมพ์ขายแล้วขึ้นอันดับหนังสือขายดีขึ้นมา มีคนนำไปวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรม อาจจะถูกค่อนเรื่องการใช้คำได้ ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร   ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนไม่มี มีแต่ภาษาที่ทำให้คนเข้าใจเป็นใช้ได้  ก็คงจะจริงอย่างท่านว่า

            เขียนเล่ามาซะยาวก็เนื่องจากความประทับใจที่มีต่อสามก๊กฉบับคนขายชาติเป็นการส่วนตัวทั้งจากการที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการช่วยงานเขียนครั้งนี้ หรือจากแนวคิด ความรู้ จิตวิทยาในการอยู่ร่วมและเอาตัวให้รอดในสังคมซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้  ก็เลยอยากให้ผู้อ่านสัมผัสถึงเบื้องหลังการรังสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญของเรืองวิทยาคม  ด้วยหวังว่านอกเหนือจากการที่ผู้อ่านได้เสพความสุขอันกอปรไปด้วยความรู้ ความคิด จิตวิญญาณของบรรพชน ที่เปรียบประดุจดังอาหารสมองชั้นเยี่ยมที่ได้จากเนื้อหาของสามก๊กฉบับคนขายชาติแล้ว ในส่วนเบื้องหลังนี้ก็จะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มให้ท่านเต็มอิ่มยิ่งขึ้น…

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘